w©rld

เชื่อไหมว่า ‘พรมวิเศษ’ มีอยู่จริง 

เพียงแค่ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้เหมือนอย่างในนิทานแฟนตาซีเรื่อง อะลาดินกับตะเกียงวิเศษ

แต่เป็นพรมวิเศษที่ช่วยเนรมิตอาชีพให้ผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตในบ้านเกิดที่ยังคงคุกรุ่นด้วยไฟสงครามอย่างประเทศซีเรีย ได้มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และเป็นที่พึ่งพิงสำหรับการอยู่อาศัยอย่างอุ่นใจสบายกายในเรือนนอน

syria
พรมพลาสติกถูกใช้ปูในเต็นท์ที่พักอาศัยของชาวซีเรียพลัดถิ่น
Photo: AAREF WATAD/ AFP

เพราะนับตั้งแต่การลุกฮืออย่างสันติเพื่อต่อต้านประธานาธิบดีซีเรียในปี 2011 ที่กลับกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500,000 คน และมีประชาชนซีเรียมากกว่า 4 ล้านคนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งปกครองโดยกลุ่มกบฏนักรบจีฮัด ที่ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากองค์กรต่าง ๆ และอีกจำนวนมากที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นฐาน ต้องอพยพออกจากบ้านเกิดไปใช้ชีวิตในเมืองอื่น โดยไร้อาชีพการงาน

syria
สองมือกับอีกหนึ่งตะขอแหลมคืออุปกรณ์สำคัญในการทำมาหากิน
Photo: AAREF WATAD/ AFP

เหมือนอย่างที่ โมฮัมเหม็ด เบห์ลัล (Mohammed Behlal) วัย 39 ปี ที่เดิมมีถิ่นฐานอยู่ในเมืองใหญ่อย่างอเลปโป (Aleppo) แต่ต้องย้ายออกไปอยู่เมืองอิดลิบ (Idlib) ตั้งแต่สงครามกลางเมืองปะทุขึ้น เคราะห์ร้ายที่เบห์ลัลถูกลูกหลงยิงเข้าที่ขา ทำให้ไม่มีใครอยากจ้างงานเขาอีกต่อไป

syria
ภาพมุมสูงของป่าช้าขยะพลาสติก
Photo: AAREF WATAD/ AFP

ชีวิตในเมืองอิดลิบของเบห์ลัลและครอบครัวจำเป็นต้องวนเวียนอยู่กับกองขยะ เพราะเขากับลูกอีก 2 คน (จากทั้งหมด 6 คน) ต้องออกไปตระเวนเดินค้นหาขยะพลาสติกด้วยกันทุกวันในแถบหมู่บ้านเฮซเรห์ เพื่อนำขยะพลาสติกและเศษเหล็กไปขาย อย่างน้อยก็หาเงินได้สัปดาห์ละ 7-10 ดอลลาร์ ทำให้สามารถประทังชีวิตต่อไปได้ 

syria
คนงานกำลังตัดพลาสติกให้ชิ้นเล็กลง
Photo: AAREF WATAD/ AFP

แม้พวกเขาจะต้องเสี่ยงต่อการใช้มือเปล่ากับอีกหนึ่งเหล็กแหลมในการเดิมท่อม ๆ เพื่อคุ้ยกองขยะแสนเหม็น เสี่ยงต่อการถูกสัตว์มีพิษทำอันตราย รวมถึงมีสิทธิ์ติดเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน แต่เบห์ลัลก็ยังรู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่อย่างน้อยก็ยังเมตตาให้เขาได้มีโอกาสหาเงินจากกองขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่ากลับมาคุณค่าขึ้นมาได้อีกครั้ง ผ่านกระบวนการรีไซเคิลก่อนนำไปผ่านกระบวนการทอเป็นพรมและเสื่อสำหรับปูพื้น ที่มีประโยชน์กับคนทุกชนชั้น

syria

syria
ไม่ว่าจะเป็นเพิงพักชั่วคราวหรือในบ้านหรู พรมพลาสติกก็ได้รับความนิยมทัดเทียมกัน
Photo: AAREF WATAD/ AFP

น่าสะท้อนใจไม่น้อย เมื่อคำว่า ‘รีไซเคิล’ ในพื้นที่ที่ถูกปกคลุมด้วยม่านหมอกแห่งความขัดแย้งมานานกว่าทศวรรษอย่างซีเรีย ไม่ได้เป็นการนำกลับมาผลิตซ้ำเพราะเห็นอกเห็นใจสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการต่อลมหายใจของผู้คนให้ยังคงหาเลี้ยงชีพต่อไปได้ ทั้งตัวของนักเก็บขยะ คนงาน เจ้าของโรงงาน พ่อค้า ฯลฯ แบบครบวงจร

syria

syria
บรรยากาศภายในโรงงานทอพรมจากพลาสติกรีไซเคิล
Photo: AAREF WATAD/ AFP

ว่าด้วยกระบวนการทอพรม (หรือจะเรียกว่าเสื่อพลาสติกก็ได้) เริ่มต้นขึ้นในป่าช้าขยะที่กินอาณาเขตไพศาล โดยมีเหล่าคนงานขะมักเขม้นในการคัดแยกพลาสติกตามสีสัน ก่อนจะนำพลาสติกไปตัดให้เป็นชิ้นเล็กลง แล้วนำไปบดให้เป็นเศษเล็กเศษน้อย จากนั้นนำไปล้างทำความสะอาด แล้วหลอมเป็นเม็ดพลาสติกในขั้นตอนสุดท้าย

syria

syria
เด็กชายขะมักเขม้นกับทุกขั้นตอนในการผลิตพรมพลาสติกลวดลายเรขาคณิตสวยงาม
Photo: AAREF WATAD/ AFP

เม็ดพลาสติกเหล่านั้นจะถูกส่งต่อไปยังโรงงานทอเสื่อและพรมในตัวเมือง เช่น โรงงานของ คาห์เลด ราชู (Khaled Rashu) วัย 34 ปี ที่สืบทอดกิจการโรงงานทอพรมของครอบครัว โดยมีคนงานราว 30 ชีวิต (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) เป็นแรงงานสำคัญในการทอผืนเสื่อและพรมออกมาเป็นลวดลายเรขาคณิตสวยสะดุดตา

syria

พลาสติกรีไซเคิลหลากสีที่แปรรูปมาเป็นพรมและเสื่อพลาสติกหลากลวดลาย
Photo: AAREF WATAD/ AFP

ปัจจุบัน พรมพลาสติกรีไซเคิลเหล่านี้กำลังเป็นที่ต้องการในหมู่ผู้พลัดถิ่นฐานที่ต้องพักอาศัยในเต็นท์หรือเพิงพักชั่วคราว โดยพรมพลาสติกเหล่านี้เหมาะแก่การปูบนพื้นแล้วใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ สนนราคาก็ย่อมเยาเพียงผืนละ 5 – 15 ดอลลาร์ (ในขณะที่พรมเปอร์เซียราคาผืนละประมาณ 100 ดอลลาร์)

อีกทั้งพรมพลาสติกยังทำให้รู้สึกเย็นสบายในหน้าร้อน ทุกบ้านในซีเรียจึงจะขาดเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ไปไม่ได้ แม้จะต้องพลัดถิ่นไปอยู่ต่างเมือง แต่เมื่อได้ปูพรมวิเศษผืนนี้ลงบนพื้นที่อยู่อาศัย

ไม่ว่าพื้นที่แห่งนั้นจะเป็นเพียงเต็นท์หรือเพิงพักชั่วคราว ก็สามารถแปลงโฉมเป็นบ้านที่อบอุ่นสำหรับพวกเขาได้เสมอ