ลองจิตนาการว่า คุณตั้งใจรวบรวมสมาธิให้จดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า แต่ไม่ทันไรใจของคุณกลับหลุดลอยไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ เพราะงานอาจน่าเบื่อเกินทนหรือไม่ก็ทำให้รู้สึกเครียดและกดดัน จึงเผลอปล่อยใจให้พ้นจากงานพักใหญ่
คำถามคือ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ทำนองนี้ คุณคิดว่าตัวเองจะทำอย่างไร? หากทางเลือกแบ่งออกเป็นสองขั้วตรงข้าม คือ รีบฟื้นคืนสติให้เร็วที่สุดเพื่อกลับมาทำงาน หรือ ยืนยันว่าจะหยุดทำงานชั่วครู่เพื่อให้ใจได้พักต่ออีกสักหน่อย
แต่ไม่ว่าคุณจะตอบข้อไหน ทุกทางเลือกต่างจุดประเด็นชวนให้ขบคิดต่อด้วยมุมมองจิตวิทยาว่า mind-wandering หรือ ภาวะใจเหม่อลอย มีประโยชน์หรือให้โทษมากกว่า ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อที่บรรดานักจิตวิทยาผู้ศึกษาเรื่องนี้ยังถกเถียงกันไม่จบลงง่ายๆ และไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววัน
หมายความว่า ณ ปัจจุบัน เรายังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะใช้ตัดสินได้อย่างชัดเจนว่า ระหว่าง ‘มีสติรู้ตัว’ กับ ‘ปล่อยใจให้ว่างไม่ต้องคิดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง’ ทางเลือกไหนเป็นทางเลือกที่ถูกที่ควร ยิ่งไปกว่านั้น ข้อค้นพบใหม่ๆ ยังเสนอวิธีคิดต่อเรื่องนี้ในมุมที่ต่างออกไป ทำให้นักจิตวิทยาหลุดพ้นจากกรอบความคิดเดิมๆ โดยไม่ต้องหมกมุ่นอยู่กับการชี้ขาดว่า mind-wandering คือสิ่งไม่ดี
เดิมทีนักจิตวิทยาเลือกเทใจให้ mindfulness หรือ ภาวะตื่นรู้มีสติ เพราะเป็นการจัดระเบียบความคิดไม่ให้ฟุ้งซ่าน เพื่อทำจิตใจให้สงบนิ่ง เพราะถือเป็นทักษะการบริหารจัดการตนเอง (self-management) อย่างหนึ่ง ช่วยให้เราดูแลตัวเองให้อยู่ในร่องในรอยและหน้าที่ความรับผิดชอบ การเตือนตัวเองให้กลับมามีสติแล้วลงมือทำงานให้เสร็จจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเห็นๆ
มุมมองนี้เป็นผลมาจากการศึกษาของ เดเนียล กิลเบิร์ท (Daniel Gilbert) และ แมทธิว คิลลิงสเวอร์ธ (Matthew Killingsworth) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทั้งคู่เป็นผู้บุกเบิกเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับ mind-wandering โดยตั้งสมมุติฐานว่า ใจที่หลุดลอยไม่อยู่กับเนื้อกับตัวคือใจหาความสงบสุขไม่ได้ เป็นต้นตอของความไม่สบายใจและอารมณ์ไม่ดี
หลังจากติดตามพฤติกรรมของอาสาสมัครทั้ง 2,250 คน ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน โดยสุ่มถามอาสาสมัครเป็นระยะเพื่อตรวจสอบภาวะรู้สติ ด้วย 3 คำถามสำคัญ คือ
- มีความสุขอยู่หรือเปล่า?
- กำลังทำอะไรอยู่ตอนนี้?
- ใจจดจ่อกับสิ่งไหนอยู่ สิ่งที่กำลังทำหรือเรื่องอื่นๆ ที่รู้สึกว่าน่าสนใจมากกว่า?
ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครจำนวน 47% ปล่อยให้ใจลอยระหว่างทำงานหรือทำกิจวัตรในชีวิตประจำวัน เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ยังมีสติรู้ตัวดีว่าต้องทำอะไร คนที่ใจเหม่อลอย ทำอะไรไปโดยไม่รู้เป้าหมายที่แน่นอน จะรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขน้อยลง จึงสรุปว่า mind-wandering ทำให้คนไม่มีความสุขได้
ขณะเดียวกัน หากต้องการคาดการณ์ว่าใครบ้างมีแนวโน้มเป็นคนหาความสุขในชีวิตไม่ได้ ให้สังเกตดูว่าเขาปล่อยใจเหม่อลอยมากแค่ไหน ซึ่งสอดคล้องกับหลักคิดเรื่อง here and now เพราะใจของเราควรตั้งอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่คิดเสียดายอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว และไม่กังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ไม่อย่างนั้นจะทำให้หวั่นวิตกและรู้สึกทุกข์ใจไม่สิ้นสุด
จนกระทั่ง พอล เซลี (Paul Seli) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) สหรัฐอเมริกา เผยการศึกษาใหม่ที่ขยายความเข้าใจเกี่ยวกับ mind-wandering ซึ่งช่วยลดทอนความเชื่อที่ว่าหากใจลอยจะทำให้ไม่มีความสุขอย่างเดียว
เซลีพบว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ไม่อาจมีสมาธิจดจ่องานหรือกิจกรรมใดได้ตลอดเวลา เพราะงานบางอย่างก็ไม่จำต้องเพ่งความสนใจต่อเนื่อง แล้วคนเราก็มีความรับผิดชอบมากพอจะรู้ว่าเวลาไหนต้องรีบทำงานให้เสร็จ และช่วงไหนของงานบ้างที่เปิดโอกาสให้ได้หยุดพักปล่อยใจลอยได้ mind-wandering จึงเป็นวิธีผ่อนคลายระหว่างทำงานที่ไม่ก่อเกิดผลเสียต่อเนื้องาน
ความมุ่งมั่นบังคับตัวเองให้สนใจแต่งานใดงานหนึ่งเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความตึงเครียด กลายเป็นความเสี่ยงทำให้งานเสียหายได้ ไม่ต่างกับเครื่องยนต์ หากทำงานต่อเนื่องไม่ได้พัก เครื่องยนต์จะสึกหรอและพังในท้ายที่สุด
กลับไปยังคำถามจากสถานการณ์จำลองในตอนต้นบทความ คำตอบที่เหมาะสมจึงไม่ใช่การเลือกทำทางใดทางหนึ่ง แต่เป็นการหาจุดกึ่งกลางที่สมดุลระหว่าง ความตั้งใจ กับ mind-wandering ซึ่งเป็นกลยุทธ์การทำงานที่น่าสนใจ
หลายๆ ครั้ง การอยู่นิ่งๆ ปล่อยใจไปเรื่อย ช่วยทำให้ผลของงานออกมาดีได้เหมือนกัน เพราะ mind-wandering ไม่ต่างจากการสำรวจลึกลงไปในพื้นที่ใต้จิตสำนึก เราจึงคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต่างจากการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลขณะมีสติ
เพราะช่วงเวลาที่ปล่อยใจให้ล่องลอยอย่างอิสระ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้คิดถึงอะไรเลย แต่เปลี่ยนจากการเพ่งอยู่กับงานไปเป็นอย่างอื่นที่ทำให้รู้สึกสบายใจ ประโยชน์ข้อสำคัญของ mind-wandering จึงทำให้เบาทั้งใจและสมอง แต่ต้องไม่ลืมควบคุมให้อยู่ในระดับพอเหมาะพอควรไม่ให้การงานเสีย การรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาจึงทำให้ตัวเรามีความสุขและยังรู้สึกสนุกไปกับงาน
อ้างอิง
- Joshua Shepherd. Why does the mind wander?. https://bit.ly/3zWAeD1
- Peter Reuell. When wandering minds are just fine. https://bit.ly/3wVbfy3
- Steve Bradt. Wandering mind not a happy mind. https://bit.ly/3gVte1I