life

ความเครียดไม่ใช่ทั้งเรื่องไกลตัวและเรื่องใกล้ตัว แต่เป็นเรื่องที่อยู่ ‘ในตัว’ ของทุกคนเป็นปกติ เพราะว่าความเครียดคือส่วนหนึ่งของชีวิต จึงไม่แปลก หากต้องเผชิญกับความเครียด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรปล่อยผ่านหรือนิ่งนอนใจ

โดยธรรมชาติ เมื่อใครก็ตามพบเจอสถานการณ์วิกฤตหรือคับขันไม่เป็นไปตามหวัง รวมถึงความยุ่งยากและการเปลี่ยนแปลงกะทันหันครั้งใหญ่ที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้า สิ่งไม่คาดคิดทั้งหมดนี้ย่อมทำให้รู้สึกหวั่นวิตกและเป็นกังวล

หากในสายตาของคนส่วนใหญ่ มองเห็นความเครียดเป็นสิ่งไม่ดีและพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองตกอยู่ในความเคร่งเครียด เพราะเข้าใจว่าทำให้ทุกข์ ไร้สุข และสร้างความวุ่นวายใจได้ไม่มีสิ้นสุด ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหากจะคิดเช่นนั้น เพียงแต่ในความเป็นจริง สิ่งสำคัญที่คอยตัดสินชี้ขาดว่าบรรดาความเครียดที่เข้ามารุมเร้าชีวิตจะกลายเป็นปัญหาบานปลายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะจัดการและรับมือความเครียดเหล่านั้นได้แค่ไหน

ความเครียดในระดับเหมาะสมที่เราจัดการได้ จะส่งผลดีมากกว่า เพราะช่วยกระตุ้นให้รู้จักปรับตัวและแก้ไขปัญหาได้ลุล่วง ส่วนความเครียดระดับหนักหนาเกินกว่าจะรับมือไหว ย่อมส่งผลเสียรุนแรงทั้งต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคและความเจ็บปวดอื่นๆ ตามมา

Stress management หรือ การจัดการความเครียด จึงเป็นหนึ่งในทักษะชีวิตที่จำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหลักประกันได้ว่า ช่วยทำให้ทุกคนคลายความเคร่งเครียดลงและใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น ตรงกันข้าม ต่อให้ปัญหาความเครียดเริ่มต้นจากเรื่องเล็กน้อย หากจัดการไม่ได้หรือไม่ดีพอ จะสั่งสมเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ
.
หลักทั่วไปที่นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ใช้แนะนำให้จัดการกับเครียดมีอยู่ 4 วิธี หรือเรียกว่า 4A ประกอบด้วย Avoid (หลีกเลี่ยง) Alter (ปรับเปลี่ยน) Adapt (ปรับตัว) และ Accept (ยอมรับ) แต่ก่อนจะใช้หลักการนี้ ทุกคนจำเป็นต้องรู้สาเหตุหรือต้นตอที่มาของความเครียด และข้อสำคัญที่สุดคือต้องมั่นใจว่าตัวเองมี self-efficacy หรือศักยภาพและความสามารถจัดการความเครียดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในชีวิตได้ เพราะจะนำไปสู่การลงมือทำอย่างเอาจริงเอาจังตามหลัก 4A ดังนี้ (ทั้งหมดสรุปเป็นเช็กลิสต์ 8 ข้อที่ปรากฏในภาพ)

Avoid: หลีกเลี่ยง
เริ่มแรกหากรู้ว่าอะไรเป็นตัวการที่นำมาซึ่งความเครียด ให้ ‘หลีกเลี่ยง’ ทันที เป็นวิธีตัดไฟแต่ต้นลม เมื่อไม่เอาตัวไปข้องเกี่ยวเท่ากับไม่มีความเครียดเข้ามารบกวนใจ ถึงอย่างนั้นใช่ว่าทุกคนจะทำได้ เพราะหลายๆ ครั้งที่เรารู้เต็มอกว่าอะไรคือต้นตอทำให้เครียด แต่ด้วยความจำเป็นหรือเหตุผลบางอย่างจึงไม่อาจตัดขาดสิ่งนั้นไปได้ โดยเฉพาะเรื่องงาน

ทางออกของปัญหานี้คือ ต้องรู้เท่าทันขีดจำกัดและความอดทนของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องยอมรับหรือแบกรับความเสี่ยงที่ทำให้เครียดอยู่ตลอดเวลา เช่น หัดปฏิเสธบางเรื่อง หรือให้เวลาตัวเองอยู่กับตัวการนั้นอย่างจำกัด เพื่อยับยั้งและป้องกันไม่ให้ความรู้สึกดีๆ จมหายไปกับคนหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดโดยไม่จำเป็น

Alter: ปรับเปลี่ยน
ให้ ‘ปรับเปลี่ยน’ สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมด้วย คล้ายกับการเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส โดยคิดทบทวนดูว่าควรทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาและความเครียดในอนาคต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสื่อสารและการวางตัวของเรา

หากเก็บความรู้สึกอึดอัดไว้ในใจคนเดียว มีแต่เสียกับเสีย เพราะความเครียดจะทำให้ทุกอย่างแย่ลง แต่การบอกเล่าความทุกข์ใจจากความเครียดอย่างตรงไปตรงมา เป็นไปได้ว่าเสียงของเราจะได้รับการรับฟัง เพราะคนส่วนใหญ่ยินดีเปลี่ยนแปลงการกระทำของตัวเองหากถูกตักเตือนและรู้ตัวว่าสิ่งที่ทำลงไปทำให้เกิดปัญหาและความไม่พอใจ

เมื่อจำเป็นต้องทำงานกับคนไม่ดีที่ไม่เห็นหัวคนอื่นหรือไม่คิดปรับปรุงตัวเอง ให้เรายืนหยัดในความชัดเจนของตน เพราะถ้าเราปล่อยตัวเองให้เครียดจากการถูกกดหรือครอบงำของผู้อื่น มีแต่เราที่ทุกข์อยู่คนเดียว แล้วเยียวยาใจด้วยการจัดระเบียบสิ่งแวดล้อมและสิ่งของรอบตัวให้น่าอยู่น่ามองแทน เช่น จุดเทียนหอม เพราะกลิ่นหอมจากธรรมชาติช่วยบำบัด ลดความเครียด ทำให้ใจสงบและผ่อนคลายได้

Adapt: ปรับตัว
วิธีสำคัญที่ควรทำควบคู่กันคือ ‘ปรับตัว’ อยู่ร่วมกับความเครียดให้ได้ เป็นการปรับที่ตัวเอง เพราะใช่ว่าคนอื่นจะยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเราเสมอไป การปรับตัวจะเปิดมุมมองใหม่ เช่น มองว่าความเครียดมอบบทเรียนชีวิตที่สร้างความเข้มแข็งให้เราได้ หากสนใจแต่ผลเสียของความเครียด จะรู้สึกแย่ตลอดเวลาและคิดว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าจมปลักอยู่กับความทุกข์นั้น

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมปรับปรุงนิสัยและความเคยชินบางอย่างที่ทำให้เครียด เช่น หมั่นบริหารเวลากับทุกๆ เรื่องในชีวิต ช่วยเพิ่มความรู้สึกว่าเราเป็นคนกำหนดชีวิตตัวเอง ไม่ใช่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคนอื่นหรือปล่อยให้เหตุการณ์ร้ายๆ พาไป

Accept: ยอมรับ
สาเหตุของความเครียดในบางเรื่องก็เป็นความจริงของชีวิตที่เราทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจ ‘ยอมรับ’ โดยเฉพาะความเครียดจากการสูญเสียคนรัก หรือประสบกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตแบบย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว

หนทางที่ดีที่สุดคือยอมรับความเป็นจริง ระบายและแบ่งปันความรู้สึกกับคนใกล้ชิด หรือขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ หากความเครียดนั้นหนักหนามากเกินกว่าจะปล่อยวางได้ด้วยตัวเอง

ในเมื่อชีวิตกับความเครียดเป็นเรื่องคู่กัน จึงไม่ควรมีเหตุผลหรือข้ออ้างอื่นใดมาหักห้ามเราไม่รักตัวเองโดยเมินเฉยต่อความเครียดที่กำลังกัดกินใจ อย่างน้อยที่สุด หลัก 4A นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกคนก้าวผ่านความเครียดไปได้ เพื่อกลับมาใช้ชีวิตอย่างสบายใจไร้กังวล

 

อ้างอิง

  • Lawrence Robinson, Melinda Smith, M.A., and Robert Segal, M.A. Stress Management. https://bit.ly/2W7guNX
  • Seaward BL. (2019). Essentials of Managing Stress. (Fifth edition). Massachusetts, US: Jones & Bartlett Learning.