รู้หรือไม่ว่า คนที่ริเริ่มให้เราต้องทำงานกันวันละ 8 ชั่วโมง มีชื่อว่า โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen)
โอเวนเป็นเจ้าของโรงงานทอผ้าชาวเวลช์และเป็นนักปฏิรูปสังคมคนสำคัญในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เขาเป็นผู้ฉีกกฎการทำงานอันคร่ำครึที่แรงงานต้องก้มหน้าก้มตาทำงานหนัก 12-14 ชั่วโมงต่อวัน มาเป็นการ “ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง สันทนาการ 8 ชั่วโมง และพักผ่อน 8 ชั่วโมง” ที่ดูเหมือนจะเป็นตารางชีวิตสุดแสนสมบูรณ์แบบของคนในยุค 200 ปีที่แล้ว
อีก 100 ปีต่อมา เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ และผู้คิดค้นการประยุกต์ระบบสายพานการผลิตให้เข้ากับการผลิตยานยนต์จำนวนมากๆ ก็ได้กำหนดให้พนักงานในโรงงานของเขาทำงานวันละ 8 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์
และเมื่อกิจการของฟอร์ดประสบความสำเร็จอย่างสูง สภาคองเกรสจึงออกพระราชบัญญัติกฎหมายแรงงานให้อเมริกันชนต้องทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง พลอยทำให้วัตรปฏิบัตินี้กระจายไปสู่บริษัทน้อยใหญ่ทั่วโลกตราบจนปัจจุบัน
แต่แล้ว ธรรมชาติ (หรือเป็นผลพวงจากการกระทำของมนุษย์เราเองกันแน่?) ก็ส่งไวรัสโคโรนามากำราบห่วงโซ่แห่งการทำงานนี้ลง
หลังจากที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนต้อง WFH (Work From Home) นานต่อเนื่องหลายเดือน เพื่อเป็นการร่วมมือกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปรากฏว่า ผลลัพธ์ของงานที่ได้ในช่วง WFH ก็แทบจะไม่ต่างจากการฝ่ารถติดหรือเบียดคนบนรถไฟฟ้าเข้ามานั่งทำงานในออฟฟิศแต่อย่างใด อีกทั้งมนุษย์ออฟฟิศจำนวนหนึ่งที่ปรับตัวได้ดี ก็เริ่มคุ้นเคยกับการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เหมาะกับการทำงานในแต่ละวันได้แล้ว
จึงเกิดคำถามว่า จริงๆ แล้วยังจำเป็นอยู่ไหมที่ต้องให้พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์
การลดชั่วโมงทำงานในออฟฟิศลงจึงเป็นนโยบายที่บริษัทในหลายประเทศเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้นในตอนนี้
แนวทางในการปรับเปลี่ยนชั่วโมงทำงานก็มีทั้งแบบ hybrid ที่ผสมผสานระหว่างการเข้ามาทำงานในออฟฟิศสลับกับทำงานที่บ้าน หรือการลดวันทำงานลงเหลือแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่บริษัทในหลายประเทศก็ยังยืนกรานให้พนักงานกลับมาทำงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นตลอด 5 วันต่อสัปดาห์เช่นเคย (หรือบางประเทศอย่างจีนที่โหดจัดถึงขั้นทำงานแบบ 9-9-6 คือ ทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม 6 วันต่อสัปดาห์)
ว่าแต่ ตารางการทำงานแบบไหนที่จะลงตัวกับชีวิตคนทำงานในยุคนี้ และเผื่อไปถึงยุค Post–Covid–19 มากที่สุด
สูตรการทำงานแบบ ‘3-2-2’
3-2-2 หมายถึง การเข้ามาทำงานในออฟฟิศ 3 วัน ทำงานที่ไหนก็ได้อีก 2 วัน และหยุดพักผ่อน 2 วัน ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานที่ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้พนักงานได้จัดสรรชั่วโมงทำงานของตัวเองให้เหมาะกับรูปแบบของงานที่ทำ และไม่ไปรบกวนซ้อนทับกับกิจกรรมอื่นในชีวิตประจำวัน
“มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ชอบชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่นในช่วง WFH และอยากทำงานด้วยวิธีนี้ต่อหลังจากโลกเข้าสู่ภาวะปกติ” แอชลีย์ วิลเลนส์ (Ashley Whillans) ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่ง Harvard Business School กล่าวถึงภาพรวมความรู้สึกของคนวัยทำงานในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้โมเดลชั่วโมงทำงาน 3-2-2 น่าจะเหมาะกับโลกของคนทำงานยุคหลังโควิด-19 มากที่สุด
“ยิ่งถ้ามีการร่างเป็นกฎหมายแรงงานจะยิ่งกระตุ้นให้แต่ละบริษัทพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มากขึ้น เช่น ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อโรคโควิด–19 ความสะดวกของพนักงาน และการตกลงร่วมกันว่ากิจกรรมแบบไหนที่จะส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด” วิลแลนส์เสริม
ทั้งนี้ การนำโมเดล 3-2-2 ไปปรับใช้ก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติที่แตกต่างกันไปของแต่ละองค์กร โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่ต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างหลายแผนก ซึ่งต้องอาศัยชั่วโมงทำงานที่ตรงกันเป็นสำคัญ ก็อาจจะทำให้ยากแก่การนำโมเดลนี้มาใช้
แต่ต้องไม่ลืมเป้าประสงค์ที่แท้จริง ซึ่งก็คือ เคารพสิทธิของพนักงาน ในขณะที่ก็ต้องรักษาสมดุลของการทำงานร่วมกันและประสิทธิภาพของงานที่ต้องเกิดประโยชน์สูงสุด
“ดุลยพินิจของแต่ละบริษัทย่อมแตกต่างกันออกไป แต่ก็ควรอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ควรรู้ว่าเมื่อไรที่จะจูงใจให้พนักงานอยากเข้ามาทำงานในออฟฟิศ ในขณะที่พวกเขาเองก็ควรใช้ช่วงเวลาที่อยู่บ้านอย่างมีคุณภาพเพื่อให้เกิดสมดุลที่ดีระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ที่สำคัญคือ ควรกระตุ้นให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์และมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างเพื่อนร่วมงาน” วิลแลนส์ย้ำ
ทำงานในออฟฟิศ 4 วันต่อสัปดาห์
คอนเซ็ปต์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายๆ บริษัทในโลกเคยทดลองให้พนักงานลดวันทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แล้ว แต่ก็เป็นการทดลองทำเป็นพักๆ ล้มเหลวบ้าง ประสบความสำเร็จบ้างอย่างไม่เป็นรูปธรรม จนกระทั่งถึงยุคที่โรคระบาดโควิด-19 ครองเมืองนี่เอง ที่ทำให้หลายประเทศหันมาจริงจังกับนโยบายนี้มากขึ้นกว่าเดิม
ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซานนา มาริน (Sanna Marin) นายกรัฐมนตรีหญิงวัย 34 ปีของฟินแลนด์ เพิ่งออกมาประกาศถึงความตั้งใจในการเริ่มต้นทดลองตารางการทำงานรูปแบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกำหนดให้มีวันทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ และทำงานไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมง เพราะปัจจุบัน แรงงานในฟินแลนด์มีรูปแบบการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์ โดยนับตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา แรงงานชาวฟินแลนด์ได้รับสิทธิในการเริ่มงานหรือเลิกงานเร็วหรือช้ากว่ากำหนดได้ 3 ชั่วโมง
เพราะผลลัพธ์หลังจากการต้องทำงานอยู่กับบ้านนานหลายเดือนทำให้หลายๆ คนพบว่า การทำงานจากที่ไหนก็ได้ทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยจากผลสำรวจของ FlexJobs พบว่า 51% ของคำตอบระบุว่าทำงานที่บ้านได้ผลดีกว่า แม้ในบางครั้งอาจจะต้องทำงานไปดูแลคนในครอบครัวไปด้วยก็ตาม และบางคำตอบก็ระบุถึงเหตุผลว่ามีสมาธิในการทำงานดีขึ้นเพราะไม่ต้องได้ยินเสียงจ้อกแจ้กจอแจของเพื่อนร่วมงาน
และอีกหลายเสียงก็บอกว่า การถูกกำหนดให้ทำงานหลายชั่วโมงเกินไป ใช่ว่าจะส่งผลดี เพราะนอกจากจะลดประสิทธิภาพของงานลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอีกด้วย
ดังนั้น ในเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา บริษัท Unilever New Zealand จึงเริ่มทดลองให้พนักงานมาทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน โดยยังได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน และจะทดลองนำนโยบายนี้มาปฏิบัติไปจนถึงเดือนธันวาคม 2021
นิค แบงส์ (Nick Bangs) ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Unilever New Zealand ระบุถึงจุดประสงค์ของการทดลองลดวันทำงานในครั้งนี้ว่า เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการทางความคิดใหม่ๆ ในการทำงาน และกระตุ้นให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น รวมถึงเพื่อสุขภาพที่ดีของพนักงาน
“การทดลองให้พนักงานทำงานสัปดาห์ละ 4 วันในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ ก็เพราะพนักงานของเราทั้งหมดยืนยันว่า นโยบายนี้จะส่งผลดีต่อทั้งแรงกายและแรงใจในการทำงาน พวกเขาจะมุ่งมั่นทำงานให้บริษัทกำไรมากขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ และจะยังสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าต่อไป” แบงส์เล่าถึงที่มาของนโยบายใหม่ของบริษัท
ในขณะที่ อลัน โจป (Alan Jope) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ใหญ่ของกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ กลับเผยว่าบริษัทฯ จะไม่กลับไปดำเนินนโยบายทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์อีกต่อไป เพราะมันล้าสมัยไปเสียแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ทดลองปรับกฎเกณฑ์ในการทำงานให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมากขึ้น เช่น IBM Japan ทดลองให้พนักงานหยุดงานทุกวันศุกร์เป็นเวลา 1 เดือน และ Uniqlo กับ Shake Shack ที่ลดวันทำงานของพนักงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์เช่นกัน
ทั้งนี้ แม้จะพบผลลัพธ์เป็นความพึงพอใจของพนักงานที่สามารถรักษามาตรฐานของงานให้ดีไม่มีตก แต่ก็ยังมีอีกหลายเสียงโต้แย้งถึงข้อเสียของการลดชั่วโมงทำงานในออฟฟิศลง เช่น อาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้บริษัทคู่แข่งแซงหน้าโดยอาศัยชั่วโมงทำการที่มากกว่า หรือการทำงานที่บ้านอาจทำให้เกิดช่องโหว่ทางการสื่อสาร จนปล่อยให้ลูกค้าต้องรอการตอบรับนานเกินไป เช่น ไม่ได้อ่านหรือไม่ว่างตอบ Line หรือเคลียร์ช่วงเวลาในการ Video Call ไม่ตรงกันเสียที เป็นต้น
ดังนั้น การจะหันกลับไปใช้นโยบายเดิม คือ เข้าออฟฟิศตอกบัตรทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ หรือเปลี่ยนมาเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้นตามสูตร 3-2-2 หรือทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติในเนื้องานของแต่ละองค์กร และดุลยพินิจของฝ่ายบริหารว่าสามารถบริหารจัดการให้พนักงานพัฒนาศักยภาพของตัวเองตามบรรยากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าทรัพยากรบุคคลดี มีคุณภาพ จะทำงานกี่วัน กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
อ้างอิง
- Meredith Turits.What’s the best plan for a radical new workday? https://bbc.in/3drPDSW
- Lauren C. Howe, Ashley Whillans and Jochen I.Menges.How to (Actually) Save Time When You’re Working Remotely. https://bit.ly/37oTsom
- Luke O’Reilly.Finland’s new Prime Minister would like to see a four-day working week or six-hour days debated. https://bit.ly/3dkTxNz
- Lizzie Wade.The 8-Hour Workday Is a Counterproductive Lie. https://bit.ly/3pyBZjn