ปี 2005, เดือนพฤษภาคม, ประเทศตุรกี, เมืองอิสตันบูล, สนามโอลิมปิกอตาเติร์ก, การแข่งขันชิงแชมป์ฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ระหว่าง เอซี มิลาน กับ ลิเวอร์พูล, พักครึ่งเวลา, ผลสกอร์ 3 ต่อ 0, เอซี มิลานเป็นฝ่ายนำ.
ในหัวของ ราฟาเอล เบนิเตซ (Rafael Benítez) ผู้จัดการทีมของลิเวอร์พูลขณะนั้นว่างเปล่า เขารีบเดินเข้าสู่ห้องแต่งตัวก่อนเสียงนกหวีดหมดครึ่งแรกจะดังเล็กน้อย เบนิเตซไม่ได้เตรียมสุนทรพจน์ขนาดยาวใดๆ เอาไว้ ในสมุดบันทึกที่เขามักถือติดมืออยู่เสมอมีเพียงตัวอักษรตวัดหยาบๆ เป็นภาษาสเปนไว้ว่า ‘3-0. Lucharlo’ ซึ่งแปลได้ประมาณว่า ‘3-0. สู้เพื่อชัยชนะ’
เบนิเตซรู้ดีว่าเขากำลังจะต้องกล่าวถ้อยคำที่สำคัญที่สุดในชีวิตการเป็นผู้จัดการทีมต่อลูกทีมของเขา แรกเริ่มเขาใช้เวลาอธิบายถึงรายละเอียดของแผนการสลับตำแหน่งการยืนในสนาม และจะส่ง ดีทมาร์ ฮามันน์ (Dietmar Hamann) กองกลางตัวเก๋าชาวเยอรมันลงในครึ่งหลัง ก่อนบอกให้เขาออกไปวอร์มอัพ และกล่าวกับลูกทีมทุกคนว่า
“เราต้องสู้ เราเป็นหนี้แฟนบอล อย่าก้มหน้า พวกเราคือลิเวอร์พูล พวกคุณกำลังเล่นเพื่อลิเวอร์พูล อย่าลืมสิ่งนี้ คุณต้องเชิดหน้าขึ้นสูงเพื่อแฟนบอล คุณไม่สามารถเรียกตัวเองว่านักเตะของลิเวอร์พูลได้ด้วยศีรษะที่ก้มต่ำ เราทำงานมาอย่างหนักเพื่อมาที่นี่ เราเอาชนะยอดทีมมามากมาย สู้อีกแค่ 45 นาที และถ้าพวกเราทำประตูได้ เราจะอยู่บนเส้นทาง ถ้าคุณเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำมัน เราก็จะทำมันได้ จงให้โอกาสตัวเองในการจะได้เป็นวีรบุรุษ”
จากตรงนั้น การคัมแบ็กที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกฟุตบอลจึงเกิดขึ้น ต่อมาเหตุการณ์นี้ถูกรู้จักในนาม ‘ปาฏิหาริย์อิสตันบูล (Miracle of Istanbul) เมื่อลิเวอร์พูลสามารถตามกลับมาตีเสมอ และเอาชนะเอซี มิลาน จนคว้าแชมป์ยุโรปไปครองได้ในช่วงการตัดสินยิงจุดโทษ
ซึ่งปัจจัยสำคัญของปาฏิหาริย์นั้น แน่นอนว่าย่อมมีคำพูดของราฟาเอล เบนิเตซที่แสนเรียบง่ายนี้เป็นส่วนหนึ่ง
การพูดกระตุ้นเตือนก่อนการกระโจนออกไปทำภารกิจแสนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นก่อนเกมกีฬา ก่อนสงคราม ก่อนการก้าวขาออกจากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ชีวิตการทำงาน ในห้องประชุมที่หัวหน้าต้องกระตุ้นเตือนลูกทีมให้อยู่บนเส้นทาง หรือกระทั่งการให้กำลังใจกันและกันในวันที่หัวใจใครบางคนอ่อนแอและหมดแรง มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า Pep Talk
ข้อมูลจากเว็บไซต์ theidioms.com สันนิษฐานว่าคำว่า ‘pep’ นั้นน่าจะกร่อนเสียงมาจากคำว่า ‘pepper’ หรือ ‘พริก’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเผ็ดร้อน มีคุณค่าทางโภชนาการในการช่วยเพิ่มพลังงาน มันจึงถูกใช้อธิบายถึงคำพูดที่สามารถมอบพลังใจให้แก่จิตวิญญาณของผู้ฟัง ซึ่งจุดเริ่มต้นของการใช้คำ pep talk นั้นสามารถสืบย้อนกลับไปได้ไกลสุดในปี 1847 และปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือพิมพ์ The Mansfield News เมื่อปี 1926
แน่นอนว่า นั่นเป็นแค่เรื่องของพัฒนาการของการใช้คำในเชิงนิรุกติศาสตร์ แต่การพูดเพื่อกระตุ้นจิตใจให้ฮึกเฮิมชนิดฉุดวิญญาณผู้ฟังขึ้นมาจากความตายย่อมมีมาแล้วเนิ่นนาน ซึ่งในงานวิจัยที่โด่งดังของคู่สามี-ภรรยานักวิจัย แจ็กเกอลีน และ มิลตัน เมย์ฟิลด์ (Jacqueline, Milton Mayfield) จาก Texas A&M International University เรื่อง ‘ทฤษฎีภาษาเชิงกระตุ้น’ (Motivating Language Theory [MLT]) ได้อธิบายถึงอิทธิพลของภาษาต่อการกระตุ้นผู้ฟัง อันนำมาสู่การกระทำที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้วยหลักการพื้นฐาน 3 ข้อ ประกอบด้วย…
1.การมอบทิศทาง (direction giving) โดยสามีภรรยาเมย์ฟิลด์อธิบายมันในแง่ของการ ‘การลดความไม่ชัดเจนของภาษา’ นั่นคือ การที่ผู้พูดมอบข้อมูลที่แม่นยำ อธิบายถึงหนทางในการทำภารกิจนั้นๆ อย่างชัดเจนเป็นขั้นตอนและเข้าใจง่ายที่สุด
2.การแสดงออกถึงความเข้าใจและอารมณ์ร่วม (expressions of empathy) คือการที่ผู้พูดแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในสิ่งที่ผู้ฟังกำลังเผชิญอยู่ พูดง่ายๆ คือการใส่ใจในความเป็นมนุษย์ระหว่างกัน ผ่านภาษาที่เมย์ฟิลด์เรียกว่า Empathetic language เช่น ประโยคคำถามที่เปลี่ยนสรรพนามจาก ‘คุณ’ เป็น ‘เรา’ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้พูดเองก็กำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับผู้ฟัง เช่น “ตอนนี้พวกเราเป็นอย่างไรบ้าง’ หรือการแสดงออกถึงความเป็นห่วง อย่าง “ความรู้สึกของคุณคือสิ่งที่ฉันให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก”
3.การสร้างความหมาย (Meaning making) ปัจจัยนี้น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด นั่นคือการมอบ ‘ความหมาย’ ให้แก่ผู้ฟังว่า ‘เหตุใด’ พวกเขาจึงต้องทำภารกิจนั้นๆ ให้สำเร็จ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักเป็นการกล่าวถึงเรื่องราว และอุปสรรคต่างๆ นานาที่ผ่านมา และการบรรยายาถึงภาพของความสำเร็จที่กำลังรอคอยอยู่เบื้องหน้า ขณะเน้นย้ำถึง ‘ความสำคัญ’ ของสิ่งที่พวกเขากำลังทำว่ามันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาไปได้อย่างไร
หากสังเกตดีๆ เราจะพบว่า pep talk ของราฟาเอล เบนิเตซต่อลูกทีมระหว่างพักครึ่งในปี 2005 ล้วนตรงกับหลักการของเมย์ฟิลด์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการมอบทิศทางอย่างละเอียดละออและชัดเจน การแสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจในตัวผู้ฟัง รวมถึงการสร้างความหมายที่ทรงพลังและชัดเจน
อย่างไรก็ตามการสร้าง pep talk ที่สมบูรณ์ยังต้องคำนึกถึง ‘บริบท’ ของสถานการณ์ และเงื่อนไขต่างๆ ของ ‘ผู้ฟัง’ ไม่ว่าจะเป็นสภาพจิตใจ ความคิด ความเชื่อ หรือกระทั่งช่วงวัย ที่สำคัญ สิ่งที่เราควรตระหนักอยู่เสมอคือ ภาษาเป็นเรื่องจัดการได้ยาก มันลื่นไหล แสน tricky และสุ่มเสี่ยงที่จะพาเราไปสู่หลุมพรางของความซ้ำซากจำเจอย่าง “คุณทำมันได้”, “ผมเชื่อมั่นในตัวคุณ” หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่าย และไม่แน่ใจในตัวเองได้ในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ becommon จึงได้รวมรวบ pep talk อันทรงพลังทั้งจากภาพยนตร์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์มาให้ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้าง pep talk ในแบบฉบับของตัวคุณเองขึ้นมา หากวันไหนคุณต้องเจอกับสถานการณ์ที่ต้องมอบถ้อยคำเปี่ยมความหมายที่จะขจัดความสิ้นหวัง ฉุดวิญญาณผู้ฟังขึ้นจากความตายให้ใครสักคน …แม้กระทั่งตัวเอง
ทีเรียน แลนนิสเตอร์
“พวกเขาบอกว่าข้าคือครึ่งมนุษย์ แต่มันต่างจากสิ่งที่พวกแกได้รับการปฏิบัติยังไงกัน? มันมีทางออกอื่นๆ ในเรื่องนี้ ข้าจะแสดงให้เห็น ก้าวออกมา และไปกระทืบก้นของพวกมันกัน อย่าต่อสู้เพื่อกษัตริย์ และอย่าต่อสู้เพื่ออาณาจักรของเขา อย่าต่อสู้เพื่อเกียรติยศ อย่าต่อสู้เพื่อชื่อเสียง อย่าต่อสู้เพื่อความร่ำรวย เพราะแกจะไม่มีวันได้มัน สแตนนิส (สแตนนิส บาราเธียน) แปลว่าปล้นสะดม เจ้านั่นกำลังกระทุ้งประตูของพวกแกอยู่ และถ้ามันเข้ามาได้ บ้านของพวกแกก็จะถูกเผา ทองของพวกแกจะถูกกวาดเอาไป หญิงสาวของแกจะถูกมันข่มขืน เจ้าพวกนั้นกำลังเคาะประตูบ้านเราอยู่ ออกไปฆ่าพวกมันกัน”
นี่คือ pep talk ของตัวละครที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในซีรีส์สุดอมตะอย่าง Game of Thrones อย่าง ทีเรียน แลนนิสเตอร์ (Tyrion Lannister)—ทีเรียนเป็นคนแคระ ถูกมองเป็นตัวตลกอยู่เสมอ เขาไม่หล่อเหมือนจอห์น สโนว์ ไม่มีมังกรเหมือนแดเนริส ทาร์แกเรียน และดูเหมือนจะเป็นคนไร้ความสามารถในเชิงการรบที่สุดในตอนแรกเริ่มของซีรีส์ แต่ฉากนี้ในซีซันแรกๆ ก็ทำให้ผู้ชมตระหนักชัด ว่าแท้จริง ทีเรียนนั่นล่ะคือตัวละครที่เก่งกาจที่สุด ผ่านการหยิบจับคำพูดมาเป็นอาวุธได้อย่างเชี่ยวชาญ จนสามารถนำกองทัพเล็กๆ ที่กำลังจะโยนดาษยอมแพ้ให้กลับมาสู้ได้
โทนี มอร์ริสัน
“…เพราะอดีตคือหนี้สินที่ถูกบริหารจัดการอย่างผิดเพี้ยนในปัจจุบัน นอกจากนั้น ในทางกลับกัน สิ่งที่คุณอาจเคยได้ยินหรือเรียนมา ก็คือ อดีตยังไม่สิ้นสุดและยังไม่จบสิ้น มันยังอยู่ในกระบวนการผลิต ซึ่งถ้าพูดอีกอย่างก็คือ เมื่อมันถูกวิจารณ์และวิเคราะห์ มันจะมอบข้อมูลใหม่ๆ ของตัวเองออกมา อดีตกำลังถูกทำให้เปลี่ยนไปเมื่อได้รับการตรวจสอบอีกครั้ง เมื่อเสียงสะท้อนกึกก้องถูกรับฟังอย่างลึกซึ้ง และแท้จริงแล้ว มันสามารถมีอิสระเสรีมากยิ่งกว่าการจินตนาการถึงอนาคต ถ้าคุณเต็มใจจะพิสูจน์ แทนที่จะหลบหนีหลีกเลี่ยง บิดเบือน โกหก และยินดีที่จะเปิดเผยความลับของมันออกมา”
“…แน่นอน คุณเป็นคนธรรมดา แต่คุณก็พิเศษเช่นเดียวกัน คุณเป็นพลเมือง เป็นประชาชน และเป็นมนุษย์ที่ไม่เหมือนใครในโลกใบนี้ ไม่มีใครมีความทรงจำแบบเดียวกับคุณ สิ่งที่คุณรู้ในตอนนี้ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่คุณสามารถเรียนรู้ได้ คุณคือเรื่องราวของตัวเอง คุณจึงมีเสรีที่จะจินตนาการและสัมผัสกับความหมายของการเป็นมนุษย์โดยไม่ต้องพึ่งพาความมั่นคั่ง รู้สึกกับการเป็นมนุษย์โดยไม่ต้องครอบงำคนอื่น โดยปราศจากความหยิ่งผยองพองขน โดยปราศจากความกลัวว่าจะมีคนไม่ชอบขี้หน้าคุณ โดยไม่จำเป็นต้องหมุนวนก่อสร้างความเกลียดชังที่คุณเคยเรียนรู้มาแล้วขึ้นอีกครั้ง และแม้ว่าคุณจะไม่สามารถควบคุมการเล่าเรื่องได้อย่างสมบูรณ์ (ฉันจะบอกให้ว่า ไม่มีนักเขียนคนไหนทำได้) แต่ถึงอย่างนั้นคุณก็สามารถสร้างเรื่องราวขึ้นมาได้”
นี่คือบางส่วนจากสุนทรพจน์ของ โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) นักเขียนรางวัลโนเบลเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันหญิงคนแรก ผู้ใช้ภาษาและถ้อยคำเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความเท่าเทียมของคนผิวดำผ่านนิยายและเรื่องเล่าของตัวเอง
ในปี 2004 เธอขึ้นพูดในวันจบการศึกษาของนักศึกษาจาก Wellesley College โดยกระตุ้นเตือนให้ผู้ฟังให้ความสำคัญต่ออดีต ซึ่งสามารถมอบแนวทางการใช้ชีวิตต่อปัจจุบันและอนาคต คำพูดของเธอเป็น pep talk ที่มอบมุมมองเกี่ยวกับอดีตในมุมใหม่ ซึ่งผู้ฟังสามารถนำมันไปปรับใช้เป็นเครื่องนำทางได้ตลอดชีวิต
ร็อคกี้ บัลบัว
“ให้ฉันบอกอะไรที่นายน่าจะรู้อยู่แก่ใจสักอย่าง โลกไม่ได้มีแค่แสงแดดเริงร่าหรือรุ้งกินน้ำอันเบิกบาน โลกคือสถานที่อันโหดร้ายและเหม็นเน่า และมันไม่สนใจหรอกว่านายจะแกร่งแค่ไหน มันจะหวดนายจนรากเลือด และจะทิ้งนายไว้ตรงนั้นตลอดกาลถ้านายไม่ลุกขึ้น นาย ฉัน หรือใครก็ตามไม่มีทางจะฟาดได้แรงกว่าชีวิต มันไม่เกี่ยวกับว่านายเหวี่ยงหมัดออกไปแรงแค่ไหนหรอกนะ มันเกี่ยวกับว่านายจะรับความบัดซบหนักหนาสาหัสได้ไหม และนายยังเดินหน้าต่อไปได้หรือเปล่า มันเกี่ยวกับว่านายจะแบกมันได้สักเท่าไหร่ และมุ่งไปข้างหน้าได้มากแค่ไหน นั่นคือวิถีของชัยชนะ”
นี่คือ pep talk ของตัวละคร ร็อคกี้ บัลบัว (Rocky Balboa) นำแสดงโดย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) ในภาพยนตร์กีฬาสัญญาณอเมริกันชื่อ Rocky Balboa ซึ่งออกฉายในปี 2006 อันเป็นภาคที่ 6 ในซีรีส์ชุดร็อคกี้ที่เข้าฉายครั้งแรกตั้งแต่ปี 1976
ส่วนฉาก pep talk ฉากนี้เกิดขึ้นหลังจากพระเอกนักมวยผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งกำลังอยู่ในวัยโรยราอย่างร็อคกี้ บัลบัว ถูกลูกชายของตัวเองตะโกนใส่หน้า ถึงแรงกดดันและความทรมานในการต้องเติบโตมาภายใต้เงาอันยิ่งใหญ่ของผู้เป็นพ่อ จนร็อคกี้ต้องบอกกับตัวเจ้าลูกชายว่า นั่นเป็นเพราะเขาหยุดที่จะสื่อสัตย์ต่อความเป็นตัวของตัวเอง และ “ปล่อยให้คนอื่นชี้หน้าและบอกว่านายมันไม่ได้เรื่อง” ก่อนที่จะมอบ pep talk อันยืดยาวและงดงามนั้นจนเขาต้องอึ้ง
แอนดี้ ดูเฟรนส์
The Shawshank Redemption (1994) หนังสุดอมตะว่าด้วยชีวิตของอดีตนายธนาคาร—นักโทษในคุกคนหนึ่งที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง กลับมาให้ผู้คนได้รับชมอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ผ่านแฟลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Netflix
ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกกล่าวต่อผู้ชมอย่างซื่อสัตย์ผ่านเรื่องราวของตัวละครผู้พยายามจะใช้ชีวิตอยู่อย่างสง่างามและมีศักดิ์ศรีขณะที่โลกกำลังทำให้จิตวิญญาณของเขาแหลกสลาย
แอนดี้ ดูเฟรนส์ (นำแสดงโดย ทิม ร็อบบินส์ [Tim Robbins]) ถูกตัดสินให้จำคุกด้วยโทษยาวนาน 19 ปี ในความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ เขาเข้ามาในคุก มีชีวิตอยู่รอดอย่าทนง ด้วยบุคลิกที่มั่นคง และชาญฉลาด ในหนัง The Shawshank Redemption จึงมีประโยคจากปากของเขาที่น่าจดจำมากมาย และหนึ่งในคำพูดที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุด นั่นคือ pep talk ที่แอนดี้บอกต่อเพื่อนร่วมคุกอย่าง เอลลิส “เรด” เรดดิง (แสดงโดย มอร์แกน ฟรีแมน [Morgan Freeman]) และอีกแง่หนึ่งมันก็ดูเป็น pep talk ที่ราวกับเขาจะกล่าวเตือนต่อตัวเองไปพร้อมๆ กัน
“ผมเดาเอาว่า สุดท้าย เราคงก้าวมาสู่ทางเลือกที่เรียบง่ายเอามากๆ แล้วล่ะว่าจะใช้ชีวิตอย่างเต็มเหนี่ยว หรือตายอย่างไร้ค่า”
เมซิเดซ บาร์ชา
ปี 1966 นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์หนุ่ม กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) (ซึ่งต่อมาจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1982 และถูกรู้จักในฐานะนักเขียนผู้เป็นต้นธารสำคัญในการสร้างงานเขียนแนว ‘สัจนิยมมหัศจรรย์’ [Magical Realism] ขึ้น) ตัดสินใจละทิ้งทุกอย่าง บ่ายหน้าเข้าหาหน้ากระดาษว่างเปล่า เพื่อลงมือเขียนงานมาสเตอร์พีซของตนในชื่อ Cien años de soledad หรือ One Hundred Years of Solitude หรือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ในภาคภาษาไทย
ตลอด 18 เดือนเต็มๆ ที่ครอบครัวของเขาไม่มีรายได้ ภรรยาของเขาอย่าง เมซิเดซ บาร์ชา (Mercedes Barcha) รับบทบาทเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวเพียงลำพัง โดยไม่ปริปากบ่น เธอปล่อยให้สามีของตนได้อยู่กับความเงียบและการเสกสร้างถ้อยคำของเขาเองมากเท่าที่ใจยาก ระยะเวลา 18 เดือนเต็มๆ ที่เธอเป็นทุกอย่าง เป็นผู้รักษาประตูของครอบครัว เป็นผู้เก็บความกังวลไว้ลำพัง เป็นเทพธิดาที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่งานเขียนของมาร์เกซ …เป็นความเงียบที่มีพลังรุนแรงกว่าถ้อยคำ pep talk ใดๆ
เพราะบางครั้ง เพียงการดำรงอยู่เคียงข้างโดยไม่จำเป้นต้องพูดอะไรออกไป ก็นับเป็นแรงกระตุ้นอันยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน
กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ หมกหมุ่นกับการเขียนนิยายของเขายาวนาน 18 เดือน จนกระทั่งถึงวรรคสุดท้าย จนกระทั่งเขาเตรียมพร้อมที่จะส่งต้นฉบับออกไปสู่บรรณาธิการ นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่เมซิเดซ บาร์ชาเอ่ยถามกับเขาว่า
“คุณเขียนนิยายจบแล้วใช่ไหม ตอนนี้เราเป็นหนี้อยู่ราวๆ 12,000 ดอลลาร์แน่ะ”
อ้างอิง
- The Week Magazine. Remembering Mercedes Barcha, partner and muse of Gabriel Garcia Marque. https://bit.ly/3ewZ5U0
- Sam Wallace. Half-time pep talk that led to greatest comeback. https://bit.ly/3sQ3Qgt
- The PA Team. The Greatest Half Time Team Talks – Rafa Benitez in Istanbul. https://bit.ly/32QysE9
- Daniel McGinn. The Science of Pep Talks. https://bit.ly/2Sat2lv
- Toni Morrison. ”Be Your Own Story”. https://bit.ly/3evJog0