©ulture

พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับ Cambridge อธิบายความหมายของคำว่า misquote (มิสโควท’) ไว้ว่า “การกล่าวซ้ำสิ่งที่ใครบางคนเคยพูดด้วยบริบทที่ไม่ถูกต้อง”

นับจากการมาถึงของยุคอินเตอร์เน็ต ดูเหมือนการ misquote จะเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เมื่อมันเป็นการง่ายที่เราจะแชร์สิ่งต่างๆ ไปสู่คนอื่นเพียงขยับนิ้วทีสองที โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับถ้อยคำคมๆ หรือที่เรามักเรียกกันว่า quote ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคนแชร์วนเวียนให้เห็นอยู่เป็นประจำ 

ยิ่งแชร์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งฮิตและถูกจดจำมากขึ้นเท่านั้น ขณะที่คงมีแค่คนส่วนน้อยที่ยอมเสียเวลาตรวจสอบ ว่าคำพูดเหล่านั้นถูกนำมาใช้ถูกบริบท หรือเป็นคำพูดของใครบางคนที่กำลังถูกอ้างอิงถึงจริงๆ หรือเปล่า

และบ่อยครั้ง การอ้างอิงคำพูดผิดๆ (Misquotation) ก็มักถูกจดจำมากกว่าคำพูดอันแท้จริง มารีอา คอนนิโควา (Maria Konnikova) แสดงความคิดเห็นในบทความชื่อ ‘Beam Us Up, Mr. Scott!’: Why Misquotations Catch On’ ที่ตีพิมพ์ในสื่ออย่าง The Atlantic ไว้ว่า “ที่เราอ้างอิงคำพูดกันผิดๆ นั่นเพราะแท้จริง เราอ่านหรือได้ยินมันอย่างไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลเชิงกายภาพ (ดวงตาของเรามองเห็นสิ่งที่เราต้องการหรือคาดหวังจะได้เห็น และหูของเราก็ได้ยินในสิ่งที่อยากได้ยิน) และผลลัพธ์ที่ได้จึงทำให้ประโยคนั้นๆ ติดหูติดตา”

Misquote จึงเกิดขึ้นได้ทั้งกรณีที่อ้างอิงผิดแบบที่ไปเอาคำพูดของอีกคนมาใส่ชื่ออ้างอิงถึงอีกคน หรือกระทั่งการอ่านและตีความผิดเพราะไม่ได้สำรวจบริบทให้ถี่ถ้วนมากพอ ในบทความชื่อ ‘Pep Talk 3 ปัจจัยที่ทำให้คำพูดทรงพลัง ขจัดความสิ้นหวัง ฉุดวิญญาณผู้ฟังขึ้นจากความตาย’ ของ becommon  เราเคยบอกไว้ว่าคำพูดแสนคมคายเหล่านั้นมีพลังในการขับเคลื่อนชีวิต แต่ถ้ามันเป็นคำพูดที่ถูกอ้างผิด หรือเข้าใจไปอย่างผิดๆ มันคงไม่คูลสักเท่าไหร่จริงไหม 

ดังนั้นในบทความนี้ เราจึงอยากพาไปสำรวจบางถ้อยคำคมๆ ที่ถูกนำไปใช้ผิดฝาผิดตัวมากที่สุดกันสักครั้ง

เหตุที่ถ้อยคำข้างต้นถูกเข้าใจผิดว่าเป็นของ มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi) อาจเพราะข้อความนี้ดูจะตอบรับกับแนวคิด ‘สัตยาเคราะห์’ (Satyagraha) ที่คือการต่อสู้บนรากฐานความจริงของมหาบุรุษผู้ปลดแอกอินเดียจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษได้เป็นอย่างดี เพราะหากพยายามตีความประโยคข้างต้น มันคงมีความหมายประมาณว่า เมื่อเราริเริ่มทำอะไรสักอย่าง มันจะนำมาซึ่งการถูกละเลยในเบื้องแรก กระทั่งกลายเป็นเสียงหัวเราะดูถูกในกาลถัดมา และจะนำไปสู่การถูกโจมตีทุบทำลายในที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีคุณค่าและความหมาย เพราะเมื่อได้รับความสนใจเราจึงมักถูกโจมตี

ทว่ามันไม่มีหลักฐานใดเลยที่ชี้ให้เห็นว่าคานธีพูดประโยคนี้จริงๆ ที่ใกล้เคียงสุดเห็นจะเป็นคำกล่าวของนักต่อสู้เพื่อสหภาพแรงงานชาวอเมริกันนาม นิโคลัส ไคลน์ (Nicholas Klein) ที่กล่าวไว้ในปี 1918 ว่า

“ตอนแรกพวกเขาไม่ใส่ใจคุณ หลังจากนั้นพวกเขาจะหัวเราะเยาะคุณ แล้วพวกเขาจะโจมตีคุณ ต้องการจะเผาคุณ และในท้ายที่สุดพวกเขาจะสร้างอนุสาวรีย์ของคุณขึ้นมา และนั่นคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในการรวมตัวของคนงานเสื้อผ้าชาวอเมริกาในตอนนี้”

นอกจากมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้คิดค้นหลอดไฟ ทั้งที่นักประดิษฐ์ชื่อดังชาวอเมริกันอย่าง โทมัส แอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) เป็นเพียงบุคคลแรกที่จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์หลอดไฟจนทำให้มันกลายเป็นธุรกิจ จากผลงานซึ่งเกิดจากนักวิทยาศาสตร์กว่า 20 คน เขาก็ยังเป็นอีกคนที่ถูกนำชื่อไปแปะอ้างอิงกับคำพูดที่ตนไม่ได้พูดอยู่บ่อยครั้ง

โดยประโยคข้างต้น แท้จริงแล้วสันนิษฐานว่า มันน่าจะถูกพูดครั้งแรกในการบรรยายการสอนของ เคต ซานบอร์น (Kate Sanborn) อาจารย์และนักเขียนผู้ไร้ชื่อเสียงเสียมากกว่า

ซานบอร์นมีชีวิตร่วมสมัยกับเอดิสัน ในช่วงทศวรรษ 1890 แถมการบรรยายในหัวข้อการสร้างอัจฉริยภาพนั้น เธอก็ไม่ได้กล่าวเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แน่ชัดด้วยซ้ำว่าต้องใช้แรงบันใจเท่าใด หรือการลงมือทำงานหนักจนเหงื่อโทรมกายอีกมากมายเท่าไหร่

ซึ่งการ misquote เช่นนี้ ถูกวิจารณ์ในเวลาต่อมาว่า มันอาจเกิดจากสังคมปิตาธิปไตยในยุคสมัยของพวกเขา ที่ไม่มอบเครดิตให้กับเพศหญิงมากเท่าที่ควร

ขออภัยที่ผู้เขียนไม่มีปัญญาแปลจะกลุ่มประโยคคมๆ ประหนึ่งม็อตโต้เท่ๆ นี้ให้ออกมางดงามเทียบเท่าต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ว่า  “Be yourself; everyone else is already taken” ได้

สิ่งที่พอจะเอามาเป็นการไถ่โทษคือข้อเท็จจริงที่ว่า ประโยคนี้ไม่ใช่ประโยคของนักเขียนชื่อดังชาวไอริชอย่าง ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) อย่างที่มักถูกเข้าใจผิดแต่อย่างใด ที่ใกล้เคียงที่สุดเห็นจะเป็นบางข้อความในหนังสือชื่อ De Profundis ของเขา ซึ่งเป็นจดหมายที่ไวลด์เขียนขณะถูกขังคุกในข้อหาเป็นรักร่วมเพศที่ว่า

“คนส่วนใหญ่คือคนอื่น ความคิดของพวกเขาคือความคิดเห็นของใครบางคน ชีวิตของพวกเขาคือการเลียนแบบ แพสชั่นของพวกเขาคือข้อความคมๆ ที่อ้างอิงต่อๆ กันมา (quotation)”

แน่นอนว่านี่คือถ้อยคำของนักปรัชญาผู้บุกเบิกปรัชญาสมัยใหม่คนสำคัญอย่าง เรอเน เดการ์ต (René Descartes) ที่ในครั้งแรกถูกเขียนขึ้นในภาษาลาตินว่า “Cogito ergo sum” หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างเรียบง่ายทว่าแฝงความหมายอย่างลึกซึ้งว่า “I think, therefore I am” แต่บ่อยครั้งที่มันถูกนำไปใช้แบบผิดบริบทอย่างไม่น่าให้อภัย ด้วยการนำไปสวมครอบกับวิธีคิดแบบไลฟ์โค้ชตามสมัยนิยม และตีความหมายออกมาแบบผิดๆ (misinterpreted) ประมาณว่า “ถ้าฉันคิดว่าฉันเป็นอะไร ฉันก็จะเป็นแบบนั้นได้ในที่สุด”

ทว่าถ้อยแถลงของเดการ์ต แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของการตอบคำถามเชิงอภิปรัชญาที่ว่า ‘เราดำรงอยู่จริงๆ หรือเปล่า?’ เสียมากกว่า 

เดการ์ตตอบคำถามนี้ด้วยประโยคสั้นๆ ที่ว่า “Cogito ergo sum” – “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่”  เพื่ออธิบายตามหลักตรรกะที่ว่า หากเราสามารถคิดได้ ดังนั้นเราจึงมีทั้งสมองและร่างกายในเชิงกายภาพ ซึ่งแสดงว่าเราดำรงอยู่จริงๆ เพราะทุกความคิดต้องการคนที่จะคิดมันขึ้นมา

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งประโยคในการศึกษาวิชาปรัชญาที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุด ประโยคนี้ถูกเขียนขึ้นครั้งแรกในส่วนท้ายๆ ของหนังสือนำเสนอแนวคิดทางปรัชญาชิ้นสำคัญชื่อ Tractatus Logico-Philosophicus ของนักปรัชญาผู้ศึกษาด้านภาษาศาสตร์และตรรกศาสตร์อย่าง ลุดวิก วิตต์เกนสไตน์ (Ludwig Wittgenstein)

อ่านเพียงผิวเผินเราอาจรู้สึกว่าสิ่งที่นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้นี้ต้องการจะสื่อคือ “ถ้าไม่รู้เรื่องไหน ก็ไม่ต้องพูด หุบปากไปซะ!” อะไรทำนองนั้น แต่สิ่งที่วิตต์เกนสไตน์ต้องการสื่อสารจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องที่นามธรรมมากกว่านั้น

ด้วยความสนใจและหมกมุ่นของวิตต์เกนสไตน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาษากับความจริง เขาจึงเสนอแนวคิดที่อาจพอสรุปให้เข้าใจได้ว่า ภาษาไม่สามารถอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างในโลกได้หมด ดังนั้นเมื่อเราไม่สามารถพูดถึงสิ่งที่ภาษาไม่อาจอธิบายได้ เราจึงไม่สามารถกล่าวถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของภาษาว่าเป็นความจริงได้ (แน่นอนว่า มีการถกเถียงในเรื่องนี้ตามมาอีกมากมาย เพราะบางครั้งในบางกรณี ความเงียบก็กลับมีความหมายได้เช่นเดียวกัน)

อาจเพราะข้อความนี้สะท้อนแนวคิดอันเข้มข้มของนักปรัชญาในยุค ‘แสงสว่างทางปัญญา’ คนสำคัญอย่าง วอลแตร์ (Voltaire) ผู้ทั้งโดนแบน โดนขับไล่ จับขังคุก เพียงเพราะงานเขียนของเขาท้าทายต่อสถาบันหลักอย่างศาสนา ชนชั้นปกครอง กษัตริย์ และความเชื่อเดิม ในประเด็นเรื่อง ‘เสรีภาพในการพูด’ (Freedom of Speech) มันจึงถูกเข้าใจผิดอยู่เสมอว่าเจ้าของถ้อยคำนี้คือเขา

ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันคือข้อความที่ถูกตัดมาจากจากหนังสือชื่อ The Friends of Voltaire ที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 1906 โดยนักเขียนชาวอังกฤษนาม อีฟลีน เบียทริซ ฮอล (Evelyn Beatrice Hall) ก็ตาม

สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่บทความชื่อ ‘แสงสว่าง EP.3: ขู่ปิดสื่อ จำกัดความคิด ข้าพเจ้าจะปกป้องสิทธิในการพูดของท่านจนชีวิตจะหาไม่’ 

แม้ประโยคนี้จะไม่ได้มีความเฉียบคมใดๆ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งประโยคที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุดเช่นกัน โดยผู้คนมักเข้าใจว่านี่คือคำพูดของ มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) พระราชินีที่ประชาชนต่างเกลียดชังในยุคปฏิวัติฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 18 

ทว่าจากบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องเล่าที่กล่าวถึงความเลือดเย็น และถ้อยคำแสนใจร้ายขณะที่ประชาชนฝรั่งกำลังอดอยากไม่มีแม้ขนมปังจะยาไส้ แต่ชนชั้นสูงผู้ใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อสุขสบายกลับหลุดประโยค “Let them eat cake” — “ให้พวกเขากินเค้กสิ” ออกมา แท้จริงแล้วปรากฏอยู่ในงานเขียนที่ชื่อว่า Les Confessions ของ ฌอง ฌากส์ รุสโซ  (Jean-Jacques Rousseau) จากข้อความที่ว่า “ข้าพเจ้ารำลึกถึงคำพูดอันไร้สมองของเจ้าหญิงผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งได้รับรายงานว่าประเทศของเราไม่มีขนมปังเหลืออยู่อีกแล้ว ก่อนพระนางจะตอบกลับไปว่า ‘ดังนั้น ก็ให้พวกเขากินขนมอบสิ’” 

ซึ่งจากหลักฐานพบว่า Les Confessions เขียนเสร็จสมบูรณ์ในปี 1769 ขณะมารี อ็องตัวแน็ตยังไม่ได้กลายมาเป็นราชีนีของฝรั่งเศส ตอนนั้นพระนางมีพระชมน์พรรษาเพียง 14 ปี และยังอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรียด้วยซ้ำ

ส่วนคำพูดที่พระนางกล่าวจริงๆ น่าจะเป็นบนแท่นประหาร เบื้องหน้ากิโยติน ซึ่งเป็นคำพูดสุดท้ายที่ถูกบันทึกไว้ว่า “Pardonnez-moi, monsieur. Je ne l’ai pas fait exprès” — “อภัยให้เราเถอะเมอซีเยอ เราไม่ได้ตั้งใจ” ซึ่งเป็นการกล่าวต่อเพชฌฆาตนาม ชาร์ลส์ อ็องรี ซ็องซง (Charles Henri Sanson) ผู้กำลังจะทำหน้าที่ประหารตน เพราะพระนางดันไปเผลอเหยียบเท้าของเขาเข้า

 

อ้างอิง