life

เวลา’ คือสิ่งสำคัญของชีวิต

หลายเรื่องราวในชีวิตที่เรายังคิดตัดสินใจไม่ได้ ‘เวลา’ อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในแง่มุมที่ว่า เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องที่เคยคลุมเครือมักจะชัดเจนยิ่งขึ้น และทำให้เราตัดสินใจได้อีกครั้ง เพราะเวลาเปิดโอกาสให้ตกตะกอนความคิดกับเรื่องที่เคยรู้สึกสับสน จนเกิดเป็นความเข้าใจในท้ายที่สุด เวลายังสะท้อนให้รู้ได้แม้กระทั้งสิ่งที่อยู่ในหัวคิด

เชื่อหรือไม่ แค่วาดหน้าปัดนาฬิกา ก็พอจะบอกใบ้ให้รู้ได้คร่าวๆ ว่า การทำงานของสมองและความจำของเราในตอนนี้ ยังแข็งแรงปกติดีหรือมีบางอย่างผิดแปลกไป

ก่อนเริ่มต้นอ่านบทความ เราอยากให้ผู้อ่านทุกคนหากระดาษเปล่ามาหนึ่งแผ่นพร้อมปากกาหนึ่งด้าม เพื่อลงมือวาดหน้าปัดนาฬิกาทรงกลมขนาดใหญ่หนึ่งเรือน โดยใส่ตัวเลขให้ครบถ้วน แล้ววาดเข็มนาฬิกาบอกเวลา 11 โมง 10 นาที

สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการวาดภาพนี้ ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาว่าจะต้องรีบวาดให้เสร็จเร็วๆ ภายในไม่กี่นาที เพราะไม่มีการจับเวลาใดๆ สามารถใช้เวลาวาดนาฬิกานานเท่าไหร่ก็ได้จนกว่ารู้สึกพอใจ

หากวาดเสร็จแล้วจึงจะอ่านบทความจากนี้ต่อไปได้

ผลลัพธ์สุดท้ายของภาพวาด ควรเป็นภาพหน้าปัดนาฬิกาตามโจทย์ที่กำหนดไว้ คือเส้นวงกลมของหน้าปัดต้องชัดเจนและสมมาตรไม่บิดเบี้ยว ตัวเลข 1 ถึง 12 ต้องอยู่ในทิศทาง (ตำแหน่ง) ที่ถูกต้องของกรอบหน้าปัด เช่น ตัวเลข 12 อยู่ทิศเหนือ ตัวเลข 3 อยู่ทิศตะวันออก ส่วนเข็มนาฬิกาต้องชี้บอกเวลา 11 โมง 10 นาทีพอดี หมายความว่า เข็มยาวชี้ไปยังตัวเลข 2 และเข็มสั้นชี้ไปยังตัวเลข 11

หากภาพนาฬิกาไม่เป็นไปตามนี้ เช่น หน้าปัดบิดเบี้ยวไม่เป็นรูปวงกลม ตัวเลขบอกเวลาขาดๆ เกินๆ ทิศทางของตัวเลขอยู่ผิดที่ผิดทางหรือไม่ตรงตำแหน่ง เข็มนาฬิกาบอกเวลาอื่นซึ่งแตกต่างจากโจทย์ หรืออาจวาดออกมาไม่ได้เลย ในกรณีเหล่านี้ มีความเป็นไปได้สูงว่า ความทรงจำของผู้วาดอาจกำลังมีปัญหาจากความผิดปกติทางกายภาพและการทำงานของของสมอง

ความน่าสนใจของแบบทดสอบนี้จึงอยู่ที่ว่า ‘หน้าปัดนาฬิกา’ กับ ‘ความทรงจำของสมอง’ เกี่ยวข้องกันได้อย่างไร

บุคคลแรกที่นำ ‘นาฬิกา’ มาใช้ประเมินการทำงานของสมอง คือ เฮนรี่ เฮด (Henry Head) นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษ เขาต้องการคัดกรองผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียทักษะจัดวางภาพ โครงสร้าง และที่ว่าง (Constructional Apraxia) จึงเริ่มต้นใช้ทดสอบในปี 1915 โดยวิธีต่างๆ ทั้งให้ผู้ป่วยเขียนบอกเวลา และอ่านเวลาจากหน้าปัด เพราะนาฬิกาคือสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน

เฮนรี่ เฮด (Henry Head)
Photo: http://ihm.nlm.nih.gov/images/B14056

ต่อมา แมคโดนัล คริทช์ลีย์ (Macdonald Critchley) นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษได้พัฒนาวิธีประเมินด้วยการวาดภาพหน้าปัดนาฬิกา โดยให้ผู้ป่วยวาดบอกเวลา ณ ขณะนั้น เขาเรียกวิธีนี้ว่า Free-Drawn Clock เพื่อตรวจหาความบกพร่องการสื่อความด้วยการพูด (Aphasia) และความบกพร่องในการทำกิจกรรมทั่วไปที่เป็นกิจวัตร (Apraxia)

ในเวลาไล่เลี่ยกัน อีดิธ คาเพลน (Edith Kaplan) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้บุกเบิกการทดสอบทางประสาทวิทยา ได้เพิ่มเติมรายละเอียดการวาดภาพให้มีมาตรฐานนอกเหนือจาก Free-Drawn Clock โดยให้ผู้ป่วยคัดลองภาพจากหน้าปัดนาฬิกาต้นแบบ และกำหนดเข็มบอกเวลาไว้ที่ 11 นาฬิกา 10 นาที

เหตุผลสำคัญที่ต้องเป็น ‘หน้าปัดนาฬิกา’ ก็เพราะว่า ประกอบด้วยรูปทรงและสัญลักษณ์พื้นฐาน คือ วงกลม ตัวเลข และเส้นตรงหรือลูกศร ซึ่งวาดได้โดยไม่ต้องใช้ทักษะทางศิลปะ อาศัยเพียงความเข้าใจเวลา ซึ่งเป็นพื้นฐานการรับรู้ของมนุษย์ที่ช่วยยืนยันได้ว่า อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่มีมาตรฐานอ้างอิงชัดเจนเป็นจุดของเวลา ทั้งหมดเป็นผลรวมสะท้อนการทำงานของสมองอย่างเป็นระบบ ตามองภาพ สมองคิดประมวลผล สั่งการร่างกายให้วาดตามโจทย์ด้วยการระลึกความจำถึงหน้าปัดนาฬิกา

จนกระทั่งในช่วงปี 1980 เคนเนธ ชูล์แมน (Kenneth Shulman) จิตแพทย์ชาวแคนาดา และ มาร์ติน รอธ (Martin Roth) จิตแพทย์ชาวอังกฤษ นำการวาดรูปหน้าปัดนาฬิกา (The Clock Drawing Test หรือ CDT) เป็นแบบทดสอบย่อยใน Mini Mental State Examination (MMSE) หรือชุดแบบประเมินสมรรถภาพของสมองเบื้องต้น ซึ่งนิยมใช้แพร่หลายทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

Photo: https://www.neurologyadvisor.com/topics/neurocognitive-disorders/predicting-risk-for-cognitive-impairment-based-on-age-mini-mental-exam/

นอกจากนี้ การวาดรูปหน้าปัดนาฬิกายังเป็นส่วนหนึ่งของแบบทดสอบทางประสาทวิทยาอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้แต่ละแบบทดสอบมีเกณฑ์การแปลผลแตกต่างกันออกไป แต่จุดประสงค์หลักที่ทุกแบบทดสอบมีร่วมกันคือ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะถดถอยหรือความบกพร่องของสมรรถนะทางสมอง (Cognitive Impairment) ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ความบกพร่องเรื่องการรับรู้สิ่งแวดล้อม การกะระยะ และตำแหน่งที่อยู่ของสิ่งรอบตัว (Spatial Dysfunction) และอาการสูญเสียความสนใจครึ่งซีกเนื่องจากความผิดปกติของสมอง (Neglect Syndrome)

สำหรับภาพวาดหน้าปัดที่ผิดไปจากปกติ แบ่งออกเป็น 6 แบบ

(1) ขนาดหน้าปัด (size of the clock) ควรเหมาะสมกับขนาดกระดาษ โดยทั่วไปอนุญาตให้มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1.5 นิ้ว จนถึง 5 นิ้ว หากวาดใหญ่มากกว่า 5 นิ้ว อาจเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ส่วนขนาดเล็กกว่า 1.5 นิ้ว มักพบในผู้ป่วยโรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมทำให้เซลล์ประสาทค่อยๆ เสื่อมสมรรถภาพ จนเคลื่อนไหวทางร่างกายได้ลำบาก

Photo: William Souillard-Mandar, et al. Interpretable Machine Learning Models for the Digital Clock Drawing Test. https://arxiv.org/pdf/1606.07163v1.pdf#page=2

(2) เส้นบิดเบี้ยวเกิดเป็นรูปร่างแปลกตา (graphical difficulties) เพราะควบคุมกล้ามเนื้อได้ไม่ดีหรือมืออ่อนแรง (dysarthria-clumsy hand) ทำให้เขียนเส้นหรือเขียนตัวเลขออกมายึกยือ แม้จะอ่านยากแต่พอมองออกว่าเป็นนาฬิกาที่มีตัวเลขบอกเวลาต่างๆ

Photo: Yukiko Suzuki, et al. Quantitative and Qualitative Analyses of the Clock Drawing Test in Fall and Non-Fall Patients with Alzheimer’s Disease. https://www.researchgate.net/figure/Actual-examples-of-error-types-in-qualitative-analysis-of-the-clock-drawing-test-There_fig1_338088182

(3) เลือกตอบสนองเฉพาะตัวกระตุ้น (โจทย์) อย่างตรงไปตรงมา (stimulus-bound response) ทำให้ไม่สนใจสิ่งอื่นๆ หรือไม่แปลความหมายของโจทย์ที่ทำให้ภาพหน้าปัดสมบูรณ์ ลักษณะที่พบบ่อย คือ หลังจากได้รับโจทย์ให้บอกเวลา 11 โมง 10 นาที ผู้วาดอาจเขียนเข็มนาทีชี้ไปที่ตัวเลข 10 ซึ่งเป็นอาการในผู้ป่วยโรคพากินสันที่มีภาวะสมองเสื่อมร่วม (Parkinson’s Disease with Dementia)

Photo: Han-Yeong Jeong, et al. Clock drawing test to screen for dementia in parkinsonian patients with low educational backgrounds. http://www.neurology-asia.org/articles/neuroasia-2016-21(4)-357.pdf

(4) ประมวลความทรงจำ ประสบการณ์ และความรู้ในอดีตบกพร่อง (conceptual deficits) ทำให้วาดนาฬิกาไมได้เลย หรือวาดออกมาไม่เป็นหน้าปัดนาฬิกาที่สมบูรณ์ เช่น ตัวเลขไม่ครบ เข็มนาฬิกาไม่อยู่กึ่งกลาง ผู้วาดอาจอยู่ในภาวะระบบประสาทเสื่อมของโรคพาร์กินสัน

Photo: Han-Yeong Jeong, et al. Clock drawing test to screen for dementia in parkinsonian patients with low educational backgrounds. http://www.neurology-asia.org/articles/neuroasia-2016-21(4)-357.pdf

(5) กะระยะผิดพลาด จัดวางตำแหน่งบกพร่อง (spatial/planning deficits) ความผิดพลาดที่พบส่วนมาก มักเกี่ยวข้องกับตัวเลข เช่น เขียนตัวเลขกองกันด้านเดียวของหน้าปัด ไม่เอียงซ้ายก็เอียงขวา ซึ่งเป็นอาการเด่นชัดของการสูญเสียความสนใจครึ่งซีกเนื่องจากความผิดปกติของสมอง (Neglect Syndrome)

Photo: Han-Yeong Jeong, et al. Clock drawing test to screen for dementia in parkinsonian patients with low educational backgrounds. http://www.neurology-asia.org/articles/neuroasia-2016-21(4)-357.pdf
Photo: Michal Vinker Shuster, et al. Don’t neglect the clock drawing test. https://emj.bmj.com/content/35/1/38

(6) วาดเกิน (perseveration) ผู้วาดมักเขียนเข็มนาฬิกามากกว่า 2 เข็ม หรือไม่ก็เขียนตัวเลขมากกว่า ตัวเลข 12 ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้วาดอาจอยู่ในภาวะของโรคอัลไซเมอร์

Photo: Han-Yeong Jeong, et al. Clock drawing test to screen for dementia in parkinsonian patients with low educational backgrounds. http://www.neurology-asia.org/articles/neuroasia-2016-21(4)-357.pdf

แม้ว่าการวาดหน้าปัดนาฬิกาเป็นเพียงแบบทดสอบคัดกรองเบื้องต้น (screening test) เพื่อประเมินความเสี่ยงเท่านั้น ไม่สามารถชี้ชัดหรือตัดสินอาการเจ็บป่วยได้ในทันที เพราะการวินิจฉัยแยกโรคมีขั้นตอนการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามหลักทางการแพทย์ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลรอบด้านอื่นๆ ประกอบ

Photo: Overcash, J., & Perry, M. (2017). Cognitive Screening: Using the Clock-Drawing Test to Assess for Preexisting Deficits in Older Women Diagnosed With Breast Cancer. Clinical journal of oncology nursing, 21(4), 489–498. https://doi.org/10.1188/17.CJON.489-498

แต่การวาดหน้าปัดนาฬิกาที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร กลับกลายเป็นผลลัพธ์ที่บอกความเสี่ยงและความเป็นไปได้บางอย่างจากความผิดปกติทางสมองไว้อย่างเหลือเชื่อ

อ้างอิง

  • Donald Eknoyan, Robin A. Hurley, and Katherine H. Taber. The Clock Drawing Task: Common Errors and Functional Neuroanatomy. https://bit.ly/3bNbzWo
  • Francis R. Frankenburg. The clock drawing test: A useful screening and teaching tool. https://bit.ly/380o93s
  • Lisa A Young. 3 versions of the Clock Drawing Test for cognition. https://bit.ly/3b3YFEd
  • Hazan E, Frankenburg F, Brenkel M, Shulman K. The test of time: a history of clock drawing. Int J Geriatr Psychiatry. 2018 Jan;33(1):e22-e30. doi: 10.1002/gps.4731. Epub 2017 May 26. PMID: 28556262.