ตอนนี้เราอยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และคาดการณ์ว่าภายในปี 2020 จะเกิดการปฏิวัติอย่างเต็มรูปแบบ
ทุกสรรพสิ่งจะเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่าการผลิต เทคโนโลยีดิจิทัล และอินเตอร์เน็ต
และนี่คือ 15 สิทธิบัตรของสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก ที่ทำให้โลกของเราเป็นอย่างที่เห็น และจะเปลี่ยนโลกในอนาคตอันใกล้
1. รถไฟพลังแม่เหล็ก | Magnetic Levitation (Maglev)
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 1967
โลกของเรามีขนาดเท่าเดิม แต่รถไฟพลังแม่เหล็กเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ทำให้เรารู้สึกว่า โลกกำลังหดเล็กลง…
รถไฟพลังแม่เหล็กถูกคิดค้นโดย อีริค เลธเวท (Eric Laithwaite) โดยอาศัยหลักการของระบบมอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำแบบเชิงเส้น ภายใต้การออกแบบของ เจมส์ โพเวล (James Powell) และ กอร์ดอน แดนบี (Gordon Danby) ในปี 1967
จนกระทั่งในปี 1995 รถไฟพลังแม่เหล็กก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นรูปร่างและใช้งานได้จริงเป็นครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร ก่อนที่เยอรมนีจะกลายมาเป็นผู้พัฒนารถไฟพลังแม่เหล็กในรุ่นต่อๆ มา
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2018 Central Japan Railway หรือ เจอาร์เซ็นทรัล ผู้ให้บริการรถไฟพลังแม่เหล็กในญี่ปุ่น ได้ทำลายสถิติความเร็วสูงสุดของโลกแล้ว ด้วยความเร็ว 603 กม./ชม.
ความเร็วดังกล่าวจะช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางจากโตเกียวถึงนาโงยะเหลือเพียง 40 นาที ซึ่งถือว่าใช้เวลาไม่ถึงครึ่งของเวลาที่ใช้ในปัจจุบัน
และมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2045 ญี่ปุ่นจะเปิดเส้นทางโตเกียว-โอซากา โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น!
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US3470828
2. ไอโฟน | iPhone
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 2007
ปฏิเสธไม่ได้ว่า รูปแบบอุปกรณ์สื่อสารแห่งยุคศตวรรษที่ 21 มีต้นแบบมาจาก iPhone ถึงแม้ว่า Apple จะไม่ได้เป็นผู้คิดค้นสมาร์ตโฟนเป็นคนแรกก็ตาม…
แอปเปิลจดชื่อสิทธิบัตร Original iPhone ไว้เพียงสั้นๆ ว่าเป็น “Electronic Device” พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า “ส่วนรูปลักษณ์และการออกแบบนั้น ตามรายละเอียดที่ปรากฏ” ก่อนจะใส่รูปประกอบจำนวน 8 ภาพ และให้รายละเอียดอีกนิดหน่อยเกี่ยวกับที่มาและสิทธิบัตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ดูภาพด้านบน)
การปรากฏตัวของ iPhone ไม่เพียงแต่จะสร้างแรงกระเพื่อมในวงการอุปกรณ์การสื่อสาร ทั้งในแง่ของการดีไซน์และการพัฒนาฟังก์ชันเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงการติดต่อสื่อสารของมนุษยชาติ วิถีชีวิต หรือแม้แต่กระทั่งวิธีคิดของเราด้วย
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/USD672769
3. ชุดเกราะ | Motorized Exoskeleton
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 2008
ชุดเกราะเอ็กโซเสเกเลตันนี้มีประวัติยาวนาน
แรกเริ่มเดิมทีมันถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องช่วยเดิน โดยนักประดิษฐ์ชาวรัสเซียชื่อ Nicolas Yagn ในปี 1890
ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1960 กองกำลังทหารของสหรัฐได้หยิบสิทธิบัตรดังกล่าวมาปัดฝุ่นใหม่ แล้วใส่เทคนิคเพิ่มเข้าไป เพื่อให้ทหารที่สวมใส่ชุดเกราะรุ่นพัฒนานี้สามารถยกน้ำหนักได้ราว 15,000 ปอนด์หรือราว 6,800 กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาชุดเกราะดังกล่าวกลับไม่ได้ผลลัพทธ์ที่น่าพอใจ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้เมื่อเร่งระดับการทำงานสูงสุด อีกทั้งยังอันตรายเกินไป และยังไม่มีการทดลองโดยให้มนุษย์สวมใส่อีกด้วย
กระทั่งในปี 2014 การทดลองได้ตกมาถึงมือ ReWalk และกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา โดยมุ่งไปที่จุดประสงค์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยอัมพาตให้สามารถลุก ยืน เดิน นั่ง นอน หรือแม้กระทั่งไต่บันได
นอกจากนี้ สถาบัน MIT และ European Space Agency ก็กำลังซุ่มพัฒนาชุดเกราะดังกล่าวอีกด้วย
ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นชุดเกราะสำหรับการทำงาน ชุดเกราะสำหรับทหาร หรือแม้แต่ชุดเกราะสำหรับนักบินอวกาศ
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US8905955
4. โดรนบังคับ | Quadcopter Drone
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 1959
รู้หรือไม่ว่า โดรนหรือคอปเตอร์บังคับที่กำลังร่อนหึ่งๆ อยู่เหนือศีรษะเวลาไปเดินเล่นสวนสาธารณะหรือตามสถานที่ต่างๆ ในปัจจุบัน ได้รับการจดสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี 1962
โดยแรกเริ่ม เอ็ดเวิร์ด จี. แวนเดอร์ลิป ตั้งใจจะออกแบบอุปกรณ์สำรองสำหรับเฮลิคอปเตอร์ หากเกิดเหตุระบบการทำงานขัดข้อง แต่หลังจากนั้น เขาก็เกิดความคิดใหม่ที่จะพัฒนาไอเดียตั้งต้นให้กลายเป็นเครื่องบินบังคับขนาดเล็กที่มีระบบการบินสำหรับการนำร่อง
โดยออกแบบให้สามารถบินขึ้นได้ในแนวดิ่ง อาศัยแรงยกจากใบพัดทั้งสี่ด้าน เพื่อให้ตัวเครื่องสามารถบินได้โดยยังคงรักษาแนวระนาบกับพื้น
ปัจจุบัน โดรนบังคับได้มีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมอย่างกล้องและระบบ GPS ซึ่งการติดฟังก์ชันเพียงสองสามอย่างนี้ ก็ทำให้โดรนที่ถูกลืมไปกว่าครึ่งศตวรรษ กลับมาโฉบเฉี่ยวบนผืนฟ้าอีกครั้ง
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US3053480
5. ระบบการพิมพ์ 3 มิติ | 3D Printer
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 1984
เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ได้รับการจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 1986 หรือ 32 ปีที่แล้ว นับได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่มาก่อนกาลพอสมควร
หลักการของเครื่องพิมพ์สามมิติ จะอาศัยการป้อนคำสั่งจากคอมพิวเตอร์ เพื่อให้หัวฉีดฉีดโพลีเมอร์เหลว (เรซิ่น) ขึ้นรูปร่างทีละชั้นๆ ก่อนเครื่องจะยิงแสงเซอร์ซ้ำ เพื่อให้โพลีเมอร์เหลวแข็งตัวและกลายเป็นรูปร่าง
การใช้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติในปัจจุบัน อาจจะใช้สำหรับสร้างโมเดลหรือวัตถุต้นแบบ แต่ในอนาคต ระบบการพิมพ์ 3 มิติ อาจก้าวหน้าไปถึงการพิมพ์วัสดุโลหะสำหรับงานสิ่งก่อสร้างอย่างสะพาน หรือแม้แต่ชิ้นส่วนจรวดก็เป็นได้
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US4575330
6. ลูกตาเทียม | Bionic Eye
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 2005
ความพยายามในการทำให้ผู้ที่สูญเสียการมองเห็นกลับมามองเห็นได้อีกครั้งเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1968
เมื่อ ดร.จี. เอส. บรินด์ลีย์ และ ดร.ดับเบิลยู. เอส. เลวิน แพทย์ทั้งสองได้ทำการฝังเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ให้กับอาสาสมัครวัย 52 ปี
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดดังกล่าวไม่ได้ทำที่ดวงตา หากแต่เป็นกลีบสมองบริเวณท้ายทอยซึ่งทำหน้าที่ในการมองเห็น ทำให้อาสาสมัครสามารถมองเห็นจุดแสงเล็กๆ ในลานสายตาได้ …นั่นเป็นเรื่องเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
ปัจจุบัน วิทยาการทางแพทย์ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มีขนาดเล็กลง และในปี 2013 ก็สามารถปลูกถ่ายเข้ากับเรตินาได้โดยตรง
กล้องขนาดจิ๋วที่นิยมติดไว้ที่แว่นกันแดดถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการบันทึกภาพของสิ่งต่างๆ บริเวณรอบตัว ก่อนจะส่งสัญญาณไปยังจอเรตินาเทียมที่ได้การปลูกถ่าย ซึ่งการผ่าตัดนี้จะช่วยให้ผู้ที่สูญเสียการมองเห็นโดยสมบูรณ์สามารถกลับมามองเห็นได้บางส่วน เช่น โครงร่าง รูปร่าง หรือแสง
แน่นอนว่าการแพทย์จะคงยังไม่หยุดพัฒนาแต่เพียงเท่านี้ เพื่อทำให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพดียิ่งๆ ขึ้นไป หรืออาจจะกลับมามองเห็นได้เกือบร้อยเปอร์เซนต์ก็เป็นไปได้
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US8527057
7. ระบบพิกัดตำแหน่ง (จีพีเอส) | Global Positioning System: GPS
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 1970
อันที่จริง ดาวเทียมสำหรับระบุพิกัดหรือดาวเทียมจีพีเอสถูกคิดค้นโดยกองทัพเรือ แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้คือ กองทัพอากาศ
โรเจอร์ แอล. อิสตัน (Roger L. Easton) คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังระบบการระบุตำแหน่งอันทรงคุณค่านี้ เขาเริ่มต้นการค้นคว้าโดยอาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น ติดตามวิถีโคจรของดาวเทียมทั้งของสหรัฐอเมริกาและโซเวียต ก่อนที่ในปี 1959 อีสตันจะคิดค้นระบบเรดาร์สำเร็จเป็นครั้งแรก ทำให้เขาสามารถติดตามวัตถุใดๆ ก็ตามที่โคจรผ่านน่านฟ้าอเมริกาได้
เวลาผ่านไปนับสิบๆ ปี อีสตันก็เปลี่ยนวิธีการใหม่…จากที่ติดตามวัตถุที่ลอยอยู่ฟ้าจากพื้นโลก ก็เปลี่ยนมาเป็นการติดตามวัตถุที่อยู่บนพื้นโลกโดยอาศัยดาวเทียมแทน
แรกเริ่มนั้น เทคโนโลยีการระบุพิกัดโดยจีพีเอสถูกจำกัดอยู่ในทางการทหารเท่านั้น และสหรัฐฯ ก็ใช้ประโยชน์ในข้อนี้เพื่อหาพิกัดทะเลทรายในคูเวตและอิรักระหว่างในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 หรือรู้จักกันในอีกนามว่า “สงครามอวกาศครั้งที่ 1” (The First Space War) และหลังจากถูกเก็บงำไว้เป็นความลับทางทหารอยู่นานหลายปี
ปัจจุบัน ไม่ว่าใครก็สามารถใช้ระบบจีพีเอสได้อย่างสะดวกสบาย ผ่านผู้ให้บริการรายยักษ์อย่างกูเกิ้ล ซึ่งแน่นอนว่าคนทั่วไปคงไม่ได้ใช้จีพีเอสเพื่อค้นหาทะเลทรายแต่อย่างใด หากแต่เป็นการค้นหาร้านอาหารอร่อยๆ โฮสเทลชิคๆ หรือแม้กระทั่งทางออกท่ามกลางเส้นทางอันวกวนในเมืองหลวงที่ไหนสักแห่ง!
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patentimages.storage.googleapis.com/dd/07/4f/b6f5e1415d59a3/US3789409.pdf
8. การตัดต่อยีนโดยระบบ CRISPR | CRISPR Gene Editing
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 2013
CRISPR-Cas9 คือระบบภูมิคุ้มกันของแบคทีเรียในการกำจัดสายดีเอ็นเอแปลกปลอม โดยส่วนมากกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียติดเชื้อไวรัส CRISPR (อ่านว่า “คริสเปอร์”)
หลังจากนั้น โปรตีน Cas9 จะถูกผลิตออกมาเพื่อทำลายสายดีเอ็นเอที่ติดเชื้อดังกล่าว โดยสายดีเอ็นเอที่ถูกตัด หากมีสภาพที่ผิดปกติก็จะเข้าสู่กระบวนการซ่อมแซมหรือย่อยสลายต่อไป
ซึ่งระบบการติดเชื้อและผลิตโปรตีนข้างต้น ถูกเรียกในงานวิจัยว่า ‘ระบบ CRISPR-Cas9’
การค้นพบระบบดังกล่าว สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในการตัดต่อยีนในผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรมอย่างลูคีเมีย เอชไอวี เพื่อหยุดยั้งไม่ให้สายดีเอ็นเอที่เชื้อส่งต่อความผิดปกติไปยังเซลล์ที่ปกติ
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับระบบ CRISPR-Cas9 ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ก็เป็นนิมิตหมายอันดีว่า โลกของเราอาจจะมียารักษาโรคและวิธีการรักษาการติดเชื้อต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกนับไม่ถ้วน
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://www.broadinstitute.org/files/shared/osap/pdf/US8697359.pdf
*หมายเหตุ: ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/364/CRISPR/Cas9/)
9. สมองเทียม | Brain Implant
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 1989
ในช่วงปลายศตวรรษ 1800 ทางการแพทย์พบว่า การกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้าสามารถสร้างการเคลื่อนไหวทางกายภาพได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์
ต่อมา ในช่วงศตวรรษที่ 20 การทดลองทางวิทยาศาสตร์ค้นพบอีกว่า การกระตุ้นสมองนั้นมีผลกระทบต่อทั้งพฤติกรรมและอารมณ์
และในปี 1993 ปรากฏสิทธิบัตรชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ โดยให้รายละเอียดไว้ว่า เป็นสิทธิบัตรว่าด้วยเครื่องมือสำหรับเชื่อมต่อกับสมอง อันประกอบด้วยเข็มโลหะจำนวนมาก ซึ่งใช้สำหรับทำหน้าที่รับหรือส่งต่อสัญญาณเข้าสู่สมอง
Ian Burkhart เป็นอัมพาตหลังประสบอุบัติเหตุตั้งแต่อายุ 19 ปี ผู้ป่วยรายแรกที่เข้ารับการผ่าตัดฝังชิบในสมองโครงการ NeuroLife ที่เชื่อมการสั่งงานสมองกับร่างกายโดยตรง จาก Bloomberg ซีรีส์ The Spark ตอน This Brain Implant Could Change Lives
จากการวิจัยตั้งต้น สู่วิทยาการที่ล้ำหน้าขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ทดลองสามารถสั่งการแขนกลหรือขากล หรือแม้กระทั่งพิมพ์ข้อความด้วยความคิดได้แล้ว
ซึ่งในอนาคต หากงานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จ โลกอาจได้รู้จักกับคอมพิวเตอร์ที่สามารถสั่งการด้วยความคิดก็เป็นได้
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US5215088
10. แกรฟีน | Graphene
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 2002
ไม่แน่ว่าเราอาจจะกำลังเข้าสู่ยุคของ “แกรฟีน” วัสดุผสมที่ประกอบขึ้นจากชั้นของคาร์บอนที่มีโครงสร้างคล้ายรังผึ้ง
หากอธิบายให้ง่ายขึ้น แกรฟีนคือการนำแร่แกรไฟต์มาลอกผิวให้ได้แผ่นที่บางที่สุด โดยมีความหนาเท่ากับ 1 อะตอมเท่านั้น!
แกรฟีนถูกสกัดได้สำเร็จในปี 2004 โดย Andre Geim และ Konstantin Novoselov นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ก่อนทั้งคู่จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2010
ส่วนข้อมูลด้านวัสดุ แกรฟีนมีน้ำหนักเบาอย่างไม่น่าเชื่อ แต่มีความแข็งแรงมากกว่าเหล็กกล้าถึง 200 เท่า (เปรียบเทียบในระดับความหนาที่เท่ากัน) นอกจากนี้ยังทนต่อความร้อนสูงและนำไฟฟ้าได้ดี
คุณสมบัติดังกล่าวเหมาะมากที่จะนำมาเป็นคอมพิวเตอร์ชิป ปีกเครื่องบินโดยสาร หรือวัสดุอื่นๆ อีกมากมายเกินกว่าจะจินตนาการได้หมด
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US7071258
11. บลูทูธ | Bluetooth
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 2001
จาร์บ ฮาร์ตเซน (Jaap Haartsen) คิดค้นบลูทูธขึ้นในปี 1994 เพื่อให้อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ใกล้กันสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยอาศัยคลื่นวิทยุ
อันที่จริง ฮาร์ตเซนได้ร่างแบบสิทธิบัตรที่ใกล้เคียงกับหลักการของบลูทูธอีกหลายฉบับ แต่ทว่าไม่ผ่านการอนุมัติ เนื่องจากข้อกฏหมายและเข้าข่ายการบังคับใช้สิทธิบัตรโดยมิชอบ (Patent Troll)
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีบลูทูธที่ฮาร์ตเซนคิดค้นก็ช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างมากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นหูฟังที่ช่วยให้การขับรถปลอดภัยมากยิ่งขึ้น การฟังเพลงโดยปราศจากสายรุงรัง กล้องบลูทูธ และอื่นๆ อีกมากมาย
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US7149534
12. รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ | Self-Driving Car
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 2006
พูดถึงรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้เอง คงต้องย้อนกลับไปร้อยกว่าปีที่แล้ว…
Houdina Radio Control ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้คลื่นวิทยุ ได้ติดตั้งอุปกรณ์บนรถยนต์ Chandler รุ่น 1926 ให้สามารถรับคำสั่งจากสัญญาณวิทยุที่ส่งมาจากรถยนต์อีกคันที่ขับตามหลัง
โดยรถยนต์ที่ไร้คนขับนี้ สามารถแล่นผ่านเมืองแมนฮัตตันที่มีการจราจรคับคั่งได้อย่างปลอดภัย
70 ปีต่อมา มหาวิทยาลัยคอร์เนกี เมลลอน ได้ทำการทดลองภายใต้หัวข้อ “No Hands Across America” โดยบังคับรถยนต์ให้ขับเคลื่อนแบบกึ่งอัตโนมัติเป็นระยะทาง 3,100 กิโลเมตร ส่วนคนขับทำหน้าที่เพียงเหยียบคันเร่งและเหยียบเบรกเท่านั้น
จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ปี 2013 บริษัทสัญชาติอิตาลี VisLab ได้พัฒนาระบบการขับเคลื่อนด้วยตัวเองผ่านการสั่งการจากคอมพิวเตอร์ได้สำเร็จ โดยรถยนต์ BRAiVE สามารถตรวจจับทางแยก ทางข้าม วงเวียน สัญญาณไฟจราจร รวมไปถึงสิ่งกีดขวางต่างๆ บนท้องถนน
มาถึงวันนี้มีหลายบริษัทกำลังพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ ไม่ว่าจะเป็น Google, Telsa และ Amazon หากเทคโนโลยีนี้เป็นจริงในชีวิตประจำวันได้เมื่อไหร่ การจราจรบนท้องถนนคงถูกจัดสรรอย่างเป็นระบบ ปัญหาการจราจรขั้นวิกฤตในกรุงเทพฯ คงจะดีขึ้น
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US20070291130
13. แผงโซลาร์ | Solar Panel
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 1888
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแผงโซลาร์เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสชื่อ แอดมง แบ็กแรล (Edmund Becquerel) หลังจากเขาค้นพบวัสดุที่เหมาะสมที่จะให้พลังงานไฟฟ้าเมื่อสัมผัสกับแสงอาทิตย์ ซึ่งเขาเรียกปฏิกิริยานี้ว่า ‘Photovoltaic effect’
50 ปีต่อมา เอ็ดเวิร์ด เวสตัน (Edward Weston) ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรว่าด้วยการผลิตโซลาร์เซลล์ในสหรัฐอเมริกา โดยมีหลักการทำงานระบุว่า เซลล์จะสะสมพลังงานแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และสามารถนำพลังงานออกมาใช้ในตอนกลางคืนหรือเวลาที่มีเมฆครึ้ม
หลักการข้างต้นถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้ตัวรับแสงมีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถสะสมพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้มากพอ
ในอนาคต หากการสร้างพลังงานสะอาดนี้ประสบความสำเร็จ โลกของเราก็คงลดปริมาณการปล่อยมลพิษลงไปได้เยอะทีเดียว
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US389124
14. เทคโนโลยี 3G | (3G) Third Generation Wireless Mobile Telecommunications
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 1999
ยุคแรกของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือ 1G คือการทำให้อุปกรณ์ติดต่อสื่อสารแบบอะนาล็อกสามารถเชื่อมต่อกับ Cellular ใช้งานได้แค่เรื่องของเสียง (Voice) เช่น โทรเข้า-โทรออก
ยุคที่สองหรือ 2G คือการสร้างระบบที่รองรับโทรศัพท์มือถือแบบดิจิทัล สามารถรับส่งข้อความ เช่น SMS ได้
ยุคที่สาม…หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า 3G คือยุคที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดสามารถเชื่อมต่อได้กับ GPS และอินเตอร์เน็ต ซึ่งความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลานี้เอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด
ส่วนโลกของเราวันนี้อยู่ในยุค 4G ที่โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่อกับสรรพสิ่ง จนแทบจะกลายเป็นทุกอย่างและทุกกิจกรรมของชีวิต และในอีกไม่ช้า โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุค 5G ที่มีความเร็วในการเชื่อมต่อสูงกว่า 4G หลายสิบเท่า
เร็วแค่ไหน?
TDRI หรือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปรียบเทียบความเร็วของ 5G ว่า ดาวน์โหลดหนัง 4K ได้ภายใน 2 วินาที
ซึ่งความเร็วระดับนี้จะเปลี่ยนโลกอย่างมหาศาล จนยากที่ใครจะจินตนาการ
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US6618592
15. เทคโนโลยีความจริงเสมือน | Virtual Reality
ยื่นขอสิทธิบัตรครั้งแรก: ปี 1992
สิทธิบัตรของเครื่องสร้างความจริงเสมือนได้รับการจดทะเบียนครั้งแรกในปี 2000 โดย พอล มาร์แชล (Paul Marshall) ก่อนจะได้รับการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จากหลายบริษัท
กระทั่งในปี 2016 บริษัท Oculus Rift ก็ได้ปล่อยเฮดเซ็ตที่ใช้สำหรับสวมเล่นเพื่อความบันเทิง ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานนัก HTC ก็ได้ปล่อย HTC Vive ตามมาติดๆ
ไม่เพียงแต่จะมีการแข่งขันการสร้างเครื่องสวมหัวเสมือนจริงเท่านั้น ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Samsung ก็ได้พัฒนาสมาร์ตโฟนที่รองรับระบบ VR กันแล้ว
นอกจากนี้ นอกเหนือไปจากประโยชน์ในแง่ของการสร้างความบันเทิง ยังมีการคาดการณ์ว่า เราอาจนำประโยชน์ของ VR มาใช้ในแง่ของการเป็นพื้นที่ในการเก็บข้อมูลตั้งแต่ระดับคนงานไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์
และทั้งหมดนี้คือ 15 สิทธิบัตร ที่ก่อให้เกิดเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกให้กลายเป็นดังเช่นปัจจุบัน เทคโนโลยีดังกล่าวแม้จะยังไม่ใช่งานที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมในระดับที่ยิ่งใหญ่ จนนำไปสู่ความตื่นเต้นสุดจินตนาการที่ว่า
หากเทคโนยีทั้งหมดได้รับพัฒนาจนถึงขีดสุดแล้ว โลก วิถีชีวิต และมนุษยชาติจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร?
ข้อมูลสิทธิบัตร: https://patents.google.com/patent/US6073115
อ้างอิง:
- Jay Bennett. 15 Patents That Changed the World. https://www.popularmechanics.com/technology/design/g20051677/patents-changed-the-world/
- ภก. วสุ ศุภรัตนสิทธิ. CRISPR/Cas9 ความหวังใหม่สำหรับการรักษาโรคต่างๆ ในระดับสารพันธุกรรม. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/364/CRISPR/Cas9/
- สิริโฉม พรหมโฉม. สิทธิบัตร. http://www.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/k119%20jun_11_6.pdf