“พระเจ้าอาจให้อภัยในบาปของคุณ แต่ระบบประสาทไม่คิดเช่นนั้น”
อัลเฟรด คอร์ยิบสกี (Alfred Korzybski) นักปรัชญาชาวโปแลนด์-อเมริกันพูดไว้อย่างน่าพินิจพิจารณา คอร์ยิบสกีคือผู้พัฒนาหลักคิดที่รู้จักในชื่อ ‘อรรถศาสตร์ทั่วไป’ (general semantics) ปรัชญาว่าด้วยการศึกษาหาความหมาย โดยเขาเสนอว่า ความรู้ของมนุษย์ที่มีต่อโลกถูกจำกัดด้วยระบบประสาทและภาษาที่มนุษย์พัฒนาขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถเข้าถึงความจริงได้ ‘โดยตรง’ ความจริงที่เรารับรู้อย่างมากที่สุดจึงเป็นเพียงความจริงที่ผ่านการกรองของการตอบสนองทางสมองอีกชั้น โดยคำกล่าวที่ถูกรู้จักมากที่สุดในแนวคิดนี้ และเป็นถ้อยคำที่ถูกไลฟ์โค้ช หรือหนังสือแนวพัฒนาตัวเองในยุคปัจจุบันหยิบยืมไปใช้อยู่บ่อยครั้งคือ ‘แผนที่ไม่ใช่อาณาเขต’ (‘The map is not the territory’) ที่พยายามอธิบายว่า สิ่งที่เราเห็นหรือเชื่อ เป็นเพียงภาพจำลองของความจริง (absolute truth)
กลับไปที่เรื่องการ ‘ให้อภัย’ โดยเฉพาะ ‘การให้อภัยตัวเอง’ (self-forgiveness) ความหมายของประโยคอ้างอิงข้างต้นแปลอย่างง่ายก็คือ เมื่อเราทำบางสิ่งผิดพลาด เรามักจะบันทึกมันไว้ในระบบประสาท และถ้ายึดตามหลัก ‘อรรถศาสตร์ทั่วไป’ ของคอร์ยิบสกี ก็อาจต้องบอกว่าเราได้วาดแผนที่ของความรู้สึกผิดบาปเหล่านั้นขึ้นมาในสมองแล้ว
แน่นอน ความรู้สึกผิดกับการกระทำของตัวเองเป็นสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งควรมี ถ้าความผิดพลาดนั้นสร้างผลกระทบต่อคนอื่น แต่หากความผิดพลาดของเราส่งผลแค่กับตัวเราโดยตรง การหมกหมุ่นอยู่กับความรู้สึกผิดซ้ำๆ ตลอดเวลาก็อาจกลายเป็นคำสาปที่ทำลายปัจจุบันได้อย่างร้ายกาจ เมื่อพิจารณาว่าในชีวิตแสนสั้นของมนุษย์ สิ่งที่แน่นอนที่สุดอย่างหนึ่ง คือ เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขเรื่องราวในอดีตได้ การรู้จักให้อภัยตัวเองจึงสามารถเป็น ‘ยาถอนพิษ’ ของ ‘ชีวิตที่ไม่อาจหวนกลับ’ พูดอย่างหยาบๆ ก็อาจต้องบอกว่ามันเป็นเครื่องปลอบประโลมที่ช่วยทำให้เรายังดำเนินชีวิตต่อไปได้ อย่างประโยคที่มักถูกยกมาอ้างอิงในเรื่องนี้จากปากของนักแสดงชาวอเมริกัน ซูซาน ซอเมอรส์ (Suzanne Somers) ที่ว่า “การให้อภัยคือของขวัญที่คุณมอบให้ตัวเอง”
แต่ในเมื่อมีผู้คนมากมายเหลือเกินพบว่า การให้อภัยตัวเองเป็นเรื่องยาก แถมยังโบยตีตัวเองซ้ำๆ ด้วยความผิดพลาดในอดีตที่ไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไข เราควรจะดีลกับความรู้สึกนี้แบบไหน และทำอย่างไรถึงจะพอให้อภัยต่อตัวเองได้บ้าง
ฮันนา อาเรินท์ (Hannah Arendt) นักคิดชาวเยอรมันคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 เขียนถึงประเด็นนี้ไว้ในหนังสือชื่อ The Human Condition ที่พยายามอธิบายเบื้องลึกของวิธีที่เราใช้สร้างตัวเองและสังคมโลกขึ้นมา โดยในบทที่ชื่อว่า ‘Irreversibility and The Power to Forgive’ เธออธิบายว่า
“หนทางที่เป็นไปได้ในการไถ่บาปจากการกระทำของเราในสถานการณ์อันยากลำบากที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไข …คือความสามารถในการให้อภัย”
เธอมองว่า ‘การให้อภัย’ คือกระบวนการพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ เคียงคู่กับ ‘การสัญญา’ โดยบอกว่า การสัญญาคือความสามารถพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับผู้อื่น ขณะที่การให้อภัยช่วยให้คนคนหนึ่งซ่อมแซมบาดแผลที่เกิดขึ้นระหว่างผู้คนรวมถึงตัวเอง
หรืออีกนัยหนึ่งคือ ขณะที่การสัญญาทำหน้าที่เยียวยาความกังวลใน ‘อนาคต’ ที่ไม่อาจคาดเดาและไม่แน่ไม่นอน การให้อภัยก็เป็นประหนึ่งยารักษาความพังทลายของจิตใจจากการกระทำที่เกิดขึ้นไปแล้วใน ‘อดีต’ ที่ไม่อาจย้อนกลับ
การกระทำต่างๆ ในชีวิตของเราเกิดจากสิ่งที่เราเป็นก็จริง อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งที่การกระทำนั้นไม่ได้อยู่บนความตั้งใจของสิ่งที่เราปรารถนาอยากจะเป็น เพราะไม่มีใครสามารถทำเรื่องถูกต้องเพอร์เฟ็คต์ได้ตลอดเวลา การให้อภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อขจัดความตึงเครียดของ ‘การกระทำ’ ในโลกแห่งความเป็นจริงกับ ‘ความปรารถนาที่เราอยากจะเป็น’ ในโลกแห่งจินตนาการออกไป
ตัวการสำคัญในเรื่องนี้หากเทียบกับปรัชญาตะวันออกก็อาจเป็นเรื่องการยึดติดอยู่กับ ‘ตัวกูของกู’ แถมยังเป็นตัวกูของกูที่อาจเป็นแค่ ‘แผนที่’ ของอัลเฟรด คอร์ยิบสกีที่เรากล่าวไปข้างต้น นั่นคือ เป็นเพียงภาพจำลองของความจริง
เหตุผลที่เราให้อภัยตัวเองได้ยากกว่าให้อภัยคนอื่น นั่นก็เพราะการกระทำของเราในอดีตถูกผูกติดแนบแน่นอยู่กับ ‘ตัวตน’ ของเรา เมื่อเราพยายามจะยกโทษให้ตัวเอง มันก็เหมือนกับการพยายามปลดเปลื้องบางสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งกับตัวเราออกไป ขณะที่หลายๆ ครั้ง ที่เรารู้สึกว่าการให้อภัยคนอื่นเป็นเรื่องง่ายกว่า นั่นก็เพราะมันเป็นเพียงการปลดปล่อยบางส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวตนของเราออกไปเท่านั้น (ตราบใดที่ความเจ็บปวดที่คนอื่นก่อไม่ได้ฝังลึกเจ็บแน่นจนกลายเป็นสิ่งที่สร้างตัวตนของเราขึ้นมาในทางใดทางหนึ่ง)
อาเรินท์เขียนไว้ว่า
“โดยปราศจากการได้รับการให้อภัย ปราศการถูกปลดปล่อยจากผลลัพธ์ของสิ่งที่เราได้ทำลงไป ความสามารถที่จะตอบสนองของเราจะถูกกักขังอยู่กับผลของการกระทำนั้น ซึ่งเราจะไม่มีวันชดเชยได้ เราจะถูกทำให้เป็นเหยื่อของผลที่ตามมาของการกระทำของเราไปตลอดกาล เหมือนพ่อมดฝึกหัดผู้ไม่รู้คาถาทำลายคำสาปของตน”
แน่นอน สำหรับบางคนมันไม่ใช่เรื่องง่าย นักจิตวิทยาอย่าง แมตธิว เจมส์ (Matthew James) เลยแนะนำว่า ขั้นแรกของการให้อภัยตัวเองคือการยอมรับให้ได้เสียก่อนว่าเราได้ทำเรื่องผิดพลาดขึ้น เราต้องยอมที่จะเป็นเจ้าของความบกพร่องหรือความผิดพลาดเหล่านั้น ซึ่งนัยหนึ่งการจำได้ถึงความผิดของตน อย่างน้อย ย่อมแสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเราก็ไม่ได้อยากให้ความผิดพลาดเกิดขึ้น
“การจดจำความผิดพลาด ความล้มเหลว หรือกระทั่งการทำเรื่องโง่ๆ คือส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ นั่นคือหนทางที่เราใช้เรียนรู้และเติบโต”
ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน แผนที่จึงต้องถูกเขียนขึ้นใหม่ตลอดเวลา บางทีก็อาจเหมือนชีวิต ความผิดพลาดเกิดขึ้นจริง แต่ชีวิตของเราต่างก็มุ่งไปข้างหน้า เมื่อแผนที่แผ่นเดิมที่เราขีดเขียนขึ้นในสมองเกี่ยวกับตัวเองไม่ใช่แผนที่ที่เอาไว้ใช้บอกจุดหมายปลายทางซึ่งเรากำลังมุ่งไป มันเป็นเพียงการบันทึกภูมิทัศน์ของเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต เป็น ‘ภาพแทนของความจริง’ ณ ช่วงขณะหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น
ใช่! ซากปรักหักพังแห่งชีวิตมีอยู่จริง ดำรงอยู่ตรงนั้นไม่หายไปไหน แต่ชีวิตที่ไม่อาจหวนกลับก็ไม่อนุญาตให้เราย้อนไปแก้ไข เราจึงต้องขีดเขียนแผนที่ใบใหม่อยู่เรื่อยๆ และการให้อภัยตัวเองก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น มันควรเป็นของขวัญที่เรามอบให้แก่ตัวเอง เพื่อที่เราจะมีชีวิตได้อย่างสุขสงบ เพื่อที่เราจะนอนหลับสนิทเมื่อค่ำคืนมาเยือน
…เพื่อที่เราจะได้เลิกโบยตีตัวเองเสียที
อ้างอิง
- Hannah Arendt. The Human Condition.
- Paul M. Hughes, Brandon Warmke. Forgiveness. https://stanford.io/3i6zlRx
- Matt James. How to Forgive Yourself and Move on From the Past. https://bit.ly/3zFkH9D