©ulture

เสียงหัวเราะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่ออันเป็นสากลระหว่างมนุษย์มายาวนาน มาร์ค ทเวน (Mark Twain) นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า “เผ่าพันธุ์มนุษย์มีอาวุธที่ทรงพลังอย่างหนึ่ง นั่นคือเสียงหัวเราะ”

แต่ขณะที่ผู้สร้างเสียงหัวเราะเชื้อสายเอเชียในรูปแบบแสตนด์อัพคอมเมดี้หลายคนได้ไปปักธงในซีกโลกตะวันตกอย่างมั่นคงในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็กลับเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราการเกิดความรุนแรงต่อคนเชื้อสายเอเชียกลับเพิ่มขึ้นมหาศาล California State University พบว่า ขณะที่ในปี 2020 อาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชังในอเมริกาลดลง 7% ทว่าอาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชังในคนเอเชียกลับเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 149% และมีมากถึง 3,800 เคสที่ได้รับการรายงานระหว่างมีนาคม 2020 ถึงกุมภาพันธ์ 2021

น้ำตาที่ควรเล็ดออกมาจากเสียงหัวเราะแห่งความสุข กลับกลายเป็นน้ำตาอันมีที่มาจากความเศร้าในโศกนาฏกรรมแห่งความเกลียดชังเหล่านั้น becommon จึงอยากขอเป็นอีกหนึ่งเสียงหนึ่งของการเรียกร้องในแคมเปญ #StopAsianHate โดยหยิบยก 5 แสตนด์อัพคอมเมเดี้ยนเชื้อสายเอเชี่ยนน่าจับตามานำเสนอ 

แน่ละว่าเสียงหัวเราะอาจเป็นสากล แต่ด้วยกำแพงภาษาและบริบทเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม มุกตลกบางเรื่องก็อาจไม่ได้ขบขันสำหรับทุกคนเสมอไป แต่อย่างน้อย เราก็เชื่อว่า ความขบขันน่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเชื่อมต่อมนุษย์ให้เข้าหากัน และทำให้ความเกลียดชังลดน้อยลงได้

 

รอนนี เจียง (Ronny Chieng)

ถ้าจะมีการแสดงใดในลิสต์นี้ที่พุ่งตรงเข้าหาความไม่เข้าใจความหลากหลายระหว่างวัฒนธรรมเอเชียกับชาติตะวันตกที่สุด ก็น่าจะเป็น Asian Comedian Destroys America! ของ รอนนี เจียง

“เวลาพ่อแม่ชาวเอเชียอยากให้ลูกๆ เป็นหมอ ดูเหมือนเหตุผลในการช่วยเหลือผู้คนจะเป็นมาเป็นข้อท้ายสุดเสมอ …เพราะถ้าคุณเป็นรุ่นแรกที่อพยพมา การมีลูกเป็นหมอ มันคือหนทางเร็วที่สุดในการพลิกฐานะในชั่วรุ่นหนึ่ง มันได้ทั้งความน่าเชื่อถือ ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งความน่ายำเกรง… …แต่สิ่งที่น่าแปลกก็คือ พ่อแม่ชาวเอเชียจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่คุณสามารถเกลี่ยกล่อมพวกเขาให้ไปหาหมอได้”

รอนนี เจียง เป็นชาวมาเลเซีย ผู้มาโด่งดังกับการเป็นผู้ประกาศในรายการ The Daily Show ของช่อง Comedy Central ในอเมริกา ก่อนที่จะเดบิวต์กับ Stand-Up Comedy Specials ของ Netflix ในช่วงปลายปี 2019 ซึ่งโชว์ของเขาที่ชื่อ Asian Comedian Destroys America! ก็ถูกพูดถึงและได้รับคำชื่มชมมากมาย เพราะมันนำเสนอประเด็นได้อย่างครบถ้วน มีเนื้อหาตรงไปตรงมา วิพากษ์วิจารณ์ทั้งวัฒนธรรมเอเชีย และมุมมองต่อคนอเมริกันที่มีต่อคนเอเชีย โดยไม่ละเลยที่จะเสียดสีตัวเองอย่างเผ็ดร้อน

รอนนี เจียงบอกว่า สำเนียงเอเชียนั้นไม่ควรเป็นพร็อพเพื่อเอาไว้ใช้เรียกเสียงหัวเราะในเซนส์ที่เต็มไปด้วยความดูหมิ่น แต่เนื้อหาที่เปล่งแสงของความหลากหลายต่างหากที่จะนำมาซึ่งความสุขสันต์และความเข้าใจระหว่างกันในที่สุด

สมาชิก Netflix ดูสแตนด์อัพของรอนนี เจียงได้ที่ https://www.netflix.com/title/81070659

 

อาลี หว่อง (Ali Wong)

อาลี หว่อง ขึ้นเวที Stand-Up Comedy Specials บนแพลตฟอร์ม Netflix โชว์แรกของเธอในปี 2016 ชื่อ Baby Cobra พร้อมลูกในท้องอายุ 7 เดือน เธอบอกผู้ชมว่า “คงไม่บ่อยและไม่ปกตินักที่คุณจะเห็นตลกเพศหญิงขึ้นแสดงขณะเธอกำลังตั้งครรภ์ เพราะว่า… นักแสดงตลกหญิงไม่เคยตั้งท้อง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเธอท้อง พวกเธอจะถูกทำให้หายไปจากเวที”

แล้วเรื่องราวหลังจากนั้นจึงเป็นประสบการณ์เผ็ดๆ มันๆ ของการตั้งครรภ์ ความเป็นแม่ ปัญหาของปิตาธิปไตย และแน่นอน การเป็นนักแสดงตลก ‘หญิง’ แถมยังเป็นนักแสดงตลกหญิง ‘เชื้อสายเอเชีย’ ที่โดนกดอยู่ตลอดเวลา 

ก่อนที่ในปี 2018 เธอจะกลับมาใน Stand-Up Comedy Specials พร้อมกับท้องโย้ๆ อีกครั้งในชื่อ Hard Knock Wife ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะชนิดจัดเต็มด้วยเรื่องราวของการเป็นแม่ เป็นภรรยา และความเป็นคนที่มีเชื้อสายเอเชียอยู่ภายในที่เข้มข้นขึ้น (แม้ถ้านับจริงๆ เธอจะเป็นผู้อพยพรุ่นที่ 3 แล้วก็ตาม)

นอกจากเนื้อหา สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในลายเซ็นของอาลี หว่อง น่าจะเป็นการเว้นช่องไฟอย่างถูกที่ถูกเวลา ทิ้งพื้นที่ว่างระหว่างลมหายใจให้ผู้ชมได้ตกผลึก ก่อนจะโพล่งหัวเราะออกมาดังๆ ท่ามกลางเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยความหลากหลายเหล่านั้น

สมาชิก Netflix ดูสแตนด์อัพของอาลี หว่องได้ที่ https://www.netflix.com/title/80186940

 

ฮาซาน มินฮัจ (Hasan Minhaj) 

ฮาซาน มินฮัจ เป็นผู้ประกาศและนักแสดงตลกชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียผู้มาจากครอบครัวมุสลิมที่เคร่งครัดในรัฐอุตตรประเทศ ด้วยอารมณ์ขำอันจัดจ้าน ในปี 2019 เขาก็ก้าวมาอยู่ในลิสต์ของ 100 บุคคลผู้มีอิทธิพลของโลกโดยนิตยสาร Time 

ฮาซาน มินฮัจเริ่มต้นไต่เต้าจากการเป็นแสตนด์อัพคอมเมเดี้ยนปลายแถว และตัวประกอบในละครทีวีต่างๆ ก่อนความสามารถของเขาจะทำให้ได้ร่วมงานกับ The Daily Show และเดบิวต์ Stand-Up Comedy Specials โชว์แรกในชื่อ Homecoming King ในปี 2017 ที่ทำให้เขาได้รับรางวัล Peabody Award ในปี 2018 หลังจากนั้นชื่อของฮาซาน มินฮัจก็โด่งดังสุดขีดกับการกลายมาเป็นกลายโฮสต์ของรายการเล่าข่าวเปี่ยมอารมณ์ขำเรตติ้งดีใน Netflix อย่าง Patriot Act with Hasan Minha จนกระทั่งปี 2019 เขาก็ได้รางวัล Peabody Award ไปครองซ้ำอีกครั้ง

โชว์ชื่อ Homecoming King ซึ่งสร้างชื่อให้ฮาซานนั้นไม่เหมือนใคร มันไม่ใช่การมายืนนิ่งๆ หรือเดินไปเดินมาเพื่อเล่าเรื่องราวชวนหัวในวัฒนธรรมสุดพีคของการเติบโตมาในครอบครัวอินเดียน-อเมริกันเท่านั้น แต่มันยังได้รับการออกแบบเวที มีคิวการแสดงพร้อมแสงสีเสียงอย่างดี ราวกับว่าการรับชมการแสดงตลกของฮาซานคือการได้เฝ้ามองเรื่องราวของคนคนหนึ่งในรูปแบบงานอาร์ตดีๆ เลยทีเดียว

มีมุกหนึ่งที่พอจะเป็นน้ำจิ้มได้ในเรื่องของวัฒนธรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่ชาวอินเดีย ซึ่งถูกนำไปเปรียบเทียบกับพ่อแม่ชาวอเมริกัน ที่ฟังดูก็รู้ว่าฮาซาน มินฮัจเองก็เจ็บช้ำ แต่ก็สามารถแปลงมันมาเป็นเสียงหัวเราะได้อย่างมีพลังว่า

“อเมริกันกันตีแขน แล้วทำให้เกิดรอยช้ำบนร่างกาย ส่วนอินเดียตบหน้า และทำให้ฟกช้ำได้ถึงจิตวิญญาณ”

สมาชิก Netflix ดูสแตนด์อัพของฮาซาน มินฮัจได้ที่ https://www.netflix.com/title/80134781

 

โจ คอย (Jo Koy)

โจ คอย มีชื่อจริงว่า โจเซฟ เกลน เฮอร์เบิร์ต (Joseph Glenn Herbert) เขาเป็นคนอเมริกัน ผู้เติบโตมากับแม่ชาวฟิลิปปินส์  เขามี Stand-Up Comedy Specials บน Netflix มาแล้ว 3 โชว์ไล่มาตั้งแต่ Jo Koy: Live from Seattle ปี 2017 Jo Koy: Comin’ In Hot ปี 2019 และ Jo Koy: In His Elements ในปี 2020

“ผมเป็นลูกครึ่งคนขาว-ฟิลิปปินส์ ซึ่งนั่นแน่อยู่แล้วว่าพ่อของผมต้องเคยเป็นทหารในต่างแดน…  นั่นไม่ใช่มุก นั่นคือความจริงสุดติ่งกระดิ่งแมว”

เรื่องราวของ โจ คอย เหมือนสแตนด์อัพคอมเมเดี้ยนอื่นๆ ที่มักเล่นล้อกับเรื่องราวส่วนตัวของผู้เล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเป็นพ่อ ครอบครัว อาชีพการงาน ฯลฯ จะต่างกันแค่เขาเติบโตมากับวัฒนธรรมเอเชียเข้มข้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมของคนฟิลิปปินส์พลัดถิ่น ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวต่างจากภูมิภาคอื่นในเอเชียด้วยกัน เรื่องราวของเขาจึงพิเศษและโดดเด่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลูกชายที่แม้จะมีบางส่วนเป็นคนขาว และอีกส่วนเป็นฟิลิปปิโน่ แต่กลับอยากเติบโตขึ้นมาเป็นคนดำ หรือเรื่องราวของแม่ชาวฟิลิปปินส์ ที่เขาเคยบอกว่า “ภาษาเดียวที่แม่ของผมพูดคือการแผดเสียง”

ปี 2020 โจ คอยกลับไปเยือนฟิลิปปินส์ ดินแดนเกิดของมารดา ก่อนจะทำให้ทั่วโลกรู้จักกับวัฒนธรรมของที่นั่น ตั้งแต่เรื่องอาหาร ความงดงามในมิตรภาพแบบฟิลิปปินส์ หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมฮิปฮอปผ่านโชว์ที่ชื่อ Jo Koy: In His Elements

ส่วนสิ่งที่เราพบว่าตลกที่สุดในเรื่องราวของโจ คอย ก็คือ ชื่อที่เขาเลือกมาเป็นชื่อในวงการของตัวเอง เพราะชื่อโจ คอย ที่เขาเคยคิดว่าเป็นชื่อแสนเท่ที่ป้าชาวฟิลิปปินส์เป็นคนตั้งให้ แท้จริงกลับมาจากการหูเพี้ยนฟังผิดของเขาเอง—ในตอนเป็นเด็ก ป้าของโจมักเรียกให้เขามากินข้าวด้วยการตะโกนว่า “Jo Ko, eat!” เสมอ ซึ่ง Ko ในภาษาตากาล็อกนั้นจริงๆ แล้วแปลว่า My สิ่งที่ป้าของเขาพยายามจะสื่อสารจึงเป็น My Jo, come to eat! ไม่ใช่การเรียก โจเซฟ เกลน เฮอร์เบิร์ต ว่าโจ คอยแต่อย่างใด

สมาชิก Netflix ดูสแตนด์อัพของโจ คอยได้ที่ https://www.netflix.com/title/81044582

 

วีร์ ดาส (Vir Das)

นี่คือแสตนด์อัพคอมเมเดี้ยนหนึ่งเดียวในลิสต์นี้ที่มีถิ่นพำนักหลักอยู่ในเอเชีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเองอย่าง ‘อินเดีย’ วีร์ ดาสเป็นชาวอินเดียร้อยเปอร์เซ็นต์ผู้ไม่เคยนึกอยากเปลี่ยนภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดียอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไปเป็นแบบอื่น และมีมุกตลกสไตล์ซีเรียสหน้าตายแบบอินเดียแท้เป็นจุดขาย

“มันงดงามที่พวกคุณเดินทางมาตามหาตัวเองที่อินเดีย เพราะพวกเรา คนอินเดีย เดินทางไปต่างประเทศ และหวังว่าจะไม่มีใครตามหาพวกเราเจอ รวมถึงครอบครัวของพวกเราเอง”

วีร์ ดาสมี Stand-Up Comedy Specials บน Netflix มาแล้วมากถึง 5  โชว์ ตั้งแต่ Abroad Understanding (2017), Losing It (2018), For India (2020) และระหว่างช่วงล็อกดาวน์ของคนทั้งโลกในปี 2020 เขาก็ได้สร้างสรรค์เสียงหัวเราะผ่านการแสดงสแตนด์อัพทางโปรแกรมวิดีโอคอลอีก 2 โชว์คือ Inside Out และ Outside In ที่แม้จะห่างไกลจากการเห็นหน้าค่าตากันจริงๆ เพียงใด แต่กลับแสนเอ็กซ์คลูซีฟใกล้ชิดกับคนดูยิ่งกว่าครั้งไหนเช่นกัน เมื่อคนดูสามารถสื่อสารกับวีร์ ดาสได้แบบเรียลไทม์ผ่านวิดีโอคอลของตัวเองไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก สู่ห้องพักของวีร์ ดาสในเมืองมุมไบนั่นเอง

“อะไรคือสิ่งแรกที่คุณจะทำหลังจากล็อกดาวน์จบลง”

วีร์ ดาสถามคนดูของเขาเช่นนั้นใน Outside In ก่อนเสียงหัวเราะอันเป็นสากลที่เชื่อมต่อผู้คนเข้าหากันจะตามมา

สมาชิก Netflix ดูสแตนด์อัพของ วีร์ ดาส ล่าสุดในรูปแบบ  Lockdown Special ได้ที่ https://www.netflix.com/title/81362817