เราต่างรู้กันอยู่เต็มอกว่า ชีวิตเต็มไปด้วยความผิดพลาดเสมอ
เมื่อชีวิตไม่เป็นดั่งหวัง ใจของเราจึงมีทั้งความรู้สึกเศร้า และอาการโกรธเกลียดตัวเองฝังลึกไม่เปลี่ยนแปลง
ในทางกลับกัน หากความเข้าใจทำให้เราอยู่ร่วมกับทุกๆ สิ่งได้จริง การพยายามทำเข้าใจความผิดพลาด ก็น่าจะทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดน้อยลง และสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข
แคทรีน ชูลส์ (Kathryn Schulz) นักข่าวและนักเขียนชาวอเมริกันก็เป็นคนหนึ่งที่คิดเช่นนั้น เธอใคร่ครวญถึงความผิดพลาดของตัวเองและผู้คนรอบตัว แล้วถ่ายทอดทุกแง่มุมออกมาเป็นหนังสือ Being Wrong: Adventure in the Margin of Error
เธอบอกว่า ความเสียใจเกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์บางอย่างที่สร้างจุดเปลี่ยนให้ชีวิต ประกอบกับจินตนาการที่ทำให้คิดหาเหตุผลมาตำหนิตัวเอง เพราะคนเรามักจะไม่ยอมรับความผิดพลาดในทันที แต่หลังจากนั้น เมื่อเวลาผ่านไป โอกาสที่จะยอมรับความผิดพลาดได้ก็มีมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับใจของเราด้วยว่าจะเลือกยอมรับหรือเปล่า
คงไม่มีใครอยากกักขังตัวเองให้จมอยู่กับความเศร้าเสียใจจากความผิดพลาดในชีวิต แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นทางออกที่ดีที่สุด
โดยมีแนวทางทั้งหมด 3 วิธี เป็นตัวช่วยให้ชีวิตรู้จักยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ มีความสงบสุขได้ แม้จะมีความเสียใจ และอยู่ร่วมกับความเจ็บปวดอย่างไม่ร้าวรานใจไปมากกว่าเดิม
(1) ทำใจให้สบาย: เพราะความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ และเราทุกคนมีความเศร้าเป็นเงาตามตัว นี่คือเรื่องปกติของชีวิต เราไม่ได้ทุกข์ใจอยู่คนเดียวในโลกเสียหน่อย
(2) หัวเราะให้ตัวเอง: แม้จะเป็นอารมณ์ขันจากการเสียดสีเหน็บแนม หรือตลกร้าย ก็นับว่ามีประโยชน์เหมือนกัน เพราะทำให้ยิ้มได้ และผ่อนคลายตัวเองจากความหดหู่อื่นๆ
(3) ปล่อยให้เวลาผ่านไป: เพราะเวลาจะช่วยเยียวยาทุกอย่างได้ ทั้งบาดแผล ความเศร้า ความไม่สมหวัง และความรู้สึกผิดพลาด
ท้ายที่สุด เมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้นมาแล้วในชีวิต ขอเพียงแค่ชื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง และร่วมเจ็บปวดไปกับสิ่งนั้นอย่างที่ควรจะเป็น เพราะคำว่าชีวิตไม่ใช่การอยู่โดยไม่มีความเสียใจเลย แต่เป็นการไม่โกรธเกลียดตัวเอง หากต้องเสียใจเมื่อทำอะไรพลาดไปเท่านั้นเอง
อ้างอิง
- Daniel Gilbert. The Errors of Our Ways. https://nyti.ms/3ggTuQw
- TEDSalon NY2011. Kathryn Schulz: Don’t Regret Regret. https://bit.ly/3l5C2lF