w©rld

หลายคนคงเคยเห็นมีม Disaster Girl หรือภาพเด็กหญิงยืนยิ้มให้กล้อง มีฉากเบื้องหลังเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้

แม้จะถูกเซฟไปแปะใต้คอมเมนต์ เล่นสนุกกันอย่างแพร่หลาย แต่รู้ไหมว่ามีมนี้เขามีเจ้าของที่ซื้อมันมาแบบ NFT ในราคา 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 15.9 ล้านบาท 

NFT คืออะไร? ทำไมคนในโลกออนไลน์กำลังพูดถึงอย่างหนาหู และเชื่อว่าจะเป็นช่องทางใหม่ที่ทำให้งานศิลปะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

มีม Disaster Girl

NFT (Non-fungible-token) คือหนึ่งในเหรียญคริปโต (Cryptocurrency) ที่ซื้อขายกันในระบบบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นระบบเดียวกับการซื้อขายบิตคอยน์และเหรียญสกุลอื่นๆ เพียงแต่ NFT นั้นต่างออกไป ตรงที่เป็น เหรียญที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้  

จะรู้ได้อย่างไรว่าเหรียญไหน

‘ทดแทนได้’ หรือ ‘ทดแทนไม่ได้’ 

เหรียญที่ทดแทนกันได้เราเรียกว่า fungible token เช่น ถ้ายืมเงินเพื่อน 20 บาท เวลาคืนจะควักแบงก์ในกระเป๋าหรือโอนให้ 20 บาทก็มีค่าเท่ากัน ไม่จำเป็นต้องเป็นแบงก์ใบเดิมกับตอนที่ยืม ตรงกันข้ามกับ NFT ซึ่งเป็นเหรียญที่ไม่สามารถเอาเหรียญอื่นมาจ่ายคืนได้ เพราะแต่ละเหรียญมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ปลอมแปลงไม่ได้ ทำซ้ำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้มันจึงถูกนำไปเป็นตัวแทนของการซื้อขายสินค้าที่ให้คุณค่ากับความแรร์ เช่น ผลงานศิลปะ

เมื่อจับคู่กับงานศิลปะ เหรียญจะเป็นตัวบ่งบอกว่างานชิ้นนั้นมีเพียงหนึ่งชิ้นในโลก คนที่ได้เป็นเจ้าของ จะมีหลักฐานยืนยันเป็นเหรียญ NFT ที่ไม่มีอะไรมาแทนได้ ไม่ว่าคนซื้อจะได้ครอบครองผลงานจริงๆ หรือไม่ แต่ในโลกบล็อกเชน เหรียญ NFT จะทำหน้าที่เป็นใบรับรองบอกว่าเขาผู้นั้นเป็นเจ้าของผลงานแต่เพียงผู้เดียว 

เช่นเดียวกันกับ Disaster Girl แม้ว่ามันจะถูกเซฟไปตัดต่อใหม่ หรือใช้กันให้วุ่น แต่ท้ายที่สุดแล้วเจ้าของมีมที่ทุกคนใช้กันก็มีเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเหรียญ NFT ไว้ในครอบครอง แต่เจ้าของก็เป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ทำได้เพียงนำไปขายหรือประมูลต่อเท่านั้น ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงยังคงเป็นคนทำผลงานอยู่ตามเดิม

ทวีตแรกบนทวิตเตอร์ของ แจ็ค ดอร์ซี (Jack Dorsey)

เทรนด์ของ NFT เพิ่งเป็นที่นิยมในปี 2018-2019 แต่แท้ที่จริงแล้วการขายสินค้าในระบบนี้เริ่มมาพร้อมๆ กับช่วงที่สกุลเงินคริปโตประเภทต่างๆ เกิดขึ้น และเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางหลังจาก แจ็ค ดอร์ซี (Jack Dorsey) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ ประกาศขายทวีตแรกบนทวิตเตอร์ที่มีใจความสั้นๆ ในระบบ NFT โดยกวาดเงินไปได้ 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (~92.5 ล้านบาท) โดยผู้ชนะประมูลได้เป็นเจ้าของทวีตแรกของโลกคือ ซินา เอสตาวี (Sina Estavi) ซีอีโอชาวมาเลเซียของบริษัทบล็อกเชน Bridge oracle

EVERYDAYS: The First 5000 Days โดย Beeple

หลังจากนั้น ไมค์ วิงเคิลแมนน์ (Mike Winklemann) หรือที่รู้จักกันในนาม Beeple ศิลปินแนวดิจิทัลอาร์ตก็ได้สร้างสถิติครั้งใหม่ให้แก่วงการศิลปะ NFT หลังจากเขาเปิดประมูลภาพ EVERYDAYS: The First 5000 Days ซึ่งเป็นการรวบรวมทุกผลงานที่เขาวาดทุกวันเป็นระยะเวลา 13 ปี โดยปิดประมูลที่ราคา 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (~2,213 ล้านบาท) ทุบสถิติผลงานศิลปะ NFT ที่ประมูลได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์

ไม่ใช่แค่งานศิลปะเท่านั้น แทบทุกสิ่ง แม้ไม่ใช่วัตถุที่จับต้องได้ในชีวิตจริง แต่ถ้ามีตัวตนบนโลกออนไลน์ก็ขายเป็นสินค้า NFT และมีคนมากมายพร้อมจับจองเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ภาพ gif มีมตลกๆ คลิปช็อตเด็ดวินาทีที่นักกีฬาชู้ตบาสลงห่วง โควตคำพูดของนักแสดงชื่อดัง หรือแม้แต่บทความบนเว็บไซต์ก็ขายเป็น NFT ได้เหมือนกัน 

บทความ Buy This Column on the Blockchain! Why can’t a journalist join the NFT party, too? โดย เควิน รูส, The New York Times

The New York Times เป็นสื่อใหญ่เจ้าแรกๆ ที่เขียนเกี่ยวกับการมาเยือนของ NFT และตัดสินใจขายบทความชิ้นนั้นแบบ NFT เสียเลย บทความนี้ชื่อว่า Buy This Column on the Blockchain! Why can’t a journalist join the NFT party, too? เขียนโดย เควิน รูส (Kevin Rooseได้ปิดประมูลไปที่ราคา 560,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (~17.8 ล้านบาท)

หลังจากนี้ NFT อาจเป็นเพียงเทรนด์หนึ่งของคนในแวดวงศิลปะที่เข้ามาสักพักแล้วจากไป หรือไม่แน่ว่ามันอาจกลายเป็นการซื้อ-ขายงานศิลปะในอนาคตก็เป็นได้ หากว่าเป็นอย่างหลัง บทความดังกล่าวจะได้ชื่อว่าเป็นงานเขียนแรกในประวัติศาสตร์ของ The New York Times ที่พูดถึงเรื่อง NFT และใครที่ได้เป็นเจ้าของเรื่องนี้ก็จะได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นี้ด้วยเช่นกัน

ปกการ์ตูนขายหัวเราะ ฉบับที่ 1 ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2516

ไม่เพียงแต่ในต่างประเทศแต่ในไทยเอง การขายสินค้า NFT ก็กำลังเป็นเทรนด์ที่คึกคักในแวดวงศิลปะสินค้าชิ้นแรกของไทยที่ลงขายแบบ NFT คือปกการ์ตูนขายหัวเราะ ฉบับที่ ตีพิมพ์ใน พ.ศ.2516 มีลายเซ็นของ วิธิต อุตสาหจิต ผู้เป็นบรรณาธิการประดับอยู่บนปก หนังสือการ์ตูนเล่มนี้ปิดราคาประมูลไปได้ที่ประมาณ 1.1 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ศิลปินรายใหญ่ แต่นักผลิตผลงานตัวเล็กตัวน้อย ต่างก็กำลังพากันคลำทางเข้าสู่วงการนี้ไปพร้อมๆ กัน

ขายสินค้า NFT ต้องทำอย่างไร

ถ้าจะขายผลงานในระบบนี้ จำเป็นต้องขายผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันมีหลายเว็บไซต์ แต่เว็บที่มีผู้ใช้ไปรวมตัวมากที่สุด อันดับ คือ OpenSeaRarible และ SuperRare ซึ่งเมื่อคนใช้งานเยอะ ก็หมายความว่าคนก็มีโอกาสจะเห็นสินค้าของเราได้มากขึ้นตามไปด้วย

คนลงขายต้องสมัครบัญชีและจ่ายค่าธรรมเนียมให้เว็บไซต์ในฐานะคนกลางที่พาคนซื้อกับคนขายมาเจอกัน โดยค่าธรรมเนียมของแต่ละเว็บก็จะมีราคาแตกต่างกันไป มีให้เลือกทั้งแบบเหมาจ่ายสำหรับลงขายงานได้ตลอด และสำหรับการขายงานเพียงครั้งเดียว โดยสกุลเงินที่ใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและตั้งราคาขายจะใช้สกุลเงิน อีเธอเรียม (Ethereum : ETH) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในสกุลเงินคริปโต คล้ายกับบิตคอยน์

อัลบั้ม When You See Yourself ของวง Kings o Leon

ผู้ขายจะเลือกตั้งราคาเบ็ดเสร็จ หรือเปิดเปิดประมูลก็ได้เช่นกัน โดยราคาประมูลจะเริ่มที่ 0.5 ETH (~30,684 บาท) นอกจากจะขายผลงานหลักแล้ว ยังมีฟังก์ชัน Bundle หรือ การเพิ่มของแถมให้กับคนซื้อได้อีกด้วย เช่น ถ้าลงขายเพลงเป็นไฟล์ mp3 อาจแถมเวอร์ชันเดโมเข้าไปด้วย เจ้าเดโมนี่แหละคือแรร์ไอเท็มที่ทำให้แฟนเพลงยิ่งกรี๊ดและยอมจ่ายแพงๆ เพื่อมาซื้อ

ไม่นานมานี้ Kings of Leon วงร็อกอเมริกัน ก็เพิ่งขายอัลบั้ม When You See Yourself ของพวกเขาแบบ NFT โดยของแถมสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของอัลบั้มนี้ก็คือการได้นั่งดูคอนเสิร์ตแถวหน้าสุดฟรีตลอดชีพ เพราะของแถมล่อตาล่อใจกันขนาดนี้ ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาได้รายได้จากการขายไปทั้งหมดถึง ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (~63.8 ล้านบาท ) เรียกได้ว่ากรี๊ดกันทั้งวงและแฟนเพลงเลยทีเดียว

เมื่อผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาในตลาด NFT เป็นไปได้ว่าพวกเขากำลังอยู่ในฟองสบู่ที่ใกล้จะแตกเต็มที ไม่ว่ากลไกตลาดจะดำเนินไปอย่างไร และวงการ NFT จะพัฒนาไปในทิศทางไหน สิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีสำหรับคนในแวดวงศิลปะคือ งานทุกชิ้น ของทุกอย่างล้วนมีคุณค่า ในอนาคตคนทำเพลง นัดวาดภาพอาจต้องเก็บงานดราฟต์แรกของตัวเองเอาไว้ เพราะไม่ว่าของชิ้นไหนก็ย่อมมีคุณค่าทางใจสำหรับใครสักคนอยู่เป็นแน่  

อ้างอิง 

  • Robyn Conti and John SchmidtWhatYou Need To Know About Non-Fungible Tokens (NFTs)https://bit.ly/3h0nPVZ 
  • Kevin Roose. Buy This Column on the Blockchain! Why can’t a journalist join the NFT party, too?https://nyti.ms/2TU3c5Y 
  • Andrew SteinwoldThe History of Non-Fungible Tokens (NFTs). https://bit.ly/3h2ikpS