w©rld

“คำถามที่เราต้องถามเสมอก็คือ ‘เราใช้ประโยชน์อย่างไร?’ ไม่ใช่เอาหรือไม่เอา ดีหรือไม่ดี”

ประโยคนี้ของ อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้รอบรู้เรื่องจีนมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย ทำเอาผมสะดุ้ง เพราะต้องรื้อคำถามที่เตรียมมาทิ้งไปเกือบครึ่ง!

“คือมันไม่ใช่วิธีคิดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง”

จากนั้นอาจารย์อาร์มก็ชวนมอง ‘วิธีคิด’ ที่ทำให้จีนยิ่งใหญ่ โดยตั้งข้อสังเกตว่าคนจีนมีทัศนคติที่แตกต่างจากคนไทยอยู่สองเรื่อง

เรื่องแรก คนไทยไม่น้อยมักจะปฏิเสธและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่คนจีนพร้อมโอบรับและเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“คนจีนจะบอกว่า พอมีวิกฤตจะมีโอกาส คำว่า “危机” (เวย-จี) ภาษาจีนที่แปลว่า “วิกฤต” อักษรตัวแรก 危 (เวย) ก็คือ “อันตราย” ตัวที่สอง 机 (จี) ก็คือ “โอกาส” มันอยู่ในคำว่าวิกฤต

“แต่คำถามของเรา มักจะเป็นทำนองว่า อยู่เฉยๆ ได้ไหม ไม่ต้องปรับตัวได้ไหม อย่ามายุ่งกับเราได้ไหม คุณอย่ามาเปลี่ยนวิธีคิดเราได้ไหม”

เรื่องที่สอง อาจารย์อาร์มบอกว่า ลักษณะคำถามของคนไทยจะพยายามตัดสิน “เอา-ไม่เอา” “ดี-ไม่ดี” “มี-ไม่มี” ขณะที่คนจีนจะพยายามหาความเป็นไปได้ โดยถามว่า “อย่างไร”

“ผมเพิ่งคุยเรื่องรถไฟความเร็วสูงกับคนไทยและคนจีน คนไทยก็จะถามว่า ควรจะมีรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ตกลงมันดีหรือไม่ดี ขณะที่คนจีนจะถามว่าตกลงรถไฟนี่สร้างเพื่อขนส่งสินค้าหรือขนส่งคน แล้วก็ทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ก็จะเห็นว่าเขาเริ่มลงไปในรายละเอียด แล้วจริงๆ มันก็เป็นคำถามพื้นฐานที่สำคัญ”

ในเมืองจีน คนจีนบอกว่า ไม่มีหรอกในโลกนี้ที่ใครจะมาสอนคุณตกปลา แต่คุณต้องไปนั่งดูเขาตกปลา แล้วก็สังเกตว่าวิธีการที่เขาตกปลา ถูกไหม นี่คือสิ่งที่เราบอกว่าจะ ‘เรียนรู้’หรือ ‘เลียนรู้’ ก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าวิธีคิดพวกนี้ฝังอยู่ในรากฐานความคิดของคนจีน

อาร์ม ตั้งนิรันดร

จากภาพใหญ่ในระดับนโยบาย พอมองกลับมาที่คน ตอนนี้เราวิตกกังวลกับอนาคตกันมาก โดยเฉพาะการเข้ามาของจีน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน อาจารย์อยากจะบอกอะไรหรือมีคำแนะนำไหมครับ?

ผมบอกว่าคำถามที่ต้องถามเสมอก็คือ “เราใช้ประโยชน์อย่างไร” เราจะร่วมมือกับจีนอย่างไร เราสามารถเอาเทคโนโลยีเขามาได้มากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะพัฒนาตัวเองอย่างไร พวกนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าในภาคหลักการ มันควรต้องส่งเสริมการแข่งขัน แต่ก็ต้องกลับมาดูว่า ถ้าการแข่งขันมันไม่เป็นธรรม หรือว่ามีการผูกขาด พวกนี้เป็นปัญหาของกลไกกฎหมาย เรามีการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันกันทางการค้า กฎหมายป้องกันการผูกขาดเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ในหลายๆ ภาคส่วนที่บอกว่า เราอาจจะยังไม่พร้อม เราจะมีวิธีการที่จะค่อยๆ พัฒนาผู้ประกอบการเราอย่างไร

แต่ผมคิดว่าเรื่องทัศนคติสำคัญ เราบอกว่าลักษณะของคนจีน หนึ่งชาตินิยมสูงมาก สองหัวพ่อค้า คือเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมผู้ประกอบการสูง คิดทำธุรกิจได้เก่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมเห็นว่ามันน่าสนใจดี จีนเปิดประเทศมา 40 ปี เวลาที่คนอื่นมาลงทุนในประเทศ จีนจะคิดเสมอว่า เรื่องอะไรต้องปล่อยให้เขาทำ อย่างเช่นญี่ปุ่นมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตมอเตอร์ไซค์ ภายในสองสามปี คนจีนก็ทำแข่ง ทำเหมือนกันเลย แล้วสุดท้ายก็ไล่ญี่ปุ่นไป อีเบย์มาในเมืองจีน แป๊บๆ อาลีบาบาก็ทำได้ดีกว่าอีเบย์อีก คือคนจีนจะมีความรู้สึกตลอดว่า ทำไมเขาไม่ทำเอง ทำไมเขาไม่ “เลียนรู้” จากฝรั่ง

ผมจะชอบเล่าให้นิสิตผมฟังว่า สมัยก่อนมีนิทานเรื่องหนึ่ง พูดถึงครอบครัวสองครอบครัว ครอบครัวหนึ่งให้ปลาลูกทุกวัน อีกครอบครัวสอนให้ลูกตกปลา พอวันหนึ่งครอบครัวแรกพ่อแม่ตาย ลูกก็ไม่มีปลากิน ส่วนครอบครัวที่สอง ลูกก็ตกปลาไปได้ตลอดชีวิต คือเรื่องนี้มาจากนิทานจีน แล้วผมก็บอกว่า จริงๆ แล้วในเมืองจีน คนจีนบอกว่าไม่มีหรอกในโลกนี้ที่ใครจะมาสอนคุณตกปลา แต่คุณต้องไปนั่งดูเขาตกปลา แล้วก็สังเกตว่าวิธีการที่เขาตกปลา ถูกไหม นี่คือสิ่งที่เราบอกว่าจะ “เรียนรู้” หรือ “เลียนรู้” ก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าวิธีคิดพวกนี้ฝังอยู่ในรากฐานความคิดของคนจีน

ถ้ามองย้อนกลับไปสมัยก่อน คนจีนในสมัยโบราณเขาเรียนหนังสือด้วยวิธีการเขียนเรียงความแบบที่ปราชญ์เขียน เพราะฉะนั้นการสอบจอหงวนก็คือการสอบเขียนเรียงความ แต่เรียงความที่ดีคือเรียงความที่ไปดูว่าเรียงความที่ดีเขียนยังไง แล้วก็เขียนแบบนั้น ซึ่งมันเป็นลักษณะของการ “เลียนรู้” ก็คือการดูตัวอย่างที่ดี แล้วก็ทำ

แต่วิธีคิดอย่างนี้เราไม่ค่อยพบเห็นในสังคมไทย หรือเปล่า? คือแทนที่เราจะบอกว่าคนจีนนี่ตกปลาเก่งนะ เรามานั่งดูสิว่าเขาตกปลายังไง แต่เรากลับคิดว่า เราไม่พอใจที่เขามาตกปลา เราไม่มีเบ็ด เราไม่มีอะไร ทำไมยูมาเอาปลาเรา เราควรจะเตะคุณออกไปจากตรงนี้หรือเปล่า คือมันไม่ใช่วิธีคิดที่จะเลียนรู้และพัฒนาตนเอง

อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร

เหมือนเราจะตื่นกลัวกันมากกว่าจะมองหาโอกาส?

คนจีนจะบอกว่า พอมีวิกฤตจะมีโอกาส คำว่า “危机” (เวย-จี) ภาษาจีนที่แปลว่า “วิกฤต” อักษรตัวแรก 危 (เวย) ก็คือ “อันตราย” ตัวที่สอง 机 (จี) ก็คือ “โอกาส” มันอยู่ในคำว่าวิกฤต ทีนี้ผมก็รู้สึกว่า จีนนี่ก็ประหลาดดีนะ เพราะเขาพยายามจะทำให้รู้สึกอยู่โดยตลอดว่าประเทศเขามีวิกฤต ก็คือถ้าเราพูดภาษาสมัยใหม่ ก็ต้องบอกว่าจีนดิสรัปตัวเองก่อนที่คนอื่นจะมาดิสรัป

ซึ่งจริงๆ อันนี้มันก็ตรงกับภาษิตจีนที่ว่า “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” คือสมมติคุณไม่รู้สึกว่าจะมีอันตรายอยู่ตลอด ท้ายที่สุดคุณจะไม่รอด ภาษิตจีนเขาบอกว่า “ชวี่อันซือเวย” (处安思危) แปลว่า ขณะที่สงบอยู่ คุณจะต้องคิดว่า อันตรายกำลังจะมา ผมว่าเรื่องพวกนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างน่าสนใจ ก็คือเขาปรับตัวตลอด แต่คำถามของเรามักจะเป็นทำนองว่า อยู่เฉยๆ ได้ไหม ไม่ต้องปรับตัวได้ไหม อย่ามายุ่งกับเราได้ไหม คุณอย่ามาเปลี่ยนวิธีคิดเราได้ไหม

อาจารย์น่าจะเจอผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หรือแม้แต่คนทั่วไปทั้งคนไทย คนจีน เข้ามาคุยมาถามเยอะ ส่วนใหญ่อาจารย์เจอคำถามอะไร?

ส่วนใหญ่นะครับ ถ้าไม่ใช่ โห จีนสุดยอดเลย จีนก้าวหน้ามาก ต้องช่วยจีน ต้องทำธุรกิจกับจีน ก็จะมองว่าจีนน่ากลัว เป็นเผด็จการ เป็นอะไรที่ไม่เหมือนตะวันตก คือไม่โปรจีนก็เกลียดจีน ผมว่าประหลาดดีที่คนไทยวันนี้มีความคิดแบบแบ่งขั้วมาก ขณะที่ผมมองว่าสังคมจีนโดยธรรมชาติ จะไม่ได้คิดแบ่งขั้วขนาดนี้ เขาอยู่กับความย้อนแย้งได้ดีพอสมควร อย่างคำพูดของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่บอกว่า “ไม่ว่าจะเป็นแมวสีขาวหรือสีดำ ขอให้จับหนูได้พอ” แน่นอน คนก็มักจะตีความว่า จีนไม่สนใจว่าจะเป็นสังคมนิยมหรือทุนนิยม ขอให้พัฒนาเศรษฐกิจได้เป็นพอ แต่ถ้าตีความกลับอีกมุมหนึ่งก็คือ จีนไม่สนใจหรอกว่าฝรั่งจะมาเอาประโยชน์หรือไม่เอาประโยชน์ ขอให้เราได้ประโยชน์ก็พอ โดยไม่สนใจว่าเราเกลียดอเมริกาหรือชอบอเมริกา แต่ว่าเราจะทำยังไงให้เราได้ประโยชน์จากการที่อเมริกามาลงทุนมากที่สุด

แล้วอาจารย์ตอบคำถามพวกนี้อย่างไร?

คำถามส่วนใหญ่ก็จะกว้างใช่ไหม ผมก็บอกว่ามันตอบลำบาก จริงๆ ผมว่ามันต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป อย่างในจีน จะแบ่งประเภทของยุทธศาสตร์ ถ้าเป็นอุตสาหกรรมลักษณะนี้ จีนยินดีที่จะส่งเสริมการลงทุนจากฝรั่ง ในอุตสาหกรรมลักษณะนี้จะต้องปกป้อง อุตสาหกรรมลักษณะนี้จะโปรโมทให้คนจีนไปแข่งกับเมืองนอก คือเขาแบ่งหลายประเภทมาก แต่ละประเภทก็จะแตกต่างกัน

ผมว่าของคนไทย เราไม่ได้มีความคิดแยกส่วนขนาดนั้น คนไทยจะคิดว่าเราจะเอาแบบเดียว คือตกลงจะเอายังไง ตกลงเราจะไปบุกโลก หรือว่าเราจะไปส่งเสริมให้ฝรั่งเข้ามา หรือว่าเราจะกีดกันเขา โดยที่เราไม่ได้มองว่าในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ความพร้อมในแต่ละส่วนของเราอาจมีความแตกต่างกัน

พูดง่ายๆ ถ้าเป็นภาษาฝรั่งเขาจะเรียกว่า เราคิดแบบ “one size fits all” คือมีสิ่งหนึ่งที่เราบอกว่ามันใช้ได้กับทุกกล่อง แต่คุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จ ก็คือมันไม่มี one size fits all เรื่องนี้จีนทำแบบนี้ อีกเรื่องหนึ่งจีนก็ทำแบบหนึ่ง

อาร์ม ตั้งนิรันดร

เวลาคุยกับเพื่อนคนจีน กับเพื่อนคนไทย คำถามที่ถามต่างกันไหม?

ครับ ลักษณะคำถามจะต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น… ผมเพิ่งคุยเรื่องรถไฟความเร็วสูงกับคนไทยและคนจีน คนไทยก็จะถามว่า ควรจะมีรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ตกลงมันดีหรือไม่ดี ขณะที่คนจีนจะถามว่าตกลงรถไฟนี่สร้างเพื่อขนส่งสินค้าหรือขนส่งคน แล้วก็ทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ก็จะเห็นว่าเขาเริ่มลงไปในรายละเอียด แล้วจริงๆ มันก็เป็นคำถามพื้นฐานที่สำคัญ

พอเขาถามผม ผมก็มาย้อนคิดดูว่า ผมไม่ค่อยเห็นข่าวที่รายงานเรื่องนี้ในเมืองไทยเท่าไหร่ ที่เริ่มต้นว่า ตกลงที่เราสร้างรถไฟ เราจะสร้างเพื่อขนส่งสินค้าหรือขนส่งคน ซึ่งประหลาดดีนะ พอเขาถามคำถามนี้กับผม ผมก็เลยคิดว่าตอนที่เราเสนอข่าวรถไฟความเร็วสูงไปเยอะแยะ มีใครเริ่มถามไหมว่า ตกลงเราสร้างไปเพื่ออะไร เพราะว่ามันต่างกันนะครับ จะสร้างเพื่อขนส่งคนก็จะเป็นแบบหนึ่ง ขนส่งสินค้าก็เพื่ออีกจุดประสงค์หนึ่ง ขณะเดียวกันมีนักข่าวคนไหนไปถามหาความชัดเจนจากภาคนโยบายไหมว่า ท่านครับ ตกลงเราจะสร้างเพื่อขนส่งสินค้าหรือขนส่งคน คือแค่คำถามที่มันพื้นฐานขนาดนี้ ผมว่ามันแทบจะไม่มีอยู่ในการดีเบทในประเทศไทย ใช่ไหม?

สิ่งที่เราดีเบทในประเทศไทยก็คือ เอาไม่เอารถไฟความเร็วสูง เอาไม่เอาเทคโนโลยีจีน อะไรแบบนี้ แต่ว่าปัญหาพื้นฐานอย่างเราจะทำยังไง ตกลงเราจะมีการประมูลไหม ตกลงเราบริหารพื้นที่รอบสถานีให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ตกลงเราจะเอารถไฟขนส่งคนหรือขนส่งสินค้า ไอ้เรื่องพวกนี้เป็นเรื่อง “How” แล้วก็เรื่องรายละเอียด

แต่วันนั้น ก็มีผู้ใหญ่ที่ผมนับถือมากท่านหนึ่งถามผมว่า ตกลงจีนต้องการรถไฟเส้นไทยสำหรับขนส่งสินค้าหรือขนส่งคน แปลว่าคนถามเขาจับได้ว่าประเด็นสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จหรือไม่ อยู่ที่วิธีการ ไม่ใช่มีหรือไม่มีรถไฟความเร็วสูง

สมัยก่อนเคยมีคนถามกรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงลักษณะของคนไทย กรมพระยาดำรงฯ อธิบายว่า หนึ่งในลักษณะของคนไทยก็คือเป็นคนที่ประสานประโยชน์คือมีความละมุนละม่อมพอสมควร ไม่สุดโต่ง แต่ผมกลับรู้สึกว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา เรากลับถูกผลักให้ออกไปจากลักษณะเหล่านั้น

อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาจารย์คิดอย่างนี้ ถามอย่างนี้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดแบบอาจารย์ มีหงุดหงิดบ้างไหม?

ผมไม่หงุดหงิดนะ แต่รู้สึกว่าเราต้องช่วยยกระดับการถกเถียง แต่บางทีผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเรามีทัศนะที่แบ่งพวก หรือต้องการไอ้คำตอบแบบง่ายๆ ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้สนใจเรื่องรายละเอียดหรือปัจจัยต่างๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดว่า โครงการจะประสบความสำเร็จจริงแค่ไหน

พอคำถามเป็นแบบนี้ การพัฒนาประเทศก็จะเป็นไปอย่างนั้น?

คือผมว่าสุดท้ายนะครับ หลายอย่างมันก็คือเรื่องของการ implementation หรือการเอาไปใช้ให้เกิดขึ้นจริง โอเค ยุทธศาสตร์มีก็ดีใช่ไหม แต่พอเอาไปใช้จริง ทำยังไง ปัญหาคืออะไร การพัฒนาประเทศก็คงต้องถามคำถามที่ดีน่ะครับ

อาจารย์ไปเรียนและอยู่เมืองจีนมา 6 ปี อยากรู้ว่าอะไรคือบทเรียนหรือข้อคิดสำคัญที่อาจารย์ได้จากการไปอยู่จีนครับ

จีนให้ข้อคิดว่า มันไม่มี one size fits all พูดง่ายๆ ก็คือ การประสบความสำเร็จของจีนมาจากการตั้งคำถามกับทฤษฎีฝรั่งเยอะมาก สมมติทฤษฎีบอกว่า หนึ่ง สอง สาม สี่ ถึงจะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แต่จีนไม่ใช่ทั้งหนึ่ง สอง สาม สี่ และตอนนี้จีนก็ยังไม่ล้มเหลวใช่ไหม ใน The New York Times มีบทความที่เขียนในวาระฉลองการปฏิรูปประเทศจีนครบรอบ 40 ปี ชื่อว่า ‘The Land That Failed to Fail’ บทความนั้นพูดว่า ถ้าพูดกันตามทฤษฎี จีนควรจะล้มเหลวไปนานแล้ว แต่ว่าทำไมจีนถึงล้มเหลวที่จะล้มเหลว ทำไมจีนไม่ล้มเหลวสักที

สำหรับผม จีนก็เป็นบทพิสูจน์ว่า มันไม่มีคำตอบง่ายๆ หรือทฤษฎีที่บอกว่า ทำแบบนี้สิ แล้วจะประสบความสำเร็จ เพราะแต่ละประเทศมีปัจจัยที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราต้องวินิจฉัยจุดอ่อนจุดแข็งของประเทศเรา แล้วก็พยายามที่จะวางยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เหมาะสม ไม่ใช่บอกว่า แค่เอาทฤษฎีอเมริกามาใช้แล้วประเทศเราจะรุ่งเรือง หรือว่าไปลอกจีนมาใช้แล้วประเทศเราจะรุ่งเรือง

นอกจากนี้ จีนยังเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าประเทศมีขั้นตอนของการพัฒนา และในแต่ละช่วงเวลา มันต้องปรับตัว พูดง่ายๆ ก็คือสิ่งที่จีนเคยทำแล้วประสบความสำเร็จในอดีต ปัจจุบันจีนก็รู้ว่าจะทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นจีนต้องปรับตัว สีจิ้นผิงบอกว่าจะต้องเข้าสู่ยุคใหม่ ต้องเป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบใหม่ คือเขารู้ว่ามันไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม มีแต่ทำอย่างนี้ในช่วงนี้ใช้ได้ แต่พอเวลาเปลี่ยน สภาพของประเทศเปลี่ยนไป จุดแข็งจุดอ่อนของประเทศเปลี่ยนไป ก็ต้องใช้โมเดลพัฒนาแบบใหม่ ไม่ใช่ว่ามีโมเดลการพัฒนาอันหนึ่ง แล้วจะใช้ได้ตลอดไป ซึ่งเราก็จะเห็นว่าวิธีคิดของจีนแตกต่างจากตะวันตก พอกลับมาเมืองไทย ผมก็สะท้อนย้อนมองตัวเองว่าลักษณะของการตั้งคำถาม ลักษณะของเรื่องที่เราดีเบท บางทีมันไม่ใช่ว่าเราหาคำตอบไม่เจอ แต่เป็นเพราะเราตั้งคำถามผิดตั้งแต่ต้น หรือเปล่า?

“ถ้าจะพูดให้สุดโต่ง ก็คือจีนเป็นประเทศที่ทุกวันไม่เหมือนเดิม ทุกวันที่เดินออกจากบ้าน ถนนเปลี่ยนไป ตึกเปลี่ยนไป เมืองมันเปลี่ยนไป ซึ่งผมบอกเลยว่า ไอ้ความรู้สึกพวกนี้ มันกระทบกับวิธีคิดของคน”

อาร์ม ตั้งนิรันดร

เรื่องที่พูดกันทั้งหมดมันก็ย้อนกลับมาที่วิธีคิด ซึ่งสะท้อนอยู่ในสื่อ นโยบาย หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามของเราเอง แต่ก็ทำให้ผมนึกถึงครั้งหนึ่งที่มีคนถามอาจารย์ว่า “อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศไทย” แล้วอาจารย์ตอบว่าไม่อยากจะเปลี่ยนแปลง เพราะว่าเมืองไทยมีข้อดี อะไรคือข้อดีของคนไทยที่อาจารย์เห็น และจะช่วยให้เราไปต่อได้ในอนาคต

ผมว่าจุดแข็งอันดับแรก แน่นอนก็คือที่ตั้งของประเทศ เราอยู่ในที่ตั้งที่เป็นยุทธศาสตร์มาก เพราะเป็นจุดที่การเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ยังไงก็ต้องผ่านประเทศไทย เพราะฉะนั้นโดยที่ตั้งของประเทศ ผมว่าเรามีโอกาสสูงมาก ใครก็ต้องการเรา แต่ก็ต้องกลับมาดูว่าเราจะเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร

อันดับที่สอง ผมคิดว่าคนไทยโดยทั่วไปเป็นคนที่น่ารัก แล้วก็มีจิตใจในการบริการ เรามีช่างฝีมือที่มีความละเอียดสูงมาก เรื่องพวกนี้มันเป็นคุณค่าที่ผมว่าดี แล้วเราก็ต่อยอดได้ ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะสร้างมูลค่ากับสิ่งพวกนี้อย่างไร เราต้องโฟกัสกับการพยายามสร้างมูลค่าจากนิสัย วัฒนธรรมการบริการ รวมทั้งวัฒนธรรมที่ใส่ใจในรายละเอียดของคนไทยให้มากขึ้น ขณะเดียวกันที่กังวลก็คือตอนนี้เรื่องพวกนี้มันเริ่มขาดหายไป

อันดับที่สาม สมัยก่อนเคยมีคนถามกรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงลักษณะของคนไทย กรมพระยาดำรงฯ อธิบายว่า หนึ่งในลักษณะของคนไทยก็คือเป็นคนที่ ‘ประสานประโยชน์’ คือมีความละมุนละม่อมพอสมควร ไม่สุดโต่ง แต่ผมกลับรู้สึกว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา เรากลับถูกผลักให้ออกไปจากลักษณะเหล่านั้น ก็คือกลายเป็นสังคมที่จะต้องแบ่งขั้ว จะเลือกข้าง ในขณะเดียวกันก็จะต้องเอาหรือไม่เอา ซึ่งผมว่าถ้าเราย้อนกลับไปนะครับ ว่าจริงๆ แล้วเรามีความละมุนละม่อม ประนีประนอมมากอยู่ในจิตวิญญาณของเรา ผมว่าตรงนี้ มันจะเป็นประโยชน์ แน่นอน การประสานประโยชน์ไม่ได้แปลว่า ไม่มีจุดยืน หรือยอมกับสิ่งที่ไม่ชอบธรรมนะครับ แต่เราควรที่จะมีความละมุนละม่อมและใช้เหตุผลในเรื่องต่างๆ มากขึ้น ถ้าเราไม่ได้มองว่าเรื่องนี้มีคนดีหรือคนไม่ดี หรือมีเพื่อนกับศัตรู มันจะทำให้เรากำหนดนโยบาย รวมทั้งวางยุทธศาสตร์ได้อย่างสอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น เพราะถ้าเรายังคงสุดโต่ง สุดท้ายคำถามของเราก็จะไม่พ้น ตกลงคุณจะเลือกข้างฝรั่งหรือจีน ข้างประชาธิปไตยหรือเผด็จการ อะไรพวกนี้

ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังถกเถียงกันอยู่?

ซึ่งก็ถกเถียงได้ครับ ไม่ใช่ว่าถกเถียงไม่ได้ แต่ก็อย่าถึงขนาดว่าเราจะคบกับคนที่เห็นต่างจากเราไม่ได้เลย จนปัจจุบันนี้ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่า เราจะเตะฟุตบอลกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเราไม่ได้เลยเหรอ

ถ้าบอกคนไทยหนึ่งคำเกี่ยวกับจีนในวันนี้ อาจารย์อยากบอกอะไร?

คำง่ายๆ คำเดียว แต่ผมคิดว่ามันสะท้อนได้หลายอย่าง ก็คือชื่อหนังสือ CHINA 5.0 ถามว่าจริงๆ แล้วเราพูดกันเยอะว่า 5.0 แล้วทำไมมันถึงเป็น 5.0 ผมคิดว่าคำนี้มันสะท้อนให้เห็นพลวัต เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นว่าจีนไม่ได้หยุดนิ่งอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แล้วเราก็บอกว่านี่คือ “จีน” แต่ว่าจริงๆ ก็คือจีนเปลี่ยนตัวเองมาตลอด ที่เมื่อกี้ผมพูด ใช่ไหมครับ ว่าเขาดิสรัปตัวเอง เขาปรับตัวเอง เขาสร้างธีมใหม่ตลอดเวลา

ถ้าถามถึงความรู้สึกที่ชัดเจนที่สุดของผมหลังจากอยู่เมืองจีนหลายปี ถ้าจะพูดให้สุดโต่ง ก็คือจีนเป็นประเทศที่ทุกวันไม่เหมือนเดิม ทุกวันที่เดินออกจากบ้าน ถนนเปลี่ยนไป ตึกเปลี่ยนไป เมืองมันเปลี่ยนไป ซึ่งผมบอกเลยว่า ไอ้ความรู้สึกพวกนี้ มันกระทบกับวิธีคิดของคน ถ้าถามคนจีนที่มาเที่ยวเมืองไทย หรือว่ามาใช้ชีวิตที่เมืองไทย ความรู้สึกที่ชัดเจนที่สุดของเขา บอกว่าเราไม่ใช่สังคมที่เร่งรีบ ไม่ใช่สังคมที่ให้ความรู้สึกว่าต้องกดดัน ต้องแข่งขัน ต้องปรับตัว แต่ถ้าคุณอยู่ในสังคมจีน คุณจะมีความรู้สึกอย่างนั้นตลอดทุกวัน เพราะว่าวันนี้ตึกนี้ก็หายไป วันหนึ่งตึกนั้นก็ขึ้นมา อีกวันหนึ่งรถไฟสายนี้เปิด คือคุณอยู่เฉยไม่ได้เลย เพราะว่าโลกรอบตัวมันเปลี่ยนไปทุกวัน

อาจารย์บอกว่า วิธีคิดเรื่องการปรับตัวเป็นวิธีคิดที่คนจีนมีมาตั้งแต่โบราณ ทีนี้กับคนจีนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไลต์ต่างจากคนรุ่นก่อน วิธีคิดอย่างนี้หลงเหลืออยู่ในคนจีนรุ่นใหม่มากน้อยแค่ไหน?

ผมคิดว่าคนจีนรุ่นนี้มีมากกว่าคนจีนรุ่นก่อนอีกนะ.

อาร์ม ตั้งนิรันดร หนังสือ CHINA 5.0