ในช่วงเวลาของการล็อกดาวน์ปีที่แล้ว เราเคยเปรียบเปรยสภาวะในตอนนั้นว่า ราวกับคนไทยนำปรัชญาความสุขแบบฮุกกะ (Hygge) ของเดนมาร์กมาใช้ให้เข้ากับสภาวะของการกักตัวอยู่กับบ้านโดยไม่รู้ตัว
เช่น การปลูกต้นไม้ อบบราวนี่ หรือรียูเนียนกับเพื่อนเก่าผ่านกรุ๊ปสถาบันต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ใหม่เพียงชั่วคราว แต่ส่งผลให้หลายคนมีอาชีพใหม่หรืออาชีพเสริมแบบยาวๆ จนถึงปัจจุบัน
เหล่านี้ล้วนเป็นฮุกกะแบบไทยๆ ที่อิงกับวิถีชีวิตของชาวเดนนิชที่ต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเหน็บเกือบตลอดปี พวกเขาจึงตระหนักถึงความสุขเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัว
แต่หลังจากพยายามมีความสุขแบบจำกัดภายในเคหะสถานมานานหนึ่งปี โรคระบาดก็ยังคงเกาะหนึบอยู่กับวิถีชีวิตของพวกเรา จนฮุกกะอย่างเดียวคงเอาไม่อยู่เสียแล้ว
เราจึงของัดเอาไม้ตายอย่าง ‘ซิสุ’ (Sisu) ปรัชญาการใช้ชีวิตแบบฟินนิชมานำเสนอ เผื่อจะทำให้ชาวเราก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้
ซิสุไม่ใช่แค่การแสวงหาความสุขจากสิ่งรอบตัวเหมือนอย่างฮุกกะ และก็ไม่ใช่แค่การรักษาสมดุลชีวิตให้พอดีในแบบ ลากอม (Lagom) ตามปรัชญาการใช้ชีวิตแบบสวีดิช
แม้ปรัชญาของทั้ง 3 ชนชาติ จะเกิดจากเหตุผลทางภูมิศาสตร์เหมือนๆ กัน เพราะด้วยละติจูดที่ตั้งของฟินแลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดน ทำให้ผู้คนในแถบนอร์ดิกต้องเผชิญสภาพอากาศหนาวเหน็บชวนหดหู่ยาวนานเกือบปี ทำให้พวกเขาต้องแสวงหาหนทางมีความสุขภายใต้ข้อจำกัดทางธรรมชาติมาตั้งแต่อดีตกาล
แต่ซิสุเข้มข้นด้วยแนวคิดในการปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งความกล้าหาญ แข็งแกร่ง และมีมานะอุตสาหะ ไม่ยอมแพ้ต่อข้อจำกัดต่างๆ อันเกิดจากการยอมรับว่า ชีวิตเต็มไปด้วยความท้าทาย
ดังนั้น การใส่ความพยายามในการเอาชนะขีดจำกัดเข้าไปสุดแรง จึงเป็นวิถีสร้างความสุขตำรับ ‘หากไม่รู้จักเจ็บปวดก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ’ ของชาวฟินแลนด์
กล่าวกันว่า ซิสุเป็นปรัชญาสำคัญที่ทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างฟินแลนด์เอาชนะประเทศมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียตในสงครามฤดูหนาวเมื่อทศวรรษ 1940 รวมถึงสามารถปฏิรูปการศึกษาจากเดิมที่มีคุณภาพเพียงค่าเฉลี่ย กลายมาเป็นชาติที่มีการศึกษาดีที่สุดได้ในโลก
และเพราะซิสุเช่นกัน ทีทำให้ฟินแลนด์ครองแชมป์ประเทศที่ผู้คนมีความสุขที่สุดในโลก 4 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2018 ถึงปัจจุบัน
ใครเคยไปเที่ยวฟินแลนด์ จะพบคำว่า ‘ซิสุ’ อยู่ดาษดื่น มองไปบนถนนก็จะเห็นรถบรรทุกแบรนด์ Sisu ไปร้านค้าก็เจอลูกอมยี่ห้อ Sisu นอกจากนี้ ซิสุยังปรากฏอยู่ในคำขวัญอย่างไม่เป็นทางการของฟินแลนด์ที่ว่า ‘ซิสุ ซาวน่า และซิเบเลียส’ ซึ่งรวม 3 อัตลักษณ์ของประเทศเอาไว้ ได้แก่ ปรัชญาการใช้ชีวิต ต้นกำเนิดการอบตัวด้วยไอร้อน และ Jean Sibelius นักประพันธ์เพลงคนสำคัญของชาติ
ซึ่งซิบิเลียสเองก็เปรียบซิสุเหมือนการฉีดยาเข้าที่แขนเพื่อให้คนคนหนึ่งฮึดทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จนสำเร็จ
เอมิเลีย ละห์ติ (Emilia Lahti) นักวิจัยแถวหน้าของโลกเรื่อง ซิสุ อธิบายว่า หากแปลตรงตัว ซิสุจะแปลว่า ลำไส้ (guts) ส่วนในภาษาฟินน์ ชิสุ แปลว่า สิ่งที่อยู่ข้างใน
ดังนั้น หากไปถามคนฟินนิชว่า ซิสุหมายถึงอะไร แม้คำตอบของพวกเขาอาจจะเหมือนหรือต่างกัน แต่ท่าทางที่พวกเขาพร้อมใจกันทำเพื่อประกอบคำอธิบายจะเป็นการชี้ไปที่ท้อง ไม่ใช่ที่สมองหรือหัวใจ
เพราะจุดเริ่มต้นของซิสุต้องเกิดจากการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพอที่จะไปต่อกรกับอุปสรรคต่างๆ รอบตัว นำไปสู่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางใจ
“ซิสุคือการอยู่ในสถานการณ์ที่ทดสอบเรา และเปิดโอกาสให้เห็นว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง” ละห์ติสรุปความ
ดังนั้น ซิสุจึงว่าด้วยเรื่องของทัศนคติทางกายและใจที่ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกโดยยึดจากหลักใหญ่ 3 ข้อ อย่าง วิถีชีวิตอันอดทนกระฉับกระเฉง ชอบอยู่กลางแจ้งในทุกสภาพอากาศ และชอบทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง (DIY)
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุผลที่ชาวฟินน์ส่วนใหญ่สามารถเป็นเจ้าของวิถีชีวิตอันอดทนกระฉับกระเฉงได้ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของรัฐสวัสดิการ
ประชากรในฟินแลนด์ทุกคนจึงสามารถเข้าถึงระบบดูแลเด็ก สาธารณสุข การศึกษา และสาธารณประโยชน์อื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียม เช่น การวางผังเมืองให้คนเดินเท้าและคนขี่จักรยานไปไหนมาไหนได้สะดวกทั่วทั้งเมือง ทำให้ชาวฟินน์สามารถใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงจากการปั่นจักรยานไปทำงานได้ทุกวัน
หรือแม้การ ‘ชอบอยู่กลางแจ้งในทุกสภาพอากาศ’ จะทำให้หลายคนนึกถึงภาพการลงไปแช่น้ำในทะเลสาบช่วงฤดูหนาว เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกายของคนฟินนิช แต่การปั่นจักรยานไปทำงานท่ามกลางหิมะในฤดูหนาวให้เป็นกิจวัตรปกติเหมือนที่เคยทำในหน้าร้อน ก็เป็นซิสุเช่นกัน
ส่วนการชอบทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ก็หมายถึงการลองซ่อมของที่พังก่อนจะซื้อใหม่ ปรับปรุงบ้านเองก่อนตัดสินใจจ้างผู้รับเหมา หรือทำความสะอาดบ้านเองแทนที่จะจ้างแม่บ้าน เป็นต้น
ทั้งสามข้อนี้คนไทยอาจเถียงจนคอเป็นเอ็นว่า บ้านฉันอากาศร้อน ฉันทำไม่ได้ ฉันจึงไม่ทำ!
แต่ถ้าลองพิจารณาดูให้ดี ก็มีวิธีเข้าถึงซิสุในแบบคนเมืองร้อนอยู่เหมือนกัน
เช่น ไม่ถึงกับต้องปั่นจักรยานฝ่าแดดจ้าและอากาศที่อุดมด้วยมลพิษ แค่เปลี่ยนจากการกดลิฟท์เพื่อขึ้นอาคาร 3-4 ชั้น เป็นการเดินขึ้นบันได ก็เสริมสร้างซิสุในตัวได้แล้ว เช่นเดียวกับการลองทำความสะอาดบ้านเอง แทนที่จะจ้างแม่บ้านอย่างเคย หรือออกไปตากแดดเพื่อปลูกผักสวนครัวกินเองบ้าง ก็ถือเป็นการอยู่กลางแจ้งในทุกสภาพอากาศอย่างไม่ต้องจงใจ
นอกจากนี้ ซิสุยังกินความหมายรวมไปถึงการไม่ย่อท้อ ไม่เอื่อยเฉื่อย และไม่กลัวการลองสิ่งใหม่ ซึ่งกินความหมายถึงการกล้าที่จะก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน แล้วกระโจนเข้าสู่การลงมือทำบางอย่างที่ตั้งใจ เช่น ลาออกจากงานประจำเพื่อเป็นฟรีแลนซ์ หรือทำกิจการส่วนตัวอย่างที่ฝันไว้ ก็ถือเป็นซิสุได้เช่นกัน
หรือว่ากันอย่างง่ายที่สุด ซิสุคือการที่ใครสักคนสามารถเปลี่ยนทัศนคติจาก “ทำไม่ได้หรอก” “เหนื่อยเกินไป” “ไว้วันหลังค่อยลอง” เป็น “ว้าว รู้สึกดีจัง” และ “ถ้าทำสิ่งนี้ได้ ฉันจะทำอะไรได้อีกนะ” จากใจจริง
อ้างอิง
- กัตเทีย พันต์ซาร์ เขียน, กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ แปล. Finding Sisu เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว. โอเพ่น โซไซตี้, 2561.