“กุมภาพันธ์ยังเป็นเดือนที่คนเข้าเยอะมาก แต่หลังจากวันที่ 24 มีนาคมก็ไม่เหลือใครในโฮสเทลแล้ว”
ส้ม (เล็ก) – อติพร สังข์เจริญ หนึ่งในสมาชิกครอบครัว The Yard Hostel อาสาเป็นคนเล่าให้เราฟัง บทสนทนาของวันนี้เริ่มต้นด้วยการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเจ้าของบ้านอย่าง ส้ม (เล็ก) และ ส้ม (ใหญ่) – อมรรัตน์ อมรศิริชัยรัตน์ สองหัวเรือที่พาโฮสเทลแห่งนี้เดินทางมานาน 6 ปี
ส้มเล็กค่อยๆ บรรยายสถานการณ์ที่พวกเธอกำลังเผชิญอยู่ เธอเล่าว่าโฮสเทลและโรงแรมเป็นเพียงฉากหน้าที่ทำให้เห็นถึงวิกฤติในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทุกๆ ที่ทยอยปิดทำการเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวแม้สักคนเดียว ส่วนธุรกิจเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่หลังฉากใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นร้านซักรีด ร้านขายไข่ ร้านขายผัก บริการรถรับ-ส่ง ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักกันถ้วนหน้า
มีเวลาเพียง 7 วัน สำหรับระดมความคิดว่าก้าวต่อไปของโฮสเทลควรเป็นไปอย่างไร ครอบครัวเดอะยาร์ดจึงเลือกใช้ ‘รถพุ่มพวง’ พาวัตถุดิบจากเกษตรกรท้องถิ่นไปตระเวนขายในชุมชนอารีย์ จัดตลาดนัดวันอาทิตย์ เปิดลานบาร์บีคิวให้คนเข้ามาพบปะกัน
จากต้นปีถึงปลายปี 2020 โฮสเทลแก้โจทย์ยากๆ มาแล้วหลายต่อหลายหน และพวกเขาก็ค้นพบสิ่งสำคัญที่ทำให้ที่นี่ยังเดินบนขาของตัวเองต่อไปได้ นั่นคือ ‘พื้นที่’ ที่เชื่อมทุกคนไว้ด้วยกัน
เดอะยาร์ดคือ ‘บ้านญาติ’
เมื่อผ่านธรณีประตูและทางเดินแคบๆ เข้ามา จะพบว่าเงาต้นไม้สูงปกคลุมไปทั่วบริเวณ กลิ่นไอดินชื้นๆ หลังฝนตกโชยมาแตะจมูก แม้จะอยู่ห่างจากปากซอยพหลโยธิน 5 อันพลุกพล่านเพียงไม่กี่ร้อยเมตร แต่ที่นี่กลับเงียบสงบ
ส้มเล็กชี้ให้เราดูสวนเล็กๆ ริมทางเดิน เฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าๆ พลางเล่าว่าแม้พื้นที่โดยรอบจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ความตั้งใจแรกของเดอะยาร์ดยังคงเหมือนเดิม
“ปี 2014 มีเว็บไซต์สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาใช้ชีวิตกับคนโลคอล เราก็ไปลงทะเบียนไว้ มีชาวต่างชาติมากินข้าวที่บ้านเรา บางคนถามว่าทำไมเราไม่ทำที่พัก เพราะเขาอยากนอนที่นี่ เขารู้สึกอบอุ่น อยู่กับเราแล้วสบายใจ เลยคิดว่าถ้าทำโฮสเทลก็ดีนะ”
“ภาษาไทยของเดอะยาร์ดคือบ้านญาติ เราดูแลแขกทุกคนเหมือนเป็นพี่น้อง ไม่ได้ดูแลเพราะเขามาพัก แต่เชื่อว่าทุกคนในโลกก็เกิดมาจากมนุษย์สองคน แล้วแตกออกมาเป็นคนหลายคน เส้นทุกอย่างเป็นเพียงเส้นสมมุติ ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งประเทศ เส้นแบ่งจังหวัด เส้นแบ่งศาสนา ความจริงแล้วทุกคนเป็นพี่น้องกันหมด มาที่นี่จะนั่งอยู่ตรงไหนก็ได้”
อดีตวิศวกรเล่าที่มาของโฮสเทลแห่งนี้ให้เราฟัง
พวกเธอเนรมิตรพื้นที่ รกร้างในย่านอารีย์ให้กลายเป็นโฮสเทลที่มีทั้งหมด 18 ห้อง รองรับผู้มาเยือนได้ถึง 60 คน ในพื้นที่มีบ้านหนึ่งหลังกับอาคารซึ่งแฝงตัวอยู่ใต้ร่มไม้อีกสองหลังล้อมรอบสนามกว้างๆ เป็นรูปตัวแอล
นอกจากตัวบ้าน อาคารหลังอื่นๆ สร้างจากตู้คอนเทนเนอร์มือสองที่เผยให้เห็นรอยบุบเป็นแห่งๆ ส้มมองว่านั่นไม่ใช่ปัญหา ทั้งยังดีกว่าต้องหาทรัพยากรใหม่มาใช้ เสียอย่างเดียวที่เป็นเหล็ก แต่สำหรับอดีตวิศวกรที่คลุกคลีกับงานก่อสร้างมานานนั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ เธอนำกระดาษรีไซเคิลไปปั่นกับกาวแล้วพ่นเข้าไปบนผนังตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นเหล็ก ปิดด้วยยิปซั่มอีกหนึ่งชั้น กลายเป็นฉนวนความร้อนดีไอวายที่ช่วยให้ห้องเก็บความเย็นและกันความร้อน ไม่เปลืองแอร์ อีกทั้งห้องทุกห้องมีหน้าต่างรับแสงธรรมชาติ ไม่ต้องเปลืองไฟ
“โฮสเทลกับโรงแรมเป็นอะไรที่เราควบคุมค่าไฟไม่ได้ ลูกค้าจะเปิดหรือไม่เปิดแอร์เราตอบไม่ได้ ที่อื่นอาจประหยัดด้วยวิธีเคอร์ฟิว ให้ปิดแอร์ในตอนกลางวัน แต่บางคนที่มาพักเขาก็อยากนอนตอนกลางวันเหมือนกัน ถึงแอร์อินเวอร์เตอร์ที่ช่วยประหยัดพลังงานจะแพงกว่าแอร์ธรรมดา 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามองในระยะยาว เราไม่ได้มองแค่ต้นทุนแรก เราจ่ายแพงกว่า เพื่อประหยัดในระยะยาว” ส้มเล่าวิธีสร้างพื้นที่ในแบบฉบับของเธอ อันเป็นวิธีที่สอดคล้องกับความตั้งใจแรกคือถ้าจะสร้างธุรกิจ ก็ไม่อยากให้ธุรกิจนั้นส่งผลกระทบด้านลบกับโลกและชุมชนรอบข้าง
“เราเป็น space management”
เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นที่ตั้งอยู่ในสวนของเดอะยาร์ดล้วนเกือบจะกลายเป็นขยะ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะไม้เก่าๆ จากร้านเบอร์เกอร์ในละแวก โต๊ะกลมสีฟ้าที่ทำจากฝาถังน้ำมัน ตัวหนอนสองก้อนที่นำมาซ้อนกันเป็นแท่นแล้ววางไม้กระดานทับเป็นโต๊ะเตี้ยๆ สำหรับวงสนทนาที่ล้อมรอบด้วยบีนแบ็ก ที่สำคัญคือทุกชิ้นในสวนจะเคลื่อนย้ายได้เสมอ ให้รับกับสวนในบ้านที่สามารถเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ในทุกโอกาส
“เราเป็น space management คือ manage ตั้งแต่เช้า กลางวันเย็น ให้ใช้อะไรได้บ้าง ตอนเช้าที่ยังเงียบสงบมาก คนอาจเช่าพื้นที่ทำโยคะ เพราะที่แบบนี้มันหาไม่ค่อยได้ในเมือง ตอนสายๆ ที่เราทำอยู่ก็คือให้คุณพ่อคุณแม่มาเช่าพื้นที่สำหรับให้ลูกๆ มาเล่นด้วยกัน เรียกว่าเป็นลานอเนกประสงค์ก็ได้”
ส้มชี้ให้เราดูตึกของอพาร์ทเมนท์ที่ขนาบข้างโฮสเทลแล้วเล่าต่อ
“ตอนที่สถานการณ์ยังปกติ ก็จะมีคนในละแวกมานั่งดื่ม นั่งกินข้าว เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่ากับเขาเหมือนกันนะ ก่อนเข้านอนก็มีคนจากตึกข้างๆ ลงมาดื่มไวน์ คุยกับเรานิดหน่อยแล้วค่อยขึ้นไปนอน บางทีหิ้วคอมพิวเตอร์มานั่งทำงานที่นี่ บางคนก็หอบขยะมาทิ้งไว้ที่บ้านเรา เพาะว่าคอนโดเขาไม่มีที่แยกขยะ เราก็จัดการให้เขา บางคนให้เราเรียกแท็กซี่ให้ บางคนทะเลาะกับแฟนก็มานอนกับเราคืนหนึ่ง บางคนมายืมจักรยาน ยืมจักรเย็บผ้า ยืมสว่าน ฝากกระเป๋า เขารู้สึกว่าเขามาที่นี่แล้วขออะไรก็ได้ แล้วเราก็อนุญาตให้เขายืม เราก็ใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนกลางสำหรับทุกคนได้ บางทีคนในตึกเองก็ชวนแขกของเราขึ้นไปว่ายน้ำบนตึกเขา มันมีความเกื้อกูลกัน”
ส้มนึกสักพักแล้วบอกกับเราว่าท้ายที่สุดแล้วเธอไม่สามารถอธิบายคำว่า ‘บ้านญาติ’ ของเดอะยาร์ดได้ นอกจากมองเห็นว่าระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา การมีอยู่ของที่นี่ถือเป็นส่วนเล็กๆ ที่ยังเชื่อมผู้คนในละแวกนี้ไว้ด้วยกัน
“ตลกมาก เวลาลูกค้าเดินออกไปจะยกมือไหว้เราหมดเลย เราไม่ได้รู้สึกยินดีกับการที่มีคนมาไหว้ แต่เรารู้สึกว่านี่เราแก่หรือว่าเขารู้สึกว่าเราเป็นพี่ เป็นแม่เขา ส่วนใหญ่คนออกไปแล้วจะเป็นแบบนั้น บางคนที่มาพักรายเดือน เขากลับบ้านก็จะส่งข้อความมาบอกว่ากลับบ้านนะ”
ส้มเล่าให้เราฟังพลางหัวเราะกับข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ของเธอ ทั้งยังเสริมว่ายังไม่รวมเวลาที่มีแขกมาเยือน ยังไม่ทันได้เข้าห้อง พวกเขามักจะทิ้งกระเป๋าไว้ แล้วมาพูดคุยกับสมาชิกเดอะยาร์ดก่อนเป็นอันดับแรก อีกแบบคือชอบถอดรองเท้าเดิน วางโทรศัพท์ วางกระเป๋าเงินไว้เรี่ยราด เพราะไม่มีใครกลัวว่าของจะหายไปไหน
‘สวนสาธารณะ’ อาจเป็นช่วงเวลาพักผ่อนเดียว
ในสัปดาห์ของใครบางคนก็ได้
“คนที่เข้ามาหาเราเพราะไม่มีพื้นที่อื่นให้ไป แค่สวนของเดอะยาร์ดที่มีอยู่เท่านี้ คนก็ยังได้ประโยชน์เลย พื้นที่มันให้โอกาสเหมือนกันนะ” เมื่อส้มบอกแบบนี้ ประเด็นเรื่องพื้นที่สาธารณะจึงผุดขึ้นกลางวงสนทนา และเธอเองก็เผยว่ากรุงเทพฯ น่าจะมีพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนมากกว่านี้
“พี่เป็นคนชอบวิ่ง มีสวนเล็กๆ อยู่ใกล้ๆ โฮสเทล หนึ่งรอบประมาณสามร้อยเมตร เราก็วิ่งอยู่แบบนั้น ยังดีที่มันใกล้ อยู่ในระยะที่เราปั่นจักรยานไปได้แค่ 5 นาที แต่บางคนชอบวิ่งในสวนใหญ่ๆ ก็ต้องขับรถ หรือขึ้นรถไฟฟ้าไปวิ่ง มันเป็นระยะที่ไกลเกินไป สวนสาธารณะควรอยู่ในระยะที่เราเดินได้
“พี่เคยไปสวนจตุจักร คนเขามาปูเสื่อนอนเล่นกัน กำลังจะกินขนม ก็มีคนไปไล่ไม่ให้เขากิน วันที่รู้สึกแย่มากคือไปแล้วเห็นคนโดนตรวจ เขาแค่มาเที่ยวกับสาวเฉยๆ นั่นอาจจะเป็นความสุขเดียวในหนึ่งสัปดาห์นั้นของเขาก็ได้
“บ้านเรามีกฎระเบียบเยอะ แต่ไม่เห็นได้อะไรเลย ที่ต่างประเทศกินเบียร์ในสวนสาธารณะก็ได้ สูบบุหรี่ก็ได้ ไม่รู้ว่านี่เป็นปัญหาหมากัดหางหรือเปล่า บางทีคนของเราเองอาจยังไม่มีวินัยพอ ที่ไม่เก็บกวาด รัฐก็ห้ามเราไปโดยปริยาย พี่ว่าเรายังไม่มีพื้นที่สาธารณะ ที่ให้เราไปใช้ได้อย่างอิสระเพียงพอ”
พื้นที่ทำกิน
ส้มทำให้เดอะยาร์ดกลายเป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างที่ตั้งใจมาเสมอ เธอมักหากิจกรรมที่ให้ผู้คนได้มารวมตัวกันอยู่เสมอ โดยที่ไม่เคยคิดคำนิยามมาก่อนว่าควรจะเรียกว่าอะไรดี แต่เธอกล่าวด้วยวลีง่ายๆ ว่านี่คือ ‘พื้นที่ทำกิน’
เย็นวันอังคารถึงวันเสาร์ สนามแห่งนี้จะถูกเนรมิตรให้เป็นลานบาร์บีคิวขนาดย่อมๆ ด้วยความที่สมาชิกเดอะยาร์ดไม่มีใครที่อยากลงมือทำอาหารเลย พวกเขาจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำอาหารด้วยตัวเอง โดยมีเนื้อหมู เนื้อวัวจากเพื่อนๆ เกษตรกรท้องถิ่นเตรียมไว้ แล้วให้ผู้มาเยือนจัดการปรุงด้วยรสมือของตัวเองอย่างเต็มที่ บางสุดสัปดาห์ลานตรงนี้ก็เปลี่ยนเป็นเวที ให้ผู้คนออกมาแสดง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ร้องเพลง หรือแม้แต่อ่านบทกวีที่เขียนมาเอง ส้มเปิดบ้านให้ญาติๆ เข้ามารวมตัวกันอย่างที่เธอตั้งใจ
“ทุกคนบอกว่าพื้นที่ในอารีย์แพงมาก ไม่มีใครยอมทิ้งสเปซสำหรับต้นไม้ ยอมทิ้งสเปซที่ดูเหมือนไม่ค่อยสร้างรายได้ แต่เราก็ทิ้งไว้เกินครึ่ง ถ้าทำเป็นคอมมูนิตี้มอลล์มันจะได้เงินเยอะกว่านี้ แต่เราคิดว่าเราโชคดี เพราะพอมีแนวคิดเรื่องการทิ้งสเปซไว้ มองย้อนกลับไปช่วงโควิด เรายังอยู่ได้เพราะตรงนี้คือสินทรัพย์ที่มาช่วยเรา ไม่อย่างนั้นคงไม่มีโอกาสได้จัดอีเวนท์ ไม่มีโอกาสทำมูฟวี่ไนท์ ไม่มีโอกาสทำบาร์บีคิวในสนามได้เลย
“หลังจากโควิดเรื่องราวมันไม่ได้ต่างไปจากตอนแรก เรายังใช้พื้นที่สนามให้คนหลบหนีโลกภายนอกเข้ามาได้ แล้วยังเทคแคร์เหมือนเป็นพี่เป็นน้องเหมือนเดิม”