ถ้าคุณเคยร้องคาราโอเกะกับเพื่อน
เสียงที่เกิดขึ้นและดังสะท้อนอยู่ภายในห้องเก็บเสียงเล็กๆ คือ เสียงที่คุณและเพื่อนเลือกร้องและฟังด้วยความเต็มใจ จนกลายเป็นความรื่นรมย์จากความเห็นพ้องต้องกันของทุกคน
ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่ชอบเสียงดัง และเกลียดการร้องเพลงเข้าไส้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ก็คงไม่ทรมานตัวเอง ทนนั่งฟังเสียงน่ารำคาญในห้องนั้นตั้งแต่แรก
ทั้งหมดนี้เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพจำลองที่ชัดเจนของ echo chamber หรือ ห้องแห่งเสียงสะท้อน ซึ่งหมายถึง พื้นที่อุ่นใจ (ในแง่มุมมองความคิด) ที่เราสร้างขึ้นจากการเลือกรับรู้เฉพาะข้อมูลที่ส่งเสริมและสนับสนุนความเชื่อหรือหลักคิดบางอย่างที่เรายึดมั่น โดยปฏิเสธข้อมูลเห็นต่างและเห็นแย้งอื่นทั้งหมด
คล้ายว่าเราเปิดใจคบหาเฉพาะคนที่คิดเหมือนกันกับเรา จนเกิดเป็นวงสนทนาบนความเชื่อเดียวกัน เสียงพูดคุยเหล่านี้จึงดังสะท้อนอยู่แต่ภายในพื้นที่จำกัดซึ่งมีแต่คนเห็นด้วย ยิ่งทำให้เกิดความคิดสุดขั้วมากขึ้น (polarization) เพราะเรากีดกันเสียงของคนเห็นต่างออกไปไม่ให้สอดแทรกเข้ามาขัดจังหวะหรือรบกวนใจ
มากไปกว่านั้น สื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน กลายเป็นตัวเร่งที่ขับเน้นให้เกิด echo chamber ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เพราะมีระบบอัลกอริทึมช่วยกรองและแสดงผลข้อมูลที่ตรงกับความสนใจ ส่วนผู้ใช้งานอย่างเราๆ ก็มักจะสร้างเงื่อนไขเพื่อเปิดรับเฉพาะข้อมูลที่ตอกย้ำความเชื่อของตัวเอง เช่น กดอันเฟรนด์เพื่อนที่เห็นต่าง สื่อสังคมออนไลน์ทำให้เราตกอยู่ในฟองสบู่ของข้อมูล (filter bubble) ที่จำกัดโอกาสเข้าถึงข้อมูลรอบด้านอื่นๆ
ในหนังสือ Rebel Ideas: The Power of Diverse Thinking เขียนโดย แมทธิว ไซเอ็ด (Matthew Syed) นักข่าวชาวอังกฤษ ได้นำเสนอกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับ echo chamber ผ่านปฏิสัมพันธ์และการสร้างมนุษยสัมพันธ์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแคนซัส (University of Kansas) ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยสังเกตนักศึกษา 2 กลุ่ม ซี่งแตกต่างกันด้านจำนวน และความหลากหลาย ผลปรากฏว่า นักศึกษาที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนคนมากกว่าท่ามกลางความหลากหลายของเชื่อชาติและความสนใจ เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขามีโอกาสพบเพื่อนใหม่จากคนที่มีความสนใจคล้ายกัน โดยไม่ต้องปรับตัวหรือเปลี่ยนความคิดมากนัก
แตกต่างจากนักศึกษาอีกกลุ่มที่อยู่ในสังคมขนาดเล็กกว่า พวกเขาต้องเปิดใจยอมรับความหลากหลาย และรู้จักปรับความคิดเพื่อทำความเข้าใจความแตกต่างเพื่อหาเพื่อนใหม่
การศึกษานี้จึงเชื่อมโยงกับ echo chamber ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของทุกคน สังคมขนาดใหญ่ของนักศึกษากลุ่มแรกทำหน้าทีเดียวกับสื่อสังคมออนไลน์ คือ เปิดกว้างให้เรามีโอกาสพบคนมากหน้าหลายตา เรามักจะทำความรู้จักเมื่อเจอคนที่มีความสนใจตรงกันโดยไม่ต้องเปลี่ยนมุมมอง หรือสนใจความเชื่ออื่นใดอีก
echo chamber จึงเป็นเสมือนห้องที่แบ่งแยกคนให้คงความคิดแตกต่างอย่างสุดโต่งเอาไว้ ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านและการโจมตีความเชื่อของฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อมูลฝั่งของตนเองซึ่งเชื่อว่าถูกต้องมากกว่า นอกจากนี้ยังลุกลามไปถึงเรื่องส่วนตัว เกิดปัญหาความสัมพันธ์และความขัดแย้งทางอารมณ์จากความไม่ลงรอยกันของความคิด
เพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้บานปลายและรุนแรง มีวิธีผ่อนคลายความคิดสุดโต่ง หรือออกมาจากห้องแห่งเสียงสะท้อนอย่างไร
ต้องเข้าใจก่อนว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา คือ การปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ดังนั้น การรู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ของตัวเองจะช่วยยับยั้งช่างใจไม่ให้เกิดความวุ่นวายตามมา หากต้องการตอบโต้ความเชื่ออื่นๆ ให้ใช้เหตุผลสร้างบทสนทนาที่ก่อให้เกิดการถกเถียงและอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มหรือฝ่าย ควรเปิดกว้างการรับข้อมูลข่าวสารอย่างหลากหลาย ยอมรับว่าสังคมมีความแตกต่างทางความคิด เหมือนกับการหาเพื่อนของนักศึกษาที่อยู่ในสังคมขนาดเล็ก
ส่วนแนวทางประสานรอยร้าว และสร้างความปรองดองกับคนใกล้ชิด จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมั่นและความเชื่อใจในความสัมพันธ์เข้ามาช่วย ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จได้ โดยเริ่มต้นจากวางความคิดความเชื่อที่ยึดถือลงก่อน แล้วพูดคุยกันแบบเผชิญหน้า เพื่อจะได้สัมผัสความรู้สึกของกันและกันได้
ความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ทำให้คนที่มีความคิดต่างอย่างสุดขั้วกลับมาคุยกันด้วยเหตุและผลอีกครั้ง โดยไม่บีบบังคับว่าต้องเปลี่ยนความเชื่อ แต่ให้เคารพการตัดสินใจของทุกคน และเสนอข้อมูลใหม่สำหรับประกอบการตัดสินใจในอนาคต
ความสัมพันธ์ที่ดี ทั้งกับคนในครอบครัว มิตรภาพ คนรัก หรือแม้กระทั่งคนรู้จัก จึงเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้เราข้ามผ่านปัญหาจาก echo chamber ได้
อ้างอิง
- Matthew Syed (2019). Rebel Ideas: The Power of Diverse Thinking. London: Hodder & Stoughton.
- Matthew Syed. Information bubbles and echo chambers: Why we are all just talking to ourselves. https://bit.ly/3dNJ9Mf