w©rld

กว่าร้อยปีที่แล้ว ความคิดเกี่ยวกับการถ่ายภาพใต้ทะเลคือเรื่องนอกเหนือความสนใจของผู้คนในอดีต เพราะไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ ด้วยข้อจำกัดของกล้องที่ทั้งใหญ่เทอะทะและไม่กันน้ำ

ยกเว้น หลุยส์ บูตอง (Louis Boutan) นักชีววิทยาและนักสัตววิทยาชาวฝรั่งเศสผู้หลงใหลโลกใต้ทะเลกว่าสิ่งใด เขามุ่งมั่นคิดค้นวิธีถ่ายภาพในน้ำจนประสบผลสำเร็จครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และกลายเป็นผู้บุกเบิกด้านเทคโนโลยีถ่ายภาพใต้ทะเลคนสำคัญของโลกในเวลาต่อมา

Photo: Photographiques du Laboratoire Arago (1891)

ถึงอย่างนั้น ผลงานภาพถ่ายของบูตองก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความรักเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากความยอมไม่ได้ของเขาด้วย บูตองต้องการพิสูจน์ความจริงให้ทุกคนเห็นความงามที่ดูแปลกตาของโลกใต้ทะเลโดยไม่ต้องเสียแรงดำดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทรเหมือนเขา เพราะทุกครั้งหลังกลับจากดำน้ำสำรวจ สิ่งที่บูตองทำเสมอคือบอกเล่าสภาพแวดล้อมของธรรมชาติและสิ่งที่พบเจอใต้ทะเลให้คนอื่นฟัง แต่ไม่มีใครสักคนเดียวที่เชื่อเขา เลวร้ายกว่านั้นคือถูกตราหน้าว่าปั้นน้ำเป็นตัว

ต้องเท้าความก่อนว่า บูตองเป็นคนเก่งมาก เขาจบปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปารีสในปี 1880 ตั้งแต่อายุ 21 ปี ประกอบกับนิสัยส่วนตัวที่ชอบท่องเที่ยวผจญภัย ทำให้เขาไม่เคยหยุดแสวงหาความรู้ใหม่ๆ

Photo Observatoire Océanologique de Banyuls-sur-Mer Laboratoire Arago (1886)

บูตองเดินทางไปไกลถึงประเทศออสเตรเลียเพื่อศึกษาตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แล้วค่อยกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเต็มตัวในปี 1884 นั่นคือจุดเริ่มต้นให้เขาสนใจศึกษาชีววิทยาของสัตว์ทะเลขนาดเล็กบริเวณเมืองชายฝั่งทางตอนใต้ของฝรั่งเศสอย่างบันยุลส์-ซูร์-แมร์ (Banyuls-sur-Mer) ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Arago Laboratory หรือห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเวลานั้น

บูตองไปเรียนดำน้ำอย่างเดียวและดำน้ำเป็นครั้งแรกในปี 1886 โดยไม่ได้คิดถึงการถ่ายภาพใต้ทะเลเลยด้วยซ้ำ แต่ปัญหาจากความไม่เชื่อใจของคนในแวดวงวิชาการ ทำให้เขาริเริ่มโครงการวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาสัตว์จำพวกหอย และทดลองประดิษฐ์อุปกรณ์พิเศษหวังช่วยให้กล้องถ่ายรูปทำงานใต้น้ำได้ควบคู่กันไป เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เขาหลุดพ้นจากข้อครหาว่าพูดโกหก

แต่กว่าจะได้ภาพถ่ายหนึ่งใบในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องรู้จักใช้อุปกรณ์เฉพาะอย่าง ทั้งแผ่นแก้ว แผ่นโลหะ และสารเคมีให้เป็น รวมถึงคิดคำนวณระยะรับแสงได้แม่นยำ ความยุ่งยากของขั้นตอนที่ต้องพิถีพิถันเหล่านี้เกือบทำให้บูตองถอดใจ ถึงขนาดเขียนไว้ในหนังสือ La Photographie Sous-marine et Les Progrés de la Photographie (การถ่ายภาพใต้น้ำและความก้าวหน้าของการถ่ายภาพ) ของเขาทำนองว่า “หรือใต้ทะเลอาจไม่ใช่ที่เหมาะสำหรับถ่ายรูปจริงๆ”

Photo: gallica.bnf.fr/Bibliothèque nationale de France (1990)

บูตองไม่ยอมแพ้ เขารู้ว่าข้อจำกัดที่เป็นกำแพงสูงคอยกั้นไม่ให้ถ่ายภาพใต้ทะเลได้สำเร็จมีอยู่ 2 เรื่อง คือ ความดัน เพราะอากาศที่เบามากๆ จะลอยตัวเหนือผิวน้ำเสมอ กับปริมาณแสงที่ส่องลงไปในน้ำนั้นมีไม่เพียงพอ ด้วยสัญชาตญาณนักวิทยาศาสตร์ เขาจึงเริ่มทดลองเพื่อหาทางทลายกำแพงที่เป็นอุปสรรคทิ้ง

สิ่งแรกที่บูตองลงมือทำคือเชื่อมแผ่นทองแดงเป็นกล่องใส่กล้องที่กันไม่ให้น้ำเข้าได้ โดยเสริมคันโยกเอาไว้กดชัตเตอร์และควบคุมกลไกอื่นๆ ให้กล้องทำงานราบรื่นที่สุด โดยมีพี่ชายซึ่งเป็นวิศวกรคอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษา จนบูตองมั่นใจแล้ว จึงทดลองเอากล่องนี้ลงน้ำครั้งแรกในปี 1893 แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับน่าผิดหวัง

ในปีเดียวกันบูตองลองผิดลองถูกพักใหญ่ กว่าจะปรับแก้อุปกรณ์มาใช้เหล็กแทน และค้นพบวิธีถ่ายภาพใต้น้ำได้สำเร็จ เขาอธิบายหลักการทำงานว่า ผูกเชือกกับอุปกรณ์ทุกอย่างเอาไว้ แล้วใช้รอกเป็นตัวช่วยทุ่นแรงเวลายกอุปกรณ์ทั้งหมดขึ้นมา

Photo: La Photographie Sous-marine et Les Progrés de la Photographie (1893)
Photo: La Photographie Sous-marine et Les Progrés de la Photographie (1900)

นอกจากตัวกล่องโลหะที่มีกล้องอยู่ภายในแล้ว ยังต้องใช้ถังออกซิเจนที่เพื่อนวิศกรไฟฟ้าประดิษฐ์ให้ เพราะเป็นแหล่งพลังงานสำรองของตะเกียงแอลกอฮอล์บนตัวถังซึ่งครอบด้วยโหลแก้วไว้อีกชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้อากาศรั่ว ทำหน้าที่ให้แสงสว่างวาบฉับพลันเป็นแฟลชสำหรับใช้ถ่ายภาพใต้น้ำ โดยอาศัยแรงดันผ่านท่อยางผลักผงแมกนีเซียมให้ปลิวไปติดเปลวไฟในตะเกียง

Photo: La Photographie Sous-marine et Les Progrés de la Photographie (1900)

รูปถ่ายใต้ทะเลภาพแรกของโลกคือภาพตัวเขาขณะดำน้ำ

Photo: Louis Boutan (1893)
Photo: Louis Boutan (1893)

แต่ภาพที่สร้างชื่อเสียงให้กับบูตองเกิดขึ้นในปี 1899 คือรูปพอร์ตเทรตใต้ทะเลอย่างเป็นทางการภาพแรกของโลกที่ระดับความลึก 50 เมตร โดยบูตองเป็นคนถ่าย ส่วนคนที่ใส่ชุดดำน้ำคือ เอมิล ราโควิตซา (Emil Racoviță) เพื่อนนักชีววิทยาชาวโรมาเนีย ซึ่งเป็นผู้ช่วยคนสำคัญในโครงการมาตั้งแต่แรกเริ่ม

Photo: Louis Boutan (1899)

ส่วนเหตุผลที่บูตองต้องวางป้ายข้อความ Photographie Sous Marine (การถ่ายภาพใต้น้ำ) ไว้ด้วย ก็เพื่อหาระยะโฟกัสที่เหมาะสม ภาพถ่ายจะได้คมชัด ไม่อย่างนั้นคนอาจไม่เชื่อว่าเป็นภาพถ่ายใต้น้ำจริงๆ

Photo: Louis Boutan (1896)

สาเหตุที่ภาพนี้โด่งดังเพราะบูตองนำไปร่วมจัดแสดงเป็นนิทรรศการรูปถ่ายใต้ทะเลในงาน Exposition Universelle ประจำปี 1900 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น World Expos) งานนี้เปิดพื้นที่ให้แต่ละประเทศได้แสดงศักยภาพและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ

Photo: H.C. White (1900)

แต่เดี๋ยวก่อน ภาพของบูตองอาจไม่ใช่รูปถ่ายใต้ทะเลภาพแรกของโลก เพราะในปี 1856 วิลเลียม ทอมป์สัน (William Thompson) นักธรรมชาติวิทยาชาวไอริส พายเรือด้วยตัวคนเดียวออกไปที่อ่าวเวย์มัธ (Weymouth Bay) ประเทศอังกฤษ เขาทดลองผูกกล้องติดกับเสาแล้วหย่อนลงน้ำได้ความลึก 6 เมตร แต่น้ำสัมผัสกับตัวกล้องและจอรับภาพ ทำให้รูปที่ได้พร่ามัวไม่ชัดเจน

Photo: William Thompson (1856)

ตำแหน่งภาพแรกยังเป็นข้อพิพาทที่ถกเถียงได้ไม่จบสิ้น แต่หากยึดหลักความเป็นทางการก็ต้องยกให้บูตอง ทุกภาพของเขาเกิดจากการทดลองที่มีขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์และมีประจักษ์พยานที่ช่วยยืนยันได้

Photo: La Photographie Sous-marine et Les Progrés de la Photographie (1900)

ผลงานของบูตองจึงแสดงให้ผู้คนจากทั่วโลกเห็นความงามใต้ท้องทะเลที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน เขาทำสำเร็จได้มากกว่าการพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ได้โกหก เพราะสิ่งประดิษฐ์ของบูตองกลายเป็นความก้าวกระโดดครั้งสำคัญของวงการถ่ายรูปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

อ้างอิง

  • Anika Burgess. How a 19th-Century Biologist Became an Underwater Photography Pioneer. https://bit.ly/3lKMPEp
  • Lenman, R. (2005). The Oxford Companion to the Photograph. New York: Oxford University Press.