นอกจากการฟัง อีกทักษะหนึ่งของนักจิตบำบัดที่ทุกคนควรมีและใช้เป็น คือ ‘การตั้งคำถาม’
เพราะการถามอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ‘ทำไมถึงทำแบบนั้น แบบนี้’ แต่หลังจากถามไปแล้ว ได้คำตอบที่ดีที่สุดหรือเปล่า
บทความนี้เป็นมีเนื้อหาต่อเนื่องจาก ฟังให้ได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้พูด เพราะการฟังคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจกัน (ควรอ่านก่อน)
เวลามีคนเข้ามาขอคำปรึกษา คนส่วนใหญ่มักจะมีความคิดว่า ‘เมื่อเขามาหาเราแล้ว เราต้องช่วยเขาให้ได้’ จึงเลือกจะแนะนำวิธีการและทางหาออกให้เสร็จสรรพ โดยลืมนึกไปว่า วิธีที่แนะนำไป ย่อมดีที่สุดในความคิดของเรา แต่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขาหรือไม่
หลายคนสงสัยว่า ถ้าแนะนำไม่ได้ควรทำอย่างไร คำตอบคือ ‘ควรเป็นผู้ฟังที่ดี’ ยิ่งชวนให้สงสัยต่อไปอีกว่า แต่ถ้ารับฟังอย่างเดียว เขาก็จะไม่รู้ทางแก้ปัญหาอยู่ดี คำตอบถึงอยู่ที่วิธีถาม เพราะการตั้งคำถามอาจช่วยได้
แนวคิดและวิธีการตั้งคำถามของนักจิตบำบัดที่คนทั่วไปน่าจะนำไปปรับใช้กับคนรอบข้างได้ อยู่บนพื้นฐานหลักคิดมนุษยนิยม (Humanism) ของ คาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) เหมือนเดิม
โรเจอร์สเชื่อว่า มนุษย์เกิดมาดีและมีศักยภาพภายในตัวเอง ส่วนที่ไม่ดี หรือมีปัญหา เกิดจากเงื่อนไขภายนอกที่เกิดขึ้นมาบดบังศักยภาพนั้นๆ จึงนำมาสู่แนวคิดว่า คนที่มีปัญหา จริงๆ แล้ว ยังมีศักยภาพพอจะแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง เราจึงมีหน้าที่แค่สนับสนุนโดย ‘ฟัง’ และ ‘ตั้งคำถาม’ ให้เขาค้นหาศักยภาพนั้น เพื่อนำไปสู่ทางออกของปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขาเอง แล้วควรถามว่าอย่างไร
1. ถามหาเป้าหมายก่อน
อย่างที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า ‘เมื่อเขามาหาเราแล้ว เราต้องช่วยเขาให้ได้’ นี่คือการคิดแทนอย่างหนึ่ง เพราะบางครั้งคนที่มาขอคำปรึกษา เขาอาจจะแค่อยากระบาย อยากให้มีสักคนคอยรับฟัง อยากมีคนคอนเฟิร์มความคิดของเขา ดังนั้น ไม่ต้องไปแนะนำหรือหาวิธีอะไรเลย ใช้แค่วิธีทวนสิ่งที่เขาพูดมา สะท้อนกลับคืนเพื่อยืนยันสิ่งที่คิด และสรุปความคิดทั้งหมด
คำถามหาเป้าหมาย: อยากให้เราช่วยอะไร / ไหน มาปรึกษากู ต้องการอะไร / อยากได้อะไรจากการคุยครั้งนี้ครับ
ข้อเสนอแนะ: ทำตั้งแต่ต้นที่เขาเข้ามาขอคำปรึกษา โดนเฉพาะถ้าคนคนนั้นเป็นเพื่อน เพราะหลายครั้ง ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ช่วยคิดหาทางออกให้ แต่สุดท้ายบอกว่ามีคำตอบอยู่แล้ว แค่อยากบ่น
2. ถามอย่างไม่ชี้นำและปลายเปิด
เพราะการถามชี้นำหรือการถามปลายปิด เป็นการใส่ความคิดของเราลงไป ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เขาเป็นอยู่ คำว่าชี้นำ ในตัวมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการนำไปในทางที่เราชี้ ดังนั้น แล้วเรามั่นใจได้อย่างไรว่าทางที่เรานำเขาไปดีที่สุดสำหรับเขา
เช่น เพื่อนพูดมาว่า ‘ทะเลาะกับที่บ้านเรื่องเรียนว่ะ น่าเบื่อโคตรๆ’
คำถามชี้นำ 1: เออ แล้วทำไมไม่เคลียร์กับแม่ให้จบๆ / แล้วทำไมไม่ยอมๆ ไป จะได้จบ
ทำไมไม่อย่างงั้น อย่างนี้ ซึ่งเป็นคำถามเชิงแนะนำทั้งหมดที่ไม่ควรพูดออกไป หากเพื่อนทำตาม เราไม่มีทางตอบได้ชัดเจนว่าดีจริงๆ แล้วถ้าเกิดผลลัพธ์บางอย่างตามมาใครจะรับผิดชอบ
คำถามชี้นำ 2: โดนมาหนักอะดิ / ทะเลาะเรื่องจะเข้าคณะไหนอะเหรอ / เบื่อที่แม่มายุ่งใช่ไหม
เมื่อใช้คำถามชี้นำปลายปิด จะได้คำตอบที่มีแค่สองทาง คือ ใช่/ไม่ใช่ เคยแล้ว/ยังไม่เคย มาก/ไม่มาก ดี/ไม่ดี ซึ่งคำถามทำนองนี้ ไม่ได้นำพาไปสู่การคิดแก้ปัญหาอะไรเลย เพราะเป็นแค่การคิดสั้นๆ แล้วจบกันไป
3. ถามให้สำรวจและปลายเปิด
การใช้คำถามปลายเปิด เป็นคำถามที่เปิดโอกาสให้เขาได้พูดอย่างเต็มที่ ทำให้เราได้สำรวจและทำความเข้าใจเรื่องราวของเขา ขณะเดียวกันก็พาให้เขาไปสำรวจความคิดและความรู้สึกของตัวเอง ให้เวลาเขาได้ทบทวนตัวตนในแง่มุมต่างๆ
ถามให้เราได้สำรวจ: แล้วเป็นไงต่อ / ไหน ทะเลาะยังไง เล่ามา / ทะเลาะเรื่อง’ไร / เบื่อยังไง อธิบายเพิ่มหน่อย
ถามให้เขาได้สำรวจ: ถ้าเป็นแบบนี้ แล้วจะเป็นยังไงต่อ / มันกระทบยังไงบ้าง / แล้วรู้สึกยังไง / อยากให้มันเป็นแบบไหน / เคยลองวิธีไหนไปบ้างแล้ว / ถ้าเราเจอปัญหาแบบเดียวกัน จะแนะนำเรายังไง
จะเห็นว่าคำถามเหล่านี้ทำให้เขาได้ทบทวนและคิดหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง คำตอบไม่ได้มาจากเราแม้แต่นิด
4. ถามตามน้ำ
มีบางกรณีที่คุยไปคุยมา เขาเริ่มปลดล็อค เริ่มอ๋อ เริ่มเห็นวิธีแก้ไขและพูดได้เป็นข้อๆ คำถามตามน้ำ คือถามว่า ‘มีอะไรอีก’ ‘ทำยังไงได้อีก‘ อย่าถามว่า ‘หมดยัง’ เด็ดขาด เพราะเป็นการเร่งปิดบทสนทนา สำหรับบางคน หากถามว่าหมดหรือยัง เขาจะไม่คิดต่อ กลายเป็นหมดเรื่องพูดทันที ส่วนการถามว่า ‘มีอะไรอีกไหม’ เป็นการกระตุ้นให้คิดจนหยดสุดท้าย ถ้าหมดจริงๆ เขาจะบอกเองว่าคิดไม่ออกแล้ว
หากสังเกตดีๆ การถามชี้นำและการถามปลายปิด มักจะมาจากการที่เรามีธง มีอคติ หรือใส่ความคิดของตัวเองเข้าไป จนเผลอ ‘ตัดสิน’ โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ให้หมั่นทบทวนตัวเองเสมอเพื่อลดการตัดสิน เพราะหัวใจหลักของทั้งการฟังและถาม คือ ‘การไม่ตัดสิน’ เมื่อไม่ตัดสิน เราจะเข้าใจเขาและทำให้การตั้งแต่ละคำถามมีความคิดหรืออคติของเราเจือปนแค่เบาบาง
หากทำได้ครบทั้งหมดนี้ การ ‘ถาม’ ของเราจะเปิดโอกาสให้เขาได้ค้นหา ‘คำตอบที่ดีที่สุด’ สำหรับตัวของเขาเอง
เผยแพร่ครั้งแรก: เพจ He, art, psychotherapy ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2563