น่ารัก น่ารัก น่ารักเต็มไปหมด เป็นร้านที่ทำให้พูดคำว่า ‘น่ารัก’ ได้สิ้นเปลือง ราวกับเพลงวอลซ์บรรเลงขึ้นมา ชวนให้ย้ายไปสำรวจมุมนู้นที มุมนี้ทีตามจังหวะ
นี่เป็นความรู้สึกแรกเมื่อโผล่พ้นบันไดขึ้นมาเยือนชั้นสองของ Needle and Clay ร้านเซรามิกในตึกสีขาวริมคูเมืองเชียงใหม่
เซรามิกชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย วางเรียงกันอยู่บนชั้น ไม่ว่าจะเป็นโมบายเห็ด จานสีหน้าแวนโก๊ะ สร้อยข้อมือดอกไม้ เข็มกลัดทิวลิป แม่เหล็กแปะตู้เย็น ถ้วย ชาม ช้อน ต่างอวดสีสันแข่งกันแบบไม่มีใครยอมใคร โดยมีแสงอบอุ่นของหน้าหนาวลอดผ่านหน้าต่างเข้ามาอาบไล้ให้วาววับเป็นประกาย
Needle and Clay
เข็มเย็บผ้าและก้อนดินเหนียว
Needle and Clay เป็นร้านเซรามิกเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในตึกสองชั้น ย่านประตูเมืองเชียงใหม่ ด้านหน้าเป็นคูเมืองที่มีต้นไม้ร่มรื่น ในพื้นที่เดียวกันนั้นยังเป็นคาเฟ่ Brown Coli ที่เหมาะกับการมานั่งจิบกาแฟยามบ่าย ในบรรยากาศที่รายล้อมด้วยข้าวของน่ารัก แถมบางวันยังมีเจ้า ‘พอใจ’ น้องหมาพุดเดิ้ลขี้เล่น คาบลูกบอลสีส้มวิ่งออกมาเล่นด้วย
เน็ท – ธิติพรหม อ่อนเปี่ยม และ ชนะ – ชนะ แสนสนั่นชัย เป็นคู่รักนักปั้นที่อยู่เบื้องหลังร้านเซรามิกแห่งนี้ ทั้งสองปั้นเซรามิกมานาน 4 ปี และเพิ่งกลับบ้านมาทำร้านเซรามิกที่เชียงใหม่ได้จะครบ 1 ปี พอดิบ พอดีในเดือนพฤศจิกายนนี้
เดิมทีที่นี่เป็นที่ดินเปล่าๆ ของคุณแม่ของเน็ท ที่คิดเอาไว้ว่าจะมาปลูกบ้านอยู่หลังเกษียณ แต่ไหนๆ ก็สร้างบ้านแล้ว เลยตัดสินใจสร้างตึกหน้าตาน่ารักให้เน็ทและชนะเปิดร้านเซรามิก และให้ แนน – พรหมนาถ อ่อนเปี่ยม ลูกสาวคนเล็กเปิดคาเฟ่ไปด้วยเสียเลย
เน็ทและชนะชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เรียนจบด้านศิลปะทั้งคู่ ก่อนที่จะพบกันที่มหาวิทยาลัยศิลปากรตอนเรียนต่อปริญญาโทด้านศิลปะไทย ตอนแรกทั้งสองคนตั้งใจว่าหลังจากจบปริญญาโท จะทำงานศิลปะ แสดงผลงาน และขายงานฉบับศิลปินเต็มตัว
งานของชนะเป็นงานจิตรกรรม หากใครขึ้นไปบนชั้นสองแล้วสังเกตเห็นภาพวาดลิงบนผนัง นั่นแหละงานของเขา ส่วนงานของเน็มเป็นแนวจิตกรรมสื่อผสม เย็บปักถักร้อย ซึ่งเป็นการนำผ้าชิ้นเล็กๆ มาเย็บต่อกันให้เป็นภาพผืนใหญ่
ชื่อร้าน Needle and Clay มาจาก
‘Needle’ หรือ ‘เข็มเย็บผ้า’ ซึ่งเป็นตัวแทนของเน็ทที่ทำงานเย็บปักถักร้อย
‘Clay’ หรือ ‘ดินเหนียว’ เป็นตัวแทนของชนะ ที่ปัจจุบันทำงานปั้นเซรามิกเป็นหลัก
Chana Pottery Studio x The Feel Gooood Factory
หากลองสังเกตเหล่าเซรามิกดีๆ จะเห็นได้ว่าฟากหนึ่งจะเป็นงานสไตล์กุ๊กกิ๊ก สีสันสดใส รูปทรงง่ายๆ เหมือนเด็กวาด อย่างดอกไม้ ใบหญ้า ท้องฟ้า ก้อนเมฆ นี่คือลายเซ็นของเน็ทในแบรนด์ The feel gooood factory ส่วนอีกฟากที่เพ้นท์สีละเอียดลออรูปหน้าแวนโก๊ะ นิ้วมือ สมอง หัวใจ ใบหู เป็นงานของ Chana pottery studio (อ่านว่า ชนา) เป็นผลงานของชนะ
“เราแยกสไตล์ให้ชัดเจน เพราะตอนทำแบรนด์ชนาเรารู้แล้วว่ากลุ่มลูกค้าคือผู้หญิง เลยอยากใส่ความสดใส ความหวานเข้าไป แต่ดันขัดกับคาแรคเตอร์ของชนะ ซึ่งมีความเป็นผู้ชายมาก ดิบมาก งานของชนะจะซ้อนสีเยอะๆ เส้นเป็นเส้น เวลาเพ้นท์จะคิดรอบด้าน งานเซรามิกเลยมีดีเทล แต่ของเน็ทจะถูกดรอปลงมา”
“ตอนไปเวิร์คชอปเราก็ปั้นหน้าแวนโก๊ะกัน พอเรียนจบแล้วเราก็ได้งานกลับบ้าน แต่ทีนี้ชนะไม่จบ เพราะเขาชอบ เลยไปซื้อดินเซรามิกมา ตอนแรกปั้นเป็นหน้าแวนโก๊ะแบบแบนๆ แล้วเขาก็ลองปั้นแวนโก๊ะแบบเป็นศิลปะนูนต่ำ พอปั้นเสร็จโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าคนชอบ เราก็เลยทำขายวันงานอาจารย์ศิลป์ฯ ตอนนั้นเราเรียนโทกันอยู่” เน็ทเล่า
ตอนนั้นเองชนะมีโอกาสได้เยือนพิพิทธภัณฑ์ศิลปะที่อเมริกา ไปร้านเซรามิกแล้วเจองานที่ถูกใจชิ้นหนึ่ง พอพลิกดูก็มีป้ายแปะว่าเมดอินไทยแลนด์จากสมุทรปราการนี่เอง เขาจึงเห็นลู่ทางว่าเขาเองว่าไทยเราก็ทำได้ และเขาก็น่าจะทำแบบนั้นได้ จึงจุดประกายให้ทั้งคู่ทำงานเซรามิกอย่างจริงจัง
“ตอนนั้นมีร้านที่กรุงเทพฯ สนใจแล้วติดต่อให้เราเอาของไปวาง มีคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ เราเยอะเลย เราเลยคิดว่าเราก็น่าจะทำของน่ารักออกมาเยอะๆ อย่างน้อยคนที่มีความชอบเหมือนเราก็จะได้ใช้ของแบบนี้ในชีวิตประจำวันของเขา เราก็เลยทำงานปั้นมาเรื่อยๆ จนวันนี้” ชนะเล่า
หลายคนคงจดจำ Chana pottery studio จากงานปั้นรูปหน้าแวนโก๊ะ ไม่ว่าจะเป็นจานสี แก้วน้ำ ไม้บรรทัด หรือแม้แต่หูของแวนโก๊ะ ชนะจึงเล่าถึงที่มาของแรงบันดาลใจนี้ให้เราฟัง
“เราชอบการเพ้นท์ของแวนโก๊ะ พอรู้จักชีวิตเขาเราก็อิน เลยปั้นเป็นรูปแวนโก๊ะ เราชอบที่เขาพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่สวยงามเพื่อผลิตงาน เพียงไม่กี่ปีเขาก็ผลิตงานออกมาเยอะมาก เราเลยรู้ว่าความจริงแล้วการที่เราพาตัวเองไปอยู่ในบรรยากาศเอื้ออำนวย มันทำให้เราทำงานได้อย่างอิสระและงานก็ออกมาดี”
“งานชุดแรกๆ ของเรามันจะเป็นนิ้วหมดเลย และเป็นการเคลื่อนไหวของมือ เราเลยชอบปั้นอวัยวะ ใบหูก็ได้แรงบันดาลใจมาจากแวนโก๊ะที่เขาตัดหูตัวเอง ”
ส่วนเน็ทเล่าว่าสำหรับ The feel goood factory นั้น เธอได้แรงบันดาลใจจากสิ่งของใกล้ตัวในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นน้องหมา น้องแมว ท้องฟ้า ต้นไม้ ใบหญ้า ที่เน้นความสดใสมาเป็นอันดับหนึ่ง
งานชิ้นที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางที่สุดของ Chana pottery คือ ‘จานสีแวนโก๊ะ’ ที่โกแมสจนถึงขั้นโดนก๊อปปี้งานไปทำขายกันเกลื่อน ไม่เพียงแต่ชิ้นนี้เท่านั้นแต่งานหลายๆ ชิ้นของ The feel gooood factory พวกแก้วดอกทิวลิปก็ด้วย กว่าจะหาทางแก้เกมได้ก็ทำเอาเน็ทและชนะกุมขมับไปตามๆ กัน ถึงอย่างนั้นทั้งคู่ก็มองอีกแง่ว่านี่ถือเป็นเรื่องไม่คาดฝันที่น่าจดจำของการทำแบรนด์เซรามิก
“ตอนแรกเราไม่มีหัวทางการค้าเลย แต่ก็ต้องมีบ้างแล้วแหละ ต้องปรับตัวเองเพราะบางครั้งโลกก็ไม่ได้สดใสอย่างที่งานที่เราทำ”
หลังจากหยุดดูมุมโน้น โดดมามุมนี้ ดูเซรามิกแต่ละชิ้นไปเรื่อยๆ ก็สะดุดตากับชิ้นหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะเป็น ‘ไม้บรรทัด’ ที่มีหน้าแวนโก๊ะประดับอยู่ด้านบน
ชนะเล่าว่าเขาตั้งใจปั้นให้เป็นไม้บรรทัดที่ใช้วัดได้จริงๆ แต่เขาเพิ่งรู้ทีหลังว่าหลังจากเผาแล้วดินที่ปั้นกลับหดตัวจนมาตรวัดผิดเพี้ยน แถมดินแต่ละล็อตก็ไม่เหมือนกัน บ้างหดมาก บ้างหดน้อย บางล็อตก็ไม่หดเลย จึงทำให้เป็นไม้บรรทัดที่มาตราส่วนอาจขาดๆ เกินๆ แต่เน็ทเล่าว่าบางคนก็ยังซื้อไปทำเป็นที่ทับกระดาษ เก๋ไปอีกแบบ
กว่าจะมาเป็นงานเซรามิกอย่างที่เราได้เห็น โจทย์ที่ยากที่สุดที่ทั้งสองคนต้องนั่งคิดหาวิธีแก้คือต้องทำงานให้ใช้ได้จริง ถูกใจคนซื้อ ในขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งตัวตนของพวกเขาไป
“ใครก็ตามที่เห็นงานของเราจะพูดคำว่าน่ารัก” เน็ทบอก
“พอคนบอกว่าน่ารักเราก็รู้สึกประสบความสำเร็จแล้ว บางคนเขาซื้อเก็บไว้โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอาไปทำอะไร แต่สิ่งนี้ก็กลายมาเป็นข้อเสียของเรา เลยต้องมาตีโจทย์ใหม่ว่าความน่ารักก็ต้องมีประโยชน์ด้วย”
“ตอนแรกที่เราปั้นเอง เราจะทำอะไรก็ได้ แต่พอต้องขายให้คนอื่น เราต้องรับคำวิจารณ์ ช่วงแรกงานของชนะจะมีความดิบ เขาไม่ชอบชุบเซรามิกให้ใส จะชอบเวลาจับแล้วเนื้อสัมผัสหยาบๆ แต่ลูกค้าขอมาว่าอยากได้แบบใส ที่จับแล้วละมุน ชนะก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง จากตอนแรกเราสนุกกันมาก ก็เริ่มเป็นทุกข์แล้ว”
“เราเลยกลับมาคุยกันอีกครั้ง แล้วหาบาลานซ์ว่าเราจะตามลูกค้าไปถึงตรงไหน” เน็ทเล่าให้เราฟัง
“เน็ทต้องคอยตบๆ ให้อยู่ในความเป็นจริง” ชนะบอก และเผยว่าโจทย์นี้เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับเขาเช่นกัน
“ยอมรับว่าตอนแรกเครียดที่ต้องปรับให้คนอื่นมาชอบงานเรา ทั้งๆ ที่เราทำงานเพื่อตัวเองมาตลอด แต่สุดท้ายแล้วต้องยอมรับว่าคนเขาซื้อไปใช้ ก่อนจะปั้นอะไรขึ้นมาเราต้องคิดถึงการใช้งานด้วย ต้องลดความแอดวานซ์ของฟอร์มที่ยากๆ ให้ง่ายขึ้น”
“แต่ก่อนเราทำแต่เข็มกลัด แม่เหล็กเสียส่วนใหญ่ แต่พอลูกค้าบอกว่าอยากให้มีแก้วน่ารักๆ เราก็ลองทำดู และพอมันเป็นภาชนะที่ใส่ของกิน เราก็ต้องทำให้ปลอดภัย ไม่อย่างนั้นจะใช้งานไม่ได้”
“พอทำความเข้าใจใหม่ได้แล้ว เราก็ค่อยๆ ยอมรับได้ว่าเซรามิกมันตอบโจทย์ความชอบของเราแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งต้องตอบโจทย์คนใช้งานด้วย”
จากที่มีแค่งานปั้นเข็มกลัดและแม่เหล็ก ทั้งสองคนก็เริ่มปั้นช้อน แก้วน้ำ ถ้วยชาม แจกัน ที่แม้จะมีรูปทรงที่แปลกตาไปบ้าง แต่พวกเขาก็อยากให้ของเหล่านี้ไปอยู่รอบๆ ตัวได้ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนเหล่านั้นให้ได้
จัดร้านให้เหมือน ‘บ้าน’
เดิมทีเซรามิกของทั้งสองแบรนด์จะไปโผล่ในร้านกิฟต์ชอปกุ๊กกิ๊กใจกลางสยามบ้าง ในร้านงานคราฟต์บ้าง ผ่านตัวแทนที่รับไป นั่นเป็นช่องทางการขายของหลักๆ ที่ทำให้แบรนด์ยังคงอยู่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังอยากเปิดร้านไว้พูดคุยกับลูกค้า
และอีกความตั้งใจหนึ่งคืออยากนำเซรามิกแต่ละชิ้นไปวางตามมุมต่างๆ คล้ายกับบ้านตัวอย่าง เพื่อเป็นไอเดียให้ผู้มาเยือนเห็นว่าถ้าซื้อชิ้นนี้กลับบ้านไปแล้วจะเอาวางไว้ตรงไหน
“เราภูมิใจกับที่นี่มากเพราะอยู่มาตั้งแต่ยังไม่มีตึก พ่อเป็นคนดูแลเรื่องแบบทั้งหมด ส่วนพวกเรามาเลือกสี เลือกหน้าต่าง เลือกพื้น พอสร้างเสร็จก็ต้องเลือกเซรามิกเข้ามาวาง ตอนแรกไม่รู้จะจัดอย่างไร คอนเซปต์หลักเลยจัดให้เหมือนอิเกีย ที่เขาจะวางของแบบให้เรานึกภาพออกว่าเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง เพราะปัญหาของแบรนด์คือคนซื้อไม่รู้จะเอาไปใช้ทำอะไร เราก็แค่จัดให้ของอยู่ในที่ของมัน”
“เราพยายามออกแบบชิ้นงานให้วางอยู่ด้วยกันได้ทุกชิ้น ทั้งของชนะและของเรา แม้ว่าทั้งสองแบรนด์จะแยกกันแต่ก็อยากให้อยู่ร่วมกันได้ ซื้อชิ้นนี้ ก็ต้องมีอีกชิ้นด้วย เพราะพอมาอยู่ด้วยกันเยอะๆ มันน่ารักไปหมด ค่อยๆ ซื้อเก็บทีละชิ้นก็ได้” เน็ทบอกกับเรา
ชนะเล่าว่าก่อนหน้านี้เซรามิกในร้านจะวางละลานตาไปหมด แต่งานก็ถูกขายออกไปเรื่อยๆ จนบางครั้งร่อยหรอและเติมไม่ทัน ทำให้ต้องปรับมุมนู้น เปลี่ยนมุมนี้ของร้านอยู่ตลอดเวลา จนเน็ทเสริมว่าหากมาครั้งหน้าอาจไม่ใช่แบบนี้แล้วก็ได้
“ก่อนหน้าเปิดประตูเข้าร้านมาปุ๊บจะเจองานเห็ดของชนะเต็มไปหมด คนที่เขาตั้งใจมาซื้อของเราอยู่แล้ว เข้ามาแล้วจะว้าวในใจ เราคิดว่าตัวเองได้คะแนนแล้ว 1 ดาว แต่พอไม่ใช่ลูกค้าเรา เขาจะสงสัยว่าต้องถอดรองเท้าไหม แค่จะมาสั่งกาแฟ ฉันต้องนั่งตรงไหน ต้องระวัง จะขยับก็กลัวของแตก เราเลยต้องเปลี่ยนขึ้นไปอยู่ชั้นสอง”
“ตอนแรกลูกค้าเขามาแล้วเห็นอีกแบบหนึ่ง ก็กลับไปบอกเพื่อน พอเพื่อนมากลับไม่เจอแบบนั้นเพราะบางมุมมันหายไปแล้ว เราฟังแล้วรู้สึกเสียดาย เพราะเขาอุตส่าห์แต่งตัวมาถ่ายรูป แต่ก็ทำอะไรไม่ได้จริงๆ เพราะของถูกขายไป แล้วเราก็ทำช้า กว่าจะปั้น กว่าดินจะแห้ง ก็ต้องจัดร้านใหม่เรื่อยๆ ต้องเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ไปหมดแล้ว นี่คือความเหนื่อยที่เกิดขึ้น แต่ก็สนุกไปอีกแบบ”
โลกใบใหม่ในก้อนดิน
“การปั้นมันทำให้เราเหมือนได้สร้างโลก” เน็ทเล่าถึงความหลงใหลในงานเซรามิก
“ตอนเราทำงานศิลปะมันคืออีกโลกหนึ่ง ไลฟ์สไตล์อีกแบบหนึ่งแต่พอมาปั้นมันสดใสมาก ตื่นเต้นเหมือนเจอเพื่อนใหม่ เพราะเรานับหนึ่งใหม่ แล้วเราก็สนุกมาก จนเลยเถิดมีหน้าร้านมาถึงทุกวันนี้”
“เราว่าชีวิตช่วงนี้เป็นช่วงที่เราเอนจอยที่สุด เพราะเหมือนเราสร้างโลกใหม่ของเราเอง จากที่ตอนแรกเราเดินอยู่ในโลกที่เป็นไปตามกระบวนการของมัน เรียนจบ ทำงาน ถามตัวเองว่าฉันชอบงานแบบนั้นไหม ฉันต้องทำตามบรีฟนะ คำตอบคือฉันไม่ชอบ ฉันเครียด”
“พอมาเจอสิ่งนี้ เราชอบมากและอยากทำต่อ เพียงแค่ต้องพลิกให้ของมันใช้ได้เท่านั้นเอง แปลกเหมือนกันนะที่ของมันขายได้ทุกชิ้นเลย แต่ก็มีบางชิ้นที่อยู่กับเรามา 2 ปี แต่สุดท้ายก็มีคนเจอ แล้วหยิบไป เค้าไปแล้ว เราชอบความรู้สึกนี้และอยากทำมันต่อไป”
ส่วนชนะยังคงลุ่มหลงในก้อนดินเป็นทุนเดิม
“การปั้นมันเหมือนกับว่าเราทำอะไรก็ได้กับก้อนดินก้อนหนึ่ง”
“เราบีบอะไรขึ้นมาก็ได้นี่คือความสนุกและท้าทาย สีจะออกมาเป็นแบบนั้น แบบนี้ ยังมีฟอร์มใหม่ๆ ที่เราอยากทำ ตอนนี้ทำแต่ชิ้นเล็กๆ เลยอยากทำให้ใหญ่ขึ้น พอทำไปเรื่อยๆ เหมือนเราได้สร้างสรรค์และปล่อยจินตนาการออกไป ”
ปัจจุบันสตูดิโอปั้นของทั้งคู่อยู่ที่อำเภอหนองหอย ในจังหวัดเชียงใหม่ มีเตาเผาเล็กๆ หนึ่งเตา และมีทีมงานอีก 2 ชีวิตที่ช่วยกันผลิตชิ้นงานน่ารักๆ
เน็ทบอกกับเราว่าชอบที่แบรนด์เซรามิกของพวกเขาเติบโตไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะทั้งคู่เองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าต้องถึงขั้นทำเป็นโรงงานเซรามิกส่งต่างประเทศ แบบที่ชนะเห็นเมื่อครั้งไปอเมริกา พวกเขาจะยังสนุกกับการคราฟต์งานแต่ละชิ้นเหมือนเดิมหรือเปล่า
อย่างไรก็ตามตอนนี้สตูดิโอของพวกเขากำลังจะขยับขยายใหญ่ขึ้น เพื่อในอนาคตตั้งใจจะชวนคนชอบเซรามิกมาเวิร์กชอป ทำความรู้จักก้อนดิน ฝึกปั้นไปด้วยกัน
“เราอยากเห็นคนมาทำเซรามิก มาปั้นโดยที่ไม่ต้องคาดหวังว่าจะต้องได้แก้วหนึ่งใบที่ดีมาก แต่เราอยากให้สนุกกับกระบวนการปั้น รู้ว่าเซรามิกสนุก เราสามารถเอนจอยกับก้อนดินได้ ใส่จินตนาการเข้าไปได้”
ชนะทิ้งท้ายถึงอีกก้าวของ Needle and Clay ที่กำลังจะมาถึง
Needle and Clay
Chana pottery studio x The feel gooood factory
ที่อยู่ : 65/2 ถนน บำรุงบุรี ต.พระสิงห์ อ.เมือง เชียงใหม่ 50200
เปิด 10.30 – 19.00 น. (ปิดวันจันทร์)
Facebook : Needle and Clay / Chana.pottery.studio / the feel gooood factory
Instagram : @needleandclay /@chana.pottery.studio / @feelgooood.factory