‘ร้อยปี’ หรือ ‘ศตวรรษ’ เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากกว่าหนึ่งชั่วอายุคน
แต่ในความเก่าและความแก่ อาจไม่ได้หมายถึงโบราณคร่ำครึเสมอไป หากสิ่งนั้นยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ย่อมผ่านการพิสูจน์แล้วว่า เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญเพียงพอให้ผู้คนต่างยุคต่างสมัยจดจำและสนใจตลอดร้อยปีที่ผ่านมา
เมื่อลองหมุดเวลาครบรอบศตวรรษในปี 2022 แล้วมองย้อนอดีตกลับไปค้นหาสิ่งที่ถือเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1922 ทำให้ได้พบเจอทั้งเครื่องไม้เครื่องมือช่วยทุ่นแรง สุสานที่สร้างความกลัวและความรู้ ไอศกรีมรูปแบบใหม่ที่ไม่ละลายง่ายๆ และอีกหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทั่วโลกไปตลอดกาล
นี่คือ 5 สิ่ง (ไม่) ธรรมดาที่ becommon คัดสรรมารวมไว้ด้วยกัน เพื่อร่วมฉลองการค้นพบครบ 100 ปี ผ่านเรื่องราวเบื้องหลังความเป็นมาของสิ่งเหล่านั้น
เครื่องปั่น
สิ่งประดิษฐ์ติดห้องครัว
เครื่องปั่นน้ำผลไม้ที่ทุกคนรู้จักและคุ้นเคย ล้วนแล้วแต่พัฒนามาจากเครื่องปั่นต้นแบบของ สตีเฟน เจ. พอปลอว์สกี (Stephen J. Poplawski) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์ผู้คิดค้นเครื่องปั่นอาหารสำเร็จเป็นเครื่องแรกของโลก
ปี 1918 พอปลอว์สกีในวัย 23 ปี เริ่มต้นตั้งบริษัท Stephens Tool Co. ของตัวเองที่เมืองราซีน (Racine) รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เพื่อรับประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรตามแต่จะมีคนมาว่าจ้าง
หนึ่งปีให้หลัง บริษัท Arnold Electric มอบหมายให้พอปลอว์สกีช่วยสร้างเครื่องผสมนมสดกับมอลต์ สำหรับเอาไว้ใช้ทำเครื่องดื่มในร้านอาหาร
พอปลอว์สกีทดลองติดใบมีดขนาดเล็กลักษณะคล้ายใบพัดไว้ที่ฐานของถ้วยโลหะทรงสูงที่เขาประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แล้วเชื่อมต่อกลไกเข้ากับมอเตอร์ไฟฟ้าคอยควบคุมกำลังหมุนของใบมีด ผลลัพธ์ที่ได้นั้นดีเกินคาด เครื่องนี้บดและสับวัตถุดิบทุกอย่างเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หากต้องการให้ละเอียด ก็แค่ใช้เวลาปั่นนานขึ้น
หลังจากผ่านการทดสอบจนพอปลอว์สกีพอใจแล้ว เขายื่นจดสิทธิบัตรเครื่องปั่นต้นแบบในปี 1922 ทันที โดยตั้งชื่อเรียกผลงานชิ้นเอกอย่างตรงไปตรงมาว่า Blender แต่ชาวอังกฤษกลับถนัดเรียกว่า Liquidizer ตามลักษณะการใช้งานที่ปั่นของแข็งให้กลายเป็นของเหลว
ส่วนหน้าตาเครื่องปั่นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนวัสดุโถจากโลหะเป็นแก้วหรือพลาสติก คือผลงานของ เฟรเดอริก เจ. โอเซียส (Frederick J. Osius) โดยคิดต่อยอดมาจากเครื่องปั่นต้นแบบของพอปลอว์สกีอีกทีหนึ่ง
ตลอดการทำงานของโอเซียส เขาได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก เฟรด วอริง (Fred Waring) นักดนตรีชื่อดังในยุคนั้นผู้หลงใหลและคลั่งไคล้สิ่งประดิษฐ์ จนกระทั่งโอเซียสทำสำเร็จในปี 1933 วอริงจึงตัดสินใจตั้งบริษัท Waring เพื่อผลิตเครื่องปั่นออกมาวางขายโดยเฉพาะ กลายเป็นแบรนด์เครื่องปั่นสัญชาติอเมริกันที่ยังคงได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้
สุสานฟาโรห์ตุตันคาเมน
ปลุกกระแสความตื่นรู้ด้านโบราณคดี
วันที่ 4 พฤศจิกายน 1922 ความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อของ ฮาวเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ทำให้เขาค้นพบขั้นบันไดใต้ดินที่นำทางลงไปสู่ประตูหินใต้พื้นที่ Valley of the Kings หรือ หุบเขากษัตริย์ บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ในเขตเมืองลักซอร์ (Luxor)
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังประตูหิน คือสมบัติและสิ่งมีค่าละลานตา เมื่อเข้าไปยังห้องอื่นๆ ที่อยู่ลึกยิ่งกว่า คาร์เตอร์เห็นโลงศพขนาดใหญ่ ภายในบรรจุพระศพ ตุตันคาเมน (Tutankhamun) ฟาโรห์องค์ที่ 12 ในราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์ ทุกห้องของสุสานถูกปิดตายมานานกว่า 3,000 ปี
หน้าประวัติศาสตร์ของอารยธรรมอียิปต์ที่เคยหายสาบสูญ ค่อยๆ กลับมาปะติดปะต่อเข้ากันอีกครั้ง ผ่านโบราณวัตถุแต่ละชิ้น ซึ่งต้องใช้เวลาร่วม 10 ปี เพื่อจัดระเบียบ ศึกษา บูรณะ และเก็บรักษาของทุกอย่างที่ค้นพบให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิมมากที่สุด
ระหว่างนั้น เริ่มมีข่าวลือเกี่ยวกับอาถรรพ์คำสาปมัมมี่ เพราะบนผนังตลอดทางเดินที่ทอดยาวไปสู่จุดตั้งของโลงศพ ปรากฏอักษรภาพอียิปต์โบราณ เป็นคำเตือนผู้บุกรุก ประกอบกับมีคนงานและผู้เกี่ยวข้องบางส่วนเสียชีวิต ซึ่งทุกคนล้วนแต่เคยเข้าไปในภายในสุสานมาก่อน โดยเฉพาะ ลอร์ด คาร์นาร์วอน (Lord Carnarvon) ขุนนางชาวอังกฤษผู้ออกเงินทุนสนับสนุนตลอดการขุดค้นของคาร์เตอร์
แต่ในทางวิชาการ สุสานฟาโรห์ตุตันคาเมนคือผลงานการค้นพบครั้งสำคัญของโลก เพราะช่วยขยายความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ และปลุกกระแสความตื่นรู้ให้คนทั่วโลกหันมาสนใจศาสตร์โบราณคดี เกิดเป็น Egyptomania หรือความคลั่งไคล้ตำนานไอยคุปต์ นับตั้งแต่ค้นพบครั้งแรกจนถึงตอนนี้
ปัจจุบัน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุภายในสุสาน ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งอยู่ในความดูแลของสหราชอาณาจักร และยังคงนำจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ส่วนที่สองอยู่ในความดูแลของรัฐบาลอียิปต์ โดยเฉพาะวัตถุชิ้นเอกอย่างหน้ากากทองคำ
ทุกวันนี้ทางการของอียิปต์ยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษส่งวัตถุโบราณที่เหลือทั้งหมดคืนมา
ไอติมแท่งเคลือบช็อกโกแลต
เก็บรสชาติความสุขให้ละลายช้าที่สุด
ท่ามกลางไอแดดแผดเผา และอากาศที่แสนจะอบอ้าวของฤดูร้อนในเมืองโอนาวา (Onawa) รัฐไอโอวา (Iowa) ปี 1920 เด็กชายคนหนึ่งเดินเข้าตรงเข้ามาในร้านขายขนมของ คริสเตียน เคนต์ เนลสัน (Christian Kent Nelson) หวังซื้อของหวานแก้กระหาย แต่กลับตัดสินใจเลือกไม่ได้ว่าจะกินไอติมหรือช็อกโกแลตแท่งดี
เนลสันเห็นเด็กชายคนนั้นยืนลังเลอยู่นาน เขาจึงคิดอะไรเจ๋งๆ ออก แล้วบอกกับเด็กว่า ทำไมต้องเลือกด้วยล่ะ ก็กินทั้งสองอย่างพร้อมกันไปเลย เนลสันนำไอติมแท่งรสวานิลลามาจุ่มช็อกโกแลตจนไม่เห็นเนื้อไอติมสีขาว กลายเป็นไอติมรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดทำมาก่อน
ไอตีมแท่งเคลือบช็อกโกแลตได้รับรองสิทธิบัตรในปี 1922 ส่วนชื่อเรียกว่า Eskimo Pie ตั้งโดย รัสเซลล์ สโตเวอร์ (Russell Stover) หุ้นส่วนร้านอีกคน
ระหว่างที่ไอติมแท่งเคลือบช็อกโกแลตของเนลสันขายดีเทน้ำเทท่า จนต้องตั้งโรงงานผลิตจริงจัง เจ้าของร้านขายไอติมรายอื่นๆ ต่างก็อยากทำไอติมแบบเดียวกัน แต่จะทำโดยพลการไม่ได้เพราะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนลสันเพียงผู้เดียว ต้องซื้อลิขสิทธิ์จากเนลสันก่อน หนึ่งในบริษัทไอศกรีมยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ได้รับสิทธิ์ผลิต Eskimo Pie คือ เนสท์เล่ (Nestlé) ซึ่งวางขายแค่บางประเทศเท่านั้น
ทว่าในปี 2020 เนสท์เล่ประกาศโอนกรรมสิทธิ์ผลิตให้ เดรเยอร์ส (Dreyer’s) ดูแลต่อ ซึ่งเป็นบริษัทไอศกรีมในเครือ จึงถือโอกาสเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Edy’s Pie ตามชื่อ โจเซฟ เอ็ดดี้ (Joseph Edy) หนึ่งในผู้ก่อตั้งเดรเยอร์ส
ต่อให้ต้องเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนมือบริษัทผลิต แต่ไอติมรสวานิลลาเคลือบช็อกโกแลตอายุร้อยปีแท่งนี้ไม่เคยรูปแบบ เพราะช็อกโกแลตด้านนอกยังเก็บความหวานอร่อยของไอศกรีมด้านในไว้ได้เหมือนเดิม เป็นรสชาติสร้างสุขของคนทุกวัยไม่เปลี่ยนแปลง
วิตามินดีและอี
สารอาหารที่ชีวิตขาดไม่ได้
วิตามินเป็นหนึ่งในหมู่อาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะทำให้ระบบอวัยวะทำงานต่อไปได้ตามปกติ เสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโต และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์แบ่งสารอาหารออกเป็น 4 หมู่ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และเกลือแร่ จนกระทั่งในปี 1906 เฟรเดอริก กาวแลนด์ ฮ็อปกินส์ (Frederick Gowland Hopkins) นักชีวเคมีชาวอังกฤษ ทดลองสกัดสารอาหารทั้ง 4 หมู่ให้หนูทดลองกิน ปรากฏว่า แทนที่หนูจะแข็งแรงกลับป่วย จึงตั้งข้อสังเกตใหม่ว่า ร่างกายอาจต้องการสารอาหารมากกว่าที่มีอยู่
ต่อมา คริสตียาน ไอก์มัน (Christiaan Eijkman) แพทย์ชาวดัตช์ ศึกษาอาการเหน็บชาในไก่ เขาพบว่า หากไก่กินข้าวขาวที่ผ่านการขัดสี จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการเหน็บชา ตรงกันข้ามกับไก่ที่กินข้าวกล้อง ซึ่งแข็งแรงสมบูรณ์ดี เขาจึงเปลี่ยนมาให้ข้าวไม่ผ่านการขัดสีกับไก่ที่ป่วย ผลคือ อาการเหน็บชาทุเลาลงหลังผ่านไปไม่กี่วัน จึงสรุปว่าอาหารที่กินข้องเกี่ยวกับความเจ็บป่วย แล้วความเจ็บป่วยนั้นก็รักษาได้ด้วยอาหาร
เมื่อ คาสิมีร์ ฟังค์ (Casimir Funk) นักชีวเคมีชาวอเมริกันเชื้อสายดัตซ์ ได้อ่านงานของไอก์มันแล้ว เขาสนใจศึกษาต่อ โดยนำข้าวกล้องมาสกัด ทำให้พบสารประกอบเคมีอินทรีย์หมู่เอมีน (Amines) จึงตั้งชื่อว่า vitamine เป็นสารอาหารหมู่ที่ 5 ภายหลังตัดตัว e ออก กลายเป็น vitamin เพราะพบได้นอกเหนือจากหมู่เอมีน
ในปี 1913 เอลเมอร์ วี. แมคคอลลัม (Elmer V. McCollum) นักชีวเคมีชาวอเมริกันสกัดวิตามินชนิดแรกได้สำเร็จ จึงตั้งชื่อเรียกว่า A หรือวิตามินเอ เปิดทางให้วิตามินชนิดใหม่ที่ค้นพบตามมาทีหลัง ต้องตั้งชื่อตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ
ส่วนวิตามินดีและวิตามินอี ค้นพบครั้งแรกในปีเดียวกัน คือ ปี 1922
วิตามินดี ค้นพบโดย เอ็ดเวิร์ด เมลลันบี (Edward Mellanby) นักชีวเคมีและนักโภชนาการชาวอังกฤษ ระหว่างศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโรคกระดูกอ่อน เพราะวิตามินดีช่วยส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้และแร่ธาตุในกระดูก โดยปกติแล้ว ร่างกายของเราสังเคราะห์วิตามินดีได้เองเมื่อผิวหนังต้องแสงแดดอ่อนๆ
วิตามินอี ค้นพบโดย เฮอร์เบิร์ต อีแวนส์ (Herbert Evans) และ แคทเธอรีน บิชอป (Katherine Bishop) นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิตามินมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ส่วนมากพบในผักใบเขียว ช่วยป้องกันการแตกและอุดตันของเม็ดเลือด รวมถึงเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรงขึ้น
เครื่องเลื่อยรัศมี
อุปกรณ์สามัญประจำช่างไม้
งานช่างคืองานหิน เพราะทั้งยาก หนัก และอันตราย ในอดีตช่างจำนวนไม่น้อยต้องออกเรี่ยวแรงตัด เลื่อย เหลา ฝน ไสวัสดุเองทุกขั้นตอน งานช่างจึงเป็นงานที่อาศัยความพยายามและความทุ่มเทอย่างมาก
ยิ่งไปกว่านั้น หากช่างเลือกใช้อุปกรณ์ผิดหรือไม่เหมาะสมกับงาน นอกจากจะทำให้ได้ผลลัพธ์ไม่ตรงตามแบบแล้ว ยังเสียเวลาเปล่า ต้องทิ้งชิ้นงานที่ใช้ไม่ได้ไป และอาจร้ายแรงถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุ เพราะช่างส่วนใหญ่มีอุปกรณ์จำกัด เป็นสาเหตุให้ตกอยู่ในความเสี่ยงขณะทำงาน
นี่คือความคิดตกผลึกของ เรย์มอนด์ เอลเมอร์ ดีวอลท์ (Raymond Elmer DeWalt) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน หลังจากสังเกตการทำงานของบรรดาลูกน้องในโรงเลื่อยไม้ที่เขาดูแลอยู่ ดีวอลท์เห็นช่องโหว่มากมาย เขาพยายามคิดแก้ไขและหาวิธีเพิ่มผลผลิต โดยลดต้นทุน คือต้องใช้ไม้อย่างคุ้มค่า ไม่เกิดตำหนิที่ชิ้นงาน ส่วนช่าง ก็ไม่ควรออกแรงเกินความจำเป็นจนเหนื่อยล้า หมายความว่า งานไม้จะต้องใช้แรงงานต่อช่างหนึ่งคนน้อยลงกว่าเดิม
วิธีเดียวที่ดีวอลท์คิดได้ คือประดิษฐ์เครื่องมือชนิดใหม่ให้ช่างใช้งานแทน เน้นความสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำกว่าใช้แรงงานของคน เขาดัดแปลงใบเลื่อยแบบยาวเป็นวงล้อที่หมุนขึ้นลงได้ ซึ่งใช้ตัดไม้ท่อนหนาภายในเวลาไม่กี่วินาที ดีวอลท์ยังออกแบบเครื่องเลื่อยให้หมุนทำมุมเอียงได้ด้วย วงล้อเลื่อนใบเดียวจึงตัดได้มากถึง 9 แบบ ช่วยประหยัดทั้งแรงงาน เวลาทำงาน และต้นทุน
ดีวอลท์เรียกเครื่องเลื่อยนี้ว่า DeWalt Wonder-Worker ส่วนช่างไม้มักจะรู้จักในชื่อทั่วไปว่า radial arm saw หรือ เครื่องเลื่อยรัศมี
จากหัวคิดของดีวอลท์ สำเร็จเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมทันทีตั้งแต่ทดลองใช้งานครั้งแรกในปี 1922 จนกลายเป็นเครื่องมือพื้นฐานของการทำงานไม้ที่ขาดไม่ได้ ทำให้เขาต้องตั้งบริษัท DeWalt Products Company เพื่อผลิตเครื่องเลื่อยรัศมีและเครื่องจักรอเนกประสงค์แบบใช้ไฟฟ้าสำหรับงานไม้อื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งยังคงดำเนินธุรกิจมาถึงตอนนี้
อ้างอิง
- Deluca H. F. (2014). History of the discovery of vitamin D and its active metabolites. BoneKEy reports, 3, 479. https://doi.org/10.1038/bonekey.2013.213
- DeWALT. Brand History. https://bit.ly/3uZv9tI
- DeWALT. Our history of guaranteed tough. https://bit.ly/3gSVG3t
- Elizabeth Cummins. Tutankhamun’s tomb (innermost coffin and death mask). https://bit.ly/3LAXJr0
- Kat Eschner. The Weird, Brief History of the Eskimo Pie Corporation. https://bit.ly/3HceeGR
- Mary Bellis. The History of the Blender. https://bit.ly/3uY6OV1
- Mary Bellis. The History of Vitamins: Special Factors in Food. https://bit.ly/3gVDrud
- Maurtia Baldock. Guide to the Eskimo Pie Corporation Records. https://s.si.edu/3gSEprl
- Ministry of Tourism and Antiquities, Egypt. Tomb of Tutankhamun. https://bit.ly/3ByFLkj
- Taylor Miller. History of DeWalt Power Tools. https://bit.ly/355LiCO