“สิ่งที่ขาดหายไปของเด็กเล็ก หรือเด็กอนุบาลคือการเรียนรู้ ภาษากาย (body language) นี่คือเรื่องสำคัญมากในการใช้ชีวิต การสื่อสารผ่านวิดีโอคอลกับการสื่อสารที่อยู่ด้วยกันจริงๆ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ยังไงมันก็เทียบกันไม่ได้”
นั่นคือความกังวลของ ครูไนซ์ – กะวิตา พุฒแดง นักการศึกษาผู้คลุกคลีกับการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเล็กในหลากหลายระดับ และเป็นผู้ก่อตั้ง ‘บ้านกางใจ’ โรงเรียนทางเลือกสำหรับเด็กเล็ก ครั้งที่ becommon มีโอกาสได้คุยกับเธอเมื่อเดือนกรฏาคม 2021 ที่ผ่านมา (อ่านได้ที่)
วิกฤตโรคระบาดที่ยังไม่จบสิ้น บังคับให้เราต้องจำกัดการพบเจอแบบเห็นหน้าค่าตา สีหน้าถูกซ่อนเอาไว้ภายใต้หน้ากากอนามัย การแสดงออกด้วยมือไม้ถูกลดทอนลงไปด้วยข้อจำกัดของจอสี่เหลี่ยมในโปรแกรมวิดีโอคอล เหล่านี้ไม่ได้ส่งผลแค่กับเด็กเล็กเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพของคนทุกๆ ช่วงวัยด้วยเช่นกัน
เราอาจคุยกันมากขึ้น ใช้ตัวอักษรจำนวนมหาศาลในการติดต่อกัน แต่เราก็กลับสื่อสารกันได้น้อยลง เมื่อ ‘ภาษากาย’ ถูกทำให้สูญหายด้วยโรคระบาด
เหตุใดภาษากายจึงสำคัญ?
ข้อมูลจากหนังสือ Silent Messages ของนักจิตวิทยา อัลเบิร์ต เมฮ์ราเบียน (Albert Mehrabian) แบ่งการสื่อสารของมนุษย์ออกเป็น 3 ประเภทคือ
1.วัจนภาษา (Verbal) หรือการสื่อสารด้วยคำพูด
2.น้ำเสียง (Vocal) ที่รวมถึง โทน (Tone), ความช้าเร็ว (Pace), การเปลี่ยนแปลงเสียงพูด (Inflection)
3.อวัจนภาษา (Non-Verbal) หรือ การใช้ภาษากายในการสื่อสาร
โดยบอกว่า เราใช้ภาษากายสื่อสารมากถึง 55% ใช้น้ำเสียงรองลงมาที่ 38% ส่วนคำพูดแค่ 7% เท่านั้น
ผลวิจัยหนึ่งในปี 2005 เกี่ยวกับการตีความคำเหน็บแหนมของผู้คน พบว่ามีคนประมาณ 56% ที่สามารถจับถ้อยคำเหน็บแหนมเมื่อมันถูกเขียนและส่งผ่านอีเมลได้ ซึ่งก็ไม่ได้ดีกว่าการจับได้อย่างบังเอิญแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับคนอีก 79% ที่สามารถจับคำเหน็บแหนมในประโยคเดียวกันกับอีเมลได้ทันทีเมื่อมันถูกพูดออกมา
เอริกา ดาวัน (Erica Dhawan) ผู้เขียนหนังสือ Digital Body Language: How to Build Trust and Connection, No Matter the Distance บอกว่าความเข้าใจผิดเหล่านั้นจะนำไปสู่ปัญหาหลักของการสูญเสียผลผลิต (productivity) ในการทำงาน จากงานวิจัยหนึ่งที่ให้พนักงานออฟฟิศ 2,000 คน ร่วมทำแบบสำรวจ เธอพบว่า มีมากถึง 70% ระบุว่าการสื่อสารทางดิจิทัล คืออุปสรรคต่อการทำงาน อันนำไปสู่เวลาที่สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ถึง 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
เอาแค่เฉพาะเรื่อง ‘สีหน้า’ เราก็รู้ดีว่ามันรวมอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ไว้หลากหลายประการ แน่นอนว่าเราจับความรู้สึกบางอย่างของอีกฝ่ายผ่านแววตาได้ แต่กล้ามเนื้อและองค์ประกอบอื่นๆ บนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเลิกคิ้ว การเคลื่อนไหวของริมฝีปาก หรือการขยับตัวของกรามก็ล้วนสำคัญต่อการสื่อสารและการแปลความหมายมากพอๆ กัน
ยกตัวอย่างเช่น อารมณ์โกรธ ที่นักวิจัยเชื่อว่าสัญญาณสำคัญที่มักแสดงออกมาเมื่อมนุษย์มีอารมณ์นี้ คือริมฝีปากที่จะถูกงับปิดไว้อย่างแน่นหนา หรือ อารมณ์พึงพอใจ เองที่มักจะแสดงให้เห็นผ่านสีหน้า เมื่อริมปากของมนุษย์ถูกขยับยกขึ้น ดังนั้นเมื่อใบหน้าครึ่งหนึ่งถูกปกคลุมด้วยหน้ากาก มันจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะจับความรู้สึกของอีกฝ่าย และอาจทำให้การสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
นักวิทยาศาสตร์อย่าง เดวิด แฮมิลตัน (David Hamilton) ผู้อุทิศตัวเองให้การศึกษาเรื่อง ‘ทักษะในการเข้าใจคนอื่น’ หรือ Empathy บอกว่าการสูญหายไปของภาษากายนั้นมีบทบาทสำคัญต่อเรื่อง Empathy เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาวะที่ผู้คนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลพร้อมๆ กับความกังวลและความเครียด ที่ส่งผลต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายอย่างมีนัยะสำคัญ
“ถ้าใครสักคนแสดงออกทางสีหน้ามากขึ้น ระดับอิทธิพลทางอารมณ์ที่ส่งต่อกันก็จะสูงขึ้นเช่นกัน และถ้าใครคนนั้นกำลังแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ ความอ่อนโยน และความเข้าอกเข้าใจ คุณจะรู้สึกถึงการเชื่อมต่อระหว่างกัน ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างมีประสิทธิภาพ แถมมันยังส่งผลในด้านบวกต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงภูมิคุ้มกัน”
จะเห็นได้ว่าภาษากายไม่ได้เป็นแค่เรื่องการสื่อสารอย่างทรงพลังให้เราเข้าใจกันมากขึ้นเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อสุขภาพทางกายภาพโดยตรง
เอริกา ดาวันแนะนำว่าสำหรับคนที่ต้องสื่อสารผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ ‘ภาษากายดิจิทัล’ (Digital Body Language) ช่วยเสริม ไม่ว่ามันจะเป็นอิโมจิ เครื่องหมายววรคตอน สัญลักษณ์บางอย่าง หรือกระทั่งการคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการส่งข้อความโต้ตอบก็ตาม
“เครื่องหมายวรรคตอน และการใช้สัญลักษณ์ในโลกดิจิทัลคือหนทางใหม่ในการส่งสัญญาณทางอารมณ์
ซึ่งสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในรูปแบบใด มันก็คือรักษา ‘สติ’ ที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าภาษากายดิจิทัลของเรามีเจตนาที่ดีและเหมาะสมกับสถานการณ์ตรงหน้านั่นเอง
ชารัน ชูกานี ( Sharan Chugani) แพทย์จากเวลส์มีเรื่องเหล่าเกี่ยวกับอุปสรรคในการสื่อสารในช่วงวิกฤติโควิด-19 ของเขา ซึ่งแสดงให้เห็นทั้งความมีสติและใส่ใจพร้อมที่จะแสดงออกถึง Empathy ได้อย่างดี
“ผมเขียนชื่อตัวเองและวาดหน้ายิ้มลงบนเสื้อกาวน์” ชูกานีเล่า “เมื่อพวกเขาสามารถมองเห็นรอยยิ้มของคุณได้ มันสร้างความแตกต่างเกี่ยวกับความวางใจและความเชื่อใจเป็นอย่างมาก”
อ้างอิง
- Bianca Nobilo, CNN. Coronavirus has stolen our most meaningful ways to connect. https://cnn.it/3AenR4i
- Patrick J. Kigerl. How Body Language Works.https://bit.ly/3ad7Ktc
- David Robson. The digital body language cues you send – or don’t send. https://bbc.in/3mq4Bfb