life

ใครๆ ก็อยากมีความสุขกันทั้งนั้น มีด้วยหรือคนที่อยากให้ตัวเองเป็นทุกข์ตลอดเวลา? 

คำตอบคือ…มี”  

แม้ว่าหนึ่งในสัญชาติญาณของมนุษย์คือการแสวงหาความสุข อาจฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ต้องยอมรับว่าสำหรับผู้คนจำนวนไม่น้อยบนโลกใบนี้ ‘ความสุขของพวกเขาเกิดขึ้นเมื่อปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเป็นทุกข์

Chronically Unhappy คือคำจำกัดความของ #ผู้เสพติดความทุกข์เรื้อรัง ที่ปล่อยให้ความรู้สึกผิดหวัง โศกเศร้า เสียใจเข้ามาทำร้ายตัวเองซ้ำๆ โดยที่บางครั้งไม่มีสาเหตุชัดเจน และเมื่อไหร่ที่ชีวิตราบรื่นและเป็นสุข พวกเขาก็จะพยายามพาตัวเองกลับไปหาอ้อมอกของความเจ็บปวดจนได้

ไม่ใช่แค่อกหักทิพย์ ตั้งสเตตัสเศร้าๆ เคล้าน้ำตาเป็นประจำ แต่อาการเสพติดความทุกข์เรื้อรังนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกมิติของชีวิตประจำวัน เช่น 

  • รับบทเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำ และโยนความผิดให้คนอื่นทุกๆ เรื่อง 
  • แม้จะมีชีวิตที่ดีมากแต่ก็ยังรู้สึกไม่พอใจ 
  • แสวงหาความทุกข์ พยายามทำให้ตัวเองลำบากเมื่อพบว่ามีชีวิตที่ดีเกินไป 
  • มักพาตัวเองไปตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษซ้ำแล้วซ้ำเล่า 
  • ละเลยที่จะดูแลตัวเอง และมักจะทำสิ่งที่เป็นบ่อนทำลายสุขภาพ 
  • ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลเสมอ 

มีหลายสาเหตุที่เปลี่ยนให้คนเรากลายเป็นนักสะสมความเศร้า ที่จำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป มาราเบ็ต จิเฮนน์ (Mrabet Jihene) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และผู้อำนวยการสำนักงานด้านการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาและความพิการที่มหาวิทยาลัยอเมริกัน ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อธิบายว่าโดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจาก 

ตัวตน – ความรู้สึกไม่มั่นคงภายในตนเอง ไม่ภูมิใจในตัวเองหรือที่เรียกว่ามีระดับการยอมรับตัวเอง (Self-esteem) ต่ำกว่าปกติ 

ปมในใจ – เหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ (Traumatic event) ที่ทำให้เกิดปมขมวดแน่น พร้อมจะฉุดให้เจ็บปวดและหวาดกลัวอยู่เสมอ ตราบใดที่ปมนี้ยังไม่ถูกคลี่คลาย แม้ว่าจะมีความสุข แต่ก็ยังคิดว่าตัวเองจะต้องกลับไปสู่จุดเดิม 

การเลี้ยงดู – เด็กๆ ที่เติบโตมาในครอบครัวที่เข้มงวดและคาดหวังสูง มักจะเอาความสำเร็จไปผูกติดกับความสุข แม้ว่าชีวิตจะดำเนินไปได้อย่าราบรื่นแต่ยังคงรู้สึกเป็นทุกข์และโหยหาการประสบความสำเร็จอย่างที่คนรอบข้างคาดหวังตลอดเวลา 

อาการป่วย – บางครั้งความทุกข์เกิดจากอาการเจ็บป่วยส่วนบุคคล เช่น โรคดีสโทเนีย (Dystonia) ที่มีอาการเศร้าเรื้อรัง แต่จะไม่รุนแรงเท่าโรคซึมเศร้า เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเพราะการสูญเสีย การถูกปฏิเสธ ที่นำมาซึ่งความสะเทือนใจ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความผิดปกติกับการผลิตสารสื่อประสาทเซโรโทนินที่ควบคุมเรื่องความรู้สึกได้ 

ไม่ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์คืออะไร แต่ที่เรายังคงหล่อเลี้ยงความรู้สึกเหล่านี้ไว้เป็นเพราะเราเชื่อว่าจะรับมือกับมันได้ 

ดร.แฮร์รี่ ฮอร์แกน (Dr Harry Horgan) นักจิตวิทยาคลินิกแห่งศูนย์ประสาทวิทยาเยอรมัน อธิบายว่า มนุษย์ทุกคนมี #กลไกการเอาตัวรอด เป็นของตัวเอง เวลาเกิดภัยคุกคามขึ้นไม่ว่าจะกับทั้งร่างกายหรือจิตใจ เราจะเร่งหาทางแก้ไขและหลบหลีกได้เสมอ 

เมื่อตกอยู่ในความทุกข์ เรามักจะหาทางให้ตัวเองรับมือกับมันได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่วิธีที่สมเหตุสมผลจนอาจอาจนำมาซึ่งความเคยชินผิดๆ ที่ทำให้เราล้มเลิกความตั้งใจที่จะพาตัวเองออกจากจุดนั้น หลายคนจึงเลือกจองจำตัวเองให้เป็นนักโทษในคุกแห่งความทุกข์ทรมาน เพราะเชื่อว่ายังไงก็ยังรับมือไหว 

 

จิตใจชินชา แต่ร่างกายอาจรับไม่ไหว 

เมื่อเราเสียใจ เกิดอารมณ์เชิงลบหรือที่เรียกว่า ‘เป็นทุกข์’ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงขึ้นและลดระดับเซโรโทนินลง ตรงข้ามกับคนออกกำลังกาย ซึ่งจะยิ่งทำให้หลั่งฮอร์โมนส์ที่ทำให้เป็นสุขเพิ่มขึ้น 

ไม่ว่าอย่างไร เมื่อเราทำสิ่งเดิมที่กระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนส์เดิมซ้ำๆ ร่างกายจะเสพติดไปโดยไม่ทันรู้ตัว บางคนเสพติดกาออกไปวิ่ง บางคนเสพติดของหวาน และบางคนก็เสพติดความทุกข์

หากปล่อยให้ตัวเองรู้สึกทุกข์ใจไปเรื่อยๆ ในระยะยาวจะทำให้ร่างกายค่อยๆ แย่ลง การรับรู้ไม่มีสิทธิภาพ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดเพี้ยน จดจำอะไรได้ไม่ดีเหมือนเดิม อีกทั้งยังไม่มีสมาธิจดจ่อกับการทำอะไร

 

แล้วเราจะออกจากวังวนนี้ได้อย่างไร ? 

ดร.วาเลอเรีย ริโซลี (Dr.Valeria Risoli) นักจิตวิทยาคลินิกจากคลินิกกายภาพบำบัดดูไบและเวชศาสตร์ครอบครัว มีความเห็นว่าแม้จะทำได้ยากและใช้เวลานาน แต่การเลือกจะมีความสุขนั้นไม่เคยสายเกินไป

นี่คือวิธีเบื้องต้นสำหรับใครก็ตามที่ยังคงคลำทางอยู่ในความมืดมิด

ทำความเข้าใจเมื่อต้องผิดหวัง – ความเสียใจไม่ใช่เรื่องผิด จงปล่อยให้ตัวเองรู้สึกผิดหวัง แต่ต้องไม่จมดิ่งเกินไป เมื่อทำความเข้าใจแล้วยังคงรู้สึกเป็นทุกข์อย่างต่อเนื่อง ให้พยายามดึงตัวเองออกจากความคิดลบแบบเดิมๆ อาจใช้วิธีตั้งคำถามว่า ทำไมเรายังรู้สึกแบบนี้เราจะรู้สึกเศร้าไปอีกนานแค่ไหเราจะเยียวยาความรู้สึกนี้ได้อย่างไร? 

พาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี – ถ้าเป็นไปได้ให้พาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่รักและสนับสนุนเราอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงคนที่ชอบตำหนิและพูดถึงเราในแง่ลบเกินจำเป็นในแบบที่ไม่ได้ทำให้เราพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น

มองหาข้อดีในทุกๆ เรื่อง – พยายามมองหาข้อดีในทุกๆ เรื่อง อาจใช้วิธีจดบันทึกสิ่งที่รู้สึกขอบคุณและทำให้มีความสุขในแต่ละวัน

ฝืนยิ้ม – ถ้าสลัความทุกข์ไม่พ้นสักที ลองแสร้งมีความสุขไปก่อนก็ได้ เพราะอย่างน้อยแค่ฝืนยิ้มก็ทำให้เซโรโทนินหลั่งออกมาแล้ว

อ้างอิง