life

“คนอื่นเขาห้อยพระ แต่ผมห้อยเหรียญอันนี้แหละ”

ซาเจ๊ะ หม่อโป๊ะกู่ หรือ พ่อหลวงซาเจ๊ะ อดีตผู้ใหญ่บ้านดอยผาหมี วัย 74 ปี กุลีกุจอไปหยิบสร้อยคอที่ห้อยเหรียญที่ระลึกขนาดเท่าเหรียญสิบบาทมาให้เราดู

ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย รอบริมขอบเหรียญมีข้อความว่า 

‘ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙’

 

เหรียญแทนบัตรประชาชนของชาวเขา

 

ด้านหลังเป็นแผนที่ประเทศไทย ริมขอบด้านบนมีข้อความ ‘เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา’ ส่วนตรงกลางคือตัวย่อ ‘ชร’ หมายถึงจังหวัดเชียงราย ตามด้วยเลขโค้ด 036931  

ลักษณะโดยรวมไม่แตกต่างจากเหรียญที่ระลึกในวโรกาสต่างๆ จะต่างก็เพียงรายละเอียดปลีกย่อย

แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหรียญที่ระลึกนี้ สำหรับชาวเขาเผ่าอาข่าบนดอยผาหมี ช่างมีค่าเกินกว่าจะประเมินได้

“คุณเห็นเลขข้างหลังนี้มั้ย ‘036931’ นี่เป็นเลขที่ใช้แทนเลขบัตรประชาชน”

 

ในหลวงเสร็จผาหมี
พ่อหลวงซาเจ๊ะในชุดข้าราชการผู้ใหญ่บ้าน ประคองพระกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยน้องชาย อาบอซาเคอะ (ใส่หมวกสีขาว) ที่ประคองตัวล่อไว้ตลอดเวลา (Photo : www.pinterest.co.uk)

 

พ่อหลวงซาเจ๊ะเล่าว่า ชาวเขาอย่างเขาก็ไม่ต่างจากคนเถื่อน อาศัยอยู่ชายแดน มีอาชีพปลูกฝิ่น เพราะไม่รู้จะเพาะปลูกอะไร ปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน

การที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาส่งเสริมให้ปลูกพืชต่างๆ ทั้งกาแฟ ลิ้นจี่ แมคคาเดเมีย รวมถึงนำวัวพระราชทานมาให้เลี้ยง พร้อมหาจุดรับซื้อให้ จึงไม่ใช่แค่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นเท่านั้น

แต่ยังเป็นการยืนยันว่า พวกเขาก็คือคนไทย ไม่ใช่ชาวเขาเร่ร่อนไร้สัญชาติ

เหรียญที่อยู่ในมือพ่อหลวงซาเจ๊ะจึงไม่ใช่แค่เหรียญที่ระลึก แต่คือเหรียญที่ให้ความเป็นคนไทยกับชาวเขา

 

“หลังจากในหลวงพระราชทานเหรียญนี้ให้ เราก็ใช้สำหรับยืนยันสัญชาติ เวลาไปไหนมาไหนก็เอาให้เจ้าหน้าที่ดู หลังจากได้เหรียญนี้เเล้วประมาณ 1 ปี ในหลวงก็เสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง พาคนมาถ่ายรูป พอท่านเสด็จกลับไปได้ไม่นาน ก็มีคนเอาบัตรมาให้ ผมก็ยังไม่รู้ว่าเป็นบัตรประชาชน นึกว่าภาพถ่ายที่ระลึก แต่เขาก็พูดว่า อันนี้ไม่ใช่ภาพถ่ายธรรมดานะ อันนี้เป็นบัตรประชาชน ถึงได้รู้ว่าบัตรประชาชนเป็นอย่างนี้”

 

บัตรประชาชนใบแรกของชาวเขา
ตัวอย่างบัตรประชาชนใบแรกของชาวเขา
(Photo : http://hmongthaiculture.blogspot.com)

 

พ่อหลวงซาเจ๊ะเสริมอย่างภาคภูมิใจว่า เขานี่แหละคือชาวเผ่าคนแรกที่มีบัตรประชาชน

และถึงแม้วันนี้ ชาวบ้านผาหมีไม่จำเป็นต้องใช้เหรียญเพื่อแสดงตัวตนแล้ว แต่พ่อหลวงซาเจ๊ะยังคงเก็บเหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขานี้ไว้อย่างดี

 

พ่อหลวงซาเจ๊ะ (ขวา) และ น้องชาย อาบอซาเคอะ (ซ้าย)
พ่อหลวงซาเจ๊ะ และ น้องชาย อาบอซาเคอะ

 

ถ้าถามว่า อะไรคือสิ่งของที่เป็นสิริมงคลที่สุดในชีวิตของเขา คำตอบก็คือ เหรียญแทนบัตรประชาชนเหรียญนี้

ในฐานะประชาชน พ่อหลวงซาเจ๊ะรู้สึกซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ทุกครั้งที่ในหลวงเสด็จมาผาหมี พ่อหลวงซาเจ๊ะจะรับเสด็จในหลวงด้วยสิ่งเล็กๆ ที่มีค่าที่สุดที่ชาวเขาอย่างเขามี

สิ่งนั้นคือ ‘ชา’ ที่เป็นสูตรเฉพาะของชาวอาข่า

 

ชาเสวย
‘ชาเสวย’

 

“ในหลวงท่านชอบมาก เสวยทุกครั้งที่เสด็จมาผาหมี แถมยังนำกลับไปด้วยอีกต่างหาก” พ่อหลวงซาเจ๊ะยิ้มบอกอย่างภาคภูมิใจ

หลังจากวันแรกที่ในหลวงเสวยชา ชาที่ไม่เคยมีชื่อของชาวอาข่าก็ถูกเรียกใหม่ว่า ‘ชาเสวย’

ทุกวันนี้ชาเสวยยังคงมีอยู่ที่ผาหมี ทุกครั้งที่มีแขกมาเยือน พ่อหลวงซาเจ๊ะและคนที่นี่จะเตรียมชาชนิดนี้ไว้ต้อนรับ พร้อมกับเล่าถึงความหลังอย่างไม่รู้เบื่อ

ตามไปชิมชาสูตรเฉพาะของชาวอาข่าที่กลายมาเป็น ‘ชาเสวย’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อได้ที่ “จากชาของชาวป่า สู่ “ชาเสวย” ของในหลวงรัชกาลที่ 9”

 

อ้างอิง

  • MTHAI. หนึ่งเดียวในไทย เหรียญพระราชทาน แทนบัตรประชาชนชาวเขา. https://news.mthai.com/general-news/526582.html
  • สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย.“เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา” จากบัตรประชาชน มาเป็นของสะสมอันสูงค่า. https://www.samakomphra.com/article/encyclopedia/detail/item/1993/

 

Did you know/Quick Facts

  • ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำเหรียญที่ระลึกไปพระราชทานแก่ชาวเขาตามจังหวัดต่างๆ ประมาณ 20 จังหวัด ในปีพ.ศ. 2506 รวมทั้งหมดกว่า 200,000 เหรียญ โดยทุกเหรียญจะมีอักษรย่อของจังหวัด พร้อมหมายเลขประจำเหรียญตอกกำกับ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการสำรวจสำมะโนประชากรและการพิสูจน์สัญชาติเพื่อทำบัตรประชาชนให้กับชาวเขา