life

หากมีเรื่องเข้ามารบกวนใจ ระดับที่ทำให้รู้สึกขุ่นเคืองถึงขั้นปรอทแตก ความโกรธพลุ่งพล่าน อารมณ์ร้อนเดือดดาล จนไม่อาจยับยั้งชั่งใจให้สงบนิ่งได้อีกต่อไป ในสถานการณ์เช่นนี้ เราควรทำอย่างไรดี

ในความเป็นจริง ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เราอาจไม่ทันได้หักห้ามใจที่กำลังร้อนผ่าวให้สงบเย็นลงด้วยซ้ำ เพราะทันทีที่นอตหลุด หรือฟิวส์ขาด ความคลุ้มคลั่งจะทำให้ความรู้สึกของเราตกลงไปอยู่ในจุดแตกที่เรียกว่า breaking point เราจึงระเบิดอารมณ์ออกมาอย่างเกรี้ยวกราดและรุนแรง

เมื่อได้สติกลับคืนมา หากสิ่งที่ทำลงไปด้วยความโมโหก่อนหน้า สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้ผู้อื่น คนส่วนใหญ่จะรู้สึกผิดและละอายแก่ใจ เพราะลึกๆ แล้วเราต่างไม่อยากดูเป็นคนหัวร้อนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือถูกใครตัดสินว่าวุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำ แต่บางคนกลับไม่คิดเช่นนั้น

เจเรมี อี เชอร์แมน (Jeremy E. Sherman) นักวิจัยชาวอเมริกัน ผู้สนใจศึกษาพฤติกรรมขี้หงุดหงิดและเหวี่ยงวีนง่ายของคนในยุคปัจจุบัน ค้นพบว่า ทั้งในชีวิตจริงที่คนเราปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้าและในสื่อสังคมออนไลน์บนโลกอินเทอร์เน็ต มักจะมีคนประเภทหนึ่งที่เอาความพึงพอใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง หากรู้สึกว่ามีใครทำอะไรไม่เข้าท่าหรือเกิดเหตุการณ์ไม่ได้ดั่งใจ พวกเขาจะพุ่งโจมตีไปที่คนหรือเหตุการณ์นั้นอย่างบ้าคลั่งโดยไม่รู้สึกระแคะระคายกับการกระทำของตน เพราะไม่คิดว่าเป็นการคุกคามหรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย

มากไปกว่านั้น ความถือดียึดตนเป็นไม้บรรทัดคอยวัดและตัดสินผู้อื่น ทำให้คนเหล่านี้หลงคิดเข้าข้างตัวเองว่า ทำเพื่อพิทักษ์คุณธรรมในสังคม ตนจึงได้รับความชอบธรรมที่จะแสดงความพลุ่งพล่านออกมาได้ ยิ่งระเบิดอารมณ์ใส่คนอื่นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกดีต่อตัวเอง ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดี ก็จะยิ่งระบายความโกรธเคืองใส่ผู้คนต่อไปเรื่อยๆ กลายเป็นความโปรดปรานและเสพติดทำหน้าที่อย่างเต็มใจ

เชอร์แมนเรียกพฤติกรรมทำนองนี้ว่า Maddiction โดยเปรียบเทียบให้เห็นความคล้ายคลึงกับหน้าที่ของนักรบในอดีตหรือทหารในสงคราม เพราะความคิดฝังหัวของทุกคนคือการกำจัดศัตรูให้สิ้นซาก เมื่อรู้ว่าใครบ้างเป็นเป้าหมาย พวกเขาจะเข้าต่อสู้อย่างบ้าระห่ำไร้ซึ่งความลังเลและกังวลใดๆ ไม่มีใครสนใจว่าวิธีการนั้นจะทารุณป่าเถื่อนหรือไม่ เพราะภายใต้สถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคาม ทุกคนมีสิทธิ์ทำอย่างไรก็ได้เพื่อสยบฝ่ายตรงข้ามให้พ่ายแพ้ แล้วเอาชัยชนะมาเป็นของฝ่ายตนเอง

ต่างกันตรงที่ ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในสนามรบ แต่ทุกคนกำลังใช้ชีวิตในสังคมที่มีทั้งกฎหมายและบรรทัดฐานคอยกำกับดูแลให้ทุกอย่างอยู่ในความสงบเรียบร้อย นั่นหมายความว่า เราไม่อาจไประรานหรือแสดงอาการสติแตกแบบ Maddiction ใส่คนอื่นได้ เพราะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ถึงอย่างนั้น เซอร์แมนกลับเชื่อว่า ผู้คนหรือแม้กระทั่งตัวเขาเองไม่อาจควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในร่องในรอยไปได้ตลอดเวลา จึงไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่า อาการ Maddiction จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับตัวเองเลย ในเมื่อความโมโหฉุนเฉียวคือหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ เท่ากับทุกคนยืนอยู่ริมหน้าผาที่ไร้รั้วกั้น จึงเสี่ยงพลัดตกลงไปในห้วง Maddiction ได้เสมอ

และสิ่งสำคัญที่ผลักให้คนกระโจนลงจากหน้าผาอย่างง่ายดายขึ้น คือความรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘คนดี’ มีคุณธรรมสูงส่งกว่าคนอื่น ต้องรับบทผู้ผดุงความดีงาม ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาสอดส่องความชั่วร้ายและขจัดมันให้หมดไปจากสังคม หากพบเห็นความไม่ชอบมาพากลเข้า จึงโมโหใส่คนอื่นได้อย่างฉับพลันทันใด ทั้งๆ ที่ทั้งหมดเกิดจากความเข้าใจผิดที่คิดตีความเข้าข้างตัวเองเพราะเสพติดการระเบิดอารมณ์แบบ Maddiction

เซอร์แมนยังตั้งข้อสังเกตว่า ความเป็นคนดีที่ใครบางคนหลงเข้าใจคือการหลอกตัวเอง เพราะแท้จริงแล้วคนที่แสดงอาการเข้าข่าย Maddiction ส่วนใหญ่มีจิตใจสกปรกที่แฝงความชั่วร้ายเอาไว้ด้วยกันทั้งนั้น Maddiction จึงเป็นเพียงข้ออ้างที่คนดีหวังสร้างความชอบธรรมให้ตนเกรี้ยวกราดได้เต็มที่โดยไม่ต้องรับผิดชอบกับผลกระทบใดและไม่มีความรู้สึกผิดในใจ

สิ่งเดียวที่พอเป็นความหวังให้เราก้าวถอยหลังห่างจากหน้าผาคือ ‘สติ’ เตือนตัวเองให้รู้เท่าทันอารมณ์ โดย ไรอัน มาร์ติน (Ryan Martin) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านความโกรธ เจ้าของหนังสือ Why We Get Mad: How to Use Your Anger for Positive Change (2021) ได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์ไม่พึงประสงค์โดยเฉพาะความเกรี้ยวกราดโมโหร้ายว่า อาการเลือดขึ้นหน้าเป็นเรื่องธรรมชาติและไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะความโกรธติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด

ประเด็นหลักที่มาร์ตินชวนคิดคือ ในช่วงเวลาแสนสั้นก่อนจะระเบิดอารมณ์ เราควรประเมินสิ่งกวนใจอย่างไร และให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้นมากแค่ไหน

การประเมินคือการคิดหาเหตุผลก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นเราถึงโมโห เมื่อฉุกคิดได้เราจะไม่ด่วนโกรธ เพราะเราเอาเหตุผลนำความรู้สึก แต่ปัญหาอยู่ที่มุมมองต่อโลกแบบ worst-case scenario อาจเรียกว่ามองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อนก็ได้ เพราะปกติคนเรามักจะมองเหตุการณ์ที่เข้ามารบกวนใจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดเรื่องร้ายแรง หากเอาแต่ประเมินสิ่งต่างๆ ให้แย่ไว้ก่อนเสมอ จะทำให้ตื่นตระหนกแล้วกลับมาโกรธอย่างหุนหันพลันแล่นเหมือนเดิม

อีกอย่างที่ต้องระวังคือ การอ้างสาเหตุความโกรธแบบผิดๆ เมื่อโมโห คนเรามักจะกล่าวโทษสิ่งที่ไม่ข้องเกี่ยวกันอย่างไม่สมเหตุสมผล เช่น โมโหเพราะหาของไม่เจอ จนสบถหรือพร่ำบ่นว่าของมันหายไปไหน ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นคนวางของนั้นกับมือแต่กลับลืม

ดังนั้น การคิดกลับปรับมุมมองจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและลดโอกาสไม่ให้เราเสพติดการระบายความโกรธเคืองอย่างไร้สติแบบ Maddiction ได้ หรือหากทนไม่ไหวจริงๆ มันสมองของมนุษย์ออกแบบให้เราสามารถคิดหาวิธีระบายอย่างสร้างสรรค์ไม่รู้จบและเป็นประโยชน์มากกว่าสวมบนเป็นนักรบคนดีที่ใช้ความโมโหเป็นอาวุธฟาดฟันผู้อื่นด้วยความสะใจ

หากขืนดื้อดึงแสดงอาการหัวร้อน เหวี่ยงวีนจนติดเป็นนิสัยแบบ Maddiction นอกจากจะดูเป็นคนดีที่น่ารังเกียจแล้ว ยังอาจเผชิญกับปัญหาและความเดือดร้อนอื่นๆ ที่พร้อมเกิดขึ้นตามมาไม่จบสิ้น เพราะความโกรธที่ไม่รู้จักระงับด้วยสติอาจนำมาซึ่งผลร้ายอย่างที่ใครก็คาดไม่ถึง

ต่อให้หวนคิดได้ทีหลัง บางครั้งทุกอย่างก็เลยเถิดจนกลับไปแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นเหมือนเดิมไม่ได้อีก นับเป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าเสียดายในเวลาเดียวกัน

 

อ้างอิง