life

เราทุกคนล้วนเป็นอัจฉริยะ แต่ถ้าจะตัดสินความเก่งของปลาโดยให้มันปีนต้นไม้แล้วละก็ ปลาตัวนั้นย่อมปักใจเชื่อว่ามันคงโง่งมตลอดชีวิต

ประโยคชวนคิดนี้มักจะถูกกล่าวอ้างว่าเป็นคำพูดจากปากนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) แต่ทั้งหมดกลับเป็นการจับต้นชนปลายที่สืบหาแหล่งที่มาที่ไปไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานหรือบันทึกใดยืนยันว่าไอน์สไตน์เคยพูดไว้จริงๆ

แม้จะเป็นเรื่องเข้าใจผิด แต่ความน่าสนใจซึ่งไม่อาจมองข้ามไป อยู่ตรงที่ใจความสำคัญของประโยคยังทำหน้าที่สื่อความหมายเป็นข้อคิดได้อย่างคมคาย และเปิดโอกาสให้ตั้งคำถามถึงการรับรู้ศักยภาพของแต่ละคน ระหว่างความสามารถที่มีอยู่ภายในตนกับสิ่งที่แสดงออกมาแล้วถูกตัดสินจากคนอื่น

คงเป็นเรื่องน่าเสียใจและน่าเสียดายมาก หากปลาตัวนั้นติดหล่มความคิด หลงเชื่อว่าตัวเองไม่เก่งเพราะปีนต้นไม่เป็น ทั้งๆ ที่มันเชี่ยวชาญการว่ายน้ำมากที่สุด และอาจจะแหวกว่ายได้เก่งกว่าปลาตัวอื่นๆ ด้วยซ้ำ แต่การว่ายน้ำเก่งของมันกลายเป็นสิ่งไร้ความหมายทันที เมื่อปลาให้ความสำคัญกับเงื่อนไขที่คนอื่นตั้งเป็นเกณฑ์ไว้ ซึ่งผิดพลาดและคลาดเคลื่อน โดยไม่ได้ทำความเข้าใจธรรมชาติของตัวเอง ทำให้ไม่สนใจและมองไม่เห็นคุณค่าของความสามารถที่ตัวเองถนัด

เช่นเดียวกันกับชีวิตจริงในปัจจุบัน คนจำนวนหนึ่งกำลังติดหล่มเหมือนปลาตัวนั้น นำมาสู่คำถามสำหรับหาทางแก้ไขปัญหาว่า จะทำอย่างไรให้คนมองเห็นความถนัด ความสามารถ และศักยภาพที่มีอยู่ในตัว เพื่อต่อยอดหรือพัฒนาไปสู่ความเชี่ยวชาญต่อไปได้ โดยปราศจากความคิดบั่นทอนตัวเองว่าไม่เก่งอะไรสักอย่าง

หนึ่งในแนวคิดจิตวิทยาที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนและครบถ้วน คือ Self-Efficacy Theory เป็นทฤษฎีว่าด้วยการรับรู้สมรรถภาพและศักยภาพที่มีอยู่ภายในตัวเอง ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกปี 1986 ในหนังสือ Social Foundations of Thought and Action: A Social Cognitive Theory โดย อัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura) นักจิตวิทยาสังคมชาวแคนาดา-อเมริกัน

แบนดูราอธิบายว่า perceived self-efficacy (นิยมเรียกอย่างกระชับว่า self-efficacy) คือการรับรู้ได้ถึงความสามารถของตนเอง ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเพื่อการลงมือทำบางสิ่งอย่างต่อเนื่องโดยต้องอาศัยความถนัดหรือความสามารถเฉพาะตัวจนบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ระดับการรับรู้ความสามารถที่ตัวเองมีจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่คอยกำหนดระดับพฤติกรรมหรือการกระทำ

สรุปได้ว่า ยิ่งรับรู้ความสามารถของตนเอง ก็จะยิ่งดึงความสามารถที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ทำงานหรือใช้ดำเนินชีวิตได้เต็มศักยภาพ ต่อให้คนสองคนมีความสามารถเรื่องเดียวกันในระดับพอๆ กัน ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่จะใช้ประโยชน์จากความสามารถของตนได้เท่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครรับรู้ความสามารถได้มากกว่า คนนั้นย่อมทำได้ดีกว่า

ความเชื่อมั่นต่อตัวเองว่าเป็นคนมีความสามารถจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้คนเข้าถึงความสามารถหรือทักษะของตัวเองได้ เพราะความเชื่อมั่นสร้างแรงผลักดันและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จากความเข้าใจประโยชน์และคุณค่าในความสามารถที่มี แบนดูราเรียกสิ่งนี้ว่า outcome expectation หรือความคาดหวังในผลลัพธ์ ซึ่งกระตุ้นให้คนคนนั้นมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นมาขัดขวางระหว่างทาง อดทน และพยายามทำต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ถอดใจกลางคัน

ระดับการรับรู้ความสามารถของตนกับระดับความคาดหวังผลที่ตามมาจึงเป็นสองสิ่งที่สัมพันธ์กันตลอดเวลา เพราะทำนายได้ว่าคนคนนั้นจะตัดสินใจลงมือทำหรือไม่ ระดับยิ่งสูงยิ่งมีแนวโน้มทำอย่างแน่นอน ส่วนระดับยิ่งต่ำยิ่งมีแนวโน้มไม่ทำอย่างแน่นอน

ในทางจิตวิทยา self-efficacy เป็นกระบวนการหนึ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้และพัฒนาตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา เพราะเป็นรากฐานที่ทำให้เกิด self-esteem หรือความภาคภูมิใจและนับถือตนเองว่าเป็นคนมีความสามารถ ซึ่ง self-efficacy พัฒนามาจากปัจจัย 4 ด้าน เท่ากับว่าถ้าต้องการสนับสนุนให้เกิดการรับรู้ความสามารถของตน ก็ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยเหล่านี้

1. บรรลุประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ

เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อ self-efficacy มากที่สุดและทรงพลังที่สุด เพราะเป็นประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ประสบการณ์จากความสำเร็จหรือเข้าใกล้ความสำเร็จจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความสามารถมากขึ้น หากล้มเหลว คนจะไม่ได้มองว่าตนไร้ความสามารถ แต่จะคิดว่ายังพยายามไม่มากพอ หรืออาจเป็นเพราะปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ซึ่งมักจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา

2. ใช้ประสบการณ์ของคนอื่นเป็นต้นแบบ

แบนดูราให้ความสำคัญกับแบบอย่าง (modeling) เพราะเขาเชื่อว่า หากใครก็ตามเห็นตัวแบบที่มีความสามารถเหมือนตัวเองแล้วทำสำเร็จได้ จะช่วยให้ผู้นั้นรับรู้ถึงความเป็นไปได้ว่าตนเองก็มีโอกาสทำได้สำเร็จเช่นเดียวกัน ซึ่งต้นแบบที่ว่าเป็นได้ทั้งคนใกล้ชิดที่พบปะในชีวิตประจำวัน และบุคคลสาธารณะที่เห็นผ่านสื่อหรือบุคคลสำคัญที่เราชื่นชมความสามารถ

3. จูงใจโดยใช้คำพูด

การใช้คำพูดเชิงให้กำลังใจ โน้มน้าว และชักจูง ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้รับรู้ความสามารถของตนได้ แต่การใช้คำพูดอย่างเดียวโดยขาดประสบการณ์ร่วม จะส่งผลแค่ช่วงแรกเท่านั้น ซึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ จึงจำเป็นต้องใช้คำพูดจูงใจควบคู่กับการลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อให้ได้สัมผัสกับความสำเร็จ จะทำให้เกิด self-efficacy ในระยะยาวได้

4. พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ 

ความพร้อมทั้งร่างกายที่แข็งแรงและสภาวะอารมณ์ที่มั่นคงทำให้คนรับรู้ความสามารถของตนได้ดียิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ยังไม่พร้อม หรือกำลังเจ็บป่วย ประกอบกับอารมณ์ด้านลบอย่างความกลัวหรือความวิตกกังวล จะทำให้รับรู้ได้ไม่ดี หรือไม่อาจรับรู้ถึงความสามารถของตนได้เลย

หลักใหญ่ใจความของ self-efficacy คือการสร้างความเชื่อมั่นว่าทุกคนมีความสามารถในตัวเอง เมื่อรับรู้ได้และนำออกมาใช้ในทางที่ถูกที่ควร จะทำให้ทุกคนเก่งในที่ทางของตนเสมอ จึงเป็นเรื่องผิด หากจะตัดสินปลาว่าไม่เก่งเพียงเพราะมันปีนต้นไม้ไม่เป็น

หากเราเป็นปลาตัวนั้น คำถามที่จำเป็นต้องตอบให้ได้ชัดคือ เราจะสยบยอมให้กับการตีตราและก้มหน้ารับคำตัดสินของผู้อื่นซึ่งไม่เข้าใจธรรมชาติของเราหรือไม่ แล้วเราจะทำอย่างไรกับตัวเองต่อไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจให้ตัวเอง

อ้างอิง