life

“ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้ใหญ่
แก้วน้ำ จานชาม บันได โคมไฟที่สวยงาม
ขอบรั้วและริมทางเดิน ต้นหญ้าอยู่ในสนาม
บ้านนี้จะมีความงามได้ ถ้ามีเธอ”

เพียงท่อนแรกของเพลง Home ที่หลายคนน่าจะคุ้นหูกันมาบ้าง กลับถ่ายทอดความหมายตามชื่อเพลงได้ตรงตามสำนวนภาษาอังกฤษที่แฝงความรู้สึกอบอุ่นของผู้อยู่ที่มีต่อบ้านของตนไว้อย่างครบถ้วนว่า A house is made of brick and stone. A home is made of love alone. หรือ house เป็นบ้านที่สร้างด้วยอิฐและหิน ส่วน home คือบ้านที่สร้างด้วยรัก

บ้านจึงไม่ใช่สถานที่พำนักที่เอาไว้แค่หลบแดดลมฝนให้กายหายเหนื่อย เพราะบ้านหลังเดียวกันนั้น ยังเป็นพื้นที่ของการเติบโต ช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เปิดโอกาสให้หวนระลึกถึงเรื่องราวและความหลัง รวมทั้งบ่มเพาะความคิดจนเราเป็นเราอย่างทุกวันนี้

แต่หน้าที่สำคัญที่สุดของบ้านซึ่งคนจำนวนไม่น้อยใฝ่หาและพยายามปลุกปั้นให้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือการทำให้มันเป็นสถานที่ที่คอยโอบรับทุกอารมณ์และห้วงความรู้สึกไม่ว่าจะดีหรือร้ายของเรา เพราะบ้านคือที่แห่งเดียวที่ยอมให้เราปลดเปลือยตัวตนและเผยความเป็นตัวเองได้อย่างอิสระ แม้กระทั่งความอ่อนแอที่ไม่อาจแสดงออกให้คนอื่นเห็น

สาเหตุที่บ้านกลายเป็นที่อยู่ของใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้สึกปลอดภัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรืออยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับคนที่รัก

ซูซาน เคลย์ตัน (Susan Clayton) นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาแห่ง College of Wooster อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ของตนเสมอ เพราะทุกคนต่างต้องการสร้างความหมายและความพิเศษให้ตัวเอง

บ้านแต่ละหลังจึงทำหน้าที่นิยามตัวตนหรือสะท้อนบุคลิกภาพของผู้อาศัย หากเจ้าของบ้านหรือคนที่อยู่บ้านเดียวกันรู้สึกผูกพันกับสถานที่จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ทำนองว่านี่แหละคือบ้านของพวกเขาจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจะรู้สึกคันมือขึ้นมาทันที เพราะต้องการตกแต่งและดูแลความเรียบร้อยภายในบ้านเพื่อสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมให้บ้านน่าอยู่สมกับการได้ใช้ชีวิตและมีชีวิตที่ดี

ข้าวของเครื่องใช้แต่ละชิ้นที่เลือกมาตกแต่งในบ้าน ก็มักจะเคลือบแฝงความรู้สึกหรือความหมายบางอย่างไว้ด้วย เป็นของที่มีคุณค่าทางจิตใจ ขับเน้นความอบอุ่นและความผ่อนคลายสบายใจให้อยู่คู่บ้านตลอดเวลา จากที่พักธรรมดาๆ จึงเปลี่ยนเป็นที่อยู่ของใจในท้ายที่สุด

becommon ได้รวบรวมสิ่งของชิ้นสำคัญที่สื่อความผูกพันระหว่างคนกับบ้านแล้วสรุปเป็นเช็กลิสต์ฉบับกระชับ เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกคนลองนำไปสำรวจบ้านของตัวเอง ว่าใกล้เคียงกับความหมายของบ้านในฐานะที่พักพิงของใจซึ่งสร้างจากรักและความปรารถนาดีของผู้อยู่หรือไม่

ตัวอย่างที่สังเกตได้ชัดเจนว่า บ้านหลังนี้มีรัก เช่น เปลี่ยนผนังว่างๆ ให้กลายเป็นแกลลอรี่แสดงภาพถ่ายส่วนตัวร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งเป็นได้ทั้งคนในครอบครัว เพื่อนฝูง คนใกล้ชิด แฟน รวมถึงสัตว์เลี้ยงหรือสถานที่ท่องเที่ยวคู่กับโปสการ์ดที่ชอบ บางคนอาจนิยมนำภาพใส่กรอบแล้ววางตามมุมต่างๆ ในบ้านที่มองเห็นได้ชัดเจน

หรืออย่างประตูตู้เย็น อาจไม่ถูกปล่อยให้ว่างเปล่า เพราะเป็นไปได้สูงว่าคนที่รู้สึกรักและผูกพันกับบ้านมากๆ จะนำแม่เหล็กรูปต่างๆ มาประดับ เผื่อเอาไว้ยึดกระดาษที่เขียนข้อความสำคัญบางอย่างสำหรับเตือนความจำและบอกกับสมาชิกในบ้าน สิ่งเล็กๆ เหล่านี้แสดงถึงความใสใจและความห่วงใยกันและกัน

อันที่จริง อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอาจริงเอาจังหรือคิดกังวลกับของในบ้านว่าต้องสื่อความน่าอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบ้านแต่ละหลังย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองตามผู้อยู่ ดังนั้น ไม่ว่าบ้านจะเหมือนหรือต่างกับเช็กลิสต์ถือว่าสำคัญรองจากความรู้สึกในใจที่เรามีต่อบ้านของตนว่า บ้านนี้คือที่อยู่ของใจหรือเปล่า

 

อ้างอิง