น่าแปลก คนจำนวนไม่น้อยทำงานที่รับผิดชอบได้อย่างดีเยี่ยม และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาโดยตลอด
แต่กลับกลายเป็นว่าไม่เคยรู้สึกพอใจหรือภาคภูมิใจในตัวเองเลยสักครั้ง เพราะสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้มองเป็นเรื่องน่ายินดี คือ ความคิดที่ว่าตัวเองไม่ใช่คนเก่ง
ความคิดทำนองนี้ คือ อาการของ Impostor Syndrome หรือ Impostor Phenomenon เป็นภาวะกังวลใจที่เกิดขึ้นจากความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่ จนนำไปสู่ผลสรุปที่บั่นทอนกำลังใจของตัวเองว่า ‘ฉันไม่ใช่คนเก่ง’
ความขัดแย้งในใจเหล่านี้ กำลังกลายเป็นปัญหาของคนในวัยเรียนและวัยทำงาน โดยเฉพาะคนที่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist เพราะต่อให้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิตก็จะคิดกลับกันว่าตัวเองไม่คู่ควรได้รับ มากไปกว่านั้น ยังอาจมองเรื่องความสำเร็จว่าเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ หรือโชคช่วย ดังนั้น ต่อให้พยายามมากแค่ไหนก็ไม่มีทางเก่งเทียบเท่าคนอื่น โดยหลงลืมไปว่าทุกคนมีคุณค่าในแบบที่เป็น และสามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวข้ามขีดจำกัดที่เคยมองว่าเป็นอุปสรรคไปได้
หากปล่อยให้รู้สึกไม่ดีเช่นนี้ต่อไป จะยิ่งส่งผลเสียตามมา ตั้งแต่อาการหมดไฟ ห่อเหี่ยว เครียด ไปจนถึงซึมเศร้า เพื่อป้องกันตัวเราเองจากอาการเหล่านี้ becommon จึงรวบรวมวิธีดูแลใจให้กลับมาสดใส และภาคภูมิใจกับความสำเร็จของตัวเองได้อีกครั้ง ดังต่อไปนี้
(1) เปลี่ยนความคิดให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้
หาสมุดเล่มเล็กๆ ขนาดกะทัดรัดสำหรับจดบันทึกงานที่ต้องทำหรือได้รับมอบหมาย เพื่อเตือนตัวเองว่าทั้งหมดนี้เป็นงานที่ใช้ความสามารถของตัวเอง เมื่อทำสำเร็จ สิ่งที่จดไว้จะช่วยยืนยันว่าเราเก่งและมีความสามารถมากพอ
(2) ยืดหยุ่นเข้าไว้
งานอาจทำให้รู้สึกกดดันได้ แต่เราไม่ควรกดดันตัวเองมากเกินจำเป็น เพราะจะยิ่งทำให้รู้สึกกังวลว่าทุกอย่างยากลำบากเกินความสามารถ ลองมองมุมใหม่ว่านี่คือโอกาสพิสูจน์ตัวเอง เพราะทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้ การหาวิธีทำงานรูปแบบใหม่ที่สนุก จะทำให้มีความสุขกับงาน
(3) พูดคุยมากขึ้น ขอคำแนะนำเพิ่มเติม
หากทำงานเป็นทีม สิ่งสำคัญในการทำงาน คือ ความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า เพราะนอกจากจะทำให้เราได้ทบทวนการทำงานของตัวเอง เพื่อเรียนรู้และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันความเก่งของเราด้วย
(4) ความผิดพลาด คือ โอกาสพัฒนาความเก่ง
คนที่ไม่เคยผิดพลาด คือ คนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ดังนั้น การที่คนเราจะเก่งได้ ต้องเคยพลาดมาก่อน และต้องระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีก แม้กระทั่งความผิดพลาดของคนอื่น เราก็สามารถนำมาเป็นบทเรียนสำหรับพัฒนาการทำงานของตัวเองได้เหมือนกัน
(5) ก้าวออกจากกรอบความคิด สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ชีวิต
หลายครั้งที่เราเศร้า เพราะกักขังตัวเองและความรู้สึกอยู่กับสิ่งเดิมๆ การให้โอกาสตัวเองได้หยิบจับทำสิ่งใหม่ เรียนรู้สิ่งใหม่ รู้จักเพื่อนใหม่ และออกเดินทางไปยังที่ใหม่ๆ จะทำให้เราได้เห็นความหลากหลาย ไม่หมกมุ่นอยู่กับความคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ซึ่งจะทำให้รู้สึกดีและมีกำลังใจดูแลตัวเองไม่ให้จมอยู่กับความคิดที่มีแต่บั่นทอนตัวเอง
อ้างอิง
- Abigail Abrams. Yes, Impostor Syndrome Is Real. Here’s How to Deal With It. https://bit.ly/34Dv9Sv
- Arlin Cuncic. What Is Imposter Syndrome?. https://bit.ly/3mxSAmg
- Gill Corkindale. Overcoming Imposter Syndrome. https://bit.ly/3oD4Gwh