life

ช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก จนประเทศอังกฤษต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่องถึง 1 ปี หลายคนในประเทศกลับรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนเดิม เริ่มคิดอะไรไม่ค่อยออกและจดจำเหตุการณ์บางอย่างไม่ได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่

จอช โคเฮน (Josh Cohen) นักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้คนในช่วงล็อกดาวน์จึงศึกษาและหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและพฤติกรรมเพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์นี้

โคเฮนสรุปได้ว่า ขณะล็อกดาวน์ผู้คนต้องเผชิญกับ brain fog หรือ หมอกที่เข้าปกคลุมสมอง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ตกอยู่ในสภาวะตื้อ ตัน เบื่อ ไม่มีชีวิตชีวา กลายเป็นคนจดจ่อกับการประชุมและการอ่านได้ยากมากขึ้น หรือเวลาดูหนัง ดูซีรีส์ที่มีพล็อตเรื่องซับซ้อนก็จะทำความเข้าใจตามไม่ทัน ยังขี้หลง ขี้ลืมร่วมด้วย รู้สึกว่าตัวเองสูญเสียสมรรถภาพที่เคยทำให้ใช้ชีวิตได้เป็นปกติไป

จอน ไซม่อน (Jon Simons) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาการรู้คิด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เสริมว่า เป็นเรื่องธรรมดามากที่ร่างกายจะตอบสนองแบบนี้ระหว่างล็อคดาวน์ ไม่แปลกเลยที่จะรู้สึกแบบนั้น

ส่วน แคทเธอรีน เลิฟเดย์ (Catherine Loveday) ศาสตราจารย์ด้านด้านประสาทวิทยาการรู้คิด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หมอกสมองจะรบกวนการนึกคิดของเรา (cognitive functions) เช่น การจดจ่อ การจำ การแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ และทุกอย่างที่ต้องใช้ความคิด เธออ้างอิงการศึกษาที่พูดถึงความเชื่อมโยงระหว่าง brain fog และล็อคดาวน์

การศึกษาแรกเป็นของประเทศอิตาลี พบว่าล็อคดาวน์ทำให้คนรับรู้เวลา และจัดการเรื่องทั่วๆ ไปได้แย่ลง รวมถึงมีปัญหาการจดจ่อ แต่การศึกษานี้ยังขาดรายละเอียด

การศึกษาที่สองเป็นของประเทศสก็อตแลนด์ โดยออกแบบการทดลองโดยให้ผู้คนทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างล็อคดาวน์แล้ววัดกระบวนการนึกคิดของคนคนนั้น พบว่า ทำกิจกรรมได้แย่ลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนล็อคดาวน์ จากนั้นจะเริ่มค่อยๆ ทำทุกอย่างได้ดีขึ้น เมื่อค่อยๆคลายล็อคดาวน์ โดยเฉพาะในกลุ่มคนตั้งการ์ดสูงที่ไม่ออกไปไหนเลย จะกลับมาทำกิจกรรมได้ช้ากว่าคนที่แวะแวียนออกไปข้างนอกบ้านบ้างเป็นครั้งคราว

ทั้งเลิฟเดย์และไซม่อนยังเห็นตรงกันด้วยว่า ช่วงเวลาล็อคดาวน์อาจเกิดปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อความคิด แต่ทุกอย่างคลุมเคลือและยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ปัจจัยหนึ่งที่ระบุได้อย่างชัดเจนว่าส่งผลโดยตรงอย่างมากคือ ความซ้ำซากหรือความเหมือนกันที่ต้องตื่นมาเจอในทุกๆ วัน

ปกติสมองของเราจะถูกกระตุ้นด้วยความใหม่และความแตกต่างอยู่เสมอ เรียกกระบวนการนี้ว่า orienting response ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ลืมตาดูโลก เราในวัยทารกจึงมักจะหันหน้าไปทางสิ่งเร้าแปลกใหม่ โตขึ้นอีกหน่อย เราจะรู้สึกเบื่อหน่ายเวลานั่งฟังครูสอน แต่ถ้ามีใครไม่รู้เดินเข้ามาในห้องเรียน เราจะให้ความสนใจทันทีโดยอัตโนมัติ เพราะสมองของเราวิวัฒนาการมาให้หยุดสนใจเมื่อไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และสนใจเป็นพิเศษเมื่อมีบางอย่างเปลี่ยนแปลง สิ่งเร้าใหม่ๆ จึงทำให้สมองกลับมาตื่นตัวทำงานอีกครั้ง

ไซ่มอนอธิบายเพิ่มเติมว่า ชีวิตในช่วงล็อคดาวน์ไม่มีอะไรแตกต่างกันอย่างเด่นชัดในแต่ละวัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการจำแนกรูปแบบ (pattern separation) ที่เกิดขึ้นในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) กระบวนการนี้ช่วยให้เราจำแนกความทรงจำแต่ละอันออกจากกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เลิฟเดย์จึงแนะนำว่า ถ้าทำได้ให้ปรับเปลี่ยนวิธีทำกิจกรรม เช่น ประชุมออนไลน์ขณะเดินในสวนสาธารณะ (นึกภาพเดินไปประชุมไปไม่ออก) ก็อาจจะช่วยให้สมองตื่นตัวและจดจ่อได้ดีกว่านั่งประชุมในห้อง สำหรับตัวเธอเองซึ่งต้องสอนนักเรียนทางออนไลน์ จึงเลือกใช้วิธีอัดเสียงแทนการถ่ายวีดิโอเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนเปิดฟังการสอนของเธอขณะเดินหรือทำกิจกรรมอื่นควบคู่ไปด้วยได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือใช้เวลาในห้องหลายๆ ห้องหรือถ้ามีห้องเดียวก็สร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เช่น เปลี่ยนรูปที่แขวน ย้ายสิ่งของต่างๆ ไปอยู่ในที่ใหม่ เพราะการเข้าสู่วันใหม่โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเลย ในสมองของเราอาจเกิด brain fog ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการจำของเราได้

นอกจากนี้ คาร์มีน พาริอันเต (Carmine Pariante) ศาสตราจารย์ด้านชีวจิตเวชศาสตร์ (biological psychiatry) จากราชวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร ก็เป็นอีกคนที่สนใจศึกษา brain fog ซึ่งพบว่า ภาวะที่สมองมีหมอกปกคลุม สมองทำงานเหมือนกับตอนที่เราเป็นทุกข์หรือเศร้าเสียใจ พาริอันเตอธิบายด้วยหลักการเชิงจิตวิทยา ประสาทวิทยา ฮอร์โมน และภูมิคุ้มกันว่า เราต้องมองปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดเพื่อเข้าใจสภาวะเดียวที่เกิดขึ้นระหว่างล็อคดาวน์

ความไม่แน่นอนตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน ย่อมสร้างความเครียดให้เกิดขึ้นได้มากกว่าที่คิด และเมื่อสมองของเราตีความสถานการณ์ว่าตึงเครียดแล้ว ก็จะส่งข้อมูลเหล่านี้ไปสู่ระบบฮอร์โมนและภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญเหมือนมนุษย์โบราณเมื่อสองล้านปีก่อน นั่นคือกลไกสู้หรือหนี (fight or flight) เป็นความเครียดเหมือนกลัวโดนสัตว์ใหญ่กิน แล้วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเครียดซึ่งมีชื่อว่า cortisol ออกมาเพื่อให้จดจ่อกับผู้ล่าที่เราต้องหนี

การศึกษาของพาริอันเตยืนยันได้ว่า ฮอร์โมนเครียดลดระดับความสนใจ ความจดจ่อ และความจำต่อสภาพแวดล้อมของคนลงได้จริง เป็นกลไลที่เป็นประโยชน์เมื่อครั้งดึกดําบรรพ์ เพราะต้องใช้สู้กับสัตว์ใหญ่เพื่อความอยู่รอด ซึ่งไม่มีประโยชน์กับการใช้ชีวิตปัจจุบันเท่าไร

แม้ประเทศไทยกับประเทศอังกฤษยังมีบริบทอื่นๆ ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่การรู้สาเหตุของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับความรู้สึก ความคิด ความจำในช่วงล็อคดาวน์ ทำให้เราไม่ชะล่าใจ คอยสำรวจสภาวะร่างกายจิตใจของตัวเองรวมถึงคนรอบข้าง

เพราะสภาวะ brain fog เป็นเหมือนสัญญาณหนึ่งจากร่างกายที่เตือนว่าเราอาจกำลังเครียดภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เมื่อรู้ตัวเราย่อมมีโอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ปล่อยให้มีหมอกเข้าปกคลุมสมองของเรา

เผยแพร่ครั้งแรก: เพจ he, art, psychotherapy ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2564

อ้างอิง

  • Moya Sarner. Brain fog: how trauma, uncertainty and isolation have affected our minds and memory. https://bit.ly/3djdlA1