กางเกงวอร์ม เสื้อยืด และสนีกเกอร์
เป็นไอเท็มชิ้นแรกๆ ที่คน เจนซี (Gen Z) จะคว้าได้จากตู้ เสื้อผ้าเหล่านี้กลายมาเป็นแฟชั่นของคนรุ่นใหม่ที่ไม่แคร์ว่าสวมใส่แล้วจะดูเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเป็นเพศใด เพราะสิ่งที่เป็นแนวคิดซึ่งพวกเขายึดถือ นั่นคือ ความใส่สบาย มากกว่าภาพจำ หรือบรรทัดฐานในเรื่องของ ‘เพศ’
ผลการศึกษาของนักสำรวจเทรนด์อย่าง J. Walter Thompson Innovation Group ระบุว่าคนเจนซี มักจะไม่ซื้อของที่ถูกผลิตมาสำหรับเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ มีเพียง 44 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ซื้อเสื้อผ้าที่ออกแบบมาสำหรับเพศของตัวเองเสมอ ตลาดแฟชั่นที่แบ่งความเป็นชายและหญิงออกจากกันจึงไม่ค่อยถูกจริตมนุษย์ยุคนี้สักเท่าไหร่นัก
ชุดกีฬาหรือชุดออกกำลังกายมักถูกออกแบบมาให้สวมใส่ได้อย่างสบาย เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็นกางเกงวอร์มขายาว เสื้อน้ำหนักเบา หรือรองเท้าวิ่งที่รองรับการเดินได้เป็นอย่างดี สามารถใส่ไปได้หลากที่ หลากโอกาส เส้นแบ่งระหว่างแฟชั่นของชายและหญิงพร่าเลือนลงไปเมื่อเป็นชุดกีฬาถูกออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สบายที่สุด
ผลการสำรวจล่าสุดของ Ybrands โชว์หราว่าแบรนด์แฟชั่นอันดับหนึ่งที่ครองใจชาวเจนซีคือ Nike แบรนด์รองเท้ากีฬาสุดคลาสสิกตลอดกาล ส่วน Adidas และ Supreme ก็ติดอันดับต้นๆ ด้วยเช่นกัน
มาร์ค โบเก้ (Marc Beaugé) นักข่าวและบรรณาธิการบริหารของนิตยสารแฟชั่น L’Etiquette พูดถึงปรากฏการณ์นี้ว่า “นี่คือเสื้อผ้าที่ดีที่สุดของมนุษย์ยุค Netflix และ Deliveroo ซึ่งไม่ได้ออกไปไหน แต่กำลังสั่งอาหารมากินที่บ้านและซื้อสินค้าทุกอย่างบนอินเตอร์เน็ต”
แฟชั่นของชายและหญิงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว กางเกงวอร์มที่เคยหยิบมาใส่นอน เมื่อหยิบมาแมต์ชกับเสื้อยืดเก๋ๆ และสนีกเกอร์เท่ๆ สักคู่ ก็ดูเท่ไม่หยอก และความเท่นี้กลับไม่ได้ถูกจำกัดให้เป็นของเพศไหน แต่ไม่ว่าใครก็เท่ได้ ชุดกีฬากลายมาเป็นทางเลือกใหม่ที่ทำให้ความเท่ของคนทุกเพศหลอมรวมกันอีกครั้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ
The Money Changer and His Wife ภาพสีน้ำมันของ เควนติน แมตซีส (Quentin Matsys) จิตรกรชาวเฟลมิช จากปี 1514 เป็นหลักฐานอีกชิ้นที่ทำให้เราเห็นว่าก่อนหน้านั้น #แฟชั่นเคยไม่เลือกเพศ เสื้อผ้าของชายหญิงในสมัยกรีกโบราณคล้ายกัน พวกเขาสวมชุด ฮิเมชัน (Himation) ที่ทำจากผ้าสองชิ้นพันรอบร่างกาย อาจแตกต่างกันไปบ้างตามฐานะ ที่ผ้ากำมะหยี่ถูกสงวนไว้ให้คนรวยเท่านั้น
เสื้อผ้าเริ่มถูกร้อยติดกับบทบาททางเพศในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปทำให้ชายและหญิงเริ่มมีบทบาททางสังคม กระโปรงหายไปจากตู้เสื้อผ้าของผู้ชาย ส่วนผู้หญิงต้องขลุกอยู่แต่ในครัวและมีผ้ากันเปื้อนคาดเอว
เพราะอึดอัดจนทนไม่ไหว บทบาททางเพศจึงถูกเลาะออกจากเสื้อผ้าอีกครั้งในปี 1960 ในปีนั้นคำว่า #unisex ถือกำเนิดขึ้นโดยใช้เป็นชื่อเรียกร้านตัดผมสำหรับทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย คำว่า uni มาจากภาษาละตินที่แปลว่า #หนึ่งเดียว คำนี้จึงใช้จำกัดความสิ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อคนทุกเพศ เช่น เสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ทั้งชายและหญิง
นี่ไม่ใช่แค่คำจำกัดความ แต่ยังหมายถึงปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่เข้ามาพลิกโฉมวงการแฟชั่นเปลี่ยนไปถนัดตา ห้างสรรพสินค้าเริ่มจัดโซนใหม่สำหรับเสื้อผ้าที่ชายก็ใส่ได้ หญิงก็ใส่ดี มีพรีเซนเตอร์เป็นคู่รักที่มักจะสวมชุดกางเกงทรงกระดิ่ง ติดกระดุมสีส้มคาราเมลสดใส
ไม่นานนักแฟชั่นก็กระโดดไปไกลกว่านั้น เราเรียกยุคนั้นว่า Androgynous ที่หมายถึง การแสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงตามแบบแผน ที่เต็มไปด้วยเสื้อผ้าไร้เพศ (Gender-neutral) เมื่อโลกไม่ได้มีแค่ชายกับหญิง ความงามจึงขาดสะบั้นออกจากกรอบทางเพศอย่างสิ้นเชิง เสื้อผ้าจะยังคงงดงามเสมอไม่ว่าผู้สวมใส่จะนิยามตัวเองอย่างไร
ราวๆ ปลายทศวรรษ 60 เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า The peacock revolution ที่เหล่าศิลปินชายคนดังพากันออกมาแต่งตัวประหนึ่งนกยูงรำแพนหาง เช่น เดวิด โบวี่ (David Bowie) นักร้องดังแห่งยุคสมัยที่สลัดเสื้อผ้าที่แสดงถึงความเป็นชาย (masculine) มาใส่กางเกงรัดรูปสีสันฉูดฉาด เติมปากด้วยลิปสติกสีแดงชาดแบบผู้หญิง (feminine)
ในช่วงเดียวกันนั้น รูดิ เกิร์นไรช์ (Rudi Gernreich) ดีไซน์เนอร์ชาวอเมริกันที่ออกแบบเพื่อความเสรีทางเพศ เขาออกแบบชุดว่ายน้ำเปลือยท่อนบนสำหรับผู้หญิง และเสื้อชั้นในที่ไร้ทั้งโครงและฟองน้ำ เขาไม่ได้ดีไซน์เพื่อปลดปล่อยผู้หญิงจากพันธนาการของแฟชั่นชั้นสูง แต่ยังตั้งใจปลดปล่อยมนุษย์ทุกคนจากแฟชั่นที่มีบรรทัดฐานทางเพศมาขีดกรอบเอาไว้
แม้ว่าดีไซน์เนอร์คนเก่งจะจากโลกนี้ไปหลายทศวรรษแล้ว แต่ชายหาดในปี 2021 ก็ยังไม่ใช่ที่ที่คนทุกเพศจะรู้สึกสบายใจ เพราะบิกินี่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทุกคน วงการชุดว่ายน้ำยังคงต้องเดินหน้าต่อเพื่อตอบรับความหลากหลายทางเพศ หลากหลายสรีระของผู้คน และการออกแบบจะไม่ใช่แค่ชายก็ใส่ได้ หญิงก็ใส่ดีอีกต่อไป แต่หมายถึงต้องออกแบบเพื่อคำนึงถึงสุนทรียภาพที่มนุษย์ทุกคนจะสัมผัสได้ร่วมกันจริงๆ
บาสเตียน ลอเรนท์ (Bastien Laurent) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Avoc แบรนด์เสื้อผ้าในปารีสเล่าว่า “แนวคิดเบื้องหลังของ Avoc คือการก้าวข้ามเพศสภาพและข้อจำกัดในสังคม แต่เราไม่ได้เรียกมันว่า unisex เราไม่เชื่อในคอลเล็กชันที่จะเหมาะกับทั้งชายและหญิง วิธีของเราคือทำคอลเล็กชันหนึ่งเดียวที่สร้างขึ้นจากสุนทรียภาพ ภาษา และแนวคิดแบบเดียวกัน”
ปรากฏการณ์เลือกชุดกีฬาเพาะใส่สบายของคนเจนซี กำลังจะก้าวจากความสบายกาย ไปสู่ความสบายใจ ที่จะได้ใส่เสื้อผ้าที่ตนเองพอใจโดยไม่โดนแปะป้ายว่าเป็นเพศอะไร
โลกหมุนไปพร้อมกับคนยุคใหม่ที่ค่อยๆ ฉีกกรอบทางเพศออกจากเสื้อผ้า ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะเห็นผู้ชายใส่กกระโปรงลายดอกเดซี่ และผู้หญิงจะใส่สูทผูกไทด์ ยิ่งไปกว่านั้นแฟชั่นกำลังจะกลายเป็นของทุกคนเหมือนชุดกีฬาที่ไม่เคยสงวนความเท่ไว้ให้ใครเพียงผู้เดียว
อ้างอิง
- Zing Tsjeng. Teens These Days Are Queer AF, New Study Says. https://bit.ly/35aiA0w
- Roberta Fabbrocino. Gender Neutral Fashion. https://bit.ly/3v7C7cx
- Victor Gosselin. Sportswear: The genderless manifesto of Gen Z. https://bit.ly/3pGb32R
- Christopher Morency. Don’t Call It Unisex: Avoc’s Gender-Neutral Utopia. https://bit.ly/3pFEuSy
- Alice Hines. How His’n’Her Ponchos Became A Thing: A History Of Unisex Fashion. https://bit.ly/3w8wf3X