life

“ถึง ไดอารี…”

เป็นประโยคแรกที่ ‘เรย์’ ตัวเอกในเรื่อง My Mad Fat Diary เด็กสาววัยรุ่นที่กำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเขียนลงในไดอารีของตัวเองทุกครั้ง ในระหว่างที่เธอกำลังบำบัดอาการป่วย

เธอมักจะเล่าความรู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแต่ละวันให้ไดอารีเล่มโปรดฟัง และตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นได้ว่าเรย์รู้จักตัวเองมากขึ้นจากการพูดคุยกับตัวเองในไดอารี สามารถเผชิญหน้ากับอดีตที่เลวร้ายและพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นได้ในที่สุด

ทำไมเธอถึงเลือกจะเขียน และ ‘การเขียน’ ทำให้เธอรู้จักตัวเองมากขึ้นได้อย่างไร ?

การเขียนคือการสื่อสารอย่างหนึ่งของมนุษย์ นอกจากจะเขียนเพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้มนุษย์อีกคนฟังแล้ว การเขียนยังเป็นการเล่าความคิดของเราเองออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ตัวอักษรที่เราเห็นคือการนำเอาความคิดที่วกวนอยู่ข้างในหัวออกมาแผ่หราอยู่บนกระดาษ และสิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่าเรากำลังคิดอะไร และรู้จักตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบันทึกประจำวัน เขียนนิยาย หรือเขียนสเตตัสบนเฟซบุ๊ก นอกจากจะเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง การเขียนจะพาเรากลับไปเชื่อมโยงกับความคิดตัวเองอีกครั้ง คล้ายกับการพูดออกมาอย่างอิสระ ที่ทำให้ประสบการณ์ อคติ ความคิดที่สะเปะสะปะหลั่งไหลออกมา เพียงแต่การเขียนจะมีลายลักษณ์อักษรให้เรากลับไปอ่านและทบทวนเพื่อสำรวจความคิดของตัวเองให้ชัดเจนกว่าการพูดหรือการนั่งคิดเฉยๆ

แม้กระทั่งการเขียนนิยายที่นักเขียนอาจจะวางโครงเรื่องในแต่ละตอนไว้อย่างละเอียดแต่ท้ายที่สุดแล้วหลายๆ คนกลับพบว่าเรื่องราวมักจะหลั่งไหลออกมาจากตัวตนข้างในของพวกเขา นำเอาประสบการณ์และตัวตนที่อยู่ข้างในนั้นออกมาอยู่ในเรื่องราวที่พวกเขาเขียนด้วย

เช่น อลิซ ฟีนีย์ (Alice Feeney) นักเขียนชาวอังกฤษ เจ้าของเรื่อง Rock Paper Scissors ที่พบว่าหลังจากที่เริ่มเขียนนิยาย เธอมักจะเขียนแต่เรื่องราวชวนหดหู่และน่ารำคาญใจออกมาอยู่บ่อยๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ จนทำให้แรกๆ เธอสับสนว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็สามารถกลายมาเป็นงานเขียนที่ดีเล่มหนึ่งของเธอได้

การเขียนอีกประเภทที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานคือ การเขียนแบบฟรีไรติ้ง (Free writing) ซึ่งเป็นการเขียนแบบไร้กรอบที่นำเอาความคิดทั้งหมดของเราออกมาอยู่บนกระดาษ กล่าวง่ายๆ คือคิดอะไรก็เขียนออกมาตอนนั้น โดยมีกฎข้อที่สำคัญที่สุดคือเขียนไปเรื่อยๆ ห้ามหยุด และอย่าหวนกลับไปแก้ไขสิ่งที่เขียน ปล่อยให้ความคิดไหลบ่าออกมาอย่างเต็มที่

ในศตวรรษที่ 19 คนทรงเจ้ามักอ้างว่าเขากำลังติดต่อกับวิญญาณในอีกมิติด้วยการเขียนแบบไม่หยุดมือ วิลเลียม บัตเลอร์ เยตส์ (William Butler Yeats) กวีและนักเขียนบทละครชาวไอริชเองก็ได้รับอิทธิพลจากการเขียนแนวนี้เช่นกัน ต่อมาในศตวรรษที่ 20 โดโรเธีย แบรนด์ (Dorothea Brande) ก็ได้เล่าถึงการเขียนประเภทนี้ไว้ในหนังสือ Becoming a Writer (1934) ของเธอว่านี่เป็นการเขียนที่ทำให้มนุษย์เราเชื่อมต่อกับจิตใต้สำนึกของตัวเอง

นอกจากการเขียนในระดับที่พอจะทำให้เราจัดระเบียบความคิดและเข้าใจตัวเองมากขึ้นแล้ว ในทางจิตวิทยาก็ได้มีการนำการเขียนมาใช้บำบัดผู้ป่วยทางจิตเวช โดยที่มีการดูแลอย่างใกล้ชิดอีกด้วย เพราะการเขียนเป็นอีกหนึ่งวิธีบำบัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเป็นอิสระจากเรื่องราวที่ติดค้างในชีวิตได้ อีกทั้งยังเยียวยาจิตใจให้กลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง

เจมส์ เพนเนเบเกอร์ (James Pennebaker) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสออสติน และ โจชัว สมิธ (Joshua Smyth) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ได้ทำการทดลองและผลสรุปชี้ให้เห็นว่าการเขียนระบายอารมณ์และความเครียดช่วยให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโรคต่างๆ ดีขึ้นได้

โจชัวได้ทำการการศึกษาผลกระทบทางกายภาพของการเขียน เขาทดลองโดยการให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรครูมาตอยด์ จำนวน 107 คน เขียนเกี่ยวกับเรื่องในชีวิตเป็นเวลา 20 นาที ทุกๆ สามวัน โดย 71 คนแรกเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียดที่สุดในชีวิต ส่วนที่เหลือเขียนเกี่ยวกับอารมณ์ธรรมดาประจำวันของพวกเขา

4 เดือนผ่านไป ผลการทดลองพบกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่เขียนเรื่องความเครียดนั้นมีอาการดีขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่ม เจมส์เองก็พบผลลัพธ์คล้ายๆ กันกับโจชัวโดยการทดลองกับผู้ป่วยเอชไอวี เขากล่าวว่า “การเขียนทำให้คุณวางโครงสร้างและการจัดระเบียบความรู้สึกกังวลใจเหล่านั้น และมันช่วยให้คุณผ่านพ้นไปได้”

อย่างไรก็ตามแม้การเขียนจะเป็นหนึ่งวิธีบำบัด แต่ไม่ได้หมายความว่านี่จะเป็นวิธีที่เหมาะสมกับมนุษย์ทุกคน การรู้จักตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่การเยียวยาเสมอไป สำหรับบางคนแล้วนั่นอาจยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจให้เจ็บปวดกว่าเดิมได้  โดยการเขียนอาจทำให้ยิ่งหมกมุ่นกับเรื่องราวที่ทำร้ายจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่รู้วิธีที่จะออกจากวังวนเหล่านั้น ขั้นตอนการบำบัดนั้นจึงจำเป็นต้องอยู่ในสายตาของนักจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตลอดเวลา

ผลการศึกษายังพบอีกว่า ‘เวลา’ ก็เป็นสิ่งสำคัญ บางคนอาจรู้สึกแย่กว่าเดิม หากต้องเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนใจที่เพิ่งเกิดสดๆ ร้อนๆ เพราะพวกเขายังไม่พร้อมจะเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านั้น สำหรับการรักษาในทางจิตเวช เจมส์แนะนำว่าควรให้ผู้ป่วยรออย่างน้อย 1-2 เดือนก่อนถึงจะเริ่มใช้เทคนิคนี้ในการรักษา

ยิ่งเขียนยาว ก็ยิ่งรู้จักตัวเองมากขึ้น แต่เมื่อเข้าไปรู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว เราอาจพบความจริงที่ไม่น่ารื่นรมย์นัก หากไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความจริงที่อาจทำให้เจ็บปวด การเขียนก็อาจเป็นการตอกย้ำให้รู้สึกทุกข์ใจได้เช่นกัน

อ้างอิง