w©rld

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมดูรายการทีวีเชิงความรู้ทางยูทูบ นักวิชาการที่เป็นทั้งคู่สนทนาและผู้ร่วมดำเนินรายการท่านหนึ่งบอกว่า “ในโลกอนาคต ข้อเท็จจริงและความรู้จะมีอายุสั้นลงเรื่อยๆ”

ฟังแล้วก็รู้สึกเห็นด้วย เพราะวันนี้หน้าฟีดเฟซบุ๊คของผมไม่ปรากฏเรื่องราวของ โรงแรมดุสิตธานี อีกแล้ว ทั้งๆ ที่เมื่อตอนต้นเดือน ทุกคนยังแชร์และพูดถึงเรื่องนี้ราวกับเพื่อนที่รักคนหนึ่งกำลังจะจากไป แล้วเราต่างก็รู้สึกโหยหาอาลัยกันมาก

แต่พอผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ เรื่องราวของดุสิตธานีก็หายไป ผู้คนที่เคยโหยหาอาลัย ก็หันไปแชร์และพูดถึงเรื่องราวใหม่ๆ

ดุสิตธานี Google Trends
กูเกิ้ลเทรนด์แสดงแนวโน้มการค้นหาคำ “ดุสิตธานี” ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

ดูเหมือนว่าในโลกอนาคต นอกจากข้อเท็จจริงและความรู้จะมีอายุสั้นลงแล้ว “ความรู้สึก” ของเราก็ดูจะมีอายุสั้นลงเช่นกัน

ในวาระใกล้สิ้นสุดเดือนมกราคม พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นเดือนที่โรงแรมอายุกว่า 49 ปีอย่างดุสิตธานี ประกาศขอหยุดพักเพื่อสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ผมได้กลับไปฟื้นความหลังและความรู้สึกที่หล่นหายไปในทะเลข้อมูลข่าวสารอีกครั้ง ด้วยการรื้อค้นข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรมแห่งนี้ที่สถิตอยู่ในรูปของหนังสือ

หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวบางเรื่องที่เราไม่อาจสืบค้นได้จากโลกออนไลน์

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
โรงแรมดุสิตธานี พ.ศ. 2515 (Photo: facebook | เมืองไทยในอดีต)

1.

เปิดวันแรก แขกร่วมงานกว่า 3,000 คน

โรงแรมดุสิตธานีเปิดให้บริการวันแรก 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513

วันนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด มีแขกมาร่วมงานประมาณ 3,000 คน คับคั่งบริเวณห้องนภาลัย ล็อบบี้ชั้นบน ล็อบบี้ชั้นล่าง รวมถึงห้องสิริเธียเตอร์

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี องค์ประธานในพิธีเปิดโรงแรมดุสิตธานี*
ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
บรรยากาศงานพิธีเปิดโรงแรมดุสิตธานี

“นายและนางเอ็ดเวิร์ด คาร์ลสัน ประธานกรรมการของ Western International Hotels ก็ได้มาร่วมงานด้วย เราได้เชิญตัวแทนสำนักงานท่องเที่ยวต่างๆ จากต่างประเทศ และผู้ที่เคารพนับถือ” ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เขียนเล่าไว้ในหนังสือ คนแก่อยู่กับความหลัง

จากนั้นไม่นาน นิตยสารฟอร์จูน (Fortune) ได้เขียนถึงโรงแรมดุสิตธานีว่าเป็น 1 ใน 10 โรงแรมที่มีทำเล สิ่งแวดล้อม การออกแบบตกแต่ง และบริการดีที่สุดในโลก

“ดิฉันดีใจเป็นอย่างมาก” ท่านผู้หญิงชนัตถ์เผยความรู้สึก

2.

สีเขียวและสีม่วงในโรงแรมคือ ‘สีถูกโฉลก’ ของท่านผู้หญิงชนัตถ์

หลายคนที่รู้จักท่านผู้หญิงชนัตถ์ถามว่า เหตุใดสีในโรงแรมดุสิตธานีไม่ว่าพรมหรือโป๊ะไฟ ถึงเป็นสีม่วงและสีเขียวไปหมด

ล็อบบี้ ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
(Photo: belgianwino.com)
ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
(Photo: facebook | Meechai C Chainapaporn)

“บางท่านยังถามว่า สีม่วงหมายถึงสีของการเป็นหม้ายใช่ไหม และบางท่านบอกว่าสีม่วงเป็นสีของความเศร้าทำไมจึงชอบ ดิฉันได้เรียนไปว่า ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ที่ดิฉันใช้สีม่วงนั้นเพราะชอบสีม่วงมาก และที่สำคัญ ดิฉันได้เก็บตกเรื่องสีที่ถูกโฉลกของผู้ที่เกิดตามวันต่างๆ”

ท่านผู้หญิงชนัตถ์เกิดวันจันทร์ สีศิริมงคลเป็นสีม่วง สีที่เป็นเดชคือสีเขียว สีที่เป็นสง่าคือสีน้ำเงิน ส่วนสีที่เป็นกาลกิณีคือสีแดง

“เป็นความจริงที่ดิฉันไม่ชอบสีแดง จึงไม่มีเสื้อผ้าหรือของใช้ที่เป็นสีแดงเลย”

3.

โรงแรมเกือบไม่ได้ชื่อ “ดุสิตธานี” เพราะเป็นภาษาไทย

เมื่อคราวจดทะเบียนบริษัท หลายฝ่ายแนะนำให้ท่านผู้หญิงชนัตถ์ใช้ชื่อโรงแรมเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากให้บริการแก่ชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่

“แต่ดิฉันคิดว่าดิฉันเป็นคนไทย โรงแรมนี้อยู่ในประเทศไทย ควรจะใช้ชื่อไทย”

แล้วโรงแรมควรใช้ชื่อภาษาไทยว่าอะไร?

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ได้คำตอบนี้เมื่อตอนถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 เพื่อขอพระราชทานอภัยที่จะต้องรื้ออาคารหลังเก่า เธอได้นึกถึงเมืองสมมติที่พระองค์ทรงสร้างที่ชื่อ ‘ดุสิตธานี’

ดุสิตธานี บ้านหย่อนใจ ท่านราม ณ กรุงเทพ รัชกาลที่ 6
บ้านหย่อนใจ ของท่านราม ณ กรุงเทพ หรือรัชกาลที่ 6 ในเมืองดุสิตธานี

ท่านผู้หญิงชนัตถ์เห็นว่าชื่อนี้ดี ด้วยสองเหตุผล…

หนึ่ง คำว่า ‘ดุสิต’ เป็นชื่อของสวรรค์ชั้น 4 จึงมีความหมายเป็นมงคลแก่ผู้เข้าพัก

สอง เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 6

เมื่อเห็นดังนี้ เธอจึงแจ้งกับทีมผู้บริหารว่าจะขอตั้งชื่อบริษัทว่า ‘ดุสิตธานี’

“ทุกคนไม่เห็นด้วยอีก เพราะฝรั่งเรียกไม่เป็น ดิฉันไม่เข้าใจ แต่คิดว่าสะกดให้ถูกๆ ออกเสียงสั้นๆ ก็คงจะไม่ยากสำหรับชาวต่างประเทศ ดิฉันตกลงใจแล้วและไม่ขอเปลี่ยน

“ทุกคนยอมตามใจดิฉัน แม้จะไม่เห็นด้วย เราจึงมีชื่อ ‘ดุสิตธานี’

4.

ค่าออกแบบโลโก้ ‘D’ ราคา 320,000 บาท

หลังจากได้ชื่อโรงแรม ท่านผู้หญิงชนัตถ์คิดถึงตราสัญลักษณ์ของโรงแรม ซึ่งคนไทยสมัยนั้นยังไม่เห็นความสำคัญของการทำ ‘โลโก้’ เพื่อให้สินค้าเป็นที่จดจำเหมือนบริษัทฝรั่ง

ท่านผู้หญิงชนัตถ์จึงติดต่อบริษัทแลนดอร์ที่ซานฟรานซิสโกให้ช่วยออกแบบโลโก้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

– โลโก้ ‘D’ ที่ซ้อนตัว D และ T ไว้ด้วยกัน

– คำว่า ‘Dusit Thani’ ที่ใส่ความเป็นไทยเข้าไป

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
โลโก้โรงแรมดุสิตธานี*

โดยลีลาการเขียนชื่อโรงแรมดุสิตธานีทั้งไทยและอังกฤษจะเป็นลักษณะการเขียนแบบไทย ซึ่งมีความอ่อนช้อยอันเป็นเอกลักษณ์

ส่วนค่าออกแบบโลโก้ ท่านผู้หญิงชนัตถ์เปิดเผยไว้ในหนังสือ คนแก่อยู่กับความหลัง ว่า “นายคาร์ลสันได้เสียเงินค่าออกแบบอักษรย่อโลโก้ให้ดุสิตธานีเป็นเงินถึง 10,000 เหรียญสหรัฐฯ”

หรือราว 320,000 บาท เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนในเดือนมกราคม พ.ศ.2562

5.

พาสถาปนิกชมวัดและวังเพื่อสร้างสถาปัตยกรรมแบบ ‘ไทยโมเดิร์น’

‘นำความเป็นไทยให้ปรากฏสู่สากล’ คือความตั้งใจของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ในการสร้างโรงแรมดุสิตธานี

ด้วยเหตุนี้ ตัวอาคารดุสิตธานีจึงต้องมีลักษณะแบบสถาปัตยกรรมไทย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำ เนื่องจากปัญหา 3 ข้อ

หนึ่ง พ.ศ.นั้น ยังไม่มีอาคารในประเทศที่สูงเกินหลายสิบชั้นถอดแบบมาจากสถาปัตยกรรมไทย

สอง สถาปนิกผู้ออกแบบเป็นคนญี่ปุ่น ไม่มีพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรมไทย

สาม หากจะใช้สถาปนิกคนไทย ก็ไม่มีใครเคยออกแบบตึกสูงระดับยี่สิบกว่าชั้น

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
โยโซ ชิบาตะ (คนใส่แว่นสวมเชิ้ตสีขาวกลางภาพ) ผู้ออกแบบกับทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่น (photo: courtesy of Dusit Thani Bangkok)

ท่านผู้หญิงชนัตถ์จึงแก้ปัญหาด้วยการพากลุ่มสถาปนิกชาวญี่ปุ่นไปเที่ยวชมวัดและวังที่มีชื่อเสียงด้านความงดงาม เช่น พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เพื่อให้เข้าใจถึงรูปแบบสถาปัตย์ของไทย และสามารถสร้างสรรค์งานที่สอดแทรกความเป็นไทย โดยไม่ยึดติดแบบดั้งเดิม แต่เป็นไทยแบบประยุกต์และร่วมสมัย เพื่อ ‘นำความเป็นไทยให้ปรากฏสู่สากล’

6.

แผ่นพับใบแรก แจกก่อนโรงแรมเปิด 2 ปี

แผ่นพับใบแรกของโรงแรมดุสิตธานีเป็นแผ่นพับที่แจกก่อนโรงแรมเปิดนานถึง 2 ปี (พ.ศ.2510) เพื่อแจ้งข่าวว่าในอนาคตอันใกล้ จะมีโรงแรมสุดหรูแห่งใหม่เปิดให้บริการ

ข้อความที่หน้าแผ่นพับระบุว่า…

 

โรงแรมดุสิตธานี

__

เปิดปลายฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ.2512

__

โทร. 3-1747

       3-1761

511 ห้องพักและห้องสวีทอันหรูหรา

5 ภัตตาคารชั้นเลิศ

4 ค็อกเทลเลาจน์

แหล่งบันเทิงยามราตรี

สถานที่ประชุมและจัดเลี้ยงสมบูรณ์แบบที่สุดในกรุงเทพมหานคร

แหล่งช้อปปิ้งอันโอ่โถ่ง

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
แผ่นพับใบแรก พ.ศ.2510*

7.

‘การไหว้’ เอกลักษณ์ของพนักงานจาก คำสอนแม่ในความทรงจำ

สำหรับท่านผู้หญิงชนัตถ์ การไหว้ ถือเป็นการทักทายต้อนรับที่แสดงถึงวัฒนธรรมและความอ่อนน้อมถ่อมตนอันเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่ควรรักษาไว้

เธอจึงเน้นย้ำและทำเป็นแบบอย่างแก่พนักงานเสมอ จนกลายเป็นภาพชินตาเมื่อได้เห็นท่านผู้หญิงชนัตถ์เป็นฝ่ายยกมือไหว้ขอบคุณแขกของโรงแรม

โรงแรมดุสิตธานี Dusit Thani Bangkok ชนัตถ์ ปิยะอุย

ทำไมการไหว้ถึงสำคัญ? คำตอบน่าจะอยู่ที่การปลูกฝังของคุณแม่ตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งท่านผู้หญิงชนัตถ์ไม่เคยลืม

“คุณแม่ค่อนข้างพิถีพิถันมากในเรื่องการไหว้ เวลาเราไหว้จะเพียงบรรจบมือพอยกขึ้นแล้วยกลงให้คุณแม่เห็นไม่ได้ คุณแม่บอกให้เรามีความรู้สึกด้วย ให้ไหว้ด้วย ‘ใจ’ ว่าเราทำความเคารพ

“…เวลาพวกเราไปโรงสีครั้งแรกคุณแม่ให้ไหว้ ‘หลงจู๊’ และ ‘ป้าแม่ครัว’ และบอกว่าที่ให้ไหว้เพราะ หนึ่ง เขาอายุมากกว่าพวกเรา สอง เขาช่วยคุณแม่ทำงานแทนพวกเรา จึงควรขอบใจเขา

“ฉะนั้น ครั้งต่อๆ มาเมื่อไปถึงโรงสี พบคนที่ทำงานกับคุณแม่ก็รีบยกมือไหว้ทันที ไม่ต้องคอยให้คุณแม่บอก

“การไหว้จึงเป็นอัตโนมัติไปโดยไม่รู้ตัว”

8.

ห้องอาหารไทย ‘เบญจรงค์’ เคยมีชื่อว่า ‘สุโขทัย’

โรงแรมดุสิตธานีเป็นโรงแรมแรกๆ ที่เปิดให้บริการห้องอาหารไทย ชื่อห้องอาหาร สุโขทัย ที่ให้บริการอาหารไทยตำรับดั้งเดิมและเสิร์ฟประดิดประดอยอย่างวิจิตรแบบชาววัง

เช่นเดียวกับการตกแต่งภายในที่วิจิตรตามแบบศิลปะไทย ไม่ว่าลายแกะฉลุไม้ ผนังที่ตกแต่งด้วยไม้สักทอง หรือลายไทยบนเสาขนาดใหญ่และภาพวาดบนกำแพงยาวกว่า 4 เมตรที่วาดโดย “ท่านกูฏ” หรือ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ศิลปินชั้นครูที่ทำงานศิลปะไทยร่วมสมัยคนแรกๆ

ท่านกูฏ ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ ห้องอาหารเบญจรงค์ ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
(Photo: courtesy of Dusit Thani Bangkok)

ท่านกูฏ ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ ห้องอาหารเบญจรงค์ ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok

ท่านกูฏ ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ ห้องอาหารเบญจรงค์ ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok

ในยุคต้นของห้องอาหารสุโขทัย บรรยากาศการทานอาหารออกแบบให้ใกล้เคียงกับการนั่งกินของคนไทย โดยยกพื้นไม้สูงเป็นที่นั่ง แล้วนั่งหย่อนขาลงใต้โต๊ะ ส่วนโต๊ะที่ทำจากไม้สักและดัดแปลงจากตั่งขาสิงห์ (เครื่องไม้ไทยโบราณ) ก็ตั้งวางบนพื้นไม้ที่ยกขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดศิลปะการแสดงแบบไทย ไม่ว่ารำไทย ดนตรีไทย มาขับกล่อมระหว่างทานอาหารอีกด้วย

ท่านกูฏ ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ ห้องอาหารเบญจรงค์ ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok

ท่านกูฏ ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ ห้องอาหารเบญจรงค์ ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
(Photo: courtesy of Dusit Thani Bangkok)

ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ทางโรงแรมได้ปรับโต๊ะและเก้าอี้ให้นั่งสบาย ปรับเมนูให้เข้ากับยุคสมัย โดยนำเทคนิคการปรุงอาหารแบบใหม่มาใช้ โดยยังคงรสชาติแบบดั้งเดิม

พร้อมกับเปลี่ยนชื่อห้องอาหารใหม่เป็น เบญจรงค์

9.

‘เทียร่า’ ห้องอาหารบนยอดตึกแห่งแรกของไทย

ดุสิตธานีคือโรงแรมแห่งแรกในประเทศที่เปิดให้บริการห้องอาหารที่ชั้นบนสุดของอาคาร ซึ่งเวลานั้นได้ชื่อว่าเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศ

ห้องอาหาร เทียร่า (Tiara) ให้บริการแบบ ‘ซัปเปอร์ คลับ’ อันเป็นรูปแบบที่โรงแรมขนาดใหญ่หลายประเทศในยุคนั้นให้ความนิยม คือเป็นห้องอาหารที่นั่งกินข้าวและฟังเพลง โดยมีนักร้องและนักดนตรีชื่อดังจากต่างประเทศผลัดเวียนมาแสดงทุกๆ สองสัปดาห์

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
ห้องอาหารเทียร่า (Photo: นิตยสาร Decor International)

ส่วนอาหารที่จัดบริการเป็นอาหารฝรั่งเศส ปรุงด้วยวัตถุดิบนำเข้า และสร้างสรรค์โดยเชฟฝรั่งเศส นอกจากอิ่มท้อง ที่นี่ยังให้ความอิ่มตา เพราะคุณจะได้ดื่มด่ำกับทิวทัศน์ของกรุงเทพมหานครจากยอดตึกแบบรอบทิศ ที่มองเห็นได้ไกลถึงแม่น้ำเจ้าพระยาและบางประกง

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
ห้องอาหารเทียร่าต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘BANGKOK 22 Kitchen & Bar’ (Photo: belgianwino.com)

10.

ห้องจัดเลี้ยงสุดเดิร์นแห่งยุคชื่อ ‘นภาลัย’

หลายสิบปีก่อน โรงแรมทั่วไปจะให้บริการห้องพักเป็นหลัก ขณะที่บริการส่วนอื่นๆ ยังค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะการจัดเลี้ยง

ยุคนั้นใครที่จะจัดงานเลี้ยงจึงมักจะจัดกันเองที่บ้าน หรือถ้าเป็นงานใหญ่ เลี้ยงคนจำนวนมาก ก็จะไปจัดกันที่สวนอัมพร

แต่โรงแรมดุสิตธานีได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ เพราะเป็นโรงแรมที่รวบรวมห้องอาหาร ความบันเทิงอันหลากหลายประเภท และห้องจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ชื่อ “ห้องนภาลัย” ที่โอ่โถงแบบบอลรูม จุคนได้มาก บวกกับความพร้อมในเรื่องการจัดอาหารและบริการที่ได้มาตรฐาน

ห้องนภาลัย ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
(Photo: galaxycompany.net)

ผู้คนจึงเริ่มหันมานิยมจัดเลี้ยงกันที่นี่ โดยเฉพาะงานแต่งงาน ทั้งพิธีการแบบไทยและงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส รวมถึงงานเลี้ยงการกุศล แฟชั่นโชว์ งานเลี้ยงฉลองจบการศึกษาที่จะต้องออกมาถ่ายรูปหน้าอาคารเป็นที่ระลึก

“ผมก็แต่งงานที่โรงแรมนี้ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี” ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รำลึกถึงความหลังครั้งเก่าในคลิป ค่ำคืนสุดท้ายของ “ดุสิตธานี”

11.

โรงแรมมีล็อบบี้ 2 ชั้น

อาคารของดุสิตธานีแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ โรงแรมสูง 21 ชั้น อาคารพาณิชย์สูง 11 ชั้น และ Podium สูง 3 ชั้น

ซึ่งอาคารส่วน Podium จะเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่มีล็อบบี้ ห้องอาหารต่างๆ รวมทั้งร้านค้าที่ขายสินค้างานฝีมือ ผ้าไหมไทย เครื่องประดับฝีมือช่างไทย ฯลฯ

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
ไฟนอลมาสเตอร์ดีไซน์ พ.ศ.2510*

สิ่งที่น่าสนใจของอาคาร Podium คือส่วนล็อบบี้ที่มีการออกแบบให้มี 2 ชั้น ซึ่งต่างจากโรงแรมส่วนใหญ่ที่มีล็อบบี้เพียงชั้นเดียว เนื่องจากท่านผู้หญิงชนัตถ์เล็งเห็นว่า ธุรกิจการเดินทางด้วยเครื่องบินกำลังเติบโต

“บังเอิญดิฉันได้ไปร่วมประชุมพาต้า (PATA) ที่เมืองซีแอตเติล และได้ไปเยือนบริษัทสร้างเครื่องบินจัมโบ้เจ็ต ซึ่งมีถึง 400 ที่นั่ง

“ดิฉันจึงได้กลับไปโตเกียวอีกเปลี่ยนล็อบบี้ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะรองรับผู้โดยสารที่จะมาครั้งละมากๆ และจัดระบบให้มีล็อบบี้ 2 ชั้น คือชั้นล่างสำหรับกลุ่มทัวร์ ส่วนล็อบบี้บนสำหรับรับแขกวีไอพี…”

เครื่องบิน boeing 747 จัมโบ้เจ็ต
เครื่องบิน “จัมโบ้เจ็ต” หรือ Boeing 747 ผลิตขึ้นสำเร็จครั้งแรก พ.ศ.2511 (Photo: airwaysmag.com)

ต่อมาเมื่อโรงแรมเปิด ท่านผู้หญิงชนัตถ์ได้ปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นจากที่ตั้งใจเล็กน้อย โดยปรับล็อบบี้ชั้นบนสำหรับรับแขกทั้งแขกวีไอพีและกลุ่มทัวร์ ส่วนล็อบบี้ด้านล่างจัดให้เป็นพื้นที่เฉพาะของร้านค้าและห้องอาหาร ซึ่งได้รับความนิยมและคึกคักตั้งแต่แรกเปิด

12.

ซุ้มที่ถอดแบบจาก ‘ช่องซุ้มวัดเบญจมบพิตร’

ถ้าสังเกตตัวอาคารด้านนอกของโรงแรมดุสิตธานี จะเห็นแผงที่มีการประดับลายแบบไทย ข้อมูลจากหนังสือ DUSIT THANI 48TH ANNIVERSARY THE ART OF THAI HOSPITALITY ระบุว่า นี่คือ ‘ซุ้ม’ ซึ่งมีลักษณะเป็นซุ้มยอดแหลม หรือจะดูเป็นกลีบบัวก็ได้

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
(Photo: facebook | ดุสิตธานี นับถอยหลังเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่)

ลายซุ้มสูงจากพื้นถึงระดับล็อบบี้ชั้นบน ทรงซุ้มคล้ายกับช่องซุ้มทางเดินที่ วัดเบญจมบพิตร แต่เป็นการคลี่คลายรูปทรงที่ลงตัวและสวยงาม สำหรับการประดับกระเบื้องโมเสคสีทองและสีเขียวเหลือบแบบปีกแมลงทับ และตรงกลางของซุ้มที่เป็นเหล็กดัดลายร่างแหประดับลายประจำยามนั้น ช่วยขับเน้นให้ซุ้มดูงดงามและบ่งบอกถึงความเป็นไทย

13.

เพดานล็อบบี้คือรูปทรงของ ‘ใบบัว’

ภายในล็อบบี้โรงแรมดุสิตธานี ห้องโถงกลางจะมีเสากลมใหญ่เรียงรายเป็นระยะ รับกับเพดานที่ยกระดับ ซึ่งดีไซน์ล้อกับรูปทรงของ ‘ใบบัว’ ดังนั้น แขกที่มาเยือนจึงเหมือนอยู่ใต้ใบบัวที่ต่อกันเป็นผืนเพดาน ในยุคแรกบริเวณรอบเสากลมจะมีน้ำไหลลงมาให้ความฉ่ำเย็น แต่ภายหลังปรับเหลือเพียงเสากลมอย่างเดียว

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
(Photo: belgianwino.com)

14.

ต้นปาล์มทุกต้นปลูกด้วยมือของผู้ก่อตั้ง

ท่านผู้หญิงชนัตถ์เคยเล่าว่า ช่วงแรกที่ทำโรงแรมดุสิตธานี ต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่ายและประหยัดอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ค่อนข้างสูง

สิ่งไหนที่ทำเองได้ เธอจะเลือกทำด้วยตนเอง เช่น การเป็นผู้ประสานงานจ้างผู้รับเหมารายย่อย แทนการใช้ผู้รับเหมารายใหญ่เพียงรายเดียว ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายได้สูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ อย่างการทำสวน

ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
(Photo: facebook | ดุสิตธานี นับถอยหลังเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่)

“การทำสวนในบริเวณน้ำตก ไม่มีงบประมาณ ดิฉันกับลูกๆ ก็ใช้เวลาเย็นปรับดินแล้วซื้อต้นไม้มาลง ลูกเมียของคนงานก็มาช่วยทำในเวลาค่ำ ตกดึกเราก็ทานข้าวด้วยกันซึ่งสนุกดีค่ะ

“ต้นปาล์มที่นี่ทุกต้นดิฉันปลูกด้วยมือของดิฉันเอง”

15.

โรงแรมก่อตั้งโดยผู้หญิงคนเดียว และไม่เคยเรียนการโรงแรม

หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า โรงแรมดุสิตธานี หรือที่ปัจจุบันกลายเป็นเครือโรงแรมขนาดใหญ่ที่ให้บริการที่พักกว่า 39 แห่งใน 13 ประเทศทั่วโลก ก่อตั้งโดย ชนัตถ์ ปิยะอุย นักธุรกิจหญิงที่ไม่เคยเรียนการโรงแรม

“ดิฉันเองมิได้ศึกษาเล่าเรียนมาสูงๆ แต่ดิฉันชอบเห็นงานดำเนินไปให้สำเร็จเสร็จสิ้นอย่างพอเหมาะพอควร”

ชนัตถ์ ปิยะอุย ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
(Photo: นิตยสาร People พ.ศ.2540)

ตอนเริ่มต้นโครงการ เมื่อผู้ออกแบบประมาณค่าก่อสร้างและค่าตกแต่ง ฯลฯ จากแบบโรงแรมในฝันไว้สูงถึง 450 ล้านบาท ท่านผู้หญิงชนัตถ์ถึงกับตกใจ เนื่องจากตัวเลขสูงเกินที่คาดไว้เกือบเท่าตัว แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ตัดสินใจเดินหน้า ด้วยวิธีระดมทุนตั้งแต่วันที่เมืองไทยยังไม่มีตลาดหลักทรัพย์ บวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจ การรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา และได้พบเจอกัลยาณมิตรทางธุรกิจ โรงแรมดุสิตธานีจึงถือกำเนิดขึ้นมา

ท่านผู้หญิงชนัตถ์เคยให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกช่วงก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานีในนิตยสาร แพรว รายปักษ์ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2532 ตอนหนึ่งว่า…

มานึกย้อนไหมคะว่าผ่านพ้นมาได้อย่างไร?

“ช่วงยากลำบากเหมือนที่เขาว่าเข็นครกขึ้นภูเขา มาหลับตา นึกดูแล้วมันก็จริงนะคะ เหมือนเราเข็นครกขึ้นภูเขาจริงๆ เพราะกำลังเรามันน้อยเหลือเกิน ตึกดุสิตธานีใหญ่ก็จริง ใครๆ ว่าตึกดุสิตฯ ใหญ่คงจะมีเงินมาก ความจริงไม่ใช่เลย มันใหญ่แต่เสาเท่านั้นเอง” (หัวเราะเบาๆ)

ในด้านความเชื่อถือ การเป็นผู้หญิงเป็นปัญหาไหมคะ?

“ไม่เป็นค่ะ ข้อสำคัญคือเราพูดแต่ความจริง ฐานะของเรามียังไงเราบอกความจริง ไม่ปกปิด การติดต่อกับคน ถ้าเราเอาความจริงเข้ามาพูด ถ้ามีปัญหาเขายังช่วยแก้

“เพราะฉะนั้นข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเรามีความจริงใจ”.

ชนัตถ์ ปิยะอุย ดุสิตธานี Dusit Thani Hotel Bangkok
รวมลูกๆ หลานๆ ถ่ายภาพร่วมกันที่สนามหน้าบ้านในเย็นวันหนึ่ง (Photo: นิตยสาร LIFE & DECOR ตุลาคม พ.ศ.2535)

หมายเหตุ: คำบรรยายภาพที่มีเครื่องหมาย * เป็นภาพจากหนังสือ DUSIT THANI 48TH ANNIVERSARY THE ART OF THAI HOSPITALITY

อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจของโรงแรมดุสิตธานี เพิ่มเติมได้ที่ becommon.co/tag/โรงแรมดุสิตธานี/

 

อ้างอิง:

  • Chuleeporn Wiriyawongchai and Alex Choi. DUSIT THANI 48TH ANNIVERSARY THE ART OF THAI HOSPITALITY. Dusit Thani Public Company Limited, 2560.
  • ชนัตถ์ ปิยะอุย. คนแก่อยู่กับความหลัง. คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เพื่อโดยเสด็จบูรณะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, 2535.
  • ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์. ค่ำคืนสุดท้ายของ “ดุสิตธานี”. https://www.facebook.com/ChuvitKamolvisit/videos/605364493236825/