เอ็ดเวิร์ด โคล นักธุรกิจผู้มั่งคั่งป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เขาเข้ารักษาในโรงพยาบาลเดียวกับ คาร์เตอร์ แชมเบอร์ ช่างซ่อมรถผู้กำลังป่วยด้วยโรคเดียวกัน
ชายชราสองคนซึ่งมีเวลาในชีวิตเหลือไม่มากนักเจอกัน พูดคุยถูกคอ พวกเขาบอกเล่าถึงสิ่งที่อยากทำก่อนตาย แชมเบอร์มีลิสต์อยู่ในเศษกระดาษ ก่อนที่ทั้งคู่จะตัดสินใจหนีออกจากโรงพยาบาลเพื่อทำตามรายการของสิ่งที่ในชีวิตนี้พวกเขายังไม่เคยได้ลองลงมือทำ…
คำถามที่ว่าเราเกิดมาทำไม อะไรคือความหมายของการดำรงอยู่ หลอกหลอนมนุษยชาติมาโดยตลอด นี่เป็นคำถามที่คิดหาคำตอบเมื่อไรก็ชวนให้มึนงงสับสน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมซึ่งเราอาศัยอยู่ช่างมืดมนและไร้หวัง แต่ถ้าลองเปลี่ยนคำถามให้แคบลงสักเล็กน้อย จินตนาการว่าเราจะมีชีวิตอยู่แค่สองเดือน หนึ่งเดือน หรือแค่หนึ่งสัปดาห์ โดยไม่ต้องพะวงถึงอนาคตยาวๆ ข้างหน้า แล้วเปลี่ยนคำถามเป็นประมาณว่า ‘เราอยากทำอะไรก่อนตาย’ การค้นหาคำตอบคงง่ายขึ้น บางคนอาจจะลิสต์ออกมาได้เป็นข้อๆ แม้คำตอบของการดำรงอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นั้นจะดูไร้สาระ แต่มันก็อาจเป็นสิ่งที่ช่วยดึงให้เราลุกขึ้นจากการจมอยู่บนเตียงในภาวะหมดแรงเช่นนี้ก็เป็นได้
นั่นคือสารตั้งต้นสำคัญของเรื่องราวในย่อหน้าแรก จากหนังฟีลกู๊ดที่ออกฉายในปี 2007 อย่าง The Bucket List —หนังที่ทำให้คำว่า Bucket List กลายเป็นคำที่ป๊อปปูลาร์ สื่อความหมายถึง ‘รายการของสิ่งที่อยากทำก่อนตาย’ ที่ผู้คนทั่วโลกเข้าใจตรงกัน และรับเอาไปปฏิบัติตามกันถ้วนหน้า
“เรามีชีวิต เราตาย และล้อของรถบัสก็จะหมุนวนต่อไป”
เอ็ดเวิร์ด โคล ตัวละครที่รับบทโดย แจ็ก นิโคลสัน (Jack Nicholson) กล่าว ก่อนจะตะลุยขีดฆ่าลิสต์ที่ตัวเองปรารถนาได้ทีละข้อ
เครดิตในการทำให้คำว่า Bucket List แพร่หลายและกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยของนักแสวงหาทั่วโลกตกเป็นของ จัสติน แซ็คแฮม (Justin Zackham) ผู้รับหน้าที่เขียนบทหนังเรื่องนี้ แซ็คแฮมสร้างรายการที่เขาอยากทำก่อนตายของตัวเองขึ้นมาในปี 1999 โดยเรียกมันว่า ,‘Justin’s List of Things to Do Before I Kick the Bucket’ ก่อนจะเรียกมันอย่างสั้นๆ ว่า ‘Justin’s Bucket List’ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทหนังเรื่อง The Bucket List ในอีกเกือบหนึ่งทศวรรษถัดมา
วลี ‘Kick the Bucket’ ที่แซ็คแฮมนำมาใช้ตั้งชื่อลิสต์ของเขา เป็นคำที่มีความหมายถึง ‘ความตาย’ โดยนักนิรุกติศาสตร์สันนิษฐานว่ามันเป็นวลีที่สามารถสืบย้อนกลับไปยังยุคกลาง ที่มีการประหารชีวิตโดยผูกเชือกรอบคอนักโทษขณะพวกเขายืนอยู่บนถังไม้ ก่อนผู้ทำการประหารจะเตะถังนั้นให้ล้มลง ซึ่งจะทำนักโทษถูกแขวนคอถึงแก่ความตาย
การคำนึงถึงความตาย หรือมรณะสติ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการสร้าง Bucket List ขึ้นมา
โครงการ Letter Project ของ Stanford University School of Medicine ที่ชวนให้ผู้คนมาเขียนจดหมายถึงคนรัก เพราะภัยคุกคามจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เราไม่อาจคาดเดาความตายของตัวเองได้อีกต่อไป อธิบายถึงความสำคัญของ Bucket List ว่า “การโฟกัสกับรายการที่อยากทำก่อนตาย คือการใช้ชีวิตด้วยความหวังและแรงบันดาลใจ การสร้าง ฺBucket List จะช่วยทำให้เราไตร่ตรองถึงคุณค่าและเป้าหมายในชีวิต รวมถึงเปิดเผยหลักไมล์สำคัญและประสบการณ์ที่เราต้องการจะเผชิญในหนึ่งชีวิตนี้”
การสร้าง Bucket List จึงเป็นอะไรที่ส่วนตัว ก่อเกิดจากสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ เพื่อตอบสนองเวลาที่เหลืออยู่แสนสั้นของตัวเอง ก็เหมือนในลิสต์บนภาพประกอบของบทความนี้ที่เราสรุปมาจากหนัง The Bucket List ซึ่งเกิดจากความสนใจส่วนตัวของตัวละครหลักของเรื่อง
แน่นอน สิ่งที่หวังกับสิ่งที่สามารถทำได้จริงไม่เหมือนกัน ในชีวิต เราล้วนมีข้อจำกัดมากมายที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย จนขีดฆ่าลิสต์ของสิ่งที่เราปรารถนาอยากทำก่อนตายได้ครบถ้วน ยิ่งกับช่วงเวลาอันยากลำบากของโรคระบาดที่บังคับให้เราต้องปิดกั้นตัวเองจากโลกและผู้คนที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไรก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก
แต่ใครบางคนก็เคยบอกว่าไว้ว่า ถ้าไม่มีความหวัง มันก็ดูจะไม่มีเหตุผลอะไรที่เราต้องมีชีวิตอยู่ ดังนั้นการสร้าง Bucket List ของตัวเองมันก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น อย่างน้อยก็เพื่อพยุงให้เรายังอยากมีลมหายใจ ช่วยเตือนว่าในโลกนี้ยังมีเรื่องมากมายที่เราอยากลงมือทำ
ตัวละครนำนาม คาร์เตอร์ แชมเบอร์ ซึ่งแสดงโดย มอร์แกน ฟรีแมน (Morgan Freeman) กล่าวว่า
“เราวัดคุณค่าของตัวเองโดยคนอื่น ซึ่งก็วัดคุณค่าของพวกเขาโดยพวกเราด้วยเช่นกัน”
ประหนึ่งกำลังจะเย้ยหยัน ว่าแท้จริงแล้วไม่มีใครสามารถทุกข์แทนใคร หรือสุขแทนใครได้ และการสร้าง Bucket List ของตัวเองขณะคิดว่าความตายกำลังคืบคลานเข้ามา และเราเหลือเวลาอีกไม่มากบนโลกใบนี้ ก็น่าจะช่วยปลดปล่อยตัวตนของเราให้เป็นอิสระจากอะไรหนักๆ ที่เอามาแบกไว้บนบ่าจนไม่สามารถขยับตัวทำสิ่งที่อยากทำได้อย่างที่ไม่ต้องแคร์ใคร
เราจึงอยากชวนคุณให้ลองย้อนกลับไปสำรวจ Bucket List จากหนังดังนาม The Bucket List เรื่องนี้ แล้วลองสร้างรายการของสิ่งที่อยากทำก่อนตายของตัวเองดูสักครั้ง
อ้างอิง
- Rob Reiner. The Bucket List (2007).
- Monique Santoso. The Origins Of The Bucket List. https://bit.ly/3ALNFFC
- Stanford University School of Medicine (Letter Project). What is a Bucket List?.https://stan.md/3smd4Td