©ulture

“จงรักกันแต่อย่าสร้างพันธนาการแห่งรัก

ให้มันเป็นเพียงคลื่นทะเลสาดซัดระหว่างชายฝั่งแห่งจิตวิญญาณของเธอทั้งสอง

คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) กวีเชื้อสายเลบานอนเขียนไว้เช่นนั้นในกวีบทหนึ่งจากหนังสือรวมบทกวีมาสเตอร์พีชของเขาชื่อ The Prophet และท่อนหนึ่งที่ผู้คนมากมายท่องจำกันได้มากที่สุดในกวีบทนี้ก็คือ

“…หยัดยืนเคียงข้าง แต่ไม่มากจนแนบชิดเคียงใกล้

แม้เสาวิหารยังถูกปลูกไว้ให้แยกห่าง

และต้นโอ๊คกับไซเปรสไม่อาจเติบใหญ่ได้ภายใต้เงื้อมเงาของกันและกัน”

คาลิล ยิบราน

เหล่านี้คือความสัมพันธ์และความสำคัญของ ‘ที่ว่าง’ พื้นที่ว่างเปล่าที่อาจถูกมองว่าไร้ความหมาย แต่ในทางปรัชญา หรือแม้แต่ในทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เองก็ตาม (อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ความว่างเปล่า’ ในมุมมองของควอนตัมฟิสิกส์ได้ที่ https://becommon.co/life/editors-dose-nothingness/) ที่ว่างซึ่งดูคล้ายล่องหนนั้น ไม่เคยเป็นความว่างเปล่า แต่มันมีความสำคัญ และมีน้ำหนักพอๆ กับวัตถุทางกายภาพที่เราสามารถมองเห็นได้เพียงปราดตามองอย่างรวดเร็ว

The Eye of the Prophet หนังสือรวมบทกวีอีกเล่มของยิบราน ที่โด่งดังไม่แพ้ The Prophet

สถาปนิกชาวอเมริกันชื่อดัง แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ (Frank Lloyd Wright) เคยกล่าวไว้ว่า “ที่ว่างคือลมหายใจของศิลปะ” เพราะแม้จะถูกละเลยและไม่ได้รับความสนใจเท่าจุดเด่นของงานชิ้นหนึ่งเพียงใด ที่ว่างก็คือองค์ประกอบที่ช่วยขับเน้นให้วัตถุที่ศิลปินต้องการจะสื่อสารมีความชัดเจนมากขึ้น

ในญี่ปุ่น มีตัวคันจิตัวที่ออกเสียงสั้นๆ ว่า ‘มา’ (Ma) เป็นการรวมตัวกันของตัวอักษรคันจิสองตัวคือ 門 ที่แปลว่า ประตู และ 日 ที่แปลว่า ดวงอาทิตย์ จนกลายเป็นตัวอักษรในลักษณะนี้— ราวกับว่าต้องการจะบรรยายภาพแสงสว่างที่พุ่งผ่าน ‘ช่องว่าง’ ของประตู และ ‘มา’ นี่เองคือแนวคิดที่อธิบายความสำคัญของ ‘ที่ว่าง’ ไว้อย่างน่าสนใจ

แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์

มา คือหลักสุนทรียศาสตร์ของญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับที่ว่าง ซึ่งอธิบายพื้นที่ว่างในลักษณะที่เป็น ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างสิ่งของสองสิ่ง โดยพิจารณาที่ว่างในระนาบเดียวกับ ‘สสาร’ ที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ ยกตัวอย่างชัดๆ ก็เช่น การบรรเลงดนตรีอย่างต่อเนื่องสักหนึ่งบทเพลง เมื่อถึงบางช่วงที่เสียงเพลงซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ จู่ๆ ก็หยุดชะงักลง ภาวะเงียบงันชั่วอึดใจนั้นจะไม่ถูกมองเป็นการ ‘ขาดหาย’ (absense) แต่ มา จะมองว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้เกิด ‘จังหวะ’ (rhythm) ของบทเพลงที่ช่วยขับเน้นส่งเสริมท่วงทำนองที่กำลังดำเนินไป

สิ่งนี้ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น อยู่ในการตกแต่งภายในของห้องหับต่างๆ อยู่ระหว่างความเงียบในพิธีชงชา อยู่ในจังหวะหยุดชะงักเมื่อค้อมศีรษะทักทายกัน เพื่อทำให้แน่ใจว่า การทักทายนั้นมี ‘มา’ หรือที่ว่าง มากพอในการส่งต่อความรู้สึกไปยังอีกฝ่าย

อลัน เฟลตเชอร์ (Alan Fletcher) นักออกแบบยุคหลังสงคราม (post war) ชาวอังกฤษผู้โด่งดัง กล่าวถึง มา ไว้ในหนังสือของเขาชื่อ The Art of Looking Sideways ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2001 ว่า 

“พื้นที่ว่างคือสสาร เซซาน (Paul Cézanne—จิตรกรแนวโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์) วาดและปาดป้ายสีลงบนที่ว่าง จีอาโกเม็ตตี้ (Alberto Giacometti—ประติมากรผู้มีเอกลักษณ์เป็นผลงานที่มีรูปร่างผอมบาง) ปั้นรูปปั้นโดยเอาส่วนเกินออกจากมวลอากาศ มาลลาร์เม (Stéphane Mallarmé—กวีซิมโบลิสม์ชาวฝรั่งเศส) รจนากวีขึ้นจากการไม่ปรากฏตัวของตัวอักษรพอๆ กับการมีอยู่ของถ้อยคำ..”

ที่ว่างจึงเป็นสิ่งสำคัญในทุกๆ องค์ประกอบของชีวิต 

บางส่วนในหนังสือ The Art of Looking Sideways

และหลายครั้งเหลือเกินที่เราละเลยการมีอยู่ของที่ว่างเหล่านั้น เพราะเรามักถูกสอนให้ใช้ชีวิตเพื่อถมความว่างเปล่าให้เต็ม อาจด้วยตัวชี้วัดของตัวเลขต่างๆ ที่หากไม่ได้รับการเติมลงไปในช่องว่าง มันก็มักถูกมองว่าไร้คุณค่าไม่มีความหมาย จนราวกับว่าเราไม่อาจมีเวลาว่างพักหายใจ หยุดคิดพินิจพิจารณา เพื่อปฏิสัมพันธ์ลงลึกกับห้วงเวลาและพื้นที่ว่างเปล่าเหล่านั้นเลย

เรามักหลงลืมไปว่าพื้นที่ว่าง บางครั้งไม่ใช่ความกลวงเปล่าเสมอไป แต่มันคือส่วนหนึ่งของชีวิตพอๆ กับวัตถุทางกายภาพจับต้องได้ เมื่อกองไฟจะถูกจุดติดได้ก็ต่อเมื่อมีที่ว่างระหว่างการก่อฟืนเพียงพอให้อากาศถ่ายเถเข้าไป

Christina’s World

ในปี 1948 จิตรกรชื่อก้อง แอนดรูว์ ไวเอท (Andrew Wyeth) วาดภาพสุดคลาสิกภาพหนึ่งชื่อ Christina’s World เป็นภาพของผู้หญิงคนหนึ่งนั้นหันหลังอยู่บนพื้นหญ้า โดยมีบ้านปรากฏอยู่สองหลังไกลๆ ภาพวาดภาพนี้ถูกนำมาสอนเป็นตัวอย่างในวิชาองค์ประกอบศิลป์ให้แก่นักเรียนศิลปะทั่วโลก ถึงเรื่องของการจัดวางองค์ประกอบภาพที่ทำให้เกิดความ ‘โดดเดี่ยว’ ‘เวิ่งว้าง’ หรือกระทั่งทำให้เกิดภาวะ ‘ลึกลับน่าค้นหา’ ซึ่ง Christina’s World จะไม่สามารถกลายเป็นงานศิลปะสุดคลาสสิกของศตวรรษที่ 20 ได้เลย หากจิตรกรเลือกวาดแค่รูปสตรีคนนั้นเต็มเฟรม และไม่ได้ทิ้งพื้นที่ว่างมหาศาลที่เป็นเหมือน ‘ลมหายใจของผลงาน’ ไว้ในภาพ

ในชีวิต เราอาจต้องค้นหา ‘มา’ หรือ ‘ที่ว่าง’ ของตัวเองให้เจอ ไม่ว่าจะในเรื่องการทำงาน หรือการดำเนินชีวิตในแง่อื่นๆ เพราะหากที่ว่างคือลมหายใจ การใช้ชีวิตอย่างลืมหายใจก็คงทำให้เราอึดอัด และอาจหนักหนาสาหัสจนสามารถนำมาซึ่งความตาย 

อีกหนึ่งผลงานของแอนดรูว์ ไวเอท

มองในหลักสุนทรียศาสตร์แบบ มา การหยุดพักก่อนไปต่อจึงไม่ใช่สิ่งไร้ค่าไม่มีความหมาย เมื่อการหยุดพักก็นับเป็นการกระทำ (action) อย่างหนึ่งเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ พอๆ กับการตะบี้ตะบันทำอะไรสักอย่างในรูปแบบของการกระทำที่เราคุ้นเคยตามสามัญสำนึกดั้งเดิม

หรือหากมองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การทิ้งพื้นที่ว่างระหว่างกันก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ใส่ใจกันและกัน เพราะท้ายที่สุดเราไม่ได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ หรือเป็นทาสชีวิตของใคร ที่ว่างระหว่างกันจึงอาจเป็นพื้นที่ของอิสระในความสัมพันธ์ ที่แต่ละฝ่ายจะได้โบยบินอย่างเสรีตามใจอยาก เพื่อทำให้คนที่เราอยากใช้ชีวิตด้วยเติบโตไปพร้อมกับเรา โดยไม่ต้องตกอยู่ในเงื้อมเงาของกันและกัน ซึ่งสามารถทำให้ความสัมพันธ์ขาดสารอาหารจนแคระแกร็น ในเมื่อบทเพลงที่ไม่มีจังหวะขาดห้วงหยุดพักไม่อาจนับเป็นบทเพลงที่งดงาม และชีวิตที่รกรุงรังอาจไม่ใช่ชีวิตที่น่ารื่มรมย์นัก

ในบทกวีของคาลิล ยิบรานที่เรายกมาในย่อหน้าแรกๆ ยังมีอีกท่อนหนึ่งที่ว่า

“เว้นที่ว่างในความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ปล่อยให้สายลมของสรวงสวรรค์ร่ายรำระหว่างคุณ”

 

อ้างอิง