©ulture

ลุดวิก ฟาน บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven) คีตกวีชื่อก้องของโลก สิ้นลมหายใจในปี 1827  ตลอดชีวิตการทำงาน แม้เขาจะมีผลงานมากมาย แต่เมื่อเทียบกับคตีกวีคลาสสิกคนอื่นๆ ก็นับได้ว่าเขาประพันธ์ ‘ซิมโฟนี’ (Symphony) —บทเพลงเพื่อใช้บรรเลงในวงออร์เคสตราไว้น้อยอย่างยิ่ง

การสร้างสรรค์บทเพลงเพื่อวงออร์เคสตรา—วงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีหลักครบทั้ง 4 ประเภท คือ เครื่องสาย เครื่องเป่าลมไม้ เครื่องเป่าลมทองเหลือง และเครื่องกระทบนั้น เป็นงานอันยิ่งใหญ่ที่เหล่าคีตกวีทุกคนเฝ้าฝัน

3 ปีก่อนจากไป บีโธเฟนเพิ่งประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 9 เสร็จสิ้น ตอนนั้นหูทั้งสองข้างของเขาหนวกสนิทแล้ว แม้เรื่องเล่าดั้งเดิมจะบอกว่าในช่วงท้ายของชีวิต บีโธเฟนจะทุ่มเทพลังงานและเวลาส่วนใหญ่ให้แก่การประพันธ์บทเพลงเพื่อบรรเลงสำหรับวงสตริงควอเต็ต (string quartet) หรือวงเครื่องสายสี่ชิ้น แต่หลักฐานอีกบางส่วนก็บอกว่าเขายังได้ใช้เวลา 3 ปีก่อนสิ้นลม ประพันธ์ ‘ซิมโฟนีหมายเลข 10’ ซึ่งได้รับการว่าจ้างโดยองค์กรรอยัลฟิลฮาร์โมนิกโซไซตี้แห่งลอนดอน (Royal Philharmonic Society) พร้อมๆ กับซิมโฟนีหมายเลข 9 ด้วยเช่นกัน

กระดาษร่างบางส่วนของซิมโฟนีหมายเลข 10 / Photo: Beethoven House Museum, CC BY-SA

แต่ด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรมอย่างหนักในตอนนั้น ก็ทำให้บีโธเฟนไม่สามารถแต่งผลงานชิ้นนี้ได้เสร็จ สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือกระดาษโน้ตที่เป็นเพียงร่างคร่าวๆ อันกระจัดกระจายและไม่ปะติดปะต่อ…

ปี 1988 นักประพันธ์ชาวอังกฤษ แบร์รี่ คูเปอร์ (Barry Cooper) พยายามรวบรวมกระดาษโน้ตที่กระจัดกระจายเหล่านั้น เขาใช้เวลาถึง 5 ปี จมดิ่งไปกับกระดาษมากกว่า 8,000 หน้า กระทั่งถักถอตัวโน้ตของบีโธเฟนขึ้นมาใหม่ราว 250 บาร์ กลายมาเป็นซิมโฟนีหมายเลข 10 ในช่วงแรก และช่วงที่สอง จากทั้งหมดที่ควรมีสี่ช่วง 

กระนั้นซิมโฟนีหมายเลข 10 ที่เรียบเรียงโดยคูเปอร์ ก็กลับได้รับการบันทึกเสียง และจัดแสดงจริงเพียงช่วงแรกของบทเพลง แถมมันยังเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงความเป็นต้นฉบับที่แท้จริง เพราะอย่างไรก็ตาม นี่คือการรวบรวมตัวโน้ตมาจากบันทึกที่กระจัดกระจาย และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามันเป็นโน้ตที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อบทเพลงเดียวกันจริงๆ

แบร์รี่ คูเปอร์ / Photo: https://www.discogs.com

แต่แล้ว 194 ปีผ่านไปหลังบีโธเฟนสิ้นลม ดูเหมือนเทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้บทเพลงที่สูญหายชิ้นนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ในปี 2019 สถาบันคารายันแห่งเมืองซัลซ์บวร์ก ที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติ แฮร์แบร์ต ริตเทอร์ ฟอน คารายัน (Herbert Ritter von Karajan) ผู้อำนวยเพลงระดับตำนานชาวออสเตรีย ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเทคโนโลยีด้านดนตรีเป็นพิเศษ พยายามรวบรวมทีมเพื่อสานต่อซิมโฟนีหมายเลข 10 ให้สมบูรณ์ ในโอกาสฉลองครบรอบวันเกิด 250 ปีของบีโธเฟน โดยติดต่อ อาห์เหม็ด เอลกัมมาล (Ahmed Elgammal) ผู้อำนวยการด้านศิลปะและปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ในสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้นำทีมของสตาร์ตอัพที่มุ่งมั่นจะใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ในด้านศิลปะนาม Playform เพื่อริเริ่มโปรเจกต์อันทะเยอะทะยานนี้

สมาชิกในทีมประกอบด้วยยอดฝีมือมากมาย เช่น วอลเตอร์ เวอร์โซวา (Walter Werzowa) นักประพันธ์เพลงผู้รับหน้าที่ประกอบส่วนต่างๆ ที่บีโธเฟนทิ้งไว้เบื้องหลังเข้ากับสิ่งที่ AI จะสร้างขึ้นใหม่, มาร์ก กอตแธม (Mark Gotham) ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีคอมพิวเตอร์ ที่รับหน้าที่แปลงกระดาษโน้ตอันกระจัดกระจายของบีโธเฟน รวมถึงผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้วทั้งหมดเพื่อให้ AI ได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการ Machine Learning อย่างเหมาะสม, รวมถึง โรเบิร์ต เลวิน นักดนตรีวิทยาจากฮาร์วาร์ด ผู้มีความสามารถเหลือล้นในด้านเปียโน

อาห์เหม็ด เอลกัมมา / photo: web.playform.io/

นักวิทยาศาสตร์และนักดนตรี สองศาสตร์ที่ดูจะถูกจัดวางไว้ห่างไกลกัน นั่งลงทำงานร่วมกันยาวนานนับปี

“นี่คือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่” อาห์เหม็ด เอลกัมมาลเขียนไว้ในบทความบันทึกประสบการณ์ของเขา ซึ่งตีพิมพ์ใน The Conversation “เรายังไม่มีจักรกลที่สามารถป้อนกระดาษโน้ตอันไม่ปะติดปะต่อเข้าไป กดปุ่ม แล้วให้มันพ่นซิมโฟนีออกมา AI ที่มีอยู่ในตอนนั้นไม่สามารถต่อเติมเพลงที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ได้มากไปกว่าเสียงเพลงแค่ไม่กี่วินาที

“เราจำเป็นต้องขยายพรมแดนของสิ่งที่ AI ทำได้ ด้วยการสอนให้มันรู้จักกระบวนการสร้างสรรค์ของบีโธเฟน เช่น เขาเขียนบาร์สั้นๆ ขึ้นมาอย่างไร และเขาพัฒนาสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาด้วยความระมัดระวังเพื่อสร้างซิมโฟนี ควอเต็ต และโซนาตาที่น่าตื่นใจแบบไหน”

ตัวโน้ตของดนตรีนั้นมีไม่กี่เสียง แต่เมื่อนำมารวมกันเป็นบทเพลงมันย่อมเกิดเป็นความซับซ้อนอันยากพรรณนา และการคาดเดาจิตใจของคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่อย่างบีโธเฟนว่าเขาต้องการสร้างสรรค์อะไรจากภาพร่างที่แหว่งวิ่นมันก็ยิ่งเป็นงานยากยิ่งกว่าการต่อจิ๊กซอร์ขนาดมหึมาที่มีเป็นล้านชิ้น

แต่แล้วในงานแถลงข่าว ณ Beethoven House Museum ในเมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี สถานที่ที่บีโธเฟนเกิดและเติบโตมา กลุ่มนักดนตรีและนักวิทยาศาสตร์ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้า และส่งสัญญาณว่าการทำให้ซิมโฟนีหมายเลข 10 เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความเป็นไปได้

“เราท้าให้ผู้ฟังแยกว่าท่อนไหนคือท่อนที่ถูกแต่งโดยบีโธเฟน และท่อนไหนคือท่อนที่ AI ต่อเติมขึ้นมา แต่พวกเขาก็ไม่สามารถแยกออกได้” 

ร่างของซิมโฟนีหมายเลย 10 บางส่วน / Photo: fineartamerica.com

กลุ่มนักดนตรีและนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ใช้เวลามากกว่า 2 ปีในการต่อเติมซิมโฟนีหมายเลข 10 ให้สมบูรณ์ และมันก็ได้เปิดตัวสู่หูคนฟังไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี จุดเริ่มต้นของคีตกวีชื่อก้องนามลุดวิก ฟาน บีโธเฟนผู้นี้

“ผู้คนอาจพูดว่าศิลปะควรแยกออกจาก AI และมันไม่ใช่กงการอะไรของ AI ที่จะพยายามจำลองกระบวนการสร้างสรรค์ของมนุษย์ กระนั้น เวลาเป็นเรื่องศิลปะแล้ว ผมไม่ได้มองว่า AI เข้ามาเพื่อแทนที่ แต่มันเข้ามาในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยเปิดประตูให้แก่ศิลปินได้แสดงออกในหนทางใหม่ๆ”

อ้างอิง

  • Ahmed Elgammal. How a team of musicologists and computer scientists completed Beethoven’s unfinished 10th Symphony. https://bit.ly/3CReJUL
  • Chris Pasles. ‘10th Symphony’ Needs a Beethoven to Make It Work. https://lat.ms/2Y4GISc