pe©ple

ในยุคสมัยที่คนรุ่นผมยังเป็นหนุ่มสาว แน่ล่ะเราสนใจการเมืองหมือนกัน

แม้ว่าประเทศไทยจะสุขสงบถึงขนาด “จ๊ะโอ๋” การ์ตูนนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (ซึ่งตอนนี้ประจำอยู่ที่ไทยรัฐ) วิจารณ์งานของผมว่า “ไม่มีใครเขาอ่านวรรณกรรมการเมืองกันแล้วในยุคนี้”

ใครจะไปคิดว่าไม่กี่ปีหลังจากนั้นเราจะเกิดวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อนับสิบปี และตามมาด้วยความแตกขั้วทางการเมืองที่รุนแรงที่สุด ไม่มียุคสมัยใดที่คนไทยจะเผชิญหน้ากันด้วยความเห็นอย่างหนักหน่วงเท่านี้อีกแล้ว

แต่ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ผมยังไม่กระตือรือร้นกับชีวิตมากนัก และหลังจากรู้ข่าว (ล่วงหน้า) ว่าจะเกิดการทำรัฐประหาร ผมยังปาร์ตี้ที่ฝั่งตรงข้ามสนามเป้า คอยอธิบายให้เพื่อนต่างชาติเข้าใจว่า coup d’etat คืออะไร ในฐานะที่เคยผ่านมามันแล้ว

แต่แล้วทำไมใจผมจึงกระเพื่อมเพราะมัน?

มันเป็นความรู้สึกที่ยากอธิบาย กับคนที่ผ่านการรัฐประหารและกบฎมา 2 – 3 ครั้งแต่ไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรนัก จนกระทั่งจู่ๆ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผมเกิดความรู้สึกสั่นและโหวงเหวง การเดินซ้ำรอยของเหตุการณ์ และคิดว่าควรจะทำตัวให้เป็นประโยชน์สักอย่าง

วันนั้นเองที่ผมเริ่มโพสต์เรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ บนเฟซบุ๊คส่วนตัวKornkit Disthan จนกระทั่งยาวขึ้น และอ่านได้นานขึ้น ด้วยความคิดว่า บางทีการซ้ำรอยของประวัติศาสตร์ อาจเกิดจากความไม่รู้ประวัติศาสตร์

สถานะสื่อมวลชนไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นนัก เพราะความเชื่อถือของพวกเราติดลบไปเสียแล้วในช่วงทศวรรษแห่งการเลือกข้าง ถ้าข่าวปัจจุบันไม่ทำให้ใจคนกระเพื่อม มันก็ควรจะเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนเราฉุกคิด

นั่นคือวันที่ผมเริ่มเล่าประวัติศาสตร์

ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ยิ่งห่างไกลจากความเป็นนักวิชาการ ผมเป็นแค่คนเล่าเรื่อง เป็นทูตที่นำสาส์นจากต้นเรื่องไปสู่ผู้อ่าน

คำว่าทูตในภาษาจีนคือคำว่า “สื่อ” และควรจะเป็นต้นตระกูลของคำว่าสื่อในภาษาไทกะได ดังนั้นคำว่าทูต (สื่อเมือง) กับคำว่านักข่าว (สื่อมวลชน) เป็นคำความหมายเดียวกัน และมันคืออาชีพหลักและอาชีพรองของผม

ผมเป็นลูกชาวสวน แต่เราอยู่ในแผ่นดินที่เก่าแก่ เมื่อยกท้องร่องเราจะพบกับเศษกระเบื้องกะลาแตก เมื่อขุดบ่อน้ำเราจะพบวัตถุโบราณ ปู่ย่าตายายจะเล่าเรื่องราวแต่บรมสมกัลป์ราวกับเห็นด้วยตาตัวเอง เช่นการพลีชีพของวีรชนในประวัติศาสตร์

ความหลงใหลในประวัติศาสตร์ของผมเริ่มต้นที่บ้านสวน

แต่สำหรับลูกชาวสวนที่ฐานะไม่ดีนัก การที่ลูกชายที่พอจะเป็นความหวังของครอบครัวบอกว่าอยากทำอาชีพ “คุ้ยของเก่า” ถือเป็นเรื่องน่าหนักใจพอสมควร ผมคิดว่าครอบครัวพยายามที่จะไม่หักหาญความฝันของผม แต่พยายามกล่อมอย่างน่ารักว่า พวกเขารู้จักบางคนที่เรียนจบโบราณคดีตอนนี้ขายลูกชิ้นปิ้งอยู่!

เมื่อถึงทางแยกของชีวิต และผมต้องเลือกคณะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมกลับคล้อยตามผู้ใหญ่ในบ้านในที่สุด และไม่ได้เลือกที่จะเป็นนักโบราณคดีหรือนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ผมเลือกคณะที่พอจะทำมาหากินได้ง่ายกว่า แล้วก็ติดเป็นอันดับแรก

คณะที่พอจะทำมาหากินได้นี้ก็ยังต้องอาศัยประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาของผมที่ไม่ได้สอนให้เป็นผู้ปฏิบัติงาน แต่สอนให้เป็นเจ้าอุดมการณ์ เราต้องเรียนปรัชญาและรู้ประวัติศาสตร์พอสมควร มันไม่ใช่วิชาวิเคราะห์ศิลปวัตถุแบบที่ผมชอบ แต่ก็เริ่มหลงไหลมันทีละน้อย

หลังจากเรียนจบผมได้งานเป็นฝ่ายต่างประเทศหนังสือพิมพ์พิมพ์โพสต์ทูเดย์ เส้นทางขีดๆ เขียนๆ แบบจริงจังก็เริ่ม ณ จุดนี้

สำหรับนักข่าวโต๊ะต่างประเทศสิ่งที่ตื่นเต้นที่สุดสำหรับพวกเขาคือเรื่องต่างประเทศ แต่ผมตื่นเต้นกับทุกเรื่อง เพราะทำอะไรมากกว่าเรื่องต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วยพรรคพวกแปลงานวรรณกรรม

เป็นยุคสมัยที่วรรณกรรมการเมืองกลับมาคึกคัก พวกเราหลายคนรู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้น แต่แล้ววงการวรรณกรรมก็พบกับความอับจนเช่นเดียวกับวงการข่าว เมื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้ทุกคนเป็นผู้ชี้นำทางการเมืองได้ โดยไม่ต้องอาศัยกวีหรือนักเขียนอีกต่อไป

แม้แต่วงการนักเขียนวรรณกรรมเองก็แตกแยกถึงขั้นไม่เผาผีกัน และมีบางครั้งที่เกือบจะฟาดปากกันเพราะเห็นต่างทางการเมือง เมื่อปัญญาชนเป็นเสียอย่างนี้ เราจะคาดหวังให้สาธารณชนสมัครสมานกันได้อย่างไร?

วรรณกรรมในบ้านเราหมดที่ทางของมันในทางการเมืองแล้ว มันเป็นง่อยเสียจนกระทั่งผู้คนต้องอาศัยวรรณกรรมต่างประเทศเพื่อตีวัวกระทบบ้านตัวเอง

ขณะที่ผมกำลังสนุกกับการแปลและเขียนงานแบบ storyteller มิตรสหายบางคนมีความฝันอันสูงสุดที่อยากจะเขียนนิยายบันทึกความว้าวุ่นของประวัติศาสตร์การเมืองบ้านเรา เขารอให้มันซาเสียก่อนแล้วจะเริ่มบรรเลงมหากาพย์ในฝัน แต่ผมเกรงว่าเขาคงจะตายเสียก่อนจะได้จรดปากกา เพราะไม่มีทีท่าว่าคนบ้านเราจะเลิกทะเลาะกัน

ปกติงานของนักข่าวคือการให้ข้อมูลกับคนทั่วไปอยู่แล้ว แต่เมื่อวิกฤตถลำลึกยิ่งขึ้น ผมรู้สึกว่าบ้านเมืองเราไม่ได้ขาดคนนักวิเคราะห์ แต่ขาดข้อมูลต่างหาก ในยุคที่การเมืองยิ่งร้อนแรง โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นเวทีที่สร้างนักวิเคราะห์สังคมและการเมืองทุกประเภท แต่เราขาดการวิเคราะห์ที่สมเหตุสมผล และขาดสามัญสำนึก เราแสดงความเห็นทุกเรื่องอย่างฉับไว แต่ขาดความลึกซึ้งและเข้าอกเข้าใจสถานการณ์ มันสร้างโลกที่ทุกคนนึกอยากจะพูดก็พูดโดยไม่เกรงใจ

กับคนที่อยู่ในวงการสื่อมานับสิบปี พวกเราจะเขียนอย่างที่อยากจะเขียน (โดยไม่มีหลักฐาน) ไม่ได้ เพราะหมายถึงการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี  เราจึงต้องเรียนรู้โวหาร วาทศิลป์ หลักฐานที่แน่นหนา แบ็คกราวน์ของเรื่องเล่าทุกเรื่อง รวมถึงท่องตัวบทกฎหมายเอาไว้เวลาจะพิมพ์อะไรออกมาสักอย่างที่มันหมิ่นเหม่

ผมตระหนักว่าบางทีการให้ความรู้กับสาธารณชนน่าจะมีประโยชน์กว่าการทำตัวเป็นไอดอลทางความคิดแล้วแสดงความเห็นพร่ำเพรื่อ เมื่อคนในสังคมมีข้อมูล หรือ “เรื่องเล่า” แล้ว เขาย่อมแสดงความเห็นอย่างเป็นหลักเป็นฐานเอง

นั่นเป็นเหตุให้ผมเริ่มที่จะเล่าผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เล่าทุกเรื่องที่ชอบและอยากให้คนอื่นรู้ บางครั้งทำตัวแสดงความเห็นบ้างเมื่อรู้สึกว่ามิตรสหายร่วมชาติคงต้องการทัศนะบางอย่างในสถานการณ์สับสน แต่มันไม่ใช่ทางที่ผมปรารถนา

แม้จะเหมือนฟังดูโอ้อ้วด แต่ผมอยากเทียบตัวเองว่าเหมือนกับโฮเมอร์หรือเฮโรโดตุสที่เป็นนักเล่า มากว่าเพลโตหรืออริสโตเติลที่เป็นผู้ชี้นำความคิด แน่ล่ะ ผมไม่อาจเทียบกับบุคคลเหล่านี้ได้ เพียงแต่ยกอุปมาเท่านั้น

และผมคงไม่อาจเป็นเหมือนซือหม่าเชียน ที่ทำงานละเอียดละออ ต้องลงพื้นที่ให้เห็ยกับตาก่อนจรดพู่กันบันทึกประวัติศาาสตร์ ผมเป็นนักเล่าที่มีนิสัยนักข่าว และในวงการของเราเรียกงานแบบนี้ว่า “วรรณกรรมเร่งด่วน”

ไม่ชุ่ยและมีลีลาชวนอ่าน แต่ไม่มีเวลาละเมียดกับรายละเอียด

อนึ่งเล่า เมื่องานเขียนในโลกออนไลน์ของผมเริ่มมีคนอ่านมากขึ้น ก็มีคนเริ่มอุปโลกน์ผมเป็นอาจารย์ จากเดิมที่เป็น กรกิจ ดิษฐาน ธรรมดาๆ ก็กลายเป็นอาจารย์ไป ตอนแรกผมพยายามอย่างหนักที่จะขอร้องไม่ให้คนเรียกผมเป็นอาจารย์ เพราะไม่ได้มีดีกรีอะไร และละอายแก่ใจด้วยสอนใครเขาไม่ได้ (ทักษะการสอนของผมมันเลวมากจนคนที่ถูกสอนหลั่งน้ำตามานักต่อนัก) กระนั้นก็ตาม ผมไม่อาจห้ามใครต่อใครได้ และต้องปล่อยเลยตามเลย

กลับมาที่ภารกิจการเล่า

ผมจะเล่าเรื่องที่ถนัด คือเกร็ดประวัติศาสตร์ เรื่องศาสนา เรื่องสัพเพเหระที่ดูไม่สลักสำคัญ แต่เป็นภาพสะท้อนของสังคมบางมิติ จนถึงวันนี้ผมเล่ามาหลากหลายรูปแบบและเนื้อหา และตระหนักว่าไม่ว่าเรื่องแบบไหนล้วนไม่ไร้สาระ มันอาจไม่สลักสำคัญกับคนๆ หนึ่ง แต่มันอาจทำให้คนๆ หนึ่งฉุกคิดได้

ใช่ คำว่าฉุกคิดคือเป้าหมายของเรื่องเล่า เช่นเดียวกับงานวรรณกรรมที่ต้องสร้างความสะเทือนอารมณ์ ผมอาจจะเป็นพวก “เก่านิยม” เกินไปก็ได้ แต่เชื่อแบบนักเขียนรุ่นก่อนๆ ว่า งานเขียนที่ดีต้องทำให้ผู้อ่านรู้สึกกระเพื่อมในใจ แรงกระเพื่อมนั้นจะทำให้เขาฉุกคิด แล้วลงมือทำอะไรสักอย่างที่เป็นชิ้นเป็นอัน

มิตรสหายในวงการวรรณกรรมมักจะให้ราคากับ “การเล่าเรื่อง” ผมเคยไม่เห็นด้วยเพราะชอบแนวทดลองมากกว่าการเล่าในสไตล์ old school จนกระทั่งมาเขียนเองถึงได้รู้ว่า งานเขียนที่จะตรึงคนได้ ไม่ใช่แนวทดลอง หรือเล่นสะบัดสำนวนจึงหาสาระไม่ได้ แต่เป็นเรื่องเล่าที่เรียบง่าย พล็อตเรื่องยิ่งใหญ่หากไม่ซับซ้อน สำหรับนักเขียนนิยายอาจต้องกลั่นกรองจากประสบการณ์จริง แต่สำหรับคนเล่าเรื่องเก่าๆ อย่างผม บันทึกประวัติศาสตร์คือขุมคลังของเรื่องเล่าที่ไม่มีวันสิ้นสุด

แน่ล่ะ ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ดังนั้นผมไม่มีพันธกิจที่จะทำให้เรื่อง “แห้ง” และไร้อารมณ์เพื่อรักษาข้อเท็จจริงที่ไม่มีชีวิตชีวาเอาไว้ ขณะเดียวกันผมก็ไม่ใช่คนเขียนนิยายที่จะแปลงสาส์นจนกลายเป็นเรื่องมุสา (พระสงฆ์บางท่านที่พม่าถึงกับจัดให้การเขียนนิยายเป็นมุสาวาทอย่างหนึ่ง) มันเป็นทักษะที่ผมต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะไม่ให้ถูกตำหนิว่าบิดเบือน

การเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้ใจของผู้อ่านกระเพื่อมได้ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจสำหรับผม