life

ภาพทุกภาพเป็นสีขาวดำ

และภาพทุกภาพทั้งหมดนั้นไม่ใช่ที่นี่

ครั้งหนึ่งระหว่างรักษาตัวด้วยภาวะป่วยไข้ด้านจิตใจ หมอเคยแนะนำให้ผมหลับตา จินตนาการถึงสถานที่ที่ทำให้ผมอยากมีชีวิตที่สุด

Chopta Valley, รัฐสิกขิม, ประเทศอินเดีย เหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ 13,000 ฟุต

ผมปฏิบัติตาม หลับตา… ทว่าไม่สามารถเรียกภาพใดให้ปรากฏชัดในหัวได้ หลับตา.. และนึกอยากหลับไปเช่นนั้นตลอดกาล

“มีแต่ความว่างเปล่า” ผมบอกหมอ

มีปริศนาคำทายในภาษาอังกฤษเรื่องหนึ่งที่แปลได้ประมาณว่า ‘มีฉันอยู่คุณจะเศร้า มอบฉันให้คนอื่นคุณจะเป็นคนขี้เหนียว และถ้ามองเห็นฉัน แสดงว่าคุณตาบอด ฉันคืออะไร?’

ซึ่งคำเฉลยของปริศนานี้ก็คือ ‘ความว่างเปล่า’ หรือ ‘Nothing’ ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

มโนทัศน์เรื่องความว่างเปล่าหากพิจารณาตามปริศนาคำทายนี้ จึงแสดงให้เห็นว่า ความว่างเปล่าในสามัญสำนึกของมนุษย์มักมาพร้อม ‘ความมืด’ เป็นเฉดสีดำ เพราะการมองไม่เห็นคือความว่างเปล่า และสิ่งที่ว่างเปล่าก็อาจจะมาพร้อม ‘ภาวะไร้หวัง’ เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีมัน เราจะมีแต่ความเศร้าโศก

ปราก, สาธารณรัฐเช็ก

ผมเข้าใจเอาว่า กระแสของการอยากหนีไปจากดินแดนแห่งนี้ที่เพิ่มขึ้นในรอบหลายปีให้หลัง ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจาก ‘ภาวะว่างเปล่า’ เช่นนี้เอง คนหนุ่ม-สาวผู้เปี่ยมด้วยความฝันและหวังมากมาย ถึงจุดหนึ่งจะตระหนักได้ว่าการลงมือลงแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตที่ดีกว่าในผืนดินแห้งผากจากความอยุติธรรมต่างๆ นานา ไม่ต่างอะไรกับการกรีดเลือดเฉือนเนื้อโยนใส่หลุมดำมืดมิดว่างเปล่าไร้ค่า และไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมานอกจากความเจ็บปวด 

ใช่ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็นคนขี้แพ้ตามนิยามความหมายหนึ่ง ผมจึงออกเดินทาง อาจเพื่อต้องการค้นหาอะไรก็ตามที่ไม่ทำให้รู้สึกว่างเปล่าจนเกินไป ก่อนจะพบเจอผู้คนมากมายที่อาจทุกข์ทรมานกับความว่างเปล่าของชีวิตเช่นเดียวกัน

ผมเห็นแววตาแบบเดียวกับตัวเองในชายหนุ่มชาวอินเดียจากพื้นที่ห่างไกล ผู้เฝ้าลงทะเบียนวีซ่าล็อตเตอรี่ (Diversity Visa) ของอเมริกาทุกปีเพื่อจะได้หนีไปเสียจากบ้าน และต้องผิดหวังซ้ำๆ, ชายชาวตุรกีวัยกลางคนผู้อพยพมาเปิดร้านขายของชำในเบอร์ลินตั้งแต่รุ่นพ่อเพื่อชีวิตที่ดีกว่า, กวีสาวชาวอาร์เจนตินาผู้แม้จะต้องลำบากจากโรคระบาดในดินแดนแปลกหน้าเพียงใด แต่ก็มุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะไม่ย้อนคืนกลับไปบ้านเกิด ด้วยคำอธิบายอย่างกวีว่า ท้องฟ้าหม่นมืดของที่นั่นไม่เหมาะแก่การสยายปีกของถ้อยคำ, คุณลุงชาวอาร์เมเนียเจ้าของบ้านเช่าหลังแรกของผมสมัยที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย ผู้หนีความยากไร้ของสงครามมาตั้งแต่วัยหนุ่มจนกลืนกลายเป็นคนจอร์เจียอย่างเบ็ดเสร็จ, ชายชาวอิรักนักหมักไวน์เพื่อนเจ้าของบ้านเช่าคนนั้น ผู้หนีจากประเทศบ้านเกิดของตนมาหลายพันไมล์ เพราะสงครามและความขัดแย้งในเรื่องความเชื่อและศาสนา

ระหว่างทางสู่ Gergeti Trinity Church เมืองคาซเบกิ ประเทศจอร์เจีย

เมื่อคำถามทางวิทยาศาสตร์และปรัชญามากมายที่เกิดจากความสงสัยของมนุษย์ ต่างก็พุ่งเป้าเข้าหาเรื่องของ ‘การมีอยู่’ มากกว่าภาวะว่างเปล่า เฝ้าถามว่าสิ่งสิ่งหนึ่งมีลักษณะแท้จริงอย่างไร และเหตุใดสิ่งนั้นจึงดำรงอยู่ในวิถีที่มันเป็น เราจึงใช้ชีวิตเพื่อการมีอยู่ของบางสิ่งเสมอ ออกเดินทางตั้งต้นจากดินแดนที่ทำให้เราตกอยู่ในภาวะว่างเปล่าไร้หวัง ด้วยความหวังว่าจะค้นพบความหมายบางประการ

เรายึดติดกับการมีชีวิตอย่างเอาเป็นเอาตาย ความว่างเปล่าหรือ nothing จึงเป็นสิ่งที่น่าพรั่นพรึงหวาดหวั่น เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีมัน มันก็มักทำให้เราเศร้าซึม

แต่ในทางทฤษฎีของฟิสิกส์ควอนตัมแล้ว ‘พื้นที่ว่างเปล่า’ (empty space) นั้นต่างจาก ‘ภาวะไม่มีอยู่’ (nothing) พอสมควร 

ลองหลับตา และจินตนาการถึงความว่างเปล่า… คุณจะพบว่าสิ่งที่พอนึกได้ก็คือสีดำ หรือกระทั่งการคิดถึงคำอย่าง ‘ความว่างเปล่า’ ในตัวของมันเอง ก็ยังหมายถึงคุณกำลังคำนึงถึง ‘บางอย่าง’ (something) การนึกจินตนาการถึงบางสิ่งได้แม้จะรางเลือนเพียงใดจึงไม่ใช่ ‘ภาวะไม่มีอยู่’ เพราะเมื่อเราพูดถึงการไม่มีอยู่ในแง่นี้ เราก็มักพูดถึงมันราวกับว่า ‘การไม่มีอยู่นั้นมีอยู่จริง’

เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ถ่ายจาก Buda Castle hill

นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยา อดีตอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเยล นาม ลอว์เรนซ์ เคราส์ (Lawrence Krauss) เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ภาวะว่างเปล่าในแง่นั้น ถ้าคุณรอคอยยาวนานมากพอ กฎของกลศาสตร์ควอนตัมจะรับประกันได้ว่าคุณจะสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาในที่สุด”

พูดแบบภาษาปรัชญาก็ต้องบอกว่า เพียงแค่เรามองไม่เห็นอะไรเลยสักอย่าง ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่นั้นๆ ว่างเปล่า เพราะอย่างน้อยสิ่งที่ดำรงอยู่คือ ‘พื้นที่’ และกล่าวอย่างถึงที่สุด หากจะพูดถึง ‘ภาวะไม่มีอยู่’ เราอาจต้องพูดถึงการไม่ปรากฏตัวใดๆ เลยของทั้งอนุภาค การแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า พื้นที่ (space) เวลา (time) และรวมถึงกฎทางฟิสิกส์เอง

เรื่องราวของความว่างเปล่านี้ทำให้ผมคิดถึงการต่อสู้ของประชาชนมหาศาลบนท้องถนนที่อาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นจากความว่างเปล่าและไร้หวังเช่นกัน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ในปี 2014 นักศึกษาจำนวน 5 คน นาม ‘กลุ่มดาวดิน’ ร่วมกันชูสัญลักษณ์สามนิ้วต่อหน้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ที่มาจากการรัฐประหารในขณะนั้น) ขณะที่สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านยังถูกมองเป็นสิ่งว่างเปล่าไร้ความหมาย เมื่อมันเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเท่านั้น

ในดินแดนแล้งไร้หมดหวัง ที่ใครหลายคนนึกอยากหนีจากไปอยู่ทุกวัน ตอนนั้น กลุ่มนักศึกษาดาวดินคงจินตนาการไม่ออก ว่าอีกเพียงไม่กี่ปีต่อมา ผู้คนมากมายจะลุกขึ้นมาชูสัญลักษณ์สามนิ้วเพื่อต่อต้านอำนาจอันไม่เป็นธรรมอย่างไม่ขัดเขินเช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยทำ

บางมุมเล็กๆ ของเมืองบราติสลาวา ประเทศสโลวเกีย

มองในแง่นี้ ความว่างเปล่าจึงไม่เคยเป็นความว่างเปล่าจริงๆ เพราะเราต่างยังดำรงอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ ที่มีทั้งอนุภาค การแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า กฎทางฟิสิกส์ และเวลา โดยเฉพาะ ‘เวลา’ ที่เป็นสิ่งซึ่งถูกฉกฉวยแย่ชิงไปได้ยากยิ่งกว่าสิ่งใด แม้แน่นอนละว่า เวลาอาจไม่ได้อยู่ข้างใคร มันเป็นกระแสที่ไหลไปเช่นนั้น บางครั้ง บางสิ่งบางอย่างอาจเกิดขึ้นหากเรารอคอยยาวนานมากพอ และบางที หลายสิ่งหลายอย่างก็อาจยังคงสภาวะของความว่างเปล่าโดยไม่อาจประกอบตัวเป็นรูปเป็นร่างได้ จนกระทั่งเราตายจากไป

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หนึ่งในนักศึกษา 5 คนของกลุ่มดาวดินในปี 2014 ขึ้นพูดหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2021—เกือบ 7 ปีหลังจากที่เขาลุกขึ้นมาชูสามนิ้วครั้งแรก ก่อนที่เขาจะถูกทำให้หมดอิสรภาพอีกครั้ง 

วันนั้นเขาพูดว่า “ไม่ว่าจะมีคนมาชูสามนิ้ว เป็นร้อย เป็นหมื่น เป็นแสน หรือจะมีแค่ 5 คนเหมือนปี 57 ทุกการต่อสู้มันก็คือการต่อสู้ แค่มีคนคนหนึ่งต่อสู้ มันก็คือการต่อสู้”

ได้ฟังคำพูดของจตุภัทร์แล้ว คนขี้แพ้ผู้ติดหล่มอยู่กับการหลบหนีตลอดเวลาอย่างผมได้แต่รู้สึกผิดและละอายใจสาหัส เพราะอีกแง่หนึ่ง นอกจากความว่างเปล่ารายรอบที่ไม่ใช่ความเปล่าดาย เพราะเราสามารถเติมบางสิ่งลงในพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อให้เกิดสภาวะ ‘มีอยู่’ ขึ้นมาได้ แต่ความว่างเปล่าเข้มข้นภายในอีกชนิดก็ยังสถิตแนบแน่นเป็นเนื้อหนังอย่างไม่อาจแยกขาดจากตัวตนของผมเช่นกัน เมื่อผมเองก็ไม่ได้พยายามทำอะไรมากนัก เมื่อผมเองก็เอาแต่ถอดถอนใจถึงความว่างเปล่าอันแสนทรมานเหล่านั้น และนึกอยากหนีไปให้พ้นๆ อยู่เนืองๆ

และบางครั้ง มันก็มืด …มืดมิดเหลือเกิน

ผมจำไม่ได้แล้วว่า ในตอนที่หมอขอให้ลองหลับตาจินตนาการถึงสถานที่ที่ทำให้ผมอยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งสุดท้าย ผมบอกหมอไปว่าผมพานพบแต่ความว่างเปล่า หลังจากนั้น หมอให้คำแนะนำอื่นใดกับผมอีกบ้าง

นึกถึงเรื่องราวของการต่อสู้มากมายที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ นั่นเองที่ผมจึงลองหลับตา ถามตัวเองถึงสถานที่ที่จะเป็นของเราได้อย่างแท้จริงอีกครั้ง

ก่อนภาพว่างเปล่ามืดมิดเข้มข้นจะค่อยๆ ฉายแสง ปรากฏเป็นโครงสร้างของบางสถานที่ในจินตนาการ

แม้ภาพทุกภาพ ‘ยัง’ เป็นสีขาวดำ

และภาพทุกภาพทั้งหมดนั้น ‘ยัง’ ไม่ใช่ที่นี่…

ทะเลทรายธาร์ (Great Indian Desert) นอกตัวเมืองจัยซัลเมียร์ รัฐราชาสถาน ประเทศอินเดีย—ทะเลทรายขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียและปากีสถาน

แด่นักต่อสู้ทุกคนผู้ทำให้ดินแดนแห่งนี้ไม่ว่างเปล่าเกินไปนัก

ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของความว่างเปล่าใดในโลก เพราะมีคนจำนวนหลักหน่วยริเริ่ม คนเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนจึงตามออกมาเพื่อเติมเต็มความว่างเปล่าเหล่านั้น