life

ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน 

วลีคลาสสิกข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่า ‘การงาน’ มีอานุภาพถึงขั้นเป็นตัวชี้วัดคุณค่าของมนุษย์คนหนึ่งได้ พลังนี้เป็นเบื้องหลังที่ทำให้ผู้คนตื่นเช้า ขวักไขว่อยู่บนท้องถนน และมุ่งหน้าไปยังที่แห่งหนึ่ง เพื่อใช้เวลา 7-8 ชั่วโมงต่อวันสำหรับการทำงาน 

ชีวิตที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองชิ้นหนึ่งของเครื่องจักรที่ไม่เคยหยุดหมุน ในวันแรกของการเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือวันเกษียณอายุ คงมีสักครั้งที่นึกสงสัยว่า “การทำงานมีความหมายกับตัวเราอย่างไร?”  

เราทำงานเพื่อยังชีพ นั่นเป็นเหตุผลข้อแรกที่ใครๆ ต่างก็ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือผลตอบแทนใดๆ สิ่งนั้นจะทำให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้ ทั้งยังเสริมแรงให้อยากทำงานต่อไปเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีข้อโต้แย้งทางจิตวิทยาระบุว่ามนุษย์ไม่ได้ทำงานเพื่อดำรงชีพอย่างเดียว แต่ยังทำเพื่อให้รู้สึกตัวเองมีคุณค่าอีกด้วย 

เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย แม้พนักงานรัฐจะไม่ได้รับค่าจ้างนานหลายเดือน แต่พวกเขายังคงไปทำงานอย่างตรงเวลาทุกวันเพราะนั่นทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในสถานการณ์เช่นนี้ 

งานถูกผูกไว้กับคุณค่าของคน เราตระหนักถึงเรื่องนี้ได้เหมือนๆ กันในฐานะที่เป็นพลเมืองภายใต้เศรษฐกิจและสังคมเดียวกัน และยังมีงานอีกประเภทซึ่งเป็นงานที่เราสามารถรับรู้ได้ในฐานะที่เป็นประชากรโลกเหมือนกันคือ งานที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์’ (The real business of life) 

เฮนรี เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) นักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งอุทิศชีวิตให้กับการสำรวจ สังเกตและบันทึกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติตระหนักถึงงานชนิดนี้และกำลังมองหาความสมดุลระหว่างการทำงาน การเลี้ยงชีพและการใช้ชีวิต เพื่อให้เฟ้นหาศิลปะการใช้ชีวิตให้มีความสุขในแบบของเขาเอง เขาเชื่ว่ามนุษย์จำเป็นต้องทำงานเพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณของตัวเองไปพร้อมๆ กับยังชีพด้วย 

จิตใจที่สมบูรณ์คือเป้าหมายในการทำงานของธอโร เขาทำอาชีพรับจ้างชั่วคราวเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยสี่ไม่ว่าจะเป็นช่างต่อเรือ คนเพาะปลูก ซ่อมรั้ว ฯลฯ งานหลักของเขาคือการจดบันทึก แต่ถึงกระนั้นธอโรก็ลงมือเขียนงานเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน แล้วใช้เวลาที่เหลือหมดไปกับการเดินสำรวจป่าในละแวก เพราะความเข้าใจธรรมชาติถือเป็นการเติมเต็มจิตวิญญาณการเป็นมนุษย์ของเขาได้อย่างเต็มเปี่ยม 

การทำงานหนักที่กินเวลานานเพิ่งถือกำเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 1930 หลังทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) เราทำงานเพื่อตอบสนองการบริโภคและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ผู้คนค่อยๆ แยกการทำงานออกจากจิตวิญญาณตัวเองไปเรื่อยๆ ทั้งที่ชีวิตนั้นมีหลากหลายมิติให้เติมเต็มไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สุขภาพ การแสวงหาความหมายของสิ่งต่างๆ ฯลฯ 

ความหมายของการทำงานหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองในวันที่หัวใจของวัยเยาว์ได้แห้งเหี่ยวไปเสียแล้วสำหรับบางคนอาจหมายถึงสิ่งไร้ความหมายในท้ายที่สุด 

คำถามที่ว่า “การทำงานของฉันมีความหมายอย่างไร” ไม่เพียงแต่จะพาชีวิตการทำงานที่แยกออกไปกลับมารวมที่ตัวเราอีกครั้ง แต่ยังชวนให้หาคำตอบต่อไปอีกว่า แท้จริงแล้วการเกิดเป็นมนุษย์ของเราต้องการอะไร และเราจะทำงานแบบไหนที่เติมเต็มสิ่งนั้น 

อ้างอิง 

  • Oshan Jarow.Making a Living as Making a Life: Thoreau on Work & Life’s Real Business.https://bit.ly/3jIMiOV 
  • Nigel Barber.Is money the main reason we go to work?.https://bit.ly/34GfMZB 
  • Henry David Thoreau.Walden.(1854)