ตั้งสติให้ดี รวบรวมสมาธิให้พร้อม ก่อนดูภาพต่อไปนี้ โดยมีกติกาแสนง่ายให้ทุกคนร่วมสนุกกัน
เพียงแค่บอก ‘สีหมึก’ ที่ใช้พิมพ์ตัวอักษรด้วยความรวดเร็ว (พยายามพูดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้) แต่มีข้อแม้ว่า ต้องไม่เผลออ่าน ‘ชื่อสี’ แต่ละคำที่เห็น เพราะจะถือว่าเสียคะแนนข้อนั้นทันที เช่น คำว่า ‘เขียว’ พิมพ์ด้วย ‘หมึกสีเหลือง’ ให้ตอบว่า ‘เหลือง’ หรือ คำว่า ‘แดง’ แต่พิมพ์ด้วย ‘หมึกสีฟ้า’ ให้ตอบว่า ‘ฟ้า’ จึงจะได้คะแนนในข้อนั้นๆ คนที่ตอบได้ถูกต้องมากที่สุดและใช้เวลาไปน้อยที่สุดคือผู้ชนะ
ทำใจให้นิ่งเข้าไว้ พร้อมเมื่อไหร่ ให้ดูภาพข้างล่าง แล้วเริ่มเล่นกันได้เลย
เป็นอย่างไรบ้าง ทำได้ทั้งหมดกี่คำ เชื่อว่าหลายๆ คนอาจคุ้นเคยกับเกมนี้มาก่อนแล้ว เพราะเป็นหนึ่งในเกมง่ายๆ ที่มักจะถูกนำไปใช้ในกิจกรรมนันทนาการทั่วไป ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สิ่งนี้ไม่ใช่เกมที่เล่นเพื่อความสนุก และไม่เคยถูกนิยามว่าเป็นเกม (game) แต่เป็นแบบทดสอบมาตรฐานด้านประสาทจิตวิทยา (Neuropsychology) ที่มีชื่อว่า Stroop Test หรือ Stroop Effect ส่วนชื่อทางการที่ใช้กล่าวถึงงานวิชาการคือ The Stroop Color and Word Test (SCWT)
แม้จะถูกดัดแปลงให้กลายเป็นเกมจนได้รับความนิยมแพร่หลาย แต่แบบทดสอบนี้ไม่นับว่าเป็นเรื่องผิดหรือน่ากังวลใจเหมือนแบบทดสอบจิตวิทยาอื่นๆ เพราะโดยทั่วไป แบบทดสอบ (test) สำหรับใช้คัดกรองและวิเคราะห์ผลเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา ย่อมมีมาตรฐานการใช้งานกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ผู้ใช้งานต้องเป็นนักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ และผ่านการฝึกอบรมวิธีทดสอบและแปลผลมาอย่างรัดกุม โดยมีกฎเหล็กข้อสำคัญคือ ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแบบทดสอบเด็ดขาด
สำหรับ Stroop Test เมื่อสืบย้อนถึงที่มาและจุดเริ่มต้น จะพบข้อเท็จจริงน่าทึ่งว่า แบบทดสอบนี้เป็นความสำเร็จจากวิทยานิพนธ์ (dissertation) ของจอห์น ริดลีย์ สตรูป (John Ridley Stroop) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ขณะศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาจิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology) เท่านั้น
สตรูปสนใจศาสตร์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา เขาประยุกต์ความรู้จากศาสตร์ทั้งสองจนทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นแบบทดสอบที่สร้างคุณูปการต่อการตรวจประเมินด้านประสาทจิตวิทยาจนถึงปัจจุบัน
เพราะผลงานของสตรูปทำหน้าที่เป็นหนึ่งในแบบทดสอบพื้นฐานที่วางรากฐานและหมุดหมายให้นักจิตวิทยาเริ่มสนใจการรู้คิด (Cognitive Psychology) กันมากขึ้น รวมถึงการทำงานของระบบประสาทและสมอง ซึ่งส่งผลให้เราแสดงออกผ่านการกระทำ การคิด และการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน
ย้อนกลับไปในปี 1953 แบบทดสอบของสตรูปได้รับความสนใจและเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงจิตวิทยา เพราะผลการศึกษาของเขาได้รับการตีพิมพ์และถูกอ้างอิงถึงบ่อยครั้งในวารสารวิชาการด้านจิตวิทยาการทดลองของสหรัฐอเมริกา (The American Journal of Experimental Psychology)
แม้สตรูปจะเป็นคนแรกที่คิด Stroop Test ขึ้นมา แต่หลังจากแบบทดสอบได้รับความนิยม เขากลับไม่ได้สนใจพัฒนาแบบทดสอบอีกต่อไป เพราะด้วยความศรัทธาในหลักศาสนา ทำให้เขาเลือกอุทิศชีวิตหลังจากนั้นให้การสอนและการศึกษาพระคัมภัร์ไบเบิลมากกว่า
ดังนั้น Stroop Test ที่ได้เห้นในปัจจุบัน จึงได้รับการพัฒนาและปรับปรุงจากนักจิตวิทยาและคณะวิจัยรุ่นต่อๆ มา โดยกำหนดให้ยึดแม่สีเป็นสีหลัก ได้แก่ เหลือง แดง และฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการรับรู้สี การลดทอนสีให้น้อยลงจะช่วยลดความคลาดเคลื่อนของผลการทดสอบได้ ส่วนแบบทดสอบฉบับดั้งเดิมที่สตรูปประดิษฐ์ขึ้น กำหนดให้ใช้ทั้งหมด 5 สี ได้แก่ ม่วง น้ำตาล แดง ฟ้า และเขียว
นอกจากนี้เขายังคิดแบบทดสอบที่ใช้สัญลักษณ์เรขาคณิตแทนคำสำหรับคนที่ไม่เข้าใจภาษา แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร
ความสำคัญของ Stroop Test คือ ใช้ประเมินการทำงานของความคิดและประสิทธิภาพของสมอง (cognitive functions) ร่วมกับการรับรู้ (perception) และความจำ โดยให้ความสำคัญกับความเร็วในการตอบ เพราะการตอบได้ถูกต้องและความเร็วสะท้อนว่าสมองทำงานประมวลผลได้ตามที่ควรจะเป็น และแสดงถึงความสามารถแยกแยะความต่างและการตัดสินใจภายใต้ความกดดัน
สำหรับคนสูงอายุ ซึ่งเสียงต่อภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ Stroop Test ยังช่วยฟื้นฟูความทรงจำและฝึกสมองให้ตื่นตัวทำงานได้ด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่แบบทดสอบนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นเกมบริหารสมองที่พบเห็นได้ทั่วไป หรือกดเล่นได้ข้างล่างนี้
อ้างอิง
- Abilene Christian University. John Ridley Stroop Digital Archive. https://bit.ly/2Oh4OUC
- Scarpina, F., & Tagini, S. (2017). The Stroop Color and Word Test. Frontiers in psychology, 8, 557. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2017.00557
Fact Box
- ประสาทจิตวิทยา (Neuropsychology) ศาสตร์ที่มุ่งศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทและสมอง
- จิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology) ศาสตร์ที่มุ่งศึกษาพฤติกรรมในแง่มุมต่างๆ ของมนุษย์ โดยวิธีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุและผลลัพธ์ของพฤติกรรมนั้นๆ
- จิตวิทยาการรู้คิด (Cognitive Psychology) ศาสตร์ที่มุ่งศึกษากระบวนการทางความคิดและปัญญา เช่น การจำ การลืม การตัดสินใจ การใส่ใจ การใข้ภาษา การแก้ปัญหา