เราต่างเคยได้ยินนิทานโบราณเรื่อง “ตาบอดคลำช้าง”
เล่ากันว่า คนตาบอดแต่ละคนคลำช้าง คนตาบอดที่ได้คลำงาช้าง ก็ว่าช้างมีลักษณะเหมือนหัวผักกาด คนที่ได้คลำใบหูของช้าง ก็ว่าช้างเหมือนใบพัดใบใหญ่ คนที่ได้คลำขาของช้าง ก็ว่าช้างเหมือนเสาขนาดใหญ่ต่างหาก ส่วนคนที่ได้คลำหางของช้าง ก็บอกว่าช้างมีลักษณะเหมือนเชือกเส้นหนึ่งเท่านั้น คนตาบอดต่างคนต่างก็โต้เถียงกันไม่หยุด ต่างก็บอกว่าสิ่งที่ตนคลำนั่นแหละคือช้างจริงๆ
ประสบการณ์การเรียนหนังสือที่จีนเป็นเวลา 6 ปี ในช่วงปี ค.ศ.2004-2010 ของผม โดยเป็นการเรียนภาษาจีน 2 ปี ก่อนเข้าศึกษาปริญญาตรีด้านกฎหมายอีก 4 ปี อาจเรียกได้ว่า ผมเริ่มต้นจาก “ตาบอดคลำจีน” ค่อยๆ หันมาเข้าใจ “จีน” อย่างครบมุมและรอบด้านมากขึ้น
ผมค่อยๆ สัมผัสด้วยตัวเองถึงความซับซ้อนของประเทศอันกว้างใหญ่และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
อาจารย์ผมท่านหนึ่งชอบพูดทีเล่นทีจริงว่า พูดเรื่องเมืองจีน พูดยังไงก็ถูก
เช่น พูดว่า “เมืองจีนปกครองแบบรวมศูนย์” ก็ถูกต้อง เพราะรัฐบาลกลางเป็นคนแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและมีอำนาจสั่งการเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่จะพูดว่า “เมืองจีนปกครองแบบกระจายอำนาจ” ก็ถูกอีกเช่นกัน เพราะจีนเป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจด้านการคลังมากที่สุดในโลก รายจ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นคิดเป็นสัดส่วนถึง 85% ของรายจ่ายภาครัฐ
หรือพูดว่า “เศรษฐกิจจีนนำโดยรัฐวิสาหกิจ” ก็ถูกต้อง เพราะบริษัทขนาดใหญ่ส่วนมากในจีนเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งรัฐวิสาหกิจยังยึดครองอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้นจำนวนมากในจีน แต่จะพูดว่า “เศรษฐกิจจีนนำโดยเอกชน” ก็ถูกอีกเช่นกัน เพราะภาคเอกชนจีนมีผลผลิตสูง คิดเป็น 65% ของ GDP และมีการจ้างงานสูงกว่าภาครัฐวิสาหกิจ
ชวนให้ผมนึกถึงคำพูดของ เจมส์ ฟาลโลวส์ คอลัมนิสต์ชื่อดังของนิตยสาร The Atlantic ที่เคยกล่าวไว้อย่างคมคายว่า
“ในเวลาเดียวกัน จีนนั้นทั้งร่ำรวยและยากจน ทั้งเจริญและล้าหลัง ทั้งก้าวไปข้างหน้าและถอยหลังลงคลอง ทั้งสร้างนวัตกรรมเองและเป็นจอมเลียนแบบ ทั้งเปิดเสรีและปิดกั้นต่างชาติ ทั้งหยิ่งผยองและขาดความมั่นใจ ทั้งเดินตามและเดินสวนทางกับแนวทางทุนนิยมตะวันตก”
จีนซับซ้อนซ่อนเงื่อนนัก และนี่เองที่เป็นเสน่ห์ของการศึกษาทำความเข้าใจจีน ความซับซ้อนของจีนมาจากอย่างน้อย 3 ปัจจัย
ปัจจัยแรก คือขนาดของประเทศและจำนวนประชากรอันมหึมา ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างก็มีความหลากหลายแตกต่างกัน หนึ่งมณฑลใหญ่เสมือนหนึ่งประเทศ ส่วนหนึ่งคลัสเตอร์เมืองที่เชื่อมโยงกันด้วยรถไฟความเร็วสูง ก็มีพลังทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาล
ปัจจัยที่สองมาจากความเร็วของการเปลี่ยนแปลง ไม่มีประเทศไหนในโลกที่กระหายและเปิดรับกระแสการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วดังจีนยุคใหม่ ภายในเวลา 40 ปี จีนได้ประสบความสำเร็จในการสร้างอภิมหานครเมืองแล้วเมืองเล่า พัฒนาอุตสาหกรรมจากประเทศที่ยากจนที่สุดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และพลิกโฉมจากสังคมโบราณกระโดดไปเป็นสังคมเทคโนโลยีไฮเทคชนิดก้าวกระโดดไกล
ในขณะเดียวกัน นโยบายและยุทธศาสตร์ของจีนก็มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป ความสำเร็จแต่ละครั้งก็นำไปสู่ปัญหาใหม่ ขณะที่ปัญหาเดิมหลายอย่างที่เคยถูกซ่อนอยู่ใต้พรม ก็กำลังรอวันระเบิด จีนเองจึงถูกกดดันให้ต้อง “disrupt” ตัวเองตลอดเวลา เหมือนคนที่กำลังไต่เชือกซึ่งต้องคอยรักษาสมดุล ขณะที่ข้างหลังก็มีไฟไหม้ลามมากดดันให้ต้องเดินหน้าต่อไปห้ามหยุดนิ่ง
จีนในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนจากการพัฒนาที่เน้นปริมาณ มาเน้นคุณภาพ เปลี่ยนจากการเน้นภาคการลงทุนและภาคการส่งออก มาเน้นการบริโภคภายในประเทศ และเปลี่ยนจากการปรับโครงสร้างจากภาคอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานเข้มข้น มาเน้นภาคอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมและมาเน้นภาคบริการมากขึ้น ถ้าจีนไม่รีบปรับเปลี่ยนหรือถ้าปรับเปลี่ยนไม่สำเร็จ จีนก็คงไปต่อได้ยาก เพราะบุญเก่าจากแรงงานมหาศาลและค่าแรงราคาถูกกำลังหมดลง อันเนื่องมาจากโครงสร้างประชากรที่บิดเบี้ยวจากนโยบายลูกคนเดียว และค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นมากแล้วตามระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ
ส่วนปัจจัยที่สามที่ทำให้จีนซับซ้อน ก็คือแนวคิดปฏิบัตินิยม (pragmaticism) ในวงนโยบายของจีน เข้าทำนองคำพูดอันโด่งดังของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า “ไม่ว่าจะเป็นแมวขาวหรือแมวดำ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” จีนนั้นสนใจแนวคิดทฤษฎีตะวันตกเป็นอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดของตะวันตกให้เข้ากับบริบทและเศรษฐกิจการเมืองของจีนเองด้วย จีนจึงมีหลายอย่างที่คล้าย แต่มองให้ดีก็ไม่เหมือนตะวันตก
ภายหลังจาก 6 ปี ที่ใช้ชีวิตในจีน ผมได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ อีก 6 ปี
ทำให้ได้มีโอกาสทำความเข้าใจอีกมหาอำนาจหนึ่งที่จีนมองเป็นตัวอย่างและเป็นแรงผลักชนิดฝันใหญ่ว่าวันหนึ่งเขาจะต้องไปถึงจุดนั้นบ้าง สมัยที่เรียนที่จีน ตัวอย่างทฤษฎีและแนวทางการปฏิรูปหลายอย่างของจีนก็มาจากตะวันตก นักศึกษาจีนต้องถกเถียงว่าจะนำมาปรับมาใช้กับบริบทของจีนอย่างไร จะเอาส่วนไหนไม่เอาส่วนไหน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผมได้ไปทำความเข้าใจตะวันตกในสังคมตะวันตก ได้คิดพิจารณาว่าจีนกำลังทั้งเดินตามและเดินสวนทางกับแนวทางทุนนิยมตะวันตกอย่างไร ขณะเดียวกันทุนนิยมตะวันตกเองก็ไม่ใช่แนวคิดที่หยุดนิ่ง แต่เป็นแนวคิดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
การมองกลับมาที่จีนจากมุมของตะวันตกหรือมุมของคนนอกนั้นเป็นประโยชน์อย่างมาก และช่วยเสริมมุมมองจากที่ผมเคยเรียนรู้ที่จะมองจีนจากมุมของคนในมาหลายปี ทำให้ผมนึกถึงนิทานอีกเรื่องคือ “ปลาไม่รู้จักน้ำที่ตนว่ายอยู่” คนที่จะมองปลาและมองน้ำในตู้ปลาที่ปลากำลังแหวกว่ายอยู่ได้ชัดที่สุด ก็คือ คนที่มองมาจากด้านนอกตู้
หากให้สรุป สำหรับผมแล้ว ประสบการณ์การพัฒนาของจีนให้ข้อคิดสำคัญกับเรา 2 ข้อ
ข้อแรก ก็คือ ไม่มีสูตรสากลสูตรเดียวสำหรับการพัฒนา ทุกประเทศต่างต้องวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนพื้นฐานของตน ต้องเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองและบริบทของประเทศตน ไม่ใช่คิดแต่จะลอกสูตรตะวันตกหรือสูตรจีน แต่ต้องคิดสูตรตัวเองที่มาจากการลองผิดลองถูกและการเข้าใจบริบทของสังคมตนอย่างถูกต้อง
ส่วนอีกข้อ ก็คือ สูตรที่ใช้ได้ผลเมื่อวาน อาจใช้วันนี้ไม่ได้แล้ว ในโลกยุคที่ทั้งปัญหาใหม่และปัญหาที่เคยหมักหมมกำลังไล่ล่าคุณ ในยุคที่เทคโนโลยีและภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลงจากยุคก่อนอย่างมาก
สำหรับผม การได้รู้จัก “จีน” จึงทำให้ผมเป็นคนตาดีขึ้น
คือเลิกตาบอดเลิกเชื่อว่ามีสูตรสำเร็จเดียวตายตัวทั้งในการพัฒนาประเทศ และในการมองและทำความเข้าใจโลกรอบตัว.