“เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่หมกหมุ่นกับความเร็ว”
คาร์ล ออนอเร (Carl Honoré) ผู้เขียนหนังสือ In Praise of Slowness พูดประโยคทำนองนี้ใน TED ที่มีชื่อเดียวกับหนังสือ
เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกที่หมกหมุ่นกับความเร็ว ตัวเราเองก็หมกหมุ่นที่จะพยายามทำทุกสิ่งให้เร็วขึ้น
ข้อเขียนประเภท 5 เคล็ดลับการลดน้ำหนักให้เร็วที่สุด หรือ how to ที่พยายามบอกทางลัดโดยมีคำว่า ‘เร็วที่สุด’ เป็นตัวอย่างที่ดี
คุณเคยสงสัยไหมว่า เราเร่งรีบกันไปทำไม และโลกเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
เมื่อ ‘เวลา’ กลายเป็น ‘เงินทอง’
หลายคนคุ้นเคยกับประโยค ‘เวลาเป็นเงินเป็นทอง’ แต่อาจไม่รู้ที่มาของมัน
เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) หนึ่งในผู้สร้างชาติอเมริกา คือคนสร้างคติพจน์นี้ขึ้นเมื่อปี 1748 ในช่วงต้นของยุคอุตสาหกรรม เพื่อสรรเสริญการเข้าคู่กันของผลกำไรกับความเร่งรีบ
เมื่อเวลาแต่ละนาทีถูกนำไปใช้วัดปริมาณการผลิตและผลกำไร ตั้งแต่วันนั้นธุรกิจและชีวิตผู้คนก็ค่อยๆ เคลื่อนสู่วังวนของการแข่งขันที่ไม่รู้จบ
ยิ่งผลิตสินค้าต่อชั่วโมงได้มากเท่าไหร่ ผลกำไรก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ไม่มากก็น้อยแนวคิดนี้นำมาสู่สำนึก ‘อย่าปล่อยเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์’ ในโลกยุคใหม่ โดยประโยชน์ที่ว่าล้วนตั้งอยู่บนฐานของการผลิตและงาน (ที่สร้างรายได้)
ด้วยเหตุนี้ เราจึงรู้สึกผิดที่จะอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร และรู้สึกดีจนอยาก ‘อวด’ ใครต่อใคร เมื่อได้ใช้เวลาแต่ละนาทีอย่างมีประสิทธิภาพ
แม้แต่ในเวลาว่าง เราก็พยายามใช้เวลาว่างไปกับการสร้างผลผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น อ่านหนังสือ ดู TED หรือนั่งคิดไอเดียใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
ส่วนในเวลางาน เราก็ทุ่มเททำงานให้ได้เยอะที่สุดในเวลาที่จำกัด จนไม่ต่างจากเครื่องจักรในโรงงาน เพื่อจะได้รับคำชื่นชมและรางวัลจากโลกที่บูชาความเร็ว
การแขวนตัวเองไว้กับคุณค่าการผลิตแบบสายพานที่มีนาฬิกาและปริมาณเป็นค่าวัด ทำให้มนุษย์ลืมกิจกรรมง่ายๆ อย่างการ ‘อยู่เฉยๆ’ อันเป็นกิจกรรมธรรมดาแสนสามัญในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
เวลาที่ไม่เคยพอ
ตัดภาพจาก ‘เวลาเป็นเงินเป็นทอง’ ในปี 1748 มาที่ปี 1982
แลร์รี ดอสซีย์ (Larry Dossey) แพทย์ชาวอเมริกันได้บัญญัติศัพท์คำว่า ‘โรควิตกจริตเกี่ยวกับเวลา’ (time-sickness) ขึ้นมา เพื่ออธิบายภาวะความเชื่อฝังหัวที่ว่า ‘เวลากำลังผ่านไป เวลามีไม่พอ และเราต้องเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้นๆ เพื่อไล่ตามมันให้ทัน’
ล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เวลากลายเป็นสิ่งขาดแคลนมากขึ้น เมื่อเทคโนโลยีอันทันสมัยกำลังขับเคลื่อนโลกให้เดินเร็วกว่าเดิม
กฎของมัวร์ (Moore’s Law) บอกว่า ปริมาณของทรานซิสเตอร์บนแผงวงจร (นัยหนึ่งคือความเร็วในการประมวลผล) จะเพิ่มเป็นเท่าตัวทุก 2 ปี
การส่งข้อมูลที่เร็วขึ้น ประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราหมดความอดทนกับใครหรือสิ่งใดก็ตามที่ขยับตัวได้ช้ากว่าความเร็วของหน่วยประมวลผล
การซื้อของออนไลน์เป็นภาพสะท้อนความจริงข้อนี้ได้ดี เพราะทุกกระบวนการล้วนแข่งขันกันที่ความเร็ว
ซื้อวันนี้ ส่งของถึงบ้านภายใน ‘…’ ช่องว่างที่เว้นไว้ถูกเติมด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยใช้เวลาหลายวัน กลายเป็นสามวัน หนึ่งวัน จนกระทั่งเหลือหน่วยชั่วโมง
สิ่งที่เคยทันใจวันนี้กลายเป็นความล่าช้าในวันต่อมา เพราะมาตรฐานความเร็วจะถูกถีบให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
กาย แคลกซ์ตัน (Guy Claxton) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษผู้เขียนหนังสือ Hare Brain, Tortoise Mind: Why Intelligence Increases When You Think Less คิดว่าการรีบเร่งเป็นธรรมชาติที่สองของมนุษย์ไปแล้ว
“เราได้พัฒนาสภาพจิตที่ฝักใฝ่ความเร็ว การประหยัดเวลา และประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับวันก็ยิ่งกล้าแข็งขึ้นเรื่อยๆ”
ความเร็วที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนยุคนี้ใจร้อนขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะสิ่งที่เราพอจะรู้คือ เราไม่ค่อยอยากจะรออะไรแล้ว
ราคาที่ต้องจ่ายให้ความรีบเร่ง
ความเร่งรีบและ ‘เวลาเป็นเงินเป็นทอง’ กำลังสะกดมนุษย์ให้มีชีวิตอยู่เพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจเพื่อสร้างผลผลิตและกำไร
ชั่วโมงการทำงานของเรายาวนานขึ้น เทคโนโลยีทำให้งานติดตามเราไปทุกที่ทุกเวลา และแทนที่จะได้ผลผลิตที่ดีและมากขึ้นกว่าเดิม เรากลับไร้ประสิทธิภาพ ผิดพลาดง่าย ไม่มีความสุข และเจ็บป่วย
หลายคนเป็นโรคที่มีสาเหตุจากความเครียด ไม่ว่าโรคนอนไม่หลับ ไมเกรน ความดันโลหิตสูง หืดหอบ โรคกระเพาะ ลำไส้ ฯลฯ
แม้ในเวลาที่ควรได้พัก เราก็ลืมวิธีที่จะใช้เวลาเงียบๆ อยู่กับตัวเอง เราต้องการสิ่งเร้า เราต้องหยิบจับสมาร์ทโฟน หรือเราต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เรากำลังติดกับดักความเร็ว และเสพติดความมีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกัน ชีวิตที่เร็วเกินพอดีก็กำลังกัดกินเราไปเรื่อยๆ
ความเนิบช้าอันรื่นรมย์
กระแสสโลว์ไลฟ์หรือที่ตะวันตกเรียกว่า Slow Movement มีจุดเริ่มต้นจากการต่อต้านฟาสต์ฟู้ด เมื่อแมคโดนัลด์มาเปิดสาขาข้างบันไดสเปน (Spanish Steps) ในกรุงโรมเมื่อปี 1986
คาร์โล เปตรินี (Carlo Petrini) นักเขียนด้านอาหารชาวอิตาลีจึงก่อตั้งขบวนการ ‘สโลว์ฟู้ด’ ขึ้นเพื่อสนับสนุนวิถีอาหารแบบดั้งเดิมที่ฟาสต์ฟู้ดไม่มี เช่น ความสดใหม่ ตำรับอาหารที่ดั้งเดิม เกษตรกรรมแบบยั่งยืน การกินอาหารอย่างผ่อนคลายกับครอบครัวและเพื่อนฝูง ฯลฯ
แต่ทั้งหมดทั้งมวล หัวใจของสโลว์ฟู้ดคือ ‘ความรื่นรมย์’
เปตรินีคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการรับมือกับความหมกหมุ่นกับความเร็วที่พวกเราเป็นอยู่ หลักการของกลุ่มแถลงไว้ว่า “การปกป้องความพึงพอใจทางวัตถุอย่างแน่วแน่เป็นหนทางเดียวที่จะต่อต้านพฤติการณ์โง่เขลาของชีวิตที่รีบร้อนที่เป็นอยู่ทั่วโลกนี้… การปกป้องของเราควรเริ่มต้นที่โต๊ะอาหารกับสโลว์ฟู้ด”
ข้อความข้างต้นอยู่ในหนังสือ In Praise of Slowness ที่เขียนโดย คาร์ล ออนอเร (คนที่เราพูดถึงตอนต้นของบทความ) เขาสารภาพว่า “ผมเป็นโรคติดความเร็ว” แต่การเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาทดลองใช้ชีวิตให้ช้าลง
คาร์ลพูดใน TED ว่า ความช้าอาจถูกมองในแง่ลบในโลกที่ให้ค่ากับความเร็ว แต่การช้าที่ดีมีอยู่ เช่น “การใช้เวลากินข้าวกับครอบครัวโดยไม่เปิดทีวี หรือใช้เวลามองไปที่ปัญหาจากทุกมุม เพื่อจะตัดสินใจอย่างดีที่สุดในการทำงาน หรือแม้กระทั่งการใช้เวลาให้ช้าลงเพื่อซึมซับชีวิตของคุณ”
หลังจากชะลอชีวิตให้ช้าลง คาร์ลพบว่าตัวเองมีความสุขมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น และทำงานได้ดีขึ้น
ส่วนความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ก็ลึกซึ้ง ลุ่มลึก และเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม
“ผมรู้สึกว่ากำลังใช้ชีวิตมากกว่าจะรีบร้อนผ่านมันไป”
ในโลกแห่งความเร็ว คาร์ลไม่ได้หันหลังหรือปฏิเสธความเร็ว แต่เขาพยายามที่จะค้นหาดุลยภาพระหว่างความเร็วกับความช้า
ไม่ใช่มุ่งหน้าที่จะเร็วจนไม่ลืมหูลืมหา หรือถอยกลับไปใช้ชีวิตช้าๆ อย่างไม่ไยโลก
แต่คือการรู้ว่าตอนไหนควรช้า ตอนไหนควรเร็ว
ความเนิบช้าที่พูดถึง จึงหาใช่ความโรแมนติกแบบฝันกลางวัน แต่คือการจัดสมดุลชีวิตในโลกแห่งความจริง ที่พยายามไล่กวดบีบคั้นให้เราต้องเร็ว และเร็วขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อที่จะมีเวลาสูดกลิ่นหอมของชีวา และค้นพบจังหวะที่มีความสุขของชีวิต.
อ้างอิง:
- คาร์ล ออนอเร (Carl Honoré). เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น (In Praise of Slowness). สำนักพิมพ์ openbooks
- Carl Honore. TED Global 2005 In Praise of Slowness. https://www.ted.com/talks/carl_honore_praises_slowness#t-889961
- Wikipedia. Slow Food. https://en.wikipedia.org/wiki/Slow_Food
- Wikipedia. Carlo Petrini. https://en.wikipedia.org/wiki/Carlo_Petrini
- Wikipedia. Carl Honoré. https://en.wikipedia.org/wiki/Carl_Honor%C3%A9
- Amazon. Guy Claxton. https://www.amazon.co.uk/Guy%20Claxton/e/B001HOI19K/ref=la_B001HOI19K_pg_2/257-0335882-5273479?rh=n%3A266239%2Cp_82%3AB001HOI19K&page=2&sort=author-pages-popularity-rank&ie=UTF8&qid=1526461584
- Marcel Opilka. 10 rules of slow life. https://muditalab.com/10-rules-of-slow-life-fcbdd87b5aac
FACT BOX
- เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น (In Praise of Slowness) คือ หนังสือที่เป็นต้นทางแนวคิดสโลว์ไลฟ์ (Slow Life) ที่พยายามบอกผู้คนให้ละวางความเร็วและชีวิตอันเร่งรีบ เพื่อกลับมาหาความสุขอันเรียบง่าย จากการทำงาน การใช้ชีวิต เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เขียนโดย คาร์ล ออนอเร ผู้สื่อข่าวชาวแคนาเดียน เจ้าของเว็บไซต์ www.inpraiseofslow.com คนที่สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ฉบับแปลภาษาไทย สั่งซื้อได้ที่เพจสำนักพิมพ์ openbooks