life

‘ทุกความสัมพันธ์’ มีวันสิ้นสุดลงเสมอ เพียงแต่ต่างกันในตอนท้ายตรงที่ จากลาด้วย ‘ดี’ หรือ ‘แย่’

หลายคู่เปลี่ยนสถานะใหม่ให้คนรักเป็นแค่เพื่อน เพราะต้องการรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรไว้ อย่างน้อยที่ผ่านมาก็ยังมีเรื่องราวและความทรงจำดีๆ ให้นึกถึง แต่บางคู่กลับตาลปัตรทุกอย่าง หลังจากความสัมพันธ์ขาดสะบั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่ต่างฝ่ายไม่ขอเจอหน้าอีกในชีวิตนี้ กลายเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน

กว่าความสัมพันธ์เดินมาถึงทางแยก ไม่ว่าจะเลิกราด้วยดีหรือแตกหักแบบต่อไม่ติด เราต่างรู้อยู่เต็มอกว่า การตัดใจจากใครสักคนนั้นไม่ใช่เรื่องที่คิดแล้วทำได้ทันที เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้ทุ่มเทหมดทั้งหัวใจให้เขาหรือเธอผู้เดียวด้วยความหวังว่า รักระหว่างเราจะเบ่งบานผ่านคืนวัน เติบโตเป็นความสัมพันธ์ที่แข็งแรงและยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้เอง คนจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยได้เผื่อใจว่า ในวันข้างหน้าอาจมีเหตุให้ยุติความสัมพันธ์กับคู่รัก การบอกเลิกจึงกลายเป็นเรื่องหนักใจที่ใครหลายคนคิดไม่ตก และตัดสินใจได้ยาก

ในปี 2017 ซาแมนธา โจเอล (Samantha Joel) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยยูทาห์ (The University of Utah) สหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาลง Social Psychology and Personality Science ซึ่งเป็นวารสารวิชาการด้านจิตวิทยาสังคมและบุคลิกภาพ โดยศึกษาเหตุผลที่ทำให้คนตัดสินใจได้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันต่อหรือยุติความสัมพันธ์

โจเอลพบว่า เหตุผลที่ผู้เข้าร่วมการศึกษานำมาใช้ทบทวนความสัมพันธ์ของตนก่อนเลิกรามีอยู่ทั้งหมด 23 ข้อ แต่เหตุผลที่ทำให้อยากตัดขาดกันมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ

  • (1) คู่รักนิสัยเสียหรือมีบุคลิกภาพที่ไม่น่าคบหา เช่น อยู่ด้วยแล้วน่าเบื่อ ขี้เกียจตัวเป็นขน มองโลกแง่ลบ
  • (2) คู่รักทำลายความเชื่อใจ เช่น โกหกเก่ง ปิดบังบางเรื่องไม่ให้รู้ ไม่จริงใจ ร้ายแรงที่สุดคือนอกใจ
  • (3) คู่รักพยายามตีตัวออกห่าง ไม่แสดงความสนใจหรือเป็นห่วงเป็นใยให้รับรู้หรือสัมผัสได้

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาเลือกรักษาความสัมพันธ์ไว้มีมากถึง 27 ข้อ โดยเหตุผลที่ทำให้เลือกสานสัมพันธ์ต่อไปมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ

  • (1) ผูกพันทางอารมณ์ เป็นความใกล้ชิดสนิทใจ เพราะเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขจึงเข้าใจกันและกัน
  • (2) ที่ผ่านมาได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพราะต้องการสร้างความสัมพันธ์และชีวิตที่ดีด้วยกัน
  • (3) มองเห็นอนาคตข้างหน้า มีเป้าหมายบางอย่างที่ชัดเจนร่วมกัน เช่น สร้างครอบครัว

แต่สัญญาณแรกที่เป็นชนวนทำให้ความสัมพันธ์เริ่มสั่นคลอน คือ ความรู้สึกระแคะระคาย ซึ่งเกิดได้ทั้งต่อตัวเองและต่อคนรักว่า มีอะไรบางอย่างไม่เหมือนเดิม แล้วสิ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงแรกๆ หรือก่อนหน้านี้ ส่งผลให้เกิดความห่างเหินหรือความรักเริ่มจืดจาง ถึงอย่างนั้น คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เลิกรากันทันที แต่จะพยายามแก้ไขปัญหาและปรับความเข้าใจก่อน

โจเอลอธิบายเพิ่มเติมว่า ยิ่งคู่รักเคยสานสัมพันธ์มานานมากเท่าไหร่ หรือมีภาระผูกมัดอยู่ จะยิ่งทำให้ตัดสินใจเลิกยากมากเท่านั้น การยุติความสัมพันธ์กับใครสักคน โดยเฉพาะคนรัก จึงเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่คนเราจะตัดสินใจทำ และต้องผ่านการคิดทบทวนมาแล้วอย่างดีว่า คงไม่มีหนทางอื่นใดจะคลี่คลายปัญหาหรือแก้ไขความคับข้องใจในความสัมพันธ์ได้

คำถามทั้งหมดนี้จึงเป็นแนวทางกว้างๆ ที่ดัดแปลงมาจากการศึกษาของโจเอล สำหรับให้คนที่กำลังหมดใจเอาไว้ถามและตอบตัวเอง

นี่คือขั้นตอนสำคัญที่สุด เพราะจะช่วยยืนยันการตัดสินใจของเราได้ว่า สรุปแล้ว ‘การเลิกรา คือ ทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย’ หรือเปล่า? ยกเว้นความสัมพันธ์ที่เป็นโซ่ตรวนคอยถ่วงหรือฉุดรั้งไม่ให้เรามีชีวิตที่ดีและมีความสุข ในกรณีนี้คงไม่จำเป็นต้องดีกับทุกฝ่าย ขอให้ดีกับตัวเราก็พอ

 

อ้างอิง

  • Joel, S., MacDonald, G., & Page-Gould, E. (2017). Wanting to Stay and Wanting to Go: Unpacking the Content and Structure of Relationship Stay/Leave Decision Processes. Social Psychological and Personality Science, 9(6), 631–644. https://doi.org/10.1177/1948550617722834
  • Kristine Fellizar. Questions To Ask Yourself Before You Break Up With Someone. https://bit.ly/3xMWtut