“พนักงานคนไหนนอน 6 ชั่วโมงขึ้นไปได้ติดต่อกันอย่างน้อย 5 คืน จะได้รับคะแนน ที่สามารถนำมาแลกเป็นอาหารได้ที่โรงอาหารของบริษัท ซึ่งถ้าทำได้ทั้งปี คิดเป็นเงินแล้ว เท่ากับว่าคุณได้เงินเพิ่มคนละประมาณ 20,000 บาทต่อปี”
หรือ
“พนักงานคนไหนนอนไม่พอ จนรู้สึกเหนื่อยล้า สามารถนอนกลางวันที่ออฟฟิศได้เลย!”
นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงในประเทศญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นนอนน้อยขนาดไหน ถึงทำให้บริษัทต่างๆ เริ่มออกนโยบายเกี่ยวกับการนอน เพื่อให้พนักงานรู้จักพักผ่อนเสียบ้าง
จากการสำรวจหลายๆ ครั้งของญี่ปุ่น ล้วนให้ผลที่น่าตกใจ
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน สถาบันวิจัยด้านการนอน (Japanese Society of Sleep Research) เปิดเผยข้อมูลว่า
30% ของคนวัยทำงาน ต้องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยให้ตัวเองหลับ
71% ของชายญี่ปุ่น นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงเกือบทุกวัน
ปี 2015 บริษัท Fuji Ryoki ผู้ผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพ สำรวจพบว่า
92% ของคนญี่ปุ่นที่อายุมากกว่า 20 ปี นอนไม่เพียงพอ
ปี 2017 มีการประเมินออกมาว่า คนญี่ปุ่นทำงานล่วงเวลาที่ไม่ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยคนละ 200 ชั่วโมงต่อปี
“คนญี่ปุ่นมีทัศนคติที่ฝังรากลึกมานาน ว่าการทำงานหนัก โดยเสียสละเวลานอนนั้นเป็นเรื่องดีที่ควรทำ โดยลืมไปว่าหากพักผ่อนไม่พอ สมองคุณจะไม่สามารถคิดงานที่ดีได้” จุน โคยามะ หนึ่งในนักวิจัย กล่าวถึงสาเหตุว่าทำไมการทำให้คนญี่ปุ่นนอนเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน ถึงเป็นเรื่องยากนัก
เมื่อความ ‘บ้างาน’ กลายเป็นวัฒนธรรม
ยิ่งคุณทำงานหนัก ยิ่งทุ่มเท ยิ่งได้รับการยกย่อง
ซึ่งความทุ่มเทอย่างไม่มีลิมิตนี้เอง ทำให้เกิดเหตุการณ์ ‘คนตายเพราะทำงานหนัก’ ในญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง
แต่ก็ใช่ว่า ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นทุกคนจะยอมรับ และยกย่องวัฒนธรรมดังกล่าว
บริษัทจัดงานแต่งงาน CRAZY คือบริษัทแรกที่เริ่มนโยบาย ‘นอนเยอะได้รางวัล’
โดยร่วมกับ ‘Air weave’ ผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นจับสถิติการนอน
ให้พนักงานมอนิเตอร์การนอนของตัวเองทุกคืน ใครนอนได้ 6 ชั่วโมงติดต่อกัน 5 คืน จะได้ 500 แต้ม, 6คืน ได้ 700 แต้ม ถ้าได้ทั้งสัปดาห์จะได้ 1,000 แต้ม โดยแต้มทั้งหมด สามารถนำมาแลกเป็นอาหารกลางวันคุณภาพดี กาแฟ และขนมได้ฟรี ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าแล้ว เท่ากับ 1 ปี พนักงานจะได้เงินเพิ่มอย่างน้อย 64,000 เยน หรือประมาณ 20,000 บาท
โดยทำควบคู่ไปกับการจัดหาอาหารที่ดีให้กับพนักงาน ส่งเสริมการออกกำลังกาย และสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ในการทำงาน
“สุขภาพคือสิ่งสำคัญอันดับ 1 ซึ่งก็ไม่ใช่แค่สุขภาพกายอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสุขภาพจิต และสุขภาพทางสังคมด้วย CRAZY อยากให้พนักงานมีครบทุกด้าน การนอนคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ทั้งร่างกายและสมอง ถ้าพนักงานสุขภาพดี งานที่เค้าผลิตออกมาก็จะเป็นงานที่ดี มีคุณภาพ” คาซุฮิโกะ โมริยามะ ประธานหนุ่ม เจ้าของบริษัท CRAZY ยืนยันว่า มันหมดยุคของการทุ่มเทให้งานแบบอดหลับอดนอนแล้ว
“การทำงานแบบเครื่องจักรล้าสมัยไปตั้งแต่เราก้าวเข้าศตวรรษที่ 20 แล้ว ผมว่าทุกวันนี้โลกขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ ประสิทธิภาพในงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับการผลิตได้เยอะๆ อีกต่อไปแล้ว พนักงานต้องการเวลาให้สมองและร่างกายได้พักผ่อน เพื่อสามารถผลิตความคิดดีๆ และสร้างสรรค์งานได้”
อีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ กรณีของ Nextbeat บริษัทสตาร์ทอัพด้านไอทีในกรุงโตเกียว ที่ทำห้องนอนเก็บเสียงไว้ในออฟฟิศ 2 ห้อง (และมีแผนจะเพิ่มจำนวนในปีนี้) ภายในเงียบกริบ ปราศจากเสียงรบกวน และยังมีกลิ่นอโรม่าแบบผ่อนคลายไว้บริการ เพื่อให้พนักงานที่เหนื่อยล้า ได้มางีบตอนกลางวัน โดยมีข้อแม้ว่าห้ามนำสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์เข้าไปข้างในเด็ดขาด
“การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ทำให้สุขภาพดีพอๆ กับการกินอาหารสุขภาพหรือออกกำลังกาย” นี่คือแนวคิดของผู้บริหาร อิมิโกะ ซุมิคาวะ
Nextbeat ให้พนักงานออกจากออฟฟิศภายใน 21.00 น. ห้ามทำงานล่วงเวลา และนับเวลางีบ 30 นาทีในตอนกลางวัน เป็นส่วนหนึ่งของเวลาทำงานอีกด้วย
เช่นเดียวกับบริษัท มิตซูบิชิ เรียลเอสเตท ที่สำนักงานใหม่ของพวกเขา ก็มีห้องงีบให้พนักงานเช่นกัน โดยบริษัทจะมีนโยบายให้พนักงานได้งีบ 30 นาที หลังจากพักเที่ยงมาแล้ว 1 ชั่วโมง เพื่อรีเฟรชตัวเองในรอบบ่าย
ทำไมญี่ปุ่นจึงหันมาจริงจังกับเรื่องการนอน?
เพราะการอดนอนของคนญี่ปุ่น ไม่เพียงส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลอย่างมหาศาลในระดับเศรษฐกิจชาติ
ตั้งแต่ปี 2009 ญี่ปุ่นได้พยายามคำนวณค่าใช้จ่ายที่ประเทศต้องเสียไปให้กับการอดนอน ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าดูแลสุขภาพ และรายได้ที่ต้องเสียไปจากอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นของคนวัยทำงาน คาดการณ์ว่าน่าจะมีมูลค่าถึง 138,000 ล้านเหรียญต่อปี หรือคิดเป็น 2.92% ของ GDP ญี่ปุ่น
เรื่องนอนของคนวัยทำงาน สำหรับญี่ปุ่นจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะเพิกเฉยได้อีกต่อไป เพราะทัศนคติ ‘อดนอนได้ เพื่อให้งานดี’ กำลังเป็นดาบอีกหนึ่งคมที่หวนมาทำร้ายญี่ปุ่น
คงอย่างที่คุณโมริยามะ ประธานบริษัท CRAZY เคยให้ความเห็นไว้
“คุณต้องดูแลคนที่ทำงาน ไม่เช่นนั้นประเทศจะอ่อนแอลง”
อ้างอิง :
- World Economic Forum. To combat Japan’s sleep debt, some firms allow tired workers to nap on the job. http://bit.ly/2NLSzec
- Bloomberg. The Company That Pays Its Employees to Get a Full Night’s Sleep. https://bloom.bg/2HrK9rB
- Ruth Umoh. Why this company pays its workers to get a full night’s rest. https://cnb.cx/2NNuUtR
- CRAZY. Japan’s first! Introduced the “sleep remuneration system”. http://bit.ly/2ELdytv
- Leo Lewis. HOW MUCH SHOULD YOU GET PAID TO SLEEP?. http://bit.ly/2SQb0PR
- KYODO. Japanese firms starting to encourage employees to take naps at work. http://bit.ly/2XMqKHd