w©rld

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมโลกวันนี้ถึงเปลี่ยนเร็วกว่าในอดีต

เมื่อวาน วันนี้ วันพรุ่งนี้ อาจมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ

ถ้าให้ตอบ ผมคิดว่าการมาถึงของดิจิทัล อินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟน คือตัวแปรที่สำคัญ

เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ space และ time หดสั้นลงจนเข้าใกล้ ‘ศูนย์’

โลกที่เคยมีพื้นที่และเวลาเป็นอุปสรรค พังทลายกลายเป็น ‘โลกไร้พรมแดน’

อธิบายให้เห็นภาพ เช่น ถ้าคุณอยากรู้ว่า Apple Inc. คือใคร เมื่อก่อน คุณอาจต้องเดินทางไปถึงห้องสมุดเพื่อค้นหาข้อมูล

แต่วันนี้แค่ขยับนิ้วกดเข้าเว็บไซต์ apple.com คุณก็ได้คำตอบ

การเข้าถึงข้อมูลที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ทำให้คุณทำสิ่งต่างๆ ในโลกสมัยใหม่ สำเร็จได้ในชั่วพริบตา

ประชากรบนโลกกว่า 7 พันล้านคนที่เชื่อมโยงอยู่บนร่างแหเดียวกัน และสื่อสารกันในระดับเรียลไทม์

ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายๆ มิติ ด้วยอัตราเร่งที่สูงขึ้นกว่าในอดีต

ดิจิทัล digital disrupt
ดิจิทัลทำให้พื้นที่และเวลาหดสั้นลงจนเข้าใจ ‘0’

การเปลี่ยนผ่านที่เคยใช้เวลาหนึ่งชั่วอายุจึงเหลือเพียงไม่กี่ปี ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่วัน จนบางคนเปรยว่า แค่วันพรุ่งนี้ก็ยากจะคาดเดา

ผลพวงจาก ‘ระยะทาง’ และ ‘เวลา’ ที่หดสั้นลง หลังการมาถึงของดิจิทัล มีอยู่ 2 เรื่องที่ผมอยากจะพูดถึง ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด ส่งผลต่อภาคธุรกิจ และชีวิตผู้คน

เรื่องแรก ธุรกิจที่เคยเป็น ‘ตัวกลาง’ ถูก Disrupt เพราะดิจิทัลเข้ามาสลายระยะห่างระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค

สื่อ ห้างสรรพสินค้า เอเจนซีโฆษณา ที่เคยรับบทพ่อค้าคนกลาง หากินจาก ‘ช่องว่าง’ ของตลาดตกอยู่ในสถานะลำบาก และต้องเร่งปรับตัวกันยกใหญ่ เมื่อช่องว่างที่เคยมีหายไป

ในขณะที่คนกลางแบบเดิมล้มหายและหนีตาย คนกลางใหม่ที่เห็นโอกาสจากช่องว่างใหม่ถือกำเนิด Airbnb เกิด Uber เกิด กลายเป็นธุรกิจแห่งอนาคต

ดิจิทัล digital disrupt
ดิจิทัล คือตัวเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลง

ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ ทุกครั้งที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนที่อยู่รอดมักไม่ใช่คนในอุตสาหกรรมเดิม และคนในอุตสาหกรรมเดิมมักถูกท้าท้ายและ Disrupt โดยคนนอกอุตสาหกรรมเสมอ

เหมือนที่เจ้าของรถม้าถูก Disrupt จากผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตรถยนต์กำลังถูก Disrupt จากบริษัทเทคโนโลยีที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีระบบขับขี่อัตโนมัติ

คำถามคือ แล้วคนในอุตสาหกรรมเดิมจะอยู่รอดอย่างไร?

ดิจิทัล digital disrupt
ยุคดิจิทัลการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วและถี่กว่าในอดีต

คำถามข้างต้นนำมาสู่ผลพวงเรื่องที่สอง ซึ่งก็คือ การถือกำเนิดของโลกที่ขับเคลื่อนด้วย Data

การมาถึงของ Digital นอกจากจะทำให้เวลาหดสั้น และวงจรการเปลี่ยนแปลงเกิดเร็วขึ้น ยังทำให้เกิด Big Data หรือข้อมูลจำนวนมหาศาล

ในโลกของดิจิทัล ทุกคนต่างเป็นผู้ผลิตและบริโภค Data ซึ่งกันและกัน และพฤติกรรมดังกล่าวมีส่วนสำคัญยิ่งในการเร่งปฏิกิริยาให้เกิดวงจรการเปลี่ยนแปลง

ในมุมหนึ่ง Data ที่เกิดขึ้น ยังเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจหาทางรอดสู่อนาคต หลายองค์กรธุรกิจพยายามใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ไหลเวียนอยู่ในโลกออนไลน์มาวิเคราะห์เพื่อหา ‘ความต้องการที่แท้จริงของผู้คน’ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดี (Customer Experience) และตรงใจให้กับผู้บริโภคที่อยู่ในโลกอันโหวกเหวกด้วยเสียงตะโกนแห่งการเรียกร้องความสนใจ

ถึงแม้ผมจะบอกว่าเวลาและระยะทางหดสั้นลง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน คือมนุษย์ทุกคนยังคงมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่าเดิม

ด้วยเหตุนี้ นิยามของธุรกิจจึงหาใช่อื่นใด นอกจาก ‘การขโมยเวลา’

ความเป็น Digital, Big Data, Customer Experience และการขโมยเวลาเกี่ยวข้องกันอย่างไร ลองดูภาพด้านล่าง

ดิจิทัล digital disrupt
ลูกค้า 1 คน มีเวลา 24 ชั่วโมง – ลูกค้า 1,000 คน มีเวลา 24,000 ชั่วโมง – ลูกค้า 100,000 คน มีเวลา 2,400,000 ชั่วโมง

จะเห็นว่าจำนวนลูกค้าทำให้โอกาสในการช่วงชิงเวลามากขึ้น แต่การทำความรู้จักลูกค้าจำนวนมหาศาลในทะเลแห่ง Big Data จำเป็นต้องใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลในการวิเคราะห์เพื่อหาผลลัพธ์

ทางออกของเรื่องนี้จึงคือการนำดิจิทัลมาทุ่นแรงและใช้งาน แทนแรงงานมนุษย์ เพื่อเพิ่มอัตราเร่งขององค์กรให้วิ่งตามจังหวะการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน

เข้าใจ ‘ตัวเอง’ เราดำรงอยู่เพื่ออะไร

เข้าใจ ‘โลก’ สถานการณ์โลกวันนี้เป็นอย่างไร

เข้าใจ ‘ลูกค้า’ ลูกค้าเราคือใคร อยู่ที่ไหน ชอบอะไร

คือหลักความเข้าใจใน 3 มิติที่จำเป็นต่อการอยู่รอดและปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจหรือปัจเจกบุคคล ซึ่งมิติที่สำคัญที่สุดคือการเข้าใจตัวเอง เพราะมิตินี้เป็นต้นตอของความเข้าใจมิติอื่นๆ ที่เหลือ

รู้จุดแข็ง รู้จุดอ่อน และมากกว่านั้นรู้ว่า ทำสิ่งที่ทำอยู่ไปทำไม และเพื่ออะไร

ถ้าไม่รู้หรือตอบไม่ได้ สุดท้ายมนุษย์หรือองค์กรนั้นก็คงไม่ต่างจากหุ่นยนต์ และถ้าวันหนึ่งงานที่ทำจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ก็คงจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

ปี 1859 ชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้ตีพิมพ์ข้อเสนอทฤษฎี ‘วิวัฒนาการโดยการคัดเลือกตามธรรมชาติ’ ในหนังสือ On the Origin of Species

หนังสือ On the Origin of Species ปี 1859
หนังสือ On the Origin of Species ปี 1859

เขาอธิบายว่า ตามสภาพธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าพวกอื่น จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ และถ่ายทอดลักษณะที่เหมาะสมต่อไป

158 ปีผ่านไป สิ่งที่ ชาร์ลส ดาร์วิน กล่าวยังคงเป็นจริงและเป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกับสิ่งที่บทความนี้ต้องการจะบอก

โลกทุกวันนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป เพราะสิ่งที่คงอยู่จริงๆ คือ ความเปลี่ยนแปลง.

เรียบเรียง: วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์