มนุษย์เราเหลือพลังงานใช้กันอีกเพียงแค่สามชั่วอายุคนเท่านั้น เพราะแหล่งพลังงานฟอสซิล อันเป็นมรดกตกทอดจากอดีตกาลกำลังจะหมดไป
นั่นทำให้โลกต้องเร่งหันไปพึ่งพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานนิวเคลียร์ ฯลฯ และอีกหนึ่งแหล่งที่กำลังเป็นความหวังใหม่ของมวลมนุษยชาติก็คือ ‘พลังงานจากสาหร่ายทะเล’
สาหร่ายโตแล้วไปไหน
ใต้ทะเลของหมู่เกาะแฟโร ที่ตั้งอยู่ระหว่างนอร์เวย์และไอซ์แลนด์ ซึ่งลึกลงไปราว 10 เมตร เป็นบริเวณที่ปราศจากคลื่นลม เชือกตาข่ายหนาๆ ที่ทอดตัวยาวกว่า 5 กิโลเมตร ถูกปกคลุมด้วยพืชสีเขียวอมน้ำตาลเข้ม พริ้วไหวไปตามกระแสน้ำอย่างเป็นธรรมชาติ นี่คือ ‘สาหร่ายทะเล’ ที่เรากำลังพูดถึง
สาหร่ายที่เพิ่งโผล่ขึ้นรับอากาศเหนือท้องทะเลเป็นครั้งแรก ถูกเพาะขึ้นโดยบริษัท Ocean Rainforest ฟาร์มสาหร่ายทะเลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบรับความต้องการสาหร่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ในโลก
มนุษย์เราทำความรู้จักสาหร่ายผ่านจานอาหาร และสาหร่ายก็มักจะปรากฏตัวอยู่ในวิถีการกินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะห่อหุ้มอยู่บนข้าวปั้นร้อนๆ ของชาวญี่ปุ่น หรือในซุปสาหร่ายที่กินเพื่อความโชคดีในธรรมเนียมวันเกิดของชาวเกาหลี นั่นทำให้สาหร่ายทั้งจากแหล่งธรรมชาติและฟาร์มในทะเลต่างก็เดินหน้าเข้าสู่สายพานในอุตสาหกรรมอาหารไปเกือบทั้งหมด
ในส่วนที่เหลือก็ไปเป็นส่วนผสมลับในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สกินแคร์ เครื่องสำอาง หรือยาสีฟัน ทั้งยังถูกนำไปใช้ทดแทนพลาสติก ออกแบบเป็นภาชนะที่ย่อยสลายได้ หรือถักทอเป็นเสื้อผ้า
และถนนเส้นใหม่ล่าสุดของสาหร่ายก็กำลังทอดไปสู่การเป็น ‘พลังงานทดแทน’
สาหร่ายเป็นพลังงานทดแทนได้อย่างไร
องค์กรทั่วโลกต่างก็เร่งวิจัยเพื่อดึงศักยภาพด้านพลังงานของสาหร่ายออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกาที่กำลังสนับสนุนให้บริษัท Ocean Rainforest สร้างฟาร์มสาหร่ายในแคลิฟอร์เนีย เพราะเล็งเห็นว่านี่เป็นแหล่งพลังงานชีวภาพที่ยั่งยืน
เหล่านักวิทยาศาสตร์ในประเทศเนเธอร์แลนด์เองก็เช่นกัน พวกเขากำลังพยายามเปลี่ยนน้ำตาลจากสาหร่ายให้กลายเป็นเชื้อเพลิงในโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า MacroFuels
สาหร่ายทะเลแปลงร่างเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วยการหมัก เริ่มจากแยกน้ำตาลในสาหร่ายออกจากเอนไซม์หรือกรด แล้วนำไปหมักจนได้เอทานอลและบิวทานอล ซึ่งนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินหรือดีเซลเป็นน้ำมัน E10 ใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ได้
ทำไมสาหร่ายถึงเป็นทางเลือกที่ยั่งยืน
สาหร่ายเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยแสงแดดและน้ำทะเล อีกทั้งยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากมหาสมุทรได้ ซึ่งถือเป็นการเยียวยาภาวะโลกร้อนไปในตัว อีกทั้งในกระบวนการเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงยังเป็นมิตรกับชั้นบรรยากาศ เพราะไม่ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
อย่างไรก็ตาม ถึงจะพึ่งพาแค่แสงอาทิตย์และน้ำทะเล แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ความร้อนในทะเลไม่ใช่เซฟโซนของสาหร่ายอีกต่อไป
สาหร่ายจะเติบโตได้ดีในอุณหภูมิประมาณ 6-11 องศาเซลเซียส ในปัจจุบันที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้น้ำทะเลหลายพื้นที่ร้อนจนเกินกว่าจะผลิใบ การเพาะสาหร่ายในธรรมชาติจึงไม่มั่นคงอย่างที่เคย
นั่นทำให้บริษัทผู้ผลิตสาหร่ายกำลังเริ่มเปลี่ยนมาใช้วิธีทำฟาร์มบนบก โดยจำลองสภาพแวดล้อมให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้ดีที่สุดเหมือนอยู่ในธรรมชาติ ด้วยวิธีการสูบน้ำทะเลมาลงในบ่อเพาะเลี้ยง และควบคุมอุณหภูมิ ไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป จากนั้นก็ปล่อยให้สาหร่ายค่อยๆ โตข้างในนั้น
แม้ว่าในตอนนี้ ราคาเชื้อเพลิงจากสาหร่ายจะยังแพงกว่าเชื้อเพลิงทั่วไปอยู่มาก แต่ในอีกราว 25 ปีข้างหน้า หากมีฟาร์มสาหร่ายเยอะขึ้น และมีแหล่งผลิตเชื้อเพลิงมากขึ้น อาจทำให้ตลาดนี้แข่งขันกับแหล่งพลังงานหลักได้ นั่นจะช่วยให้ราคาของพลังงานสาหร่ายถูกลง และเป็นทางเลือกใหม่ของโลกได้
อ้างอิง
- Adrienne Murray.Seaweed: The food and fuel of the future?.https://www.bbc.com/news/business-53610683
- Cyril Fourneris.Could seaweed be the fuel of the future?.https://www.euronews.com/2020/02/17/could-seaweed-be-the-fuel-of-the-future
- Evan Lubofsky.Growing a better seaweed to fuel the future.https://phys.org/news/2019-06-seaweed-fuel-future.html
- Siddharth Singh.How long will fossil fuels last?.https://www.business-standard.com/article/punditry/how-long-will-fossil-fuels-last-115092201397_1.html
FACT BOX
- ออกซิเจนในชั้นบรรยากาศราวๆ 50-70% ผลิตขึ้นจากพืชในทะเล เช่น แพลงก์ตอนพืชและสาหร่าย นักวิทยาศาสตร์คาดว่าระดับแพลงก์ตอนพืชลดลง 40% มาตั้งแต่ปี 1950 เพราะอากาศร้อนขึ้น
- ในโลกนี้มีสาหร่ายอยู่ประมาณ 10,000 สายพันธุ์
- Macrocystis pyrifera เป็นสาหร่ายขนาดใหญ่ สามารถเติบโตได้ถึง 50 เซนติเมตรในหนึ่งวัน