©ulture

หลายครั้งที่เราให้คำปรึกษาคนเพิ่งเริ่มทำงานเกี่ยวกับ ‘วิธีทำงานอย่างไรให้โตไวหรือโดดเด่น’ สิ่งหนึ่งที่เราจะเล่าให้ฟังเป็นประจำคือ บทบาทและทักษะของแต่ละตำแหน่งในองค์กร

เหตุผลที่ต้องเล่าเรื่องนี้ก็เพราะ การรู้คุณสมบัติในแต่ละก้าวจะทำให้เรารู้ว่า ณ วันนี้เราควรทำอะไร ควรทำงานอย่างไร และอะไรที่จะทำให้เราก้าวไปสู่ก้าวต่อๆ ไป

ในองค์กรทำงาน หากจะแบ่งตำแหน่งตามลำดับขั้น สามารถแบ่งได้เป็น 4 ขั้น คือ

1. พนักงานระดับปฏิบัติการ (Junior Officer)

ชื่อบอกอยู่แล้วว่า officer เท่ากับภาษาไทยว่า พนักงานปฏิบัติการ ฉะนั้น ถามว่าตำแหน่งนี้มีหน้าที่อะไร คำตอบที่ชัดมากคือ ‘ทำ ทีนี้ถามต่อว่า คนที่ทำงานในตำแหน่งนี้จะโดดเด่นได้อย่างไรคำตอบก็ชัดมากคือ คุณต้อง ทำงานเป็นและทำงานสำเร็จ’ หรือที่เรียกว่า hard skill คือ คุณต้องมีความรู้ความสามารถในเรื่องที่ทำ เมื่อรู้แล้วก็ต้องทำเป็นและทำเสร็จ เช่น หัวหน้าบอกให้คุณค้นหาข้อมูลลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ คุณก็สามารถทำข้อมูลนั้นให้หัวหน้าได้อย่างละเอียดและครบถ้วนในเวลาอันรวดเร็ว แบบนี้แหละคือ พนักงานที่เก่ง คือ ทำเก่ง

2. หัวหน้าทีม (Team Leader/Supervisor)

ในขั้นถัดมาคือ ระดับหัวหน้าทีม ซึ่งหมายถึงการได้คุมทีมย่อย โดยอาจมีลูกน้องคนสองคนหรือสิบคนก็แล้วแต่ แต่การคุมในความหมายนี้ คือการคุมให้พนักงานปฏิบัติการทำงานได้ตามแผน สำหรับทักษะสำคัญของคนเป็นหัวหน้าทีม คือคุณต้องเคยเป็นพนักงานที่เก่งมาก่อน พูดอีกอย่างก็คือ เป็นคนที่ลงมือทำเก่ง จนรู้ปัญหาและรู้วิธีแก้ไขปัญหา สาเหตุที่คนเหล่านี้มักจะถูกวางตัวให้เป็น หัวหน้าทีม’ เพราะว่า สามารถโค้ชพนักงานใหม่หรือคนอื่นๆ ให้ทำงานสำเร็จได้นั่นเอง

ทีนี้คุณเห็นอะไรไหมคุณจะสังเกตได้ว่า ทักษะหรือความเชี่ยวชาญในการทำงานของระดับปฏิบัติการ หรือ hard skill นั้น มีผลโดยตรงต่อการก้าวเป็นหัวหน้าทีม ลองนึกกลับกันดู คุณเคยเจอหัวหน้าที่ทำงานไม่เป็นไหมเอะอะมีแต่สั่งให้ทำ แต่พอถามว่าทำอย่างไ กลับตอบไม่ได้ อาการนี้นี่แหละ ฟ้องว่าคุณได้หัวหน้าที่เคยเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการที่ทำงานไม่เป็น

นอกจากนี้ คนที่เป็นหัวหน้าทีมจะต้องมีทักษะใหม่เพิ่มขึ้นมา นั่นคือ soft skill เช่น เรื่องทักษะคน ทักษะคิดวิเคราะห์ เพราะงานที่คุณทำไม่ใช่แค่ตัวงานอย่างเดียวเท่านั้น แต่คุณยังต้องดูแลคนให้ทำงานตามที่วางไว้ หากเจอลูกน้องงอแง ก็ต้องแก้ปัญหาได้ หรือถ้าเจอปัญหาคนระหว่างแผนก ก็ต้องรู้วิธีตะล่อมหรือประนีประนอมเพื่อให้งานออกมาได้สำเร็จ

3. ผู้จัดการ (Manager)

ผู้จัดการ คือตำแหน่งในระดับ Mid-Management หรือผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า บริหาร ฉะนั้น งานของผู้จัดการ คือการวางแผน กำหนดเป้าหมาย การคิดกลยุทธ์ การวางผังโครงสร้างทีมและคนในทีม สร้างระบบการทำงาน โดยทั้งหมดทั้งมวลก็คือ ผู้จัดการต้องไปรับนโยบายจากผู้บริหารสูงสุด เพื่อตีค่าออกมาเป็นแผนงานตัวเอง

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ โดยยกตัวอย่างเช่น ซีอีโอกำหนดนโยบายว่า ต่อจากนี้แผนกการตลาดจะมุ่งเน้นไปที่การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ดังนั้น หน้าที่ของผู้จัดการการตลาด คือรับโจทย์การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ไปทำให้เกิดขึ้นจริงและขายได้ ซึ่งซีอีโอจะไม่มีทางบอกว่าต้องทำสินค้าอะไร ทำอย่างไร เพราะนั่นคือหน้าที่ของผู้จัดการที่ต้องรับโจทย์ใหญ่ไปทำให้เกิดขึ้นจริง โดยใช้หัวหน้าทีมที่อยู่ใต้การดูแลของตัวเองและลูกทีมที่เป็นระดับปฏิบัติการไปลงมือทำโจทย์นั้นมาให้ได้

ฉะนั้น ทักษะที่ผู้จัดการต้องใช้หนักมาก คือ soft skill ซึ่งเคยมีสมัยเป็นหัวหน้าทีมมาทำ แต่ขณะเดียวกัน ทักษะที่ต้องเติมเข้ามา คือทักษะการจัดการ (managerial skill) ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การกำหนดเป้า การบริหารคนและค่าใช้จ่าย ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องมีทักษะนี้

สาเหตุที่ soft skill ของคนที่ทำงานตำแหน่งผู้จัดการต้องเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เพราะว่างานที่ผู้จัดการทำ คือ งานเรื่องคนล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารลูกทีมตัวเอง บริหารความสัมพันธ์กับคนต่างแผนก บริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ หรือกระทั่งยังต้องบริหารความคาดหวังจากผู้บริหารหรือนายใหญ่ตัวเองอีกที บอกได้เลยว่าในขั้นนี้ การจัดการ การเมือง เป็นสิ่งที่ต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลาว่าจะเลี้ยว จะหลบ จะชน จะถอย ในแต่ละการเจอกับผู้คนอย่างไร นี่คือ soft skill ขั้นสูง

4. ผู้บริหารระดับสูง (Director/Top Management)  

มาถึงลำดับสุดท้ายหรือขั้นสูงสุดในองค์กร คือ ระดับผู้อำนวยการไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง หรือกลุ่ม C-Level (เช่น ​CEO, CFO, CMO, CIO) สำหรับงานในขั้นนี้ คือ บริหาร แต่สิ่งที่ต่างจากระดับผู้จัดการ คือ ทำงานด้วย การตัดสินใจ’ หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ เคาะเรื่องใหญ่ๆ’ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ผ่านงานบริหารหรือเคยเป็นผู้จัดการมากันหมด สิ่งที่พวกเขาดูแลคือ การกำหนดนโยบายให้ผู้จัดการรับไปทำ พวกเขาจึงมีหน้าที่กำหนดนโยบายหรือวิสัยทัศน์ที่เป็นภาพใหญ่ๆ และตัดสินใจเมื่อผู้จัดการเดินมาหาและนำเสนอว่าจะอนุญาตให้ผู้จัดการทำหรือไม่

ฉะนั้น คนในขั้นนี้จะใช้ managerial skill ที่สูงขึ้นมา เพราะพวกเขาไม่ใช่คนที่ต้องมาจัดการหรือลงมือทำอะไรเองแล้ว แต่พวกเขาจำเป็นต้องรู้ว่า สิ่งที่พวกเขากำหนดลงไปนั้น สมเหตุสมผและผู้จัดการจะทำได้จริงหรือไม่ หากพวกเขาไม่ใช่ผู้จัดการที่เก่งมาก่อน เวลากำหนดหรือตัดสินใจให้ใครทำอะไร ก็จะล้มเหลวหรือไม่เวิร์ค

ขณะเดียวกัน soft skill โดยเฉพาะการจัดการคน การเจรจา การต่อรอง และรับมือการเมือง ก็จะสูง ซับซ้อน และท้าทายความสามารถขึ้นเรื่อยๆ นั่นเพราะว่าคนที่พวกเขาต้องดีลด้วย มีอำนาจและบทบาทที่ใหญ่และเรื่องเยอะ ดังนั้น การเดินเกมการเมืองหรือความสัมพันธ์กับคนระดับใหญ่ๆ ถ้าผิดไปเพียงนิดเดียว ก็อาจหมายถึงหายนะได้เลย

จะเห็นได้ว่า ในแต่ละขั้นของการทำงาน ล้วนแต่มีทักษะที่จะถูกต่อยอดไปเป็นคุณสมบัติในก้าวถัดไปเสมอ ถ้าคุณเป็นพนักงานปฏิบัติการ คุณต้องเชี่ยวชาญงานที่คุณทำ เพราะเมื่อคุณเชี่ยวชาญ คุณจะสอนและโค้ชคนอื่นเป็น นี่คือการต่อให้คุณเป็นหัวหน้าทีมได้ต่อ ในขณะที่ถ้าคุณเป็นหัวหน้าทีม ไม่ใช่แค่เก่งงาน แต่คุณต้องเก่งเรื่องคนมากขึ้น และเริ่มเติมทักษะจัดการ เพื่อให้คุณก้าวมาเป็นผู้จัดการ เมื่อเป็นผู้จัดการ

นอกจาก people skill และ managerial skill แล้ว คุณยังต้องฝึกการมองภาพใหญ่ เพราะความเข้าใจในมุมผู้กำหนดนโยบาย และคิดได้เสมือนคุณเป็นผู้บริหารสูงสุด เพื่อเวลาคุณจัดการอะไรก็ตาม คุณจะจัดการได้ตรงตามนโยบาย และลดภาระหนักอึ้งของผู้บริหารสูงสุดลงไปด้วย เมื่อทำสิ่งนี้ได้ดี การขึ้นเป็นผู้บริหารใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะคุณรู้จักภาพรวม และเคาะเป็น ว่าง่ายๆ คุณจะตัดสินใจได้ดีขึ้น จากการที่คุณจัดการอะไรๆ ให้สำเร็จได้มาก่อน

เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คนทำงาน—ไม่ว่ากำลังทำงานอยู่ในขั้นไหน มีหมุดหมายและรู้ว่าควรทำตัวอย่างไรในการทำงานให้โตไวหรือโดดเด่น