“ความเสียใจในชีวิตฉันคือการไม่ได้พูดว่ารักเธอมากพอ”
โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) ศิลปินชาวญี่ปุ่นเคยเผยความในใจถึงอดีตสามี จอห์น เลนนอน (John Lennon) นักร้องนำของวงเดอะบีทเทิลส์ (The Beatles) หลังจากเธอสูญเสียเขาไปในเหตุการณ์สะเทือนใจ
คำว่า ‘รัก’ ไม่ใช่แค่เฉพาะของโยโกะที่มีให้กับจอห์น แต่รวมถึงของทุกคนที่มีให้กับคนที่ตนรัก ต่อให้เป็นคำพูดที่กลั่นกรองออกมาจากความรู้สึกหวังดีหมดทั้งหัวใจ หากคนที่อยากให้ได้รับรู้กลับไม่อยู่ให้บอกอีกต่อไปแล้ว ‘รัก’ ก็คงเป็นเพียงคำที่แสนว่างเปล่าไร้ความหมายใดๆ
ความเสียใจของโยโกะกลายเป็นบทเรียนที่ชวนให้เราคิดทบทวนถึงชีวิตตลอดเวลาที่ผ่านมาว่า เคย ‘บอกรัก’ หรือ ‘สารภาพรัก’ กับใครสักคนครั้งล่าสุดเมื่อไหร่? คำตอบที่เป็นไปได้ คือ อาจเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อครู่ หลายวันก่อน สัปดาห์ที่แล้ว เนิ่นนานจนจำไม่ได้ หรือสำหรับบางคนเรื่องพรรค์นี้อาจไม่เคยเกิดขึ้นเลยสักครั้งในชีวิต
ผลการศึกษาเกี่ยวกับความผูกมัดผ่านการสื่อสารในความสัมพันธ์แบบคู่รักที่คบหาดูใจกันระยะยาว (romantic relationship) โดย Massachusetts Institute of Technology (MIT) หรือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการด้านจิตวิทยาสังคมและบุคลิกภาพ ระบุข้อค้นพบที่น่าสนใจไว้ว่า แม้ฝ่ายชายใช้เวลาตรึกตรองเฉลี่ย 88 วัน หรือเกือบ 3 เดือน ก่อนจะสารภาพรักกับคนที่เขาชอบ แต่ยังมีผู้ชายส่วนหนึ่งประมาณ 39% เลือกสารภาพรักตั้งแต่เดือนแรก ส่วนฝ่ายหญิงจะใช้เวลาเฉลี่ย 134 วัน หรือนานมากกว่า 4 เดือน และจำนวนผู้หญิงที่เลือกสารภาพรักภายในเดือนแรกก็มีเพียง 23%
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลข้อไหนที่ทำให้ใครหลายคนไม่ได้บอกคำว่า ‘รัก’ ทั้งความเหินห่างทางความสัมพันธ์ที่มักจะจบลงอย่างไร้เยื่อใยจนแต่ละฝ่ายกลายเป็นคนแปลกหน้าที่ทำทีท่าว่าไม่เคยรู้จักกัน ความไม่กล้ามากพอที่จะบอกความรู้สึกข้างใน หรือการตายจากที่แสนจะเจ็บปวด ล้วนแล้วแต่ทำให้ ‘รัก’ เป็นคำสำคัญที่เราต่างต้องบอกก่อนจะไม่มีโอกาส ทั้งหมดนำไปสู่คำถามชวนคิดที่เกิดขึ้นตามมาคือ ทำไมการสารภาพหรือบอกคำว่า ‘รัก’ กับคนที่เรารู้สึกดีด้วยเป็นพิเศษจึงกลายเป็นเรื่องยากเย็น?
โดยทั่วไปการถ่ายทอดความรู้สึกบางอย่างให้อีกฝ่ายรับรู้เท่ากับเป็นการเปิดเผยส่วนหนึ่งของตัวตน นั่นหมายความว่า เราต้องมั่นใจและเชื่อใจคนที่เรากำลังจะบอกความในใจได้ระดับหนึ่งว่า เขาหรือเธอผู้นั้นคือผู้รับฟังที่ดี เพราะเราคงไม่อยากระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจให้คนที่ไม่สนใจฟัง ไม่อยากทำความเข้าใจ หรือไม่ต้องการรับรู้สิ่งที่เราบอกกล่าวตั้งแต่แรก
แต่การบอกรักหรือสารภาพรักนั้นแตกต่างออกไป เพราะไม่ใช่แค่การเผยความในใจอย่างเดียว แต่ยังเป็นการกระทำที่ผู้พูดหวังสร้างจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้ชีวิตด้วย เช่น เพื่อก้าวข้ามจากสถานะโสดเป็นมีแฟน หรือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าเดิม ‘รัก’ จึงกลายเป็นคำสั้นๆ ที่แฝงพลังแห่งความหวังและความกดดันที่ยิ่งใหญ่เอาไว้ ซึ่งให้ผลลัพธ์สองทางคือไม่สมหวังก็ผิดหวัง
ด้วยมุมมองเช่นนี้ จุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์แบบคู่รักล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยความกล้าเป็นฝ่ายบอกรักก่อนถึงจะมีสิทธิ์คบหาเรียนรู้กันและกัน ส่วนคนที่ใจยังไม่กล้าพอก็คงต้องครองสถานะโสดต่อไป แล้วอะไรทำให้ใครหลายคนไม่กล้าสารภาพว่า ‘รัก’ ปล่อยให้ความรู้สึกคั่งค้างอยู่ในอกไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม?
สกอตต์ สแตนลีย์ (Scott Stanley) ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า ในสังคมสมัยใหม่ที่ทุกอย่างซับซ้อนขึ้นทั้งสภาพแวดล้อม ความคิดความอ่าน การกระทำของผู้คน รวมไปถึงรูปแบบความสัมพันธ์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างเรียบง่ายเป็นเส้นตรงทื่อๆ ที่เริ่มต้นจากการรักแรกพบจนตกลงปลงใจแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน หรือต่อให้ลงเอยด้วยการเลิกราก็จะต้องกลับเข้าสู่วังวนความสัมพันธ์ทำนองนี้ไปเรื่อยๆ อยู่ดี
คนในยุคปัจจุบันจึงกำลังเผชิญหน้ากับความคลุมเครือที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ความซับซ้อนมากเกินไปทำให้เราคาดเดาสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความรักและความสัมพันธ์ บางคนถึงขนาดไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าความสัมพันธ์ของตนใช่หรือใกล้เคียงกับคำว่า ‘รัก’ แค่ไหน ความคลุมเครือเหล่านี้จึงแปรเปลี่ยนเป็นแรงจูงใจหรือตัวกระตุ้นให้คนส่วนหนึ่งเลือกอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องการผูกมัดตัวเองกับใคร และไม่จำเป็นต้องมีสถานะเรียกชัดเจน
ดังนั้น ความดึงดันจะชัดเจนท่ามกลางบรรยากาศคลุมเครืออาจทำให้เราผิดหวังอย่างเจ็บปวดใจหากสารภาพรักกับใครไปแล้วเขาไม่ตอบรับ ส่วนคนที่มีคู่อยู่แล้วย่อมเกิดความเคยชินและคิดเผลอเรอว่า ‘รัก’ เป็นความรู้สึกที่คงอยู่ในใจแต่ละฝ่ายตลอดเวลาจึงไม่เห็นความจำเป็นต้องบอกรักกันบ่อยๆ เพราะเห็นหน้าค่าตากันทุกเมื่อเชื่อวัน
ความคลุมเครือทำให้คนโสดไม่กล้าสารภาพรักได้อย่างเต็มปาก เพราะกลัวถูกปฏิเสธและกลัวสูญเสียคนที่ดีที่สุดไป จึงยอมอยู่ในสถานะคนรู้จักหรือเพื่อนมากกว่า ส่วนคนมีคู่ไม่บอกรักต่อกันเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว โดยไม่รู้ตัวว่าอาจกำลังทำลายความสัมพันธ์ให้จืดจางลงทางอ้อม
ทุกการกระทำและการตัดสินใจมีเหตุผลเบื้องหลังซ่อนอยู่เสมอ คนที่ไม่พูดคำว่า ‘รัก’ ไม่ได้แปลว่าไม่รู้สึก แต่เป็นไปได้ว่าเขาชั่งใจคิดเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างบอกกับไม่ไม่บอกมาเป็นอย่างดี หรือสำหรับคนที่เขินอายเกินกว่าจะบอกรัก อาจเลือกใช้วิธีบอกรักแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการพูด อย่างแนวคิด The Five Love Languages ได้แบ่งภาษารักออกเป็น 5 รูปแบบ
ไม่ว่าใครจะสะดวกใจเลือกวิธีไหน แต่ ‘รัก’ ยังคงเป็นคำสั้นๆ ที่สื่อความหมายได้ตรงเข้าไปถึงใจผู้รับได้เร็วที่สุดเสมอ อย่างน้อยการบอกรักตอนที่ยังมีโอกาสก็นับเป็นเรื่องราวดีๆ ในชีวิต และเมื่อนึกย้อนกลับไปในวันที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ย่อมเป็นความทรงจำที่สวยงามตราบเท่าที่เรายังคิดถึงกัน เพราะคงไม่มีใครอยากรู้สึกเศร้าเสียใจกับอดีตที่ไม่ได้ทำมากพอเหมือนโยโกะ โอโนะ
อ้างอิง
- Ackerman, J. M., Griskevicius, V., & Li, N. P. (2011). Let’s get serious: Communicating commitment in romantic relationships. Journal of Personality and Social Psychology, 100(6), 1079–1094. https://doi.org/10.1037/a0022412
- Belinda Luscombe. Why It’s So Hard to Say ‘I Love You’. https://bit.ly/3qdY0pK
- Ben-Ze’ev, Aaron (2019). The Arc of Love: How Our Romantic Lives Change Over Time. Chicago : The University of Chicago Press.