w©rld

ปี 1991 นักออกแบบเกมนาม วิลล์ ไรต์ (Will Wright) สูญเสียบ้านและทรัพย์สินของตนไปกับเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเมืองโอกแลนด์ สหรัฐอเมริกา เขาต้องสร้างบ้านและซื้อของต่างๆ ทั้งหมดใหม่อีกครั้ง และนั่นทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างเกมจำลองชีวิตชื่อ The Sims ที่แก่นหลักของมันคือการสร้างบ้านในฝันขึ้นมา

The Sims ภาคแรกถูกปล่อยสู่ตลาด 9 ปีหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ และมันก็กลายเป็นแฟรนไชส์เกมแนวจำลองการใช้ชีวิตที่ฮิตที่สุดต่อเนื่องยาวนาน โดยในปัจจุบันมีออกมาแล้ว 4 เวอร์ชั่น ไม่นับภาคเสริมของแต่ละเวอร์ชั่นที่มีมากมายเหลือเกิน

Photo: simsvip.com

ครั้งหนึ่งวิลล์ ไรต์เคยบอกว่า The Sims คือภาพการเสียดสีถึงวัฒนธรรมการบริโภคของคนอเมริกัน หลักการง่ายๆ ของเกมคือ ด้วยอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันจะบังคับให้คุณต้องซื้อของเพิ่ม และซื้อชิ้นถัดไป และชิ้นถัดไปอีกเพื่อแก้ปัญหา หรือพูดแบบสวยๆ ก็ต้องบอกว่า เพื่อทำให้ชีวิตและบ้านในฝันเป็นจริงขึ้นมา

ย้อนกลับสู่ชีวิตจริง คงไม่มีใครปฏิเสธว่าพฤติกรรมการบริโภคเช่นนี้กำลังพาโลกไปสู่ความล่มสลาย ความตื่นตัวถึงการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้น และขยายวงกว้างในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่ง The Sims ภาคเสริมของเวอร์ชั่นที่ 4 ชื่อ Eco Lifestyle ก็ตอบรับกับแนวคิดนี้เช่นกัน

วิลล์ ไรต์ (Will Wright) ผู้ให้กำเนิด The Sims

The Sims 4: Eco Lifestyle เซ็ตฉากเอาไว้ในเมืองชื่อ Evergreen Harbour เมืองชายฝั่งทะเลที่ภาพแรกของมันคือโลกอันล่มสลาย เต็มไปด้วยขยะ ซากปรักหักพัง และมลพิษทางอากาศ ราวกับภาพเมืองโอกแลนด์หลังไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ผู้คิดค้นเกมนี้อย่างวิลล์ ไรต์เคยประสบ โดย จอร์จ พิกูลา (George Pigula) โปรดิวเซอร์ของ The Sims ภาคเสริมนี้บอกว่า “มันมีเรื่องราวที่ต้องการฉากที่มีขยะปลิวไปมาบนถนน …และเราตื่นเต้นที่จะเห็นการสร้างสรรค์ของผู้เล่นในโลกแบบนั้น”

Photo: simscommunity.info
ภาพของเมืองโอกแลนด์หลังเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ เทียบกับโลกในเกม The Sims: The Sims 4: Eco Lifestyle / Photo: Cal OES

ซึ่งผู้เล่นสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นมา ผ่านกิจกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การอัพไซเคิลตู้คอนเทนเนอร์มาเป็นบ้าน การติดตั้งกังหันลมและโซลาร์เซลล์ การปลูกพืนผักแนวตั้ง การรีไซเคิลวัสดุต่างๆ เพื่อสร้างเฟอร์นิเจอร์ด้วยตัวเอง

โดยในภาคเสริมนี้คีย์หลักของมันก็คือ eco footprint (รอยเท้านิเวศน์) ซึ่งหมายถึง การวัดพฤติกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์จากปริมาณการบริโภค หรือปริมาณขยะที่เกิดขึ้น โดยมันจะคอยติดตามพฤติกรรมของผู้เล่นรวมถึงเพื่อนบ้าน โดย eco footprint หรือวิธีเล่นเกมของผู้เล่นในแบบต่างๆ จะให้ประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป

Photo: simsvip.com

ทั้งนี้เกมไม่ได้บังคับให้ผู้เล่นเลือกเพียงหนทางแบบ eco footprint เท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้แก่การเลือกรูปแบบอื่น เช่น การใช้ชีวิตแบบอุตสาหกรรม (industrial footprint) เพื่อทดลองความเป็นไปได้และผลลัพธ์อื่นๆ

พิกูลาบอกว่า The Sims คือพื้นที่ที่ผู้เล่นเกมจะได้มาสำรวจและทดลองไอเดียที่หลากหลายโดยปราศ ‘การตัดสิน’ มันไม่ได้สนับสนุนทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง แต่จะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของบางการตัดสินใจ

“ผมคิดว่าประสบการณ์จาก Eco Lifestyle ช่วยให้ความรู้แก่ผู้เล่นเกี่ยวกับหนทางที่หลากหลายที่พวกเขาสามารถเป็นมิตรและสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อมจากมุมมองที่แตกต่างของการใช้ชีวิตได้”

อ้างอิง