life

ชีวิตเป็นของเรา หากตัดสินใจแล้วว่านับจากนี้ต่อไป ไม่ต้องการผูกมัดตัวเองกับใครแบบ คู่ชีวิต แต่พอใจครอง ความโสด และใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวเพราะรักอิสระมากกว่า นั่นหมายความว่า ถึงเวลาที่เราต้องลงมือเตรียมความพร้อมให้ทุกๆ ด้านของชีวิต เพื่อตัวเราเองจะได้เป็นคนโสดอย่างมีความสุข

เพราะสังคมในอดีต (แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นอยู่) เลือกให้คุณค่ากับการมีคู่ครองและการสร้างครอบครัวเท่านั้น เป็นผลมาจากค่านิยมทางวัฒนธรรมและภาพจำสวยหรูของการแต่งงานและการตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกันของคนสองคนว่าเป็นบทสรุปของชีวิตที่มีแต่ความสุขไม่ต่างจากเทพนิยายปรัมปรา

ส่วนคนโสดทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจจึงถูกเหมารวม (stereotype) ว่า ในเมื่อไม่ยอมเดินตามลู่ทางที่สังคมส่วนใหญ่คาดหวังให้เป็น ก็ต้องกลายเป็นคนที่หาความสุขไม่ได้ในชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความจริงแท้

ความภูมิใจใจความโสดของตัวเอง จึงทำให้ เบลลา เดอเปาโล (Bella DePaulo) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ทุ่มเทศึกษาประเด็นนี้และตีพิมพ์ผลการวิจัยอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความโสด เพราะเธอต้องการสร้างความเข้าใจใหม่ๆ และลบภาพจำเก่าๆ ที่สังคมพยายามตีตราคนโสดและความโสดมาอย่างยาวนานว่าเป็นความน่าละอาย

เดอเปาโลพบว่าคนมีคู่ที่เพิ่งแต่งงานกันมีความสุขเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจากนั้นระดับความสุขจะลดลงเท่ากับตอนที่ยังโสด หากแต่งงานแล้วหย่าร้าง ระดับความสุขจะยิ่งลดน้อยลงและเป็นไปได้ว่าจะไม่เพิ่มขึ้นมาเท่ากับตอนเป็นโสดอีก

นอกจากนี้การแต่งงานที่คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าเป็นหลักประกันที่ทำให้ชีวิตไม่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะมีคนรักอยู่เคียงข้าง ตรงกันข้ามกับคนโสดที่มีใครเลย กลับเป็นความเชื่อที่ผิด ถึงแม้คนโสดจะไม่มีคู่ชีวิต แต่ยังมีครอบครัว ญาติสนิท เพื่อนฝูง และคนรู้จักให้ปฏิสัมพันธ์กันตลอด คนโสดจึงมีแวดล้อมไปด้วยผู้คนมากกว่าคนแต่งงานด้วยซ้ำ แล้วการแต่งงานก็ไม่ได้ช่วยทำให้คนเรารู้สึกหายเหงา ไม่เครียด และไม่ซึมเศร้ามากไปกว่าคนโสดและคนที่อยู่ด้วยกันแบบไม่แต่งงาน

ประกอบกับสภาพสังคมโลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาเคารพ เห็นคุณค่า และเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น พวกเขาจึงพึงพอใจกับชีวิตที่ไม่ต้องมีใครมาข้องเกี่ยวลึกซึ้ง เพราะความโสดคือโอกาสที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตนเป็นคนเลือก ซึ่งเกิดเป็นความท้าทายใหม่ให้บรรดาคนโสดคิดวางแผนชีวิตตั้งแต่เนิ่นๆ

becommon จึงรวมรวบวิธีเตรียมความพร้อมสู่การครองโสดไปตลอดชีวิต ซึ่งคนโสดทุกคนควรต้องตอบตัวเองให้ได้ เพื่อใช้ชีวิตโสดอย่างสุขทั้งกายและใจ ผ่านเช็กลิสต์ทั้ง 8 ข้อที่ปรากฏในภาพ

สิ่งสำคัญที่สุดที่คนโสดมองข้ามไม่ได้เด็ดขาดคือ เงินสำรอง ในระยะสั้นควรมีเงินเก็บเผื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉินครอบคลุมเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ส่วนในระยะยาวจำเป็นต้องบริหารการเงินอย่างรอบครอบให้เพียงพอ หารายรับให้ได้มากกว่าหนึ่งช่องทาง และกระจายความเสี่ยงในเงินลงทุน โดยประเมินตัวเองว่า ชีวิตหลังเกษียณอยากใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ และจะมีอายุต่อไปอีกกี่ปี

เช่น เกษียณอายุ 60 ปี คิดว่ามีอายุถึง 80 ปี ใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท หรือ 300,000 บาทต่อปี เท่ากับว่าต้องเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 300,000 × 20 = 6,000,000 บาท (ยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อและปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้มูลค่าเงินเก็บลดลง) เมื่อรู้จำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายยามบั้นปลาย ก็จะช่วยให้คนโสดเริ่มวางแผนการออมเงินเร็วขึ้น

อีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาดคือเรื่องสุขภาพ นอกจากออกกำลังกายและดูแลตัวเองให้แข็งแรงแล้ว ควรเลือกซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิตตามความคุ้มครองที่ต้องการได้รับ หากกังวลเรื่องการอยู่คนเดียว ควรมองหาสถานที่พักสำหรับผู้สูงอายุให้ตัวเองไว้ล่วงหน้า และทำพินัยกรรมเพื่อยกมรดกให้ผู้รับผลประโยชน์ สำหรับคนโสดที่รู้สึกว่าอยากอุทิศร่างกายหลังจากตายไปแล้วเพื่อต่อชีวิตผู้อื่นและประโยชน์ทางการแพทย์ แนะนำให้ติดต่อบริจาคร่างกายและอวัยวะขณะยังมีชีวิตอยู่

ด้านการใช้ชีวิตประจำวัน ผลการศึกษาของเดอเปาโลยังยืนยันว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนแต่งงานแล้ว คนโสดจะมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ชอบทำกิจกรรม และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะมีภาระรับผิดชอบหรือเรื่องให้กังวลน้อยกว่า ความสนใจทั้งหมดจึงอยู่ที่ตัวเองมากกว่าคนอื่น กลายเป็นคนไม่เคยหยุดนิ่งและกำหนดเป้าหมายให้ตัวเอง (self-determination)

หากความโสดคือเส้นทางชีวิตที่เลือกเดิน ขอแค่เตรียมตัวให้พร้อม ก็จะโสดอย่างมีความสุขไปตลอดชีวิต

 

อ้างอิง 

  • Bella DePaulo. What no one ever told you about people who are single. https://bit.ly/3jsZKK9 
  • Sarkisian, N., & Gerstel, N. (2016). Does singlehood isolate or integrate? Examining the link between marital status and ties to kin, friends, and neighbors. Journal of Social and Personal Relationships, 33(3), 361–384. https://doi.org/10.1177/0265407515597564