ในความธรรมดาที่ไม่มีกลไกอะไรพิเศษของ hand fan หรือ พัดแบบพับได้ ซึ่งอาศัยเพียงแรงมือคลี่กางออกแล้วสะบัดเป็นจังหวะให้เกิดลมพัดเข้าตัว กลับเคลือบแฝงความหมายบางอย่างที่บ่งบอกชนชั้นและฐานะให้ผู้เป็นเจ้าของ รวมถึงสะท้อนตัวตนให้ผู้ใช้ได้อย่างแยบยล
พัดแบบพับได้ จึงเป็นมากกว่าอุปกรณ์คลายร้อนขนาดพกพาสะดวกที่เรามักจะเห็นคุ้นตาว่าบรรดาคุณย่าคุณยายนิยมพกติดตัวเป็นของคู่กายในชีวิตประจำวัน เพราะนอกเหนือจากประโยชน์เรื่องการใช้งาน พัดเหล่านี้ยังคงรักษาหน้าที่สำคัญมาตั้งแต่อดีตกาล นั่นคือเป็นเครื่องประดับทางสังคมและวัฒนธรรม คอยป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ว่าผู้ถือพัดคือใคร และกำลังทำอะไรอยู่
เปิดศึกชิงตำแหน่งประเทศต้นกำเนิดพัดแบบพับได้
ถึงแม้นักประวัติศาสตร์แฟชั่นไม่อาจชี้ชัดได้ว่าอารยธรรมใดริเริ่มคิดค้น พัดแบบพับได้ เป็นอารยธรรมแรกของโลก
แต่อย่างน้อยหากอ้างอิงหลักฐานทางโบราณคดีก็พอจะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญระบุได้ว่า พัดแบบพับได้ที่ทำมาจากซี่ไม้และกระดาษหรือผ้าเนื้อบางถือกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการฟาดฟันกันระหว่าง 2 ประเทศที่ร่ำรวยวัฒนธรรมมาแต่ไหนแต่ไร คือ จีน และ ญี่ปุ่น เพราะต้องการชิงตำแหน่งเป็นประเทศแรกที่ประดิษฐ์พัดลักษณะดังกล่าว แต่ละประเทศจึงพยายามกล่าวอ้างเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตต่างๆ นานา แต่นักประวัติศาสตร์แฟชั่นซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน ได้ยุติข้อถกเถียงทั้งหมดโดยพิจารณาจากลักษณะพัดเป็นสำคัญ หมายความว่า ลักษณะพัดของประเทศผู้ชนะต้องใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับพัดแบบพับได้ที่ใช้กันในปัจจุบัน
วัฒนธรรมพัดที่เก่าแก่ที่สุดในซีกโลกตะวันออกถือกำเนิดใน จีน ชาวจีนโบราณทั้งประดิษฐ์ ใช้ และเผยแพร่พัดไปยังประเทศอื่นๆ ก็จริง แต่ ญี่ปุ่น กลับเป็นประเทศทำคลอดพัดแบบพับได้ให้เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกราว 670 ปีหลังคริสตกาล ขณะที่จีนเพิ่งจะเริ่มประดิษฐ์และใช้พัดแบบเดียวกันนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 หรือช่วงเวลาระหว่าง ปี 901-1000 ซึ่งห่างจากญี่ปุ่นประมาณ 300 ปี
ตำนานแห่งพัดแบบพับได้ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้
แท้จริงแล้วญี่ปุ่นรับเอาวัฒนธรรมการใช้พัดมาจากจีน ช่วงแรกๆ รูปแบบพัดที่ใช้ในญี่ปุ่นจึงเหมือนกับจีนทุกกระเบียดนิ้ว มีลักษณะเป็นพัดขนาดใหญ่ที่ใช้ในพิธีการสำคัญในราชสำนักและสงวนไว้ใช้กับชนชั้นสูง จากนั้นคนญี่ปุ่นจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบพัดให้มีลักษณะเฉพาะตนเป็นเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่น ทั้งลดขนาดให้เล็กลง และเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาประดิษฐ์ โดยเรียกพัดแบบพัดเก็บได้ว่า โอกิ (ogi)
แต่จุดเริ่มต้นของโอกิยังเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นเองก็หาข้อสรุปไม่ได้ เพราะตำนานหรือที่มาของโอกินั้น มีหลากหลายความเชื่อและเรื่องราว เช่น เกิดขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดินีจิงกุ (Jingu) เมื่อโทะโยะมะรุ (Toyomaru) ชายคนหนึ่งผู้อาศัยอยู่ในจังหวัดทัมบะ ปัจจุบันคืออาณาเขตของเกียวโตและเฮียวโกะ สังเกตการขยับปีกที่คลี่กางออกเต็มที่ก่อนหุบเก็บแนบลำตัวของค้างคาว เขาจึงนำไม้มาฝานเป็นซี่บางๆ แล้วเชื่อมปลายไม้ด้านหนึ่งเข้าด้วยกัน จนสำเร็จเป็นพัดที่คลี่ออกและหุบเก็บได้ตามต้องการ
อีกตำนานเล่าถึงเหตุอาพาธของเจ้าอาวาสในวัดมิเอะอิโดะ (Mieido) จังหวัดเกียวโต ทำให้หญิงหม้ายชื่อทะอิระ อัทซึโทะริ (Taira Atsumori) ผู้ฝึกสมาธิอยู่ในวัด อาสาตนมาปรนนิบัติ เธอนำกระดาษมาพับจับจีบคอยพัดให้พระ ก่อนพัฒนาเป็นพัดแบบพับได้ เรื่องเล่านี้เป็นที่โจษจันอย่างมากในญี่ปุ่น ถึงขนาดที่ว่าร้านพัดจำนวนไม่น้อยเลือกตั้งชื่อร้านตามชื่อวัด เพราะต้องการสื่อความหมายถึงต้นกำเนิดของพัด
สู่การพัฒนาให้ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
พัดแบบพับได้ที่คนญี่ปุ่นคิดค้นใช้ในประเทศตั้งแต่ดั้งเดิม แบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรกทำจากวัสดุเนื้อแข็ง เช่น ซี่ไม้ งาช้างสลัก หรือโลหะหล่อ โดยยึดปลายด้านหนึ่งด้วยหมุดโลหะเป็นที่จับ ส่วนปลายที่เอาไว้พัดให้เกิดลมจะเจาะรู้แล้วใช้ผ้าที่ตัดเป็นเส้นหรือเส้นไม้ร้อยยึดไว้ให้เป็นแพ โดยทั่วไปรู้จักในชื่อ brise fan
แบบสองใช้วัสดุบอบบางกว่า จำพวกกระดาษและเส้นไหมที่ทอเป็นผืน โดยต้องตัดแต่งให้มีขนาดกว้างและยาวพอดีกับโครงพัดซึ่งทำจากซี่ไม้ฝนจนแบน ปลายด้ามจับมีหมุดโลหะยึดไว้เหมือนกับพัดแบบแรก เมื่อได้ขนาดกระดาษและผ้าตามต้องการแล้ว ต้องนำไปรีดเป็นจีบตามจำนวนซี่ไม้ให้ครบถ้วนก่อนติดลงกับโครงเป็นอันเสร็จ
พัดแบบพับได้จะเริ่มใช้ครั้งแรกในหมู่คนชนชั้นสูงและซามูไร แต่เหตุผลด้านความสะดวกที่เจ้าของพกติดตัวได้ตลอดเวลา ทำให้พัดเป็นมากกว่าอุปกรณ์คลายร้อน ผู้คนส่วนหนึ่งใช้พัดเป็นเครื่องหมายแสดงความใฝ่รู้โดยเขียนหลักคำสอนและความเชื่อทางศาสนาพุทธลงบนพัดแทนภาพวาด ส่วนพัดของนักรบโบราณมักทำจากเหล็กเพื่อใช้เป็นโล่และอาวุธโจมตี
เมื่อเวลาผ่านไป สังคมญี่ปุ่นเริ่มหันมาสนใจใช้พัดกันอย่างแพร่หลาย พัดแบบพับได้กลายเป็นสิ่งของที่มีคุณค่าและมูลค่าในเวลาเดียวกัน เพราะต้องอาศัยความประณีตและความคิดสร้างสรรค์เชิงศิลปะ โดยเฉพาะการวาดภาพตกแต่งบนกระดาษ ผืนผ้า และซี่ไม้ รวมถึงการสลักรูปนูนต่ำบนวัสดุแข็งที่นำมาทำพัด ซึ่งบานปลายกลายเป็นความฟุ้งเฟ้อเกินจำเป็น จนทางการต้องออกกฏหมายจำกัดการตกแต่งพัดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10
เครื่องบรรณาการแก่จีนแผ่นดินใหญ่
หลักฐานลายลักษณ์อักษรของจีนได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพัดจากญี่ปุ่นไว้ในพงศาวดารราชวงศ์ซ้งว่า
ปี 988 พระญี่ปุ่นนามโชเนน (Chonen) ถวายพัดแบบพับเก็บได้ที่เรียกว่า คะวะโฮะริ (Kawahori) จำนวน 2 ด้าม เป็นเครื่องบรรณาการแก่ราชสำนักจีน
ซึ่งชื่อเรียกพัดแผลงมาจากคำว่า โคโมะริ (koumori) หรือค้างคาวในภาษาญี่ปุ่น เพื่ออ้างอิงถึงตำนานที่มา
นับเป็นการเปิดตัวครั้งแรกให้จีนได้รู้จักกับพัดแบบใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากพัดของจีนอย่างชัดเจน เพราะพัดที่ชาวจีนใช้ในขณะนั้นเป็นพัดแข็งทื่อแบบพับไม่ได้ หน้าพัดมีลักษณะทรงกลมและวงรี ทำด้วยหนังสัตว์ ขนนกยูง ขนหางไก่ฟ้า หรือไม่ก็ผ้าไหมทอหนา ส่วนด้ามจับมีลักษณะเป็นแท่งยาวทำจากไม้มงคล งาช้าง หรือหยก จุดประสงค์หลักไม่ได้ใช้พัดคลายร้อนแบบคนญี่ปุ่น แต่ใช้เป็นเครื่องประดับที่แสดงถึงอำนาจและความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิ
คริสต์ศตวรรษที่ 15 พัดแบบพัดได้จากประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นสิ่งของที่ได้รับความนิยมในจีนและเกาหลี ยืนยันได้จากบันทึกในสมัยรางวงศ์โซซอนว่า ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงด้านการผลิตพัดแบบพับได้ เกียวโตคือฐานการผลิตและเป็นศูนย์กลางส่งออกพัดมายังเกาหลีและจีนเป็นจำนวนมาก รองลงมาคือดาบ และฉากกั้น
จากญี่ปุ่นถึงจีน จากจีนถึงยุโรป
ขณะเดียวกัน จีนเริ่มแนะนำให้ชาวตะวันตกเริ่มรู้จักพัดแบบพับได้ผ่านการค้ากับประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปบนเส้นทางสายไหม ในไม่ช้าพัดจากจีนและญี่ปุ่นได้รับความสนใจอย่างมากในหมู่ชนชั้นสูงเพราะเป็นสิ่งใหม่ที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน ความสวยงามของพัดทำให้ชาวตะวันตกชื่นชมในฐานะผลงานศิลปะ
พัดแบบพับได้จากโลกตะวันออกได้รับความนิยมสูงสุดในโลกตะวันตกเมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ด้วยความสวยงามของพัดประกอบกับท่วงท่าอ่อนช้อยขณะสะบัด พัดแบบพัดได้จึงเป็นของใช้ส่วนตัวสำหรับสตรีมากกว่าบุรุษซึ่งแสดงถึงความหรูหราและสง่างาม พัดของสตรีชาวยุโรปส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนมาใช้ขนนกประทับบนซี่ไม้แทนกระดาษ เพราะความพริวไหวง่ายยามต้องลมของขนนกช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้ผู้หญิงดูอ่อนโยน
จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 พัดแบบพับได้ของญี่ปุ่นกลายเป็นของประจำตัวผู้หญิงตะวันตกทุกชนชั้น ทำให้วิธีใช้พัดเปลี่ยนแปลงไปด้วย เกิดเป็นภาษาและการใช้พัดสื่อความหมายบางอย่างเพื่อบอกความในใจหรือความต้องการของผู้ถือ
พูดจาภาษาพัดสื่อกลางที่ผู้หญิงใช้บอกความนัยในวงสังคม
ค่านิยมของยุควิคตอเรียน (Victorian era) กำหนดคุณค่าของผู้หญิงกับเรื่องเพศและพรหมจรรย์ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้หญิงจึงต้องรักงวนสงวนตัว ด้วยเหตุนี้พัดแบบพับได้จึงมีบทบาทสำคัญให้ผู้หญิงใช้สื่อสารแทนการเอ่ยด้วยวาจา
เดิมทีการใช้พัดสื่อคำพูดถือกำเนิดขึ้นในประเทศสเปนโดยบุรุษปริศนานามว่า ฟิเนย่า (Fenella) ก่อนเผยแพร่มาสู่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสโดย ฌอง ปิแอร์ ดูเวลเลอรอย (Jean-Pierre Duvelleroy) พ่อค้าชาวฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าของกิจการร้านขายพัดซึ่งก่อตั้งในปี 1827 เขาคัดเลือกภาษาพัดจากสเปนบางส่วนมาแปลเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส จุดกระแสการใช้พัดให้กลายเป็นเทรนด์และแฟชั่นสำหรับผู้หญิง
ตัวอย่างที่ใช้บ่อยในสมัยนั้น คือ ถือพัดด้วยมือซ้ายแปลว่าชักชวนให้เข้ามาสนทนาได้ ใช้นิ้วจับปลายพัดที่กางอยู่หมายถึงหวังว่าจะได้สนทนากับคุณ ใช้มือขวาถือพัดวางตำแหน่งไว้กลางหน้าเพื่อต้องการบอกให้ตามฉันมา กางพัดอย่างช้าๆ เท่ากับว่าแต่งงานแล้ว หากพัดเร็วถี่ๆ แสดงว่าผ่านการหมั่นหมายกับฝ่ายชายมาก่อน
ปัจจุบัน พัดเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม เช่น ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอย่างระบำฟลาเมงโกของสเปน และละครคาบูกิของญี่ปุ่น แต่สำหรับชีวิตประจำวัน พัดแบบพับได้กลายเป็นของสามัญที่ขาดไม่ได้ในหน้าร้อนหรือหากต้องไปในที่อบอ้าวแต่ไม่มีพัดลมไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศให้ความเย็น พัดจึงทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์คลายร้อนระบบอัตโนมือสำหรับทุกคน
อ้างอิง
- Brunei Gallery, SOAS University of London. Origin of the Folding Fan. https://bit.ly/3oNFWBO
- Colin Lawton Johnson. A Brief History of Fans. https://bit.ly/3vesp8W
- George Woolliscroft Rhead. History of the Fan. https://bit.ly/3yzzDXa
- Madeleine Luckel. Why It’s Time to Revisit the Handheld Fan—And Its Secret Language. https://bit.ly/34cwPBd
- Purdue University. The Hand Fan: Cell Phone of the 17th Century. https://bit.ly/3fGwzjv