life

เพราะมีเวลาอยู่บนโลกนี้อย่างจำกัด จึงทำให้มนุษย์แสวงหาเป้าหมาย เพื่อใช้ชีวิตอันมีค่าอย่างไม่นึกกลับมาเสียดายทีหลัง  

ในทางจิตวิทยาระบุว่า ‘เป้าหมาย’ ทำให้เรามีพลังล้นเหลือในการทำบางสิ่ง  

เป้าหมายของชีวิตที่จับต้องได้ อย่างการมีบ้านสักหลัง มีเงินเก็บตามเป้า หรือได้ท่องเที่ยวรอบโลกนั้น นั้นทำให้เรารู้ว่าควรใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างไร อยากมีเงินเก็บต้องเริ่มออมเงิน อยากเที่ยวรอบโลกต้องเริ่มเสาะหาโอกาสให้ได้ไป การมีเป้าหมายคือการสร้างพลังที่ทำให้คนเรามุ่งทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จ โดยไม่เสียเวลาแต่ละวันไปอย่างเปล่าประโยชน์ 

ในการบำบัดเด็กๆ ที่มารับคำปรึกษา จำเป็นต้องมีแบบฝึกหัดให้กลับไปทำ และนำมาส่งเพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าทำบางสิ่งสำเร็จ การประชุมแต่ละครั้งก็ต้องมีวาระและเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อมุ่งทำให้ผลลัพธ์ที่ต้องการเป็นจริง 

นี่คือกลไกของ ‘เป้าหมาย’ ที่ทำงานกับธรรมชาติของมนุษย์ 

นอกจากเป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายในเชิงปฏิบัติที่จับต้องได้แล้ว คนเรายังแสวงหา ‘เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่’ ที่ตอบสนองจิตใจอันหิวโหย เมื่อเป้าหมายทำให้เรามีพลังอยากทำบางสิ่งให้ลุล่วง เมื่อมนุษย์มีสัญชาติญาณของการมีชีวิตรอด เป้าหมายที่ว่าคงทำหน้าที่เป็นพลังที่ทำให้อยากตื่นมาใช้ชีวิตต่อในวันพรุ่งนี้ 

คนที่มีเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ ย่อมอดทนได้กับทุกสิ่ง” ฟรีดริช นิทเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมันให้ความหมายของการมีเป้าหมายในชีวิตไว้แบบนั้น 

ความหมายของการมีชีวิตอยู่มีหลายแบบ มีแนวคิดทางจิตวิทยาที่หลากหลาย เช่น สุขนิยม-ให้ใช้ชีวิตเพื่อการแสวงหาความสุข ปัญญานิยม-ให้ใช้ชีวิตเพื่อนความเข้าใจสิ่งต่างๆ แม้แต่ในศาสนาพุทธที่ให้ใช้ชีวิตเพื่อการบรรลุนิพพาน 

จิตวิทยาเชิงบวกก็นิยามความหมายของการมีชีวิตอยู่โดยอธิบายกว้างๆ ว่าเราแต่ละคนจะให้ความหมายของชีวิตแตกต่างกัน เพราะเป้าหมายของชีวิตนั้นขึ้นอยู่กับ ‘ความสุข’ ส่วนบุคคล 

วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) นักประสาทวิทยาและจิตแพทย์ชาวออสเตรียเคยเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันเอาชวิทซ์ เขามองว่าหากอยากมีชีวิตรอดกลับไปก็ต้องมีเป้าหมาย ตอนนั้นเขาจึงอุทิศชีวิตให้กับการทำหน้าที่จิตแพทย์เพื่อรักษาเพื่อนนักโทษและเฝ้าคิดถึงภรรยาอันเป็นที่รัก 

 “อย่าตามหาความหมายของชีวิตที่เป็นนามธรรม” นั่นเป็นคำแนะนำของแฟรงเคิล เขาเชื่อว่าความหมายของการมีชีวิตอยู่คือสิ่งง่ายๆ ที่มีคุณค่าในตัวของมันเอง เป็นงานที่ไม่ไดทำเพราะพยายามทำให้ชีวิตมีความหมาย แต่เป็นงานที่เรารักและสิ่งนั้นมีความหมายในตัวเอง 

ข้อสังเกตของแฟรงเคิลสอดคล้องกับงานวิจัยด้านจิตวิทยาเชิงบวก โดย Michael StegerShigehiro Oishi และ Todd Kashdan ที่สรุปได้ว่า แม้การมีเป้าหมายในชีวิตจะทำให้คนเป็นสุขมากขึ้น แต่การพยายามค้นหาเป้าหมายของชีวิตนั้นเกิดขึ้นจากระดับของความสุขในการใช้ชีวิตที่น้อยลง 

เคโกะ ตัวละครจากนิยายญี่ปุ่นเรื่อง ‘มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ’ ไม่เคยคิดอยากสร้างครอบครัว สร้างความมั่นคงทางการเงิน หรือประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เธอค้นพบว่าตัวเองพอใจจะทำงานเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ในร้านสะดวกซื้อแบบนั้นไปตลอดชีวิต 

เธอถูกมองว่าใช้ชีวิตวันต่อวันอย่างล้มเหลวในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่เคโกะที่มีความสุขอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ได้บริการลูกค้า เวฟอาหารสำเร็จรูป เธอไม่ได้แสวงหาความหมายของการใช้ชีวิตอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่พอรู้ว่าความหมายของการตื่นมาคือการได้ทำงานที่รัก จึงไม่แสวงหาอะไรเพิ่มเติม และนั่นเป็นงานที่มีคุณค่าในตัวของมันเองอย่างที่แฟรงเคิลเองก็ได้ค้นพบ 

เราทุกคนขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ การมีชีวิตอยู่ขับเคลื่อนด้วยความหมายบางอย่าง การตื่นลืมตาขึ้นมาในเช้าวันใหม่นั่นหมายความว่าเรายังมีเป้าหมายที่จะเดินต่อ เป้าหมายนั้นอาจไม่ใช่การประสบความสำเร็จ มั่นคง มั่งคั่งเสียที่มองเห็นอยู่ไกลๆ เสียทีเดียว แต่อาจเป็นสิ่งที่มีความหมายในตัวของมันเอง เป็นสิ่งที่เราเองก็พบเจออยู่แล้วในทุกวัน 

แล้วคุณล่ะ… เป้าหมายของชีวิตสำคัญกับการตัวคุณเองอย่างไร?

 

อ้างอิง